THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Thomas Hylland Eriksen
วันที่ 26 เมษายน 2564
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

ความหลากหลายขององค์ความรู้

องค์ความรู้ทางมานุษยวิทยาในปัจจุบันนั้นประกอบไปด้วยภูมิปัญญาที่หลากหลายและกว้างขวาง ตั้งแต่การศึกษาแนวคิดและแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับ carbon offset ไปจนถึงการละลายของหิ้งน้ำแข็งขั้วโลก และงานศึกษากลุ่มชาติพันธุ์เป็นจำนวนมากอธิบายถึงแนวทางการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนของกลุ่มชาติพันธุ์ งานของ Kirsten Hastrup อธิบายความสัมพันธ์ของผืนดิน ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และหิ้งน้ำแข็งที่กำลังละลาย งานของ Hal Wilhite (2016) และ Alf Hornborg (2019) มุ่งศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองและปฏิกิริยาโต้กลับทางมานุษยวิทยา และงานของ Astrid Stensrud (2019) อธิบายถึงแนวทางการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนของชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ นักมานุษยวิทยาจำนวนมากยังได้สร้างผลงานที่พัฒนาองค์ความรู้ด้านชาติพันธุ์วิทยาและประเด็นปัญหาโลกร้อนเช่น งานวิจัยแหล่งน้ำในลุ่มน้ำไนล์ของ Jessica Barnes (2014) และงานวิจัยเหมืองแร่ในออสเตรเลียของ Linda Connor (2016) ผลที่คล้ายคลึงกันของงานวิจัยเหล่านี้ได้แก่การให้ความสำคัญแก่ความเชื่อมโยงระหว่างชุมชนท้องถิ่นและสังคมสากล กล่าวคือเราไม่สามารถศึกษาความเปลี่ยนแปลง ทางเลือก และข้อจำกัดในอนาคตได้โดยไม่นำวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นมาพิจารณา สาขาวิชามานุษยวิทยาภูมิอากาศนั้นประกอบไปด้วยองค์ความรู้ในสเกลที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ระดับชุมชน ภาคธุรกิจ รัฐบาล ไปจนถึงระดับนานาชาติ

สาขาวิชามานุษยวิทยาภูมิอากาศมิได้เน้นการศึกษาภาวะโลกร้อนไปเสียทั้งหมด ถึงแม้ว่าหัวข้อวิจัยที่สำคัญๆอย่างการตัดไม้ทำลายป่า เหมืองแร่ ขยะ และมลภาวะจะเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน แต่การศึกษามานุษยวิทยาภูมิอากาศในวงกว้างก็กำลังหันมาให้ความสนใจกับประเด็นปัญหาเร่งด่วนนี้ ยกตัวอย่างเช่น The angry earth: disasters in anthropological perspective โดย Oliver-Smith & Hoffman (2019) ได้รับการทบทวนแก้ไขใหม่โดยพิจารณาตัวแปรที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั้งหมด หรืองานของ Bruno Latour (2017) ซึ่งหันมาให้ความสนใจในสาเหตุและการเมืองเรื่องภาวะโลกร้อน โดยวิพากษ์วิจารณ์การนำเอาเทคโนโลยีและการแบ่งแยกเขตแดนมาใช้แก้ปัญหา ซึ่งเขามองว่าเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง

เราสามารถพบเห็นงานวิจัยเกี่ยวกับมานุษยวิทยาภูมิอากาศได้ทุกหนแห่งในปัจจุบัน โดยส่วนมากเป็นงานที่เบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ประกอบไปด้วยการวิเคราะห์ผลกระทบจากการดำเนินการ แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ทางทฤษฎี ซึ่งไม่เป็นแต่เพียงการให้ความหมายใหม่แก่การวิจัยทางมานุษยวิทยาเท่านั้น แต่ยังตั้งคำถามถึงการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่จะเปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องจากการให้ความสำคัญต่อระบบนิเวศน์มากขึ้น ความคล่องตัวและความยืดหยุ่นได้เป็นแนวคิดสำคัญในการศึกษาเหล่านี้ ซึ่งเผยให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการแบ่งแยกระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรมที่จะก่อให้เกิดหายนะในท้ายที่สุด ภาวะโลกร้อนอาจถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในทางภูมิปัญญา การเมือง และการวิจัยทางมานุษยวิทยา ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่นักวิชาการจะหันมาให้ความสนใจในความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ และเรื่อง ‘assemblage’ (หรือแปลว่าการเปลี่ยนถ่ายข้ามขอบเขตระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และรูปธรรมและนามธรรม) ได้ให้แรงบันดาลใจแก่นักมานุษยวิทยาในศตวรรษนี้เป็นสำคัญ Assemblage ในบริบทนี้ประกอบด้วยความสัมพันธ์ซึ่งสร้างสังคม วัฒนธรรม และระบบนิเวศน์ขึ้น อันรวมไปถึงมนุษย์ เครื่องมือ ดิน ฝน แสงแดด พลังงาน ป่าไม้และสัตว์ประจำท้องถิ่น พืชไร่ และสมุนไพร ดังนั้นแนวคิดดังกล่าวจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายระหว่างสิ่งของและแนวคิด และระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรมข้ามพรมแดนที่เคยมีความแข็งตัวไม่ยืดหยุ่น

แทนที่จะพยายามเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาจากบนลงล่างโดยผ่านข้อตกลงนานาชาติ นักมานุษยวิทยามองปัญหาจากล่างขึ้นบนและนำเสนอข้อมูลสามประการที่ได้รับจากการทำงานภาคสนามอย่างอดทน

ประการที่หนึ่ง การตระหนักถึงความหลากหลายขององค์ความรู้เป็นสิ่งสำคัญในการวิจัยเชิงมานุษยวิทยา ตัวอย่างเช่นความแตกต่างของประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาที่ก่อให้เกิดความย้อนแย้งในความหลากหลายที่ไม่ได้ลงตัวพอดีในอาณาเขตนั้นๆเสมอไป เช่นประเทศเซเชลล์นั้นไม่ใช่สถานที่ตามความหมายที่ประเทศจีนเป็นสถานที่ ถึงแม้ว่าทั้งสองประเทศเป็นรัฐอิสระเช่นเดียวกัน โดยเซเชลล์มีประชากรราว 90,000 คน ส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงหรือท่องเที่ยว กำลังถูกคุกคามโดยระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ประเทศจีนมีประชากรราว 1.2 พันล้านคน และอีกมากที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก และอยู่กับความเสี่ยงที่หลากหลายตั้งแต่ความแล้งไปจนถึงน้ำท่วม ทำให้ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อประเทศจีนนั้นไม่สามารถอธิบายโดยใช้บริบทของประเทศเซเชลล์ได้ นอกจากนี้ ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะทึกทักว่ามาตรการแก้ปัญหาที่ได้ผลในนามิเบียจะได้ผลในเนปาลด้วยเช่นกัน ปัญหาน้ำแข็งละลายในกรีนแลนด์มีความแตกต่างจากปัญหาเดียวกันในบังคลาเทศที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ดินเค็ม และดินถล่ม

ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ประสบความสำเร็จใดๆก็ตามมักเริ่มต้นจากการตระหนักรู้ถึงวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นและได้รับการพัฒนาร่วมกับชุมชน ไม่ใช่เพื่อชุมชน ซึ่งถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในการศึกษามานุษยวิทยาการพัฒนา ข้อมูลนี้ซึ่งเป็นสามัญสำนึกของนักมานุษยวิทยาทั่วไปมักถูกละเลยในรายงานหรือการประชุมภาวะโลกร้อนในระดับนานาชาติ ดังนั้น สิ่งที่พึงกระทำได้แก่การกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาโลกร้อนจะต้องพิจารณาโดยการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามพื้นที่ท้องถิ่นระดับล่างสุด มิใช่ถูกกำหนดจากบนลงล่าง อย่างไรก็ตามการกระทำเช่นนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เนื่องจากขาดความเชื่อมดยงในระดับสากล ทำให้การรวมเอาสาขาวิชาที่หลากหลายเข้าด้วยกันเพื่อเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายจากล่างขึ้นบนเป็นสิ่งที่จำเป็น

ประการที่สาม ได้แก่การเปรียบเทียบ โดยที่วิธีการหนึ่งในการสร้างองค์ความรู้หรือทฤษฎีใหม่ทางมานุษยวิทยาได้แก่การเปรียบเทียบ ตัวอย่างเช่น นักมานุษยวิทยามักแสดงให้เห็นว่าที่ดินไม่ควรถูกจับจองเป็นของผู้ใดผู้หนึ่ง และ ‘การบริหารจัดการทรัพยากร’ และ ‘ความยั่งยืน’ มักถูกละเลย แต่ไม่เป็นความจริงกับประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ Karl Polanyi (1944) ได้ให้ความหมายของคำว่าที่ดินไว้ว่าเป็น ‘ทรัพย์สินที่ไม่มีอยู่จริง’ และไม่ควรนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยน ในสังคมซึ่งไม่สามารถแยกเศรษฐกิจออกจากชีวิตประจำวันได้ ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่หนึ่งๆเป็นสิ่งที่สามารถทำความเข้าใจได้ยากโดยผู้คนที่ครอบครองที่ดินในภูมิภาคอื่น

หลักการที่นักมานุษยวิทยายึดถือเป็นสำคัญได้แก่การทำความเข้าใจสังคมแบบองค์รวมที่มีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ทำให้บ่อยครั้งที่องค์ความรู้เชิงมานุษยวิทยาไม่สามารถกลมกลืนเข้ากับกระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐได้เนื่องจากการกำหนดเซกเมนต์ของประชากรโลกที่แตกต่างไปจากระบบเดิมที่หน่วยงานราชการคุ้นเคย อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างนี้อาจเป็นสิ่งที่เราต้องการ เพราะจะทำให้เราสามารถสำรวจ ตีความ และดำเนินการแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อนได้ครอบคลุมมากกว่า

รูปแบบของการปฏิบัติการ

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าความสนใจในเชิงวิชาชีพที่มีต่อภาวะโลกร้อนนั้นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในแวดวงนักมานุษยวิทยา ซึ่งหลายต่อหลายคนได้พยายามสร้างองค์ความรู้ขึ้นเพื่อสร้างความแตกต่างไม่ใช่แต่เพียงในโลกวิชาการ แต่ในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติด้วย อย่างไรก็ตาม งานของนักมานุษยวิทยาเหล่านี้ยังมีความแตกต่างอยู่หลายประการในเรื่องวิธีการจัดการอุปสรรคในงานวิจัยของตน

มุมมองเชิงนิเวศวิทยาสังคมซึ่งพิจารณาวัตถุประสงค์ การดำเนินการแก้ปัญหาที่สามารถวัดผลได้ และการหาประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายในงานวิจัยเชิงมานุษยวิทยาเมื่อเทียบกับสาขาอื่น ทว่าเป้าหมายหลักของงานวิจัยมานุษยวิทยาในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่ความเข้าใจวัฒนธรรมและการต่อสู้ภาวะโลกร้อนมากกว่า โดยแนะนำให้ใช้แนวทางการตีความเชิงวัฒนธรรมในประเด็นปัญหาภาวะโลกร้อน โดยให้เหตุผลว่านักมานุษยวิทยาควรต้องฟัง แบ่งปันความรู้ และยอมรับโมเดลเชิงวัฒนธรรมอื่นๆของเพื่อนร่วมอาชีพที่แสดงให้เห็นว่าองค์ความรู้ท้องถิ่นมีอิทธิพลต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาในระดับนานาชาติอย่างไร การเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะต้องใช้ทรัพยากรเท่าที่มีอยู่ในการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงภูมิปัญญาและทักษะท้องถิ่นเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกต่อต้าน เรื่องนี้เป็นหลักความจริงสากล เนื่องจากไม่มีใครชอบให้คนภายนอกเข้ามาสั่งการว่าควรคิดหรือปฏิบัติตนอย่างไร ซึ่งรัฐบาล  NGO และผู้บริจาคต่างก็อ้างว่าได้ปฏิบัติตนตามแนวทางดังกล่าวอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม คุณภาพขององค์ความรู้เชิงชาติพันธุ์ที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานานอยู่เหนือข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์และการประชุมกลุ่ม และสามารถเปิดเผยถึงมิติที่ซ่อนเร้นและไม่ได้คาดคิดไปถึงได้

(อ่านตอนจบในวันพฤหัสบดี)


ภาพโดย The Cambridge Encyclopedia of Anthropology
อ้างอิง https://www.anthroencyclopedia.com/entry/climate-change


Social Share