THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Thomas Hylland Eriksen
วันที่ 26 เมษายน 2564
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

หลังการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการสื่อสารตั้งแต่ช่วงปี 1990 เป็นต้นมา ผลเสียที่มีต่อสิ่งแวดล้อมดูเหมือนจะรุนแรงเกินแก้ไข ตามรายงาน IPCC 2014 อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีแต่จะรุนแรงขึ้นตามลำดับ แม้ว่าเราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ได้ ภาวะโลกร้อนก็จะดำเนินต่อไปอีกราวหนึ่งศตวรรษก่อนที่จะหยุดลงได้ จากข้อมูลดังกล่าวนี้ทำให้นักมานุษยวิทยาบางกลุ่มเชื่อมโยงภูมิปัญญาท้องถิ่นและระบบเศรษฐกิจโลกเข้าด้วยกัน เช่น Alf Hornborg (2019) นำเสนอแนวคิดที่ว่าทรัพยากรธรรมชาตินั้นมีจำกัด ดังนั้นการวัดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยจีดีพีนั้นเป็นสิ่งที่ควรยกเลิกเสีย และระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ขับเคลื่อนโดยพลังงานฟอสซิลนั้นเป็นระบบที่ทำลายตัวเอง ประการต่อมา Hornborg ยังได้อ้างอิงถึงกฏข้อที่สองของเทอร์โมไดนามิกส์ที่ว่าการเผาผลาญพลังงานฟอสซิลทำให้เกิดความร้อน จึงไม่มีประโยชน์ที่เราจะพึ่งพามันอีกต่อไป


นอกจากนี้ Hornborg ยังได้เน้นถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการใช้แรงงานมนุษย์ในระบบทุนนิยม โดยระบุว่าทุนนิยมเป็นเหลือบไรคอยเกาะกินทั้งมนุษย์เองและทรัพยากรธรรมชาติด้วยการเปลี่ยนแรงงานและทรัพยากรเป็นกำไรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นข้อวิจารณ์ของ Hornborg จึงสะท้อนให้เห็นทั้งทฤษฎี Marxist ที่เกี่ยวกับการผลิตส่วนเกินและทฤษฎีนิเวศน์วิทยาที่ระบุว่าทรัพยากรธรรมชาตินั้นมีจำกัด


จากงานของ Hornborg ได้นำไปสู่งานของ Baer และ Singer (2018) ในเรื่องมานุษยวิทยาและภาวะโลกร้อน โดยได้ทำการวิจัยขยายผลงานของ Hornborg ออกไปอีกด้วยการพัฒนาแนวคิดด้านมานุษยวิทยาภูมิอากาศที่มีต่อระบบทุนนิยมโลก ซึ่งวิจารณ์ระบบทุนนิยมโลกว่าเป็นระบบที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้งเพราะแสวงหาแต่ผลกำไรโดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัดทางระบบนิเวศน์ และเสนอทางเลือกที่ระบบเศรษฐกิจเพียงตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์มากกว่านำมาทำกำไร


ต่อมา Harold Wilhite (2016) ได้พูดถึงการบริโภค โดยกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสังคมพลังงานฟอสซิลและพฤติกรรมการบริโภค โดยชี้ให้เห็นว่าการลดอัตราการบริโภคพลังงานและการปล่อยก๊าซลงอย่างรวดเร็วนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในระบบเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งขับเคลื่อนโดยความจำเป็นที่จะต้องเติบโต การผลิต และระบบปัจเจกในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การที่เราจะสามารถแก้ไขปัญหาโลกร้อนในระดับพื้นฐานได้นั้น เราจะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและพฤติกรรมการบริโภคพลังงานอย่างฟุ่มเฟือยในระกับครัวเรือนที่เกิดขึ้นในสังคมวัตถุนิยม เช่นการสร้างบ้านด้วยซีเมนต์แทนไม้และติดเครื่องปรับอากาศทุกห้อง นักมานุษยวิทยาการบริโภค Richard Wilk (2016) ก็ได้ตังคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคอย่างเกินความจำเป็นซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน


ยังมีงานวิจัยชิ้นอื่นๆที่พยายามทดสอบความเป็นไปได้ในการนำพลังงานสะอาดมาใช้ทดแทนพลังงานถ่านหินอย่างยั่งยืน เช่นงานของ Dominic Boyer และ Cymene ที่ศึกษาเกี่ยวกับฟาร์มพลังงานลมขนาดใหญ่ในเม็กซิโกแต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก การวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจการเมืองกับพลังงานลม และการบูรณะความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม Boyer ใช้คำว่า ‘energopower’ ในการอธิบายความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างพลังงาน เศรษฐกิจ การเมือง และชุมชนท้องถิ่น และ Howe ได้พิจารณาพ้นขอบเขตของมนุษย์โดยสำรวจผลกระทบของระบบผลิตพลังงานลมที่มีต่อพืชและสัตว์ในพื้นที่ แนวทางดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงหลักคิดสำคัญของมานุษยวิทยาร่วมสมัยที่รวมถึงเรื่องภาวะโลกร้อน ได้แก่ความขัดแย้งกันระหว่างแนวทางของเศรษฐกิจการเมือง (ซึ่งก่อให้เกิดการรวมอำนาจ ความเหลื่อมล้ำ และระบบโลก) กับแนวทางของท้องถิ่นที่ให้ความสำคัญแก่หน่วยย่อยและญาณวิทยาซึ่งพิจารณาความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง ซึ่งแนวคิดนี้อาจให้มุมมองที่หลากหลายที่มีต่อปัญหาโลกร้อน การที่ Boyer และ Howe แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำได้โดยง่าย แต่จะต้องนำมาใช้โดยให้เกิดผลกระทบต่อระบบพลังงานถ่านหินเดิมให้น้อยที่สุดก่อน แต่ก็สามารถแก้ปัญหาได้ในที่สุดหากได้รับการดำเนินการอย่างถูกต้อง
ตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าสาขาวิชามานุษยวิทยาภูมิอากาศเป็นสาขาที่ประกอบด้วยหลากหลายระดับ (นานาชาติและท้องถิ่น) หลากหลายสาขาวิชา และหลากหลายวิธีการ (เช่นชาติพันธุ์วิทยาเปรียบเทียบ) และนักมานุษยวิทยาภูมิอากาศแต่ละรายก็ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาทางตรงหรือทางอ้อมที่แตกต่างกันออกไปตามประสบการณ์ วัตถุประสงค์ และแนวทางการวิเคราะห์

มานุษยวิทยาภูมิอากาศในฐานะที่เป็นแนวทางใหม่


สิ่งที่ใหม่เกี่ยวกับมานุษยวิทยาภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องของขอบเขตการพิจารณาในระดับสากล แต่เป็นการตระหนักว่าภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อชีวิตมนุษย์และพืชสัตว์ในระยะยาวตามที่ Moore (2015) ได้กล่าวไว้ว่า ‘ภาวะโลกร้อนจากกิจกรรมของมนุษย์จะทำให้เกิดความสูญเสียทางความหลายหลายทางพันธุกรรมในระดับทั่วทั้งโลก’


ผลกระทบในระดับโลกนั้นไม่อาจปฏิเสธได้ แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นมากที่สุด และเราจะต้องทำความเข้าใจในบริบทของนิเวศน์วิทยา สังคมวิทยา การเมือง และวัฒนธรรม ในขณะที่เวลาที่ผ่านมานักการเมืองปฏิเสธความเร่งด่วนของปัญหาและเรียกร้องผลการวิจัยเพิ่มเติมอีกเรื่อยๆ แต่เป็นที่ชัดเจนต่อสังคมว่าองค์ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์บริสุทธ์ที่ต้องใช้ในการแก้ปัญหาโลกร้อนนั้นมีอยู่แล้วเป็นเวลาหลายปี อย่างไรก็ตามในขณะที่วิทยาศาสตร์บริสุทธ์ได้บันทึกข้อเท็จจริงและภัยของภาวะโลกร้อนไว้ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับมิติของมนุษย์และภาวะโลกร้อนอย่างเพียงพอ ดังนั้นจึงเกิดคำถามขึ้นว่าทำไมจึงมีน้อย ทั้งๆที่นานาประเทศได้ลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากมายนับตั้งแต่ Kyoto Protocol ในปี 1997 ซึ่งได้มีมาตรการลดผลกระทบเตรียมพร้อมอยู่แล้ว และรายงาน IPCC ฉบับต่อมาได้ยืนยันถึงความสำคัญของการลงมือแก้ไขปัญหาโดยทันที ทว่าอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อไปและมองไม่เห็นว่าเราจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ใน Kyoto Protocol ได้เลย


ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซเป็นปัจจัยสำคัญต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์มากว่าสองร้อยปี มาจนบัดนี้กลายเป็นหายนะที่ยากจะกำจัด บทเรียนจากประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอาจแนะนำให้ยกโครงสร้างสังคมให้มีระดับชั้นที่น้อยลงและซับซ้อนน้อยลง กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และมีความยืดหยุ่น ลดจำนวนงานราชการและเพิ่มงานเกษตรกรรม หรือลดจำนวนงานประชาสัมพันธ์ลงและเพิ่มงานประมง เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว แนวคิดที่ได้มาจากนักโบราณคดีนี้อาจเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนความสำคัญของมานุษยวิทยาภูมิอากาศ ซึ่งนำเสนอมุมมองจากภายในและจากระดับล่าง ทำให้นักมานุษยวิทยาสามารถวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างลำดับชั้นของทั้งภูมิอากาศและสังคมได้ แล้วยังสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิปัญญาที่นำมาใช้แก้ปัญหาโลกร้อนจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งไม่ได้หมายความว่านักมานุษยวิทยาเสนอให้โลกกลับไปใช้ชีวิตในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่เสนอว่าเรามีหลายวิธีในการแก้ปัญหา

(จบ)


ภาพโดย The Cambridge Encyclopedia of Anthropology
อ้างอิง https://www.anthroencyclopedia.com/entry/climate-change


Social Share