THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

โดย คุณเรวดี ประเสริฐเจริญสุข, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
สัมมนาออนไลน์ : ความหวังและแนวทางต่อสู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ข้อเสนอจากภาคประชาสังคมที่ทำงานกับชุมชนฐานราก”

สภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงรุนแรงมากขึ้น กระทบต่อเมืองและชนบท กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำมาหากิน สร้างรายได้โดยเฉพาะในสังคมชนบท ที่มีวิถีชีวิตเพิ่งพิงความอุดมสมบูรณ์ หลากหลายของธรรมชาติ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้หญิงและผู้ชายได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะผู้หญิง คนจน กลุ่มเปราะบาง เกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชายในความสามารถในการรับมือ ด้วยมีความเปราะบางและเข้าถึงการพัฒนาที่แตกต่างกัน ผู้หญิงแบกรับภาระทั้งในบ้านและภาระเศรษฐกิจ ทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงการพัฒนา การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในกระบวนการคิด ตัดสินใจในนโยบาย กฎหมาย แผนงาน มาตรการที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงในการรับมือจากผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

ด้วยความเข้าใจของสังคมไทยในเรื่องความเท่าเทียมเสมอภาคเรื่องเพศสภาพ ยังคงติดกรอบประเพณี วัฒนธรรม เพศทางสรีระ ทัศนคติเชิงลบของผู้หญิงและผู้ชาย มองไม่เห็นความเท่าเทียมเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งผู้กำหนดทิศทางนโยบายยังมองไม่เห็น ไม่ให้ความสำคัญ แม้นมีข้อมูลจากปรากฏการณ์ การศึกษาวิจัยต่างๆ พบว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติ อัตราการเสียชีวิตผู้หญิงมากกว่าชาย ดังนั้นการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่ใส่ใจมิติเพศสภาพ ยิ่งขยายความไม่เท่าเทียมและซ้ำเติมให้ผู้หญิงมีความเปราะบางเพิ่มมากขึ้น 

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ถือเป็นทิศทางการพัฒนาร่วมกันของประชาคมโลกที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง บนหลักสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศในเป้าหมายที่ 5 และได้ผนวกการพัฒนาศักยภาพหญิงในเป้าหมายอื่นๆ เช่น เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบ ที่กำหนดให้ผู้หญิงเข้าถึงทรัพยากร มีสิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดินทำกิน เป้าหมายที่ 13 ส่งเสริมกลไกเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและคนชายขอบ

การเชื่อมโยงความเสมอภาคทางเพศกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะลดภัยคุกคาม การสูญเสียได้ ประเทศไทยได้ลงนามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) และปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง รวมทั้งได้กำหนดในรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ว่า “บุคคลย่อมเสมอกันใน กฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความ คุ้มครอง ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” มีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 และมีคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศแห่งชาติเพื่อพัฒนาความเสมอภาคทางเพศ และทำยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรีทุก 5 ปี เพื่อใช้ขับเคลื่อน ส่งเสริมความเท่าเทียมเสมอภาคทางเพศ ลดความเหลื่อมล้ำ และจัดสรรงบประมาณมีประสิทธิภาพ  นอกจากนี้ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะผลการประชุมเจรจาครั้งที่ 15 (COP 15)  ได้ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมเสมอภาคทางเพศ เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนยากจน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ถูกเลือกปฏิบัติที่มีมิติซ้อนทับหลาย ในความตกลงปารีสได้ระบุถึงการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างเพศ เสริมสร้างความเข็มแข็งของสตรี ให้มีส่วนร่วมตัดสินใจทางนโยบาย ปฏิบัติการทุกระดับ

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2593 จะพบว่าประเด็นความเสมอภาคทางเพศถูกมองข้าม ไม่ได้บูรณาการเข้าสู่แผนฯ ขาดการกำหนดทิศทางเป้าหมายส่งเสริมและยกระดับบทบาทผู้หญิงร่วมทำงาน ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการตั้งรับปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรม ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง มีดำเนินการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย ขจัดความไม่เท่าเทียมเสมอภาคทางเพศ เพื่อลดความเสี่ยง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในบริบทการพัฒนา ส่งเสริมให้ผู้หญิงร่วมคิดร่วมตัดสินใจ รวมทั้งปรับกระบวนทัศน์ใหม่ จากการมุมมองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอควรได้รับอนุเคราะห์ ให้เป็นพลเมืองและหุ้นส่วนของการพัฒนา 

ข้อเสนอของ Thai Climate Justice For All ต่อหน่วยงานภาครัฐ ต้องกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ตอบสนองต่อปัญหาในเพศที่แตกต่างอย่างเท่าเทียม และกำหนดมาตรการคุ้มครอง ส่งเสริม พัฒนากลไกขับเคลื่อนจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วม การเข้าถึงประโยชน์ จัดทำมาตราการให้ทุกกลุ่มเข้าถึงโอกาสโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สร้างพื้นที่ให้เพศที่แตกต่างมีส่วนร่วมคิด ตัดสินใจในการกำหนดเป้าหมาย นโยบายให้ชัดเจน


Social Share