THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

โดย : ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์
สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
สัมมนาออนไลน์ : ความหวังและแนวทางต่อสู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ข้อเสนอจากภาคประชาสังคมที่ทำงานกับชุมชนฐานราก”

ข้อเสนอต่อทิศทางการจัดการชายฝั่งและทะเลในภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

          รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC) คาดการณ์ว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น ๒ เมตร ภายในปี ๒๖๔๓ และเพิ่มขึ้น ๕ เมตรภายในปี พ.ศ. ๒๖๙๓  ปัจจุบันระดับน้ำทะเลมีอัตราเพิ่มขึ้นที่เร็วกว่าเดิม คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเผชิญกับสภาวะน้ำท่วมชายฝั่งในปี ๒๕๙๓ หรือในอีก ๓๐ ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนราว ๑๒ ล้านคน[1] 

          ภาวะที่อุณหภูมิของน้ำทะเลเพิ่มสูงและการดูดซับคาร์บอนฯ ที่มากขึ้น ทำให้น้ำทะเลเป็นกรด กระทบต่อระบบนิเวศทะเล เช่น ปะการังฟอกขาว เปลือกของปะการังและหอยบางลง เกิดการเปลี่ยนแปลงชีววิทยาของปลา และกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ในวงจรของระบบนิเวศทะเล

          นอกจากสภาวะโลกร้อนแล้ว ปัญหาขยะและมลพิษที่ปล่อยลงทะเลก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่ของอาหารทะเล อาหารทะเลแทบทุกชนิดในปัจจุบันมีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์

          การศึกษาของนักวิชาการพบว่า หญ้าทะเล ป่าชายเลน ช่วยดูดซับคาร์บอนฯ ได้จำนวนมาก ดังนั้นการรักษาระบบนิเวศชายฝั่งจึงมีความสำคัญต่อการช่วยบรรเทาภาวะก๊าซเรือนกระจกของโลก

          ในท่ามกลางสถานการณ์ข้างต้น รัฐบาลไทยยังคงยึดมั่นกับแผนพัฒนาชายฝั่งที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก ที่มีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นและทำลายระบบนิเวศทางทะเล เช่น โครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โครงการท่าเรือน้ำลึกและอุตสาหกรรมชายฝั่งภาคใต้ เป็นต้น รวมทั้งยังขาดมาตรการการแก้ไขปัญหาขยะทะเลอย่างจริงจัง

          ข้อเสนอเพื่อการลดภาวะโลกร้อน บรรเทาผลกระทบต่อชุมชนชายฝั่ง และปกป้องระบบนิเวศทะเล

          ๑. อนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศทะเลและชายฝั่ง และทบทวนโครงการพัฒนาชายฝั่งให้อยู่บนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรมเป็นอันดับต้น เพราะระบบนิเวศทะเล ได้แก่ ปะการัง หญ้าทะเล ป่าชายเลน สัตว์ทะเล สำคัญต่อมนุษย์ ทั้งในด้านการลดมลพิษ ป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นกันชนระหว่างแผ่นดินกับทะเลที่จะเพิ่มระดับสูงขึ้น และสร้างความมั่นคงอาหารของชุมชนและประเทศ นอกจากนี้รัฐต้องทบทวนโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชายฝั่งให้ตั้งอยู่บนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรม คุ้มครอง สนับสนุนสิทธิชุมชน และประชาชนในการอนุรักษ์ระบบนิเวศทะเล

          ๒. ยุติการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ นำหลักการความรับผิดชอบของผู้ก่อมลพิษมาดำเนินการด้วยการให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก  ผู้ผลิตสินค้าที่บรรจุภัณฑ์กลายเป็นขยะพลาสติกในทันทีที่ใช้หรือใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ต้องรับผิดชอบค่ากำจัดซากผลิตภัณฑ์ของตนเอง หรือนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำ ผ่านระบบภาษีหรือการคิดค่ากำจัดขยะจากยอดจำหน่าย สำหรับผู้บริโภคต้องรับผิดชอบค่ากำจัดขยะที่เพิ่มขึ้นตามประเภทของขยะที่ตนก่อไม่ใช้ระบบเหมากำจัดขยะแบบรวมในปัจจุบัน 

          ๓.สร้างความเข้มแข็งการตั้งรับปรับตัวและเตรียมความพร้อมของชุมชน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ ภาคการท่องเที่ยวให้รับทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น สร้างความตระหนักที่จะไม่ทำกิจกรรมที่เพิ่มก๊าซเรือนกระจก หรือทำลายทรัพยากรทางทะเลที่ช่วยดูดซับคาร์บอน เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น  เพื่อจะอยู่ร่วมกับระบบนิเวศอย่างยั่งยืน


[1] BBC NEWS ,โลกร้อน งานวิจัยล่าสุดคาด ๑๒ ล้านคนในไทยจะได้รับผลประทบจากน้ำท่วมชายฝั่งเพราะระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ,๑๗/๘/๖๔


Social Share