THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย SERAG HEIBA
วันที่ 25 มิถุนายน 2564
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

ภาวะโลกร้อนเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดของมนุษยชาติในรอบหลายพันปี ทำให้เกิดการกระจายข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างมากมาย รวมไปถึงความเชื่อผิดๆและข่าวลวง ต่อไปนี้เป็นความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน 10 เรื่อง และเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นความเข้าใจที่ผิด

ความเชื่อที่ 1 : สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วเป็นธรรมชาติ

ส่วนหนึ่งเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง สภาพภูมิอากาศโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาตินั้นมีวงจรที่เก็ดขึ้นเป็นประจำ จึงสามารถทำนายการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ เช่นวงจรการเปลี่ยนแปลงของแกนโลก การหมุน วงโคจรโลก และระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศตามธรรมชาตินั้นมีผลต่อสภาพอากาศอย่างไรบ้าง แต่ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง วงจรตามธรรมชาตินั้นใช้เวลาเกิดเป็นแสนๆปี แต่อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศโลกในปัจจุบันนั้นเกิดภายในเวลาเพียงแค่หนึ่งร้อยปีเท่านั้น

ความเชื่อที่ 2 : อากาศนอกบ้านยังเย็นอยู่เลย ดังนั้นภาวะโลกร้อนจึงไม่ใช่เรื่องจริง

ความเข้าใจผิดเช่นนี้เกิดจากความเชื่อที่ว่าทุกแห่งหนบนโลกนี้ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างเท่าเทียมกัน ในความเป็นจริงแล้ว ขั้วโลกทั้งสองจะมีอุณหภูมิอากาศสูงขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าภูมิภาคที่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แน่นอนว่าผู้คนในซีกโลกเหนืออาจยังรู้สึกถึงความเย็นของอากาศอยู่ แต่อุณหภูมิโลกก็กำลังเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน นอกจากนี้ ปัญหาภาวะโลกร้อน ไม่ได้อยู่แค่เพียงอากาศที่ร้อนขึ้นเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มมักนิยมใช้คำว่า “ภูมิอากาศแปรปรวน” แทนคำว่า “ภาวะโลกร้อน” เพราะความหมายตรงต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมากกว่า

ความเชื่อที่ 3 : สัตว์จะปรับตัวเข้ากับโลกที่ร้อนขึ้นได้เอง

ทฤษฎีของดาร์วินสนับสนุนความเชื่อดังกล่าว เนื่องจากพืชและสัตว์ทุกชนิดสามารถปรับตัวได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

พืช สัตว์ นกพันธุ์ต่างๆที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะโลกร้อนมีสองทางเลือกในการอยู่รอด คือย้ายถิ่นฐานหรือปรับตัว ซึ่งเราได้เห็นว่ามีหลายๆสปีชีส์เริ่มปรับตัวกันแล้ว แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกำลังถูกทำลายจากการสร้างถนน ชุมชนเมือง และเขื่อน ทำให้การอพยพย้ายถิ่นทำได้ยากขึ้น ส่วนสปีชีส์ที่ไม่สามารถปรับตัวหรือย้ายถิ่นได้นั้นก็จะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ความเชื่อที่ 4 : ดวงอาทิตย์ทำให้โลกร้อนขึ้น ไม่ใช่มนุษย์

เรื่องนี้อาจเป็นความจริงในยุค 1970 นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่าที่โลกร้อนขึ้นเป็นเพราะดวงอาทิตย์ร้อนขึ้น ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ในระยะเวลา 35 ปีที่ผ่านมานี้ ปริมาณรังสีของดวงอาทิตย์ที่ส่องลงมากระทบผิวโลกนั้นลดลง ในขณะที่อุณหภูมิของบรรยากาศโลกเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์

ความเชื่อที่ 5 : นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มก็ไม่เห็นด้วยว่าภาวะโลกร้อนเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

ถึงแม้คำกล่าวนี้จะไม่ผิดเสียเลยทีเดียว แต่ก็สร้างความเข้าใจผิดได้มาก สิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้แก่ ความเห็นที่ตรงกัน 100% จากนักวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมาก เนื่องจากคนมักมีความเห็นต่างและแรงจูงใจที่แตกต่างกันอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของภาวะโลกร้อนนั้น นักวิทยาศาสตร์ 97% มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และข้อมูลในรายงานว่าด้วยเรื่องภาวะโลกร้อนฉบับสมบูรณ์ก็บ่งชี้ว่า ยิ่งมีการวิจัยมากขึ้นเท่าไร ผลที่ได้ก็ยิ่งชัดเจนขึ้นว่ามนุษย์คือสาเหตุของภาวะโลกร้อน

ความเชื่อที่ 6 : วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือกำจัดมนุษย์ให้หมดไป

เราเชื่อว่าความเห็นนี้เป็นความเห็นที่ผิด มันอาจเป็นการง่ายที่จะคิดว่าประชากรโลกเติบโตเร็วเกินไปจนดาวเคราะห์โลกไม่สามารถรองรับพวกเราได้หมดทุกคน ทว่าวิธีที่ดีกว่าที่จะลดจำนวนประชากรได้แก่การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด 100% ภายในปี 2045 และเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มีความยั่งยืนขึ้น จากนั้นเราจะต้องเร่งให้ผู้นำทางการเมืองและภาคธุรกิจดำเนินการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและฟื้นฟูธรรมชาติ

ความเชื่อที่ 7 : เราไม่มีทางทำอะไรกับปัญหานี้ได้นอกจากจะปล่อยไป

อันที่จริงแล้ว เราสามารถทำอะไรได้มากมายเพื่อช่วยโลกของเรา วิธีการนั้นง่ายมาก คือทำอะไรก็ได้ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรารู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 1960 และข้อเท็จจริงนี้ก็ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คำถามก็คือว่าเราต้องลดการปล่อยก๊าซมากขนาดไหน? รายงาน IPCC ของปี 2018 ระบุว่าเราต้องบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 ได้แก่การรักษาระดับอุณหภูมิโลกไว้ไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 1.5 °C ซึ่งทำให้เราต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซลงประมาณ 7.6% ทุกปีจนถึงปี 2030

ความเชื่อที่ 8 : พลังงานทางเลือกเป็นแค่เครื่องมือหาเงินของนายทุน

ผู้คนส่วนมากคิดว่าพลังงานทางเลือกนั้นมีราคาสูง ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นพลังงานราคาถูกที่สุดที่สามารถนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ ต้นทุนพลังงานทางเลือกนั้นลดลงอย่างรวดเร็วกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คนใดได้ทำนายไว้

ความเชื่อที่ 9 : พลังงานทางเลือกใช้การไม่ได้เมื่อท้องฟ้ามีเมฆมากหรือลมแรง

อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกได้พัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่มีความก้าวหน้ามากจนสามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้เป็นปริมาณที่สูงมากและจ่ายไฟฟ้าอย่างฉลาด ดังนั้นไม่ว่าท้องฟ้าจะมีเมฆหรือไม่ หรือลมจะสงบเพียงใด อาคารก็จะมีไฟฟ้าใช้อยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น บ้านเรือนส่วนใหญ่ในประเทศอังกฤษใช้ไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งมีการเติมพลังงานกลับเข้าไปในระบบอยู่ตลอดเวลา ทำให้พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้านเรือนมีความเสถียรที่สูงมาก

ความเชื่อที่ 10 : เป็นความผิดของจีน (หรืออเมริกา) พวกเขาต่างหากที่ต้องเป็นผู้แก้ไข!

ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อเราทุกคน ทุกประเทศจึงมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องภาวะโลกร้อนเช่นเดียวกัน

จริงอยู่ที่บางประเทศเช่นจีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก แต่ถ้าคิดเป็นปริมาณต่อจำนวนประชากรแล้วยังน้อยกว่าออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ประชากรสหรัฐปล่อยก๊าซโดยเฉลี่ยมากกว่าสองเท่าของปริมาณที่ประชากรจีนปล่อยต่อคน อย่างไรก็ตาม การชี้นิ้วกล่าวหากันเป็นเรื่องที่เสียเวลา เราควรใช้เวลาคิดวางแผนและดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนจะดีกว่า และเราต้องตระหนักเสมอว่าภาวะโลกร้อนมิได้เป็นแค่เพียงเรื่องของสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องทางรอดของมนุษยชาติด้วย แม้ว่าภาวะโลกร้อนจะมีสาเหตุมาจากกิจกรรมของประเทศพัฒนาแล้วเป็นส่วนมาก แต่ผลกระทบส่วนใหญ่กลับไปตกกับประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถที่จะปฏิเสธการร่วมมือในการแก้ปัญหาได้


ภาพโดย Justin Sullivan
อ้างอิง https://earth.org/myths-about-climate-change/


Social Share