THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

นายเกียรติศักดิ์ แสงอรุณ
อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ ม.ธรรมศาสตร์
นายศวัส มีอภิวัฒน์
รร.สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประสบกับปัญหาสำคัญที่ทำให้คนในสังคมต้องมีอุปกรณ์สำคัญนำมาใช้ในชีวิตประจำวันตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือ หน้ากากอนามัย โดยในช่วงต้นปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทย เกิดปรากฏการณ์ฝุ่น PM 2.5 ปกคลุมมากกว่าปกติ จนรัฐบาลได้ประกาศให้การแก้ปัญหาฝุ่นพิษนี้เป็นวาระแห่งชาติ ในตอนนั้นสถานศึกษาหลายแห่งจะต้องปิดการเรียนการสอนชั่วคราว งดกิจกรรมกลางแจ้ง ประชาชนต้องซื้อเครื่องฟอกอากาศมาไว้ที่บ้าน ในปีถัดมา พ.ศ. 2563 นอกจากจะมีฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นมาในช่วงเดือนเดียวกันแล้ว เรายังต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เกิดผลกระทบด้านการสาธารณสุขไปทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน แต่ปัญหาดังกล่าวนั้นเป็นเพียงบทเรียนเริ่มต้นของมวลมนุษยชาติ ที่อาจจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาใหญ่ที่มนุษย์ล้วนเป็นต้นกำเนิดโดยตรงและสั่งสมมานานคือปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ


การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นภัยคุกคามที่สำคัญระดับโลกและส่งผลต่อความมั่นคงของมนุษย์ เพราะการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และทรัพยากรน้ำก็ลดน้อยลง เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ การเปลี่ยนแปลงลักษณะอากาศเฉลี่ย (Average Weather) ในพื้นที่หนึ่ง ลักษณะอากาศเฉลี่ยนี้ หมายความรวมถึง ลักษณะทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอากาศ เช่น อุณหภูมิ ฝน ลม เป็นต้น ในความหมายตามกรอบของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ FCCC (Framework Convention on Climate Change) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเป็นผลทางตรง หรือทางอ้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้องค์ประกอบของบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไป นอกเหนือจากความผันแปรตามธรรมชาติ (กรมส่งเสริมคุณภาพสิงแวดล้อม, 2563) ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะโลกร้อน (Global Warming) คือ การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลก และผืนมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) โดยมีก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ฯลฯ สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมากจนเกินสมดุล ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ทำให้ความร้อนไม่สามารถสะท้อนกลับออกไปนอกโลก อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจึงเพิ่มสูงขึ้น เกิดเป็นภาวะโลกร้อน ยิ่งก๊าซเรือนกระจกมากเท่าใดโลกก็จะร้อนขึ้นเท่านั้นและเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ผลกระทบที่ตามมาก็คือ เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปทั่วโลก เช่นที่เรากาลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันและยังกระทบต่อสมดุลในด้านต่าง ๆ บนโลกใบนี้อย่างมากมายด้วย หากเราปล่อยให้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นในลักษณะเช่นนี้ต่อไปยอมส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมมากกว่าโรคระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้หลายเท่าตัว


การปล่อยก๊าซในตระกูลของคาร์บอนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างมาก ซึ่งรวมถึงมลพิษทางอากาศหรือ PM 2.5 ที่เรากำลังประสบปัญหาอยู่ทุกปีด้วย การที่อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจะเป็นสาเหตุของภัยแล้งและคลื่นความร้อนที่จะส่งผลต่อระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมได้ง่ายกว่าปกติ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตคนในสังคมทั้งด้านสุขภาพและการดำรงชีวิต เกิดภาวะขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม รวมถึงการสูญเสียทรัพย์สิน บ้าน และวิถีการดำรงชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุหรือเด็ก ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างเต็มที่ นั่นหมายความว่าสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ของมนุษย์กำลังถูกท้าทายจากปัญหานี้ ทั้งสิทธิในชีวิต สุขภาพ อาหาร และมาตรฐานที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ด้วยเหตุนี้องค์กรต่าง ๆ ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ จึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาได้มีการออกมาเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมตามหลักสิทธิมนุษยชน ถึงแม้ว่าการเรียกร้องเหล่านั้นอาจไม่ได้มีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์บนโลกมากนัก แต่ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ารัฐบาลหลายประเทศหรือแม้แต่บริษัทเอกชนต่าง ๆ ได้ตื่นตัวแสดงความรับผิดชอบในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุก ๆ ภาคส่วนในสังคม เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหานี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ คุ้มครอง สิทธิมนุษยชนของคนในสังคมนั้น ๆ ก็จะต้องได้รับการปกป้องด้วย แนวทางที่ควรจะเป็นคือเราต้องสร้างวิธีในการอาศัยอยู่ร่วมกับโลกอย่างกลมเกลียวได้อย่างยั่งยืน เมื่อโลกอยู่ทน คนก็อยู่ได้นาน โดยอาจใช้มาตรการ“Cl-Im-At-E” (Climate) ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ในภาพรวม


