THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Sarah Strauss
วันที่ 11 กรกฎาคม 2012
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
อ้างอิง WIREs Clim Change 2012. doi: 10.1002/wcc.181

วัฒนธรรมจากมุมมองเชิงมานุษยวิทยา ประกอบไปด้วยองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ในสังคม ที่ไม่ได้มีแต่สังคมชั้นสูงกล่าวคือเรื่องของศิลปะและวรรณกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิถีชีวิตประจำวัน และความเชื่อด้วย เช่น การปลูกมันฝรั่งหรือสวดมนต์อ้อนวอนขอฝนหรือโชคในการทำสงคราม หรือทำสอบในโรงเรียน
ต่อไปนี้เราจะพูดถึงกฎเกณฑ์บางอย่างของวัฒนธรรมเพื่อพิจารณาว่าภาวะโลกร้อนได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความหลายหลายทางวัฒนธรรมของมนุษย์หรือไม่
ตัวอย่างผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อสังคมมนุษย์ที่ชัดเจนที่สุดนั้นมักเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไหลอย่างภูมิภาคอาร์คติกหรือหมู่เกาะเขตร้อน แต่เราต้องตระหนักว่าวิถีชีวิตที่พึ่งพาอาศัยพลังงานถ่านหินที่อาศัยอยู่ในชุมชนอุตสาหกรรมนั้นน่าจะมีความเสี่ยงสูงกว่าพื้นที่ห่างไหลเสียอีก

คำนำ
ในฐานะที่เป็นนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ข้าพเจ้าทำงานเกี่ยวกับประเด็นปัญหาด้านแหล่งน้ำและภาวะโลกร้อนมาตั้งแต่ปี 1997 และส่วนมากมักทำการศึกษาในพื้นที่เทือกเขาสวิสแอลป์ เทือกเขาร็อคกี้ในไวโอมิ่งและโคโลราโด้ และอินเดีย

ในขณะที่ข้าพเจ้าทำงานที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐไวโอมิ่ง และเมื่อทำงานในฐานะนักวิชาการรับเชิญที่มหาวิทยาลัยไฟร์บวร์กในสวิตเซอร์แลนด์และ U.S. National Center for Atmospheric Research ข้าพเจ้าได้แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนนักวิชาการเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่หลากหลายตั้งแต่จิตวิทยา ปรัชญา ไปจนถึงอุตุนิยมวิทยาและนักเคมีการถ่ายภาพนิ่ง
จากการแลกเปลี่ยนดังกล่าว ข้าพเจ้าทราบดีว่านักมานุษยวิทยามักถูกมองว่าเป็นสาขาวิชาที่เหมาะสมเพื่อทำความเข้าใจอดีตมากกว่าปัจจุบันหรืออนาคต และมีชื่อว่าเป็นหลักการที่ทำให้เกิดข้อขัดแย้งแต่ไม่ค่อยทำให้เกิดผลลัพธ์ที่มีความผสมผสานจากหลายสาขาวิชาการมากนัก

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงศึกษาทฤษฎีมานุษยวิทยาไว้เป็นแนวทาง 2-3 ทฤษฎี ด้วยการตอบคำถามของบรรณาธิการของข้าพเจ้าว่าวัฒนธรรมของเรากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงต่อภาวะโลกร้อนหรือไม่?

ก่อนอื่น ข้าพเจ้าจะพิจารณาถึงความแตกต่าง (ถ้ามี) ระหว่างการปรับตัวทางวัฒนธรรมต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและความคิดที่ว่าวัฒนธรรมของเรากำลังจะสูญสลายไปจากภาวะโลกร้อน
.
กฎข้อที่ 1 : วัฒนธรรมนั้นแปรเปลี่ยนไปเสมอไม่ช้าก็เร็ว
เราไม่มีกฎเกณฑ์ทฤษฎีมากมายนักในสาขามานุษยวิทยาวัฒนธรรม แต่เรามีกฎข้อแรกนี้!
เราอาจคิดว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ไปตลอดกาล แต่เมื่อนักมานุษยวิทยากล่าวถึงวัฒนธรรม จะใช้คำจำกัดความที่รวมเอาลักษณะทั้งหมดของชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ทำให้การศึกษาวิจัยระบบวัฒนธรรมหนึ่งๆ ในจุดหนึ่งจุดใดของประวัติศาสตร์นั้นไม่เพียงพอ เช่นเดียวกันกับที่เราศึกษากระบวนการที่ต่อเนื่องและไม่สมดุลกันของระบบนิเวศ เราจึงต้องศึกษาวัฒนธรรมในลักษณะที่มีความเป็นพลวัต ในขณะที่ข้าพเจ้าจะไม่ประเมินพลังของวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่ำเกินไป ข้าพเจ้าก็จะไม่ยอมแพ้โดยการอ้างว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นได้เกิดขึ้นแล้วและวัฒนธรรมของมนุษย์ก็ได้รับผลกระทบไปแล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เนื่องจากมนุษย์นั้นมีความอดทนอย่างเหลือเชื่อ วัฒนธรรมของเราทำให้เผ่าพันธุ์ต่างๆ กระจัดกระจายไปสู่ตามสถานที่ต่างๆ ของโลกแม้แต่ในภูมิภาคที่มีสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง และไม่ว่ามนุษย์จะอพยพย้ายถิ่นไปที่ใด วัฒนธรรมของพวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อมใหม่

Franz Boas บิดาของวิชามานุษยวิทยาอเมริกันเขียนไว้ในปี 1928 ว่า ‘เราจะเข้าใจวัฒนธรรมได้โดยดูจากการเติบโตในประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเหตุการณ์ภายนอกตัวตนของเรามากกว่าจะเกิดขึ้นจากภายในชีวิตประจำวันของผู้คน’
ด้วยสาเหตุนี้เอง ข้าพเจ้าจึงไม่กังวลว่าความจำเป็นในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและฉับพลัน (ทั้งจากการกระทำของมนุษย์และจากปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่นภูเขาไฟระเบิด) จะทำให้วัฒนธรรมของมนุษย์ (แม้แต่ของชนเผ่าบนเกาะเล็กๆ) สูญสลายไป

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมนั้นจะยังคงรุนแรง ผู้อ่านอาจคุ้นเคยกับเรื่องราวของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่โด่งดังเช่นที่ Kivalina และ Shishmaref ในรัฐอลาสก้า ที่น้ำแข็งบนยอดเข้าละลายลงมาและกัดเซาะชายฝั่งของเมืองอย่างรวดเร็วจนชาวเมืองต้องอพยพออกจากพื้นที่ ในขณะที่อีกซีกโลกหนึ่ง เช่นประเทศตูวาลูแห่งแปซิฟิคใต้นั้นเกิดปัญหาระดับน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มทะลักเข้าเรือกสวนไร่นาทำให้อาจต้องอพยพผู้คนออกไป
ข้าพเจ้าจะไม่ประเมินความรุนแรงของปัญหาเหล่านี้ต่ำเกินไป แต่เราจะต้องตระหนักว่าชุมชนเหล่านี้กำลังเผชิญปัญหามากมายที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และภาวะโลกร้อนคือตัวการที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
มีนักวิจัยจำนวนมากมองว่าภาวะโลกร้อนไม่ใช่ปัญหาเชิงเดี่ยวที่แยกออกไปจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมอื่นๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ แต่เป็นปัญหาทับซ้อนที่ทำให้ปัญหาต่างๆ เหล่านั้นหนักหนาขึ้นทั้งทางด้านขนาดและความรุนแรง
นอกจากนี้ แนวทางการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนมีแนวโน้มที่จะคล้ายคลึงกับเงื่อนไขการปรับตัวทางวัฒนธรรม

กฎข้อที่ 2 : วัฒนธรรมคือการปรับตัวที่สำคัญของมนุษย์
วัฒนธรรมนั้นไม่ได้ติดตัวเรามาแต่กำเนิดและไม่ได้แยกตัวออกเป็นหน่วยย่อยๆ มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทางสังคมที่ซับซ้อน และวัฒนธรรมคือการปรับตัวที่สำคัญของมนุษย์ คุณค่าที่สำคัญของวัฒนธรรมคือความสามารถในการเชื่อมโยงคนต่างรุ่นเข้าด้วยกัน แต่ก็ยังมีความยืดหยุ่นพอที่จะปรับตัวไปตามสิ่งแวดล้อมและเงื่อนไขทางสังคมได้

Boas และนักเรียนของเขาคือ Alfred Kroeber และ Julian Steward เป็นหนึ่งในนักวิจัยหลายคนที่แสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์อย่างเป็นพลวัตระหว่างวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ความสามารถในการปรับตัวเช่นนี้ทำให้มนุษย์สามารถดำรงอยู่ได้ทุกพื้นที่บนโลก เมื่อ 10,000 ปีที่แล้ว มนุษย์อยู่รอดได้ด้วยการล่าสัตว์ที่มีอยู่ในพื้นที่ของตน ซึ่งหมายความว่า การล่าสัตว์ในแต่ละพื้นที่นั้นแตกต่างกันไปตามฤดูกาล ลักษณะภูมิประเทศ และสภาพภูมิอากาศ เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม แล้วจึงปรับตัวไปตามสิ่งที่ได้เรียนรู้มา ถึงแม้ว่าแนวทางการปรับตัวบางอย่างจะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดและเงื่อนไขโครงสร้างที่เราสร้างขึ้นอาจเป็นอุปสรรคต่อทางเลือกที่จะนำไปสู่การตัดสินใจในขั้นตอนต่อไป

มนุษย์มีการเคลื่อนตัวและเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ในการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ อาจด้วยการถูกรุกรานจากชนเผ่าอื่นหรือภัยพิบัติอื่นๆ โดยไม่ต้องรอให้ถึงจุดสิ้นสุดทางอารยธรรมแต่เพียงอย่างเดียว ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ชนพื้นเมืองแถบอเมริกาเหนือได้ลดจำนวนลงไปอย่างมากจากโรคระบาด สงคราม ความยากจน และการรุกรานจากชนผิวขาว ในขณะที่หลายชนเผ่าไม่สามารถอยู่รอดจากภัยโรคระบาดและการล่าอาณานิคมได้ ชนเผ่าที่เหลือรอดอย่างเช่นนาวาโฮและอินูอิตสามารถอยู่รอดได้และยังสามารถรักษาประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้อีกด้วย แต่ข้าพเจ้าก็ไม่คิดว่าการปรับตัวคือกระบวนการที่ดีที่สุด แต่เป็นกระบวนการที่ทำให้วัฒนธรรมของมนุษย์ต้องมีพลวัต ไม่ว่าเราจะต้องการการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็ตาม ในบางครั้ง การรวมตัวกันระหว่างความดื้อดึงไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นใหญ่หลวงเกินไป หมู่เกาะอีสเตอร์และการล่มสลายของอารยธรรมมายาเป็นหนึ่งในตัวอย่างนี้ และภาวะโลกร้อนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ก็กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกว้างขวางจนทำให้เราอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเรื่องของเศรษฐกิจและการเมืองเป็นข้อจำกัดอยู่
ดังนั้น จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ควรพิจารณาให้ภาวะโลกร้อนเป็นความเสี่ยงต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่สูงกว่าความเสี่ยงด้านอื่นๆ หรือไม่?

จากที่ได้กล่าวมาแล้วว่าประเทศในหมู่เกาะเล็กๆ หรือภูมิภาคอาร์คติก เช่น หมู่เกาะมาร์แชล ตูวาลู หรือชิมาเรฟเกิดปัญหาที่ดินทำกินมีขนาดที่เล็กลงเพราะถูกกัดเซาะและน้ำทะเลหนุน ทำให้ประชากรต้องอพยพย้ายถิ่นไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก หรืออย่างน้อยก็ปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เรื่องราวเหล่านี้เป็นความจริงและเป็นปัญหาที่รุนแรง การเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ที่ดินจากแบบไม่มีเจ้าของของกลุ่มชาติพันธุ์ (สิทธิชุมชน) เป็นแบบการถือครองตามหลักกฎหมายตะวันตกมักเกี่ยวข้องกับสิทธิเหนือที่ดินทำกิน
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาผู้อพยพเนื่องจากแนวคิดเส้นแบ่งแยกเขตแดนที่ชัดเจนของประเทศพัฒนาแล้ว ถึงแม้ว่าอาจไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้อพยพเสี่ยงต่อการสูญเสียวัฒนธรรมของตนหรอกหรือ?

เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ เราควรพิจารณาตัวอย่างเกี่ยวกับความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมตัวอย่างหนึ่งที่นำไปสู่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ในปี 2010 ภัยน้ำท่วมในปากีสถานเป็นหนึ่งในภัยธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง เมื่อปริมาณน้ำฝนเท่ากับที่ตกครึ่งฤดูฝน ตกลงมาภายในเวลาสัปดาห์เดียว ทำให้พื้นที่ 1 ใน 5 ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ และคนจำนวน 15-20 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย
ความรุนแรงของภัยน้ำท่วมในปากีสถานครั้งนี้รุนแรงกว่าภัยธรรมชาติในช่วงเวลาใกล้เคียงกันทั้งหมด

ในขณะที่ไม่ใช่นักวิจัยภูมิอากาศทุกคนจะสรุปว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเช่นอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและฤดูมรสุมที่รุนแรงขึ้นคือสาเหตุของน้ำท่วมครั้งนี้ แต่งานวิจัยล่าสุดก็บ่งชี้ข้อสรุปไปในทางนั้น และก็เป็นจริงที่ว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดเร่งให้เกิดผลกระทบจากฤดูมรสุมที่รุนแรงขึ้นในภูมิภาคนี้ ประชากรที่เคยอยู่อาศัยในเขตนี้ในศตวรรษที่แล้วก่อนภาวะประชากรล้นโลกสามารถหลีกเลี่ยงภัยน้ำท่วมเมืองตามปกติได้ ถึงแม้ว่าจะมีประชากรจำนวนไม่มากนักที่เสียชีวิตในเหตุการณ์น้ำท่วมในปากีสถานในปี 2010 แต่ความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรมและปศุสัตว์นั้นนับได้ว่าสาหัส ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นอย่างเช่นเอเชียใต้นี้ คงไม่มีใครกล้าพูดได้ว่าวัฒนธรรมจะสูญสลายไปเพียงเพราะเหตุการณ์น้ำท่วมแต่เพียงอย่างเดียว


อย่างไรก็ตาม สำหรับชุมชนตามเกาะเล็กๆหรือชุมชนชายขอบมีความแตกต่างออกไป สำหรับวิถีชีวิตที่พึ่งพาการประมงเพื่อจับปลาบางประเภทนั้น ระบบนิเวศที่เฉพาะตัวเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปทำให้ไม่สามารถทำประมงได้และประชากรต้องย้ายถิ่นฐาน ความสูญเสียวิถีชีวิตดั้งเดิมและแหล่งทรัพยากรเช่นนี้ก่อให้เกิดอันตรายต่อวัฒธรรมของชุมชนนั้น ยกตัวอย่างเช่น ชนเผ่า Takuu ที่อาศัยอยู่ริมฝั่งทะเลในประเทศปาปัวนิวกินี ชนเผ่านี้ยึดมั่นในประเพณีไว้ได้อย่างเหนียวแน่นและหวังว่าจะสามารถรักษาวัฒนธรรมของตนไว้ได้ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรง

ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นว่ากฎข้อที่สองกระตุ้นให้เราใช้ความคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่ไม่ได้เป็นรูปกราฟเส้นตรง
เราไม่ได้พูดถึงกระบวนการปรับตัวหรือวิวัฒนาการไปสู่สังคมที่มีความซับซ้อนสูงอย่างในศตวรรษที่ 19 แต่เป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ที่ผลักดันให้เราตอบโต้และปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมทั้งในและนอกชุมชนไปตามการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง เราไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยเหล่านี้ แต่จะต้องสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่เป็นวงจรที่ไม่หยุดยั้งและเรียนรู้ไปด้วยในกระบวนการ
.
กฎข้อที่ 3 : เราเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
วัฒนธรรมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว แต่จะต้องแลกเปลี่ยนกับวัฒนธรรมอื่นเพื่อความอยู่รอด และนวัตกรรมจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติด้วยการมีปฏิสัมพันธ์เช่นนี้ และเทคโนโลยีและแนวทางปฏิบัติก็อาจเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไปในทิศทางตรงกันข้าม ยกตัวอย่างเช่นภูมิภาคอาร์คติก เมือง Shishmaref กำลังสูญเสียที่ดินอย่างต่อเนื่องจากการกัดเซาะเป็นเวลาหลายปี ทำให้ผู้คนต้องอพยพย้ายถิ่นไปที่อื่น ส่วนอีกด้านหนึ่งของทวีปอเมริกาเหนือนั้น ถึงแม้ว่าเกิดการละลายและแตกหักของหิ้งน้ำแข็งอย่างต่อเนื่อง ชาวกรีนแลนด์ก็รู้สึกถึงโอกาสทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับภาวะโลกร้อน ทว่าวิถีชีวิตของพรานชาวเหนือที่สั่งสอนกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษที่ใช้เลื่อนสุนัขลากไปบนผิวน้ำแข็ง และล่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารให้แก่ทั้งครอบครัวและสุนัขลากเลื่อน
วิถีชีวิตเช่นนี้กำลังถูกคุกคามอย่างแน่นอน ซึ่งหมายความว่าวัฒนธรรมของชาวกรีนแลนด์กำลังสิ้นสุดลงหรือไม่?
การเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงหลายต่อหลายเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในแถบอาร์คติกมาห้าศตวรรษแล้ว ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องของการล่าอาณานิคมและการเผยแพร่ศาสนาคริสต์โดยมิชชั่นนารี ผลกระทบจากเหตุการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความทนทานของรูปแบบวัฒนธรรมที่ต่างไปจากการคาดการณ์โดยนักมานุษยวิทยาว่าวัฒนธรรมเหล่านี้จะสูญสลายไปในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการรุกรานของชาวตะวันตกมักจบลงด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือโรคระบาดซึ่งเกิดผลกระทบที่แตกต่างจากการเกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพหรือธรณีวิทยาที่มักก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ทำลายวัฒนธรรมของชุมชนนั้น ถ้าการเปลี่ยนแปลงในการใช้ที่ดินหรือเทคโนโลยี รูปแบบของฝน ปริมาณทรัพยากร การนำเอาปืนและเครื่องกวาดหิมะมาใช้ หรือแม้แต่จำนวนร้านแมคโดแนลด์ในท้องถิ่นทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน เราคงขาดความหลากหลายทางวัฒนธรรมดังเช่นที่มีอยู่ในปัจจุบัน
.
โดยสรุปแล้ว เราคงเห็นว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในอดีตที่ผ่านมานั้นอาจทำลายวัฒนธรรมลงไปด้วยก็จริง แต่ตัวของวัฒนธรรมเองนั้นทนทานต่อการทำลายล้างเพราะผู้คนเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันอยู่ตลอดเวลา ภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมอย่างรุนแรงก็จริง แต่ผลกระทบส่วนมากจะไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมเอง ต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจสูง แต่ในหลายกรณี ความตระหนักรู้ว่าภาวะโลกร้อนทำให้หลายวัฒนธรรมต้องเริ่มพิจารณาถึงอนาคตของตน

กล่าวคือ ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดกรอบดำเนินการที่เกี่ยวกับการเพิ่มการรับรู้เชิงวัฒนธรรม และทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ตระหนักรู้ถึงผลร้ายของภาวะประชากรล้นโลก มลภาวะ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การกดขี่ทางการเมือง ความอดอยาก การตัดไม้ทำลายป่า และปัญหาอื่นๆอีกมากที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเพราะขาดเงินทุน ขาดแรงจูงใจทางการเมือง หรือการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่
ภาวะโลกร้อนสร้างความตื่นตัวต่อปัญหาต่างๆเช่นการใช้พลังงานถ่านหิน และแหล่งทรัพยากรที่กำลังจำหมดไป เช่นแหล่งน้ำ ซึ่งทำให้เราต้องพิจารณาทางเลือกอื่นๆนอกจากการอพยพย้ายถิ่น การตระหนักรู้เช่นนี้ได้สร้างองค์ความรู้ที่ทำให้ชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาต้องกำหนดขอบเขตของปัญหาสิ่งแวดล้อมเสียใหม่ แล้วจึงค้นหาวิธีรับมือหรือปรับตัวต่อปัญหาดังกล่าวหากไม่สามารถแก้ไขปัญหานั้นได้

กฎข้อที่ 4 : วัฒนธรรมประกอบขึ้นจากเราทุกคน

ความจริงที่สำคัญประการหนึ่งของวัฒนธรรมได้แก่เราทุกคนมีวัฒนธรรมอยู่ในตนเองตามความหมายเชิงมานุษยวิทยา ไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้ที่กำหนดหรือมีวัฒนธรรมมากกว่ากลุ่มอื่น หรือกลุ่มที่มีวัฒนธรรมน้อยกว่ากลุ่มอื่น
สังคมมนุษย์แต่ละสังคมนับว่ามีวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่าวิถีปฏิบัติจะแตกต่างกันมากในแต่ละภูมิภาคก็ตาม
จากคำถามตั้งต้นที่ว่าวัฒนธรรมของเรากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงต่อภาวะโลกร้อนหรือไม่นั้น เรากำลังพูดถึงวัฒนธรรมใด?
ในวงสนทนาส่วนใหญ่ข้าพเจ้าพบว่าผู้คนมักให้ความสนใจต่อสังคมคนชายขอบมากกว่า เพราะในขณะที่เราคิดหาวิธีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ ก็เกิดความกังวลเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมขึ้นเช่นกัน เนื่องจากวัฒนธรรมที่มีความหลายหลายนั้นเป็นผลดีต่อมนุษย์มากกว่าวัฒนธรรมเชิงเดี่ยว
.
อย่างไรก็ตาม เราต้องถามตนเองว่าเราคิดอย่างไรเกี่ยวกับวิถีชีวิตแบบตะวันตกสมัยใหม่ซึ่งดูเหมือนจะไม่ยั่งยืนเช่นนี้?
ถ้าเราสมมติว่าวัฒนธรรมของเรานั้นพึ่งพาพลังงานถ่านหิน 100% เราจะตระหนักได้ทันทีว่าการลดปริมาณการปล่อยก๊าซไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนประเภทของพลังงานที่ใช้ในภาคขนส่งและการผลิตแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องเปลี่ยนแปลงส่วนที่เกี่ยวข้องกับสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมอีกด้วยในอัตราที่สูงพอๆกับความเปลี่ยนแปลงที่พรานชาวกรีนแลนด์กำลังประสบอยู่
.
เมื่อสองสามปีที่แล้ว ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมประชุมสมาคมมานุษยวิทยาประยุกต์ ในการประชุมเกิดคำถามขึ้นว่าเราจะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่นเพื่อพร้อมรับมือกับภาวะโลกร้อนได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนได้นั้น เราต้องยอมรับว่าภาวะโลกร้อนนั้นเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นและเราสามารถสื่อสารข้อมูลนี้ออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อน ณ จุดนี้ โมเดลสภาพภูมิอากาศบ่งชี้ว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อชุมชนในบางท้องถิ่นที่มีสภาพภูมิประเทศที่ยากลำบากและภูมิอากาศที่รุนแรงเช่นบนยอดเขาในสวิตเซอร์แลนด์หรือในอินเดียนั้นยังไม่เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางเท่ากับชุมชนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ราบกลางทวีปต่างๆ ทำให้เป็นการยากที่เราจะช่วยให้ชุมชนของเขาเข้มแข็งขึ้นในเมื่อเรายังไม่ทราบถึงข้อมูลที่แท้จริงของผลกระทบ มีแต่เพียงข้อมูลความน่าจะเป็นที่ไม่สามารถนำไปออกแบบแนวทางแก้ปัญหาสำหรับท้องถิ่นโดยเฉพาะได้

ตัวอย่างเช่น ในหมู่บ้านในป่าสนของสวิตเซอร์แลนด์ เจ้าของสกีรีสอร์ตไม่แน่ใจว่าควรจะลงทุนซื้อเครื่องทำหิมะดีหรือไม่ เนื่องจากระดับของพื้นที่รีสอร์ตอยู่สูงกว่าพื้นที่ที่มีปัญหา (1500 เมตร) แต่ทว่าไม่มีใครแน่ใจได้ว่าความสูงระดับนี้พอหรือไม่ที่จะเกิดหิมะตามธรรมชาติ เมื่อไม่ทราบถึงผลกระทบในพื้นที่ เราก็มีแนวโน้มที่จะหันไปหาแนวทางแก้ปัญหาในระดับที่กว้างขึ้นเช่นระดับภูมิภาคและระดับโลกเพื่อนำมาปรับใช้กับท้องถิ่น
.
สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งยากลำบากขึ้นไปอีกในภูมิภาคใกล้เส้นศูนย์สูตรที่มีสภาพอากาศที่รุนแรงแต่ยังไม่ปรากฏเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ชัดเจน ในรัฐไวโอมิ่ง หัวข้อเรื่องภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่นิยมมาก ถึงกับมีการจัดโปรแกรมให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนหรือ ‘Climate Change 101 for Wyoming’ ให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวรัฐไวโอมิ่ง ที่ทำให้นักท่องเที่ยวทราบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐจะประสบภัยแล้งถ้าอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีก 2◦–4◦ ในอีกสิบปีข้างหน้า ในประเทศอย่างชิมาเรฟหรือตูวาลูซึ่งกำลังประสบภัยธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนอยู่อย่างสาหัสนั้นอาจเป็นการง่ายกว่าที่จะกระตุ้นให้ชุมชนลุกขึ้นมาลงมือแก้ปัญหา กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในกรณีเช่นนี้ ทว่าคนเหล่านี้เป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ห่างไกล และเราจะต้องนำเอามาตรการบรรเทาและปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนที่ใช้กันทั่วโลกมาปรับใช้กับประชากรในภูมิภาคใกล้เส้นศูนย์สูตร

กฎข้อที่ 5 : ทุกวัฒนธรรมมีกฎระเบียบและตรรกะเป็นของตัวเอง

ในกฎสี่ข้อแรกที่กล่าวมาแล้ว เราได้เรียนรู้ว่าวัฒนธรรมเกิดขึ้นได้อย่างไรและเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร ต่อไปนี้เราจะเรียนรู้เกี่ยวกับตรรกะของข้อเท็จจริงทางมานุษยวิทยาว่าไม่มีผู้ใดที่อยู่นอกวัฒนธรรมหนึ่งจะสามารถกำหนดเงื่อนไข กฎเกณฑ์ หรือตรรกะของความเชื่อ พฤติกรรม หรือคุณค่าของผู้ที่อยู่ในวัฒนธรรมนั้นได้ ดังนั้นเราต้องตั้งคำถามว่ามุมมองทางมานุษยวิทยาจะสามารถช่วยให้วัฒนธรรมท้องถิ่นสามารถปรับตัