โดย : สุภา ใยเมือง
สัมมนาออนไลน์ : ความหวังและแนวทางต่อสู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ข้อเสนอจากภาคประชาสังคมที่ทำงานกับชุมชนฐานราก”

สู่วิถีเกษตรนิเวศ เพื่อปรับตัวและลดก๊าซเรือนกระจก
ภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างชัดเจน ทั้งด้านนิเวศ ความมั่นคงอาหาร เศรษฐกิจ โดยส่งผลต่อพื้นที่แตกต่างกัน นักวิชาการ นักพัฒนา และเกษตรกรพบว่า ระบบเกษตรที่เกื้อกูลนิเวศ มีความหลากหลายพืชพรรณ ที่เรียกว่าระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรเชิงนิเวศ ไม่เพียงแต่ปรับตัวได้ดี แต่ยังมีศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนฯ ในดินได้ดีกว่าระบบเกษตรเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่
นอกจากนี้ เกษตรกรและชุมชนดำรงชีวิตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยง ความเปราะบางของระบบเกษตรกรรมต้องเข้าใจความซับซ้อนปัญหา และวิถีชีวิต ศักยภาพของชุมชนที่แตกต่างกัน
ข้อเสนอต่อนโยบายรัฐ
1. กำหนดเป้าหมายให้เปลี่ยนระบบเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยวไปสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน สืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2562 รัฐสภาเคยมีมติเห็นชอบแนวทางปรับเปลี่ยนเกษตรของประเทศไปสู่เกษตรอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืน 100% ภายในปี พ.ศ. 2573 แต่ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ยังไม่มีเป้าหมายในเรื่องเกษตรยั่งยืน
2. พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารพยากรณ์สภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพื่อประกอบการตัดสินใจด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มเกษตรกร ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ง่ายและทั่วถึง
3. สร้างเสริมนวัตกรรมการปรับตัวของครัวเรือนเกษตรกรและชุมชน โดยการพัฒนาเทคโนโลยี และการพัฒนาเกษตรกรรมเชิงระบบ บนฐานความหลากหลายของระบบนิเวศ และความแตกต่างกันของการดำรงชีพของเกษตรกรรายย่อยและชุมชน
3. จัดทำนโยบายฟื้นฟูปรับตัวของเกษตรกรรายย่อยและชุมชนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจัดทำแผน กองทุน นโยบายประกันราคาพืชผลในกรณีได้รับความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปรับตัวให้มีความเข้มแข็ง
4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีนโยบายเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของเกษตรกรรายย่อย และชุมชน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ข้อเสนอต่อสังคม
1. สร้างการพึ่งตนเองด้านอาหารให้มากขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงทางอาหารของครัวเรือน
2. ปรับพฤติกรรมการบริโภคที่คำนึงถึงผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนผลผลิตของเกษตรกรรายย่อยจากระบบเกษตรอินทรีย์ เกษตรนิเวศ
3. มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะ ตั้งแต่ต้นทางเพื่อลดการจัดการขยะที่ปลายทาง ขณะเดียวกันร่วมสร้างระบบหมุนเวียนเพื่อนำไปใช้ใหม่ หรือนำกลับมาเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้
4. ร่วมรณรงค์เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาผลกระทบต่อภาคเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้คนในสังคมได้มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