Clean Energy สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและเพิ่มประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ ทั้งพลังงานลม แสงอาทิตย์ และพลังน้ำ ซึ่งเป็นพลังงานที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติในทุก ๆ ประเทศ เพราะพลังงานเหล่านี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทุกประเทศควรนำมาใช้เพื่อทดแทนพลังงานที่เกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนต้นตอของปรากฏการณ์เรือนกระจกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ


Improve Eating Habits จากรายงานของสหประชาชาติพบว่า อัตราการเกิดโรคติดต่อที่แพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน เช่นโควิด-19 จะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ถูกทำลาย มีการค้าสัตว์ป่า การทำเกษตรด้วยระบบที่ไม่ยั่งยืน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอัตราการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย (ฐานเศรษฐกิจ, 2564) กรณีดังกล่าวนี้จึงทำให้ต้องมาทบทวนมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อความเข้มงวดกับกฎหมายเหล่านั้นมากขึ้น เช่น กฎหมายคุ้มครองสัตว์ และมนุษย์จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารด้วย โดยสังเกตได้ว่าคนไทยในปัจจุบันนิยมรับประทานผักมากกว่าที่ผ่านมามากซึ่งผักเหล่านั้น ล้วนเป็นผักปลอดสารพิษหรือผักออร์แกนิกที่นอกจากจะมีคุณค่าด้านโภชนาการก็ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน


Attitude Change การเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมให้สนใจบริบทปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวมให้มากขึ้นจะเป็นการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมาพฤติกรรมต่างคนต่างอยู่ หรือมือใครยาวสาวได้สาวเอา เกิดขึ้นกับประชาชนทุกประเทศ ทำให้ทรัพยากรต่าง ๆ เริ่มหมดไป ธรรมชาติถูกทำลายไปมาก การจัดการต่าง ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงถูกละเลยทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร หากคนในสังคมตระหนัก รักและหวงแหนทรัพยากร คิดถึงความอยู่รอดของโลกโดยส่วนรวม ย่อมเกิดผลดีครั้งใหญ่กับการแก้ปัญหานี้


Education reform การศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะเมื่อคนในสังคมมีการศึกษาที่ดีย่อมเป็นตัวบ่งชี้ว่า ปัญหาต่าง ๆ จะได้รับการแก้ไขได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ หากเราได้นำประเด็นที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาไม่ว่าระดับกระทรวงหรือสถานศึกษาหรือแม้แต่ในครอบครัวย่อมเป็นนโยบายที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้าของประเทศนั้น ๆ ส่งผลถึงคุณภาพของพลเมืองและความเข้มแข็งของชุมชนด้วยนั่นเอง


จากมาตรการ “Cl-Im-At-E” (Climate) ดังที่ได้เสนอมานั้นหากสังคมได้นำมาใช้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก็จะเปลี่ยนไป แต่ในครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สิ่งแวดล้อมของไทยและของโลกจะน่าอยู่มากขึ้น ซึ่งบทเรียนนี้จะมีค่ามหาศาลเนื่องจากทำให้มนุษย์รู้จักปรับตัวและพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและทุก ๆ สรรพสิ่งบนโลก


รายการอ้างอิง
ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, กรม . (2563). คู่มือกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. กรุงเทพมหานคร : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
ฐานเศรษฐกิจ. (2564). ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (2). [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก www.thansettakij.com/ columnist/476872 เมื่อ 15 กรกฎาคม 2564.


Social Share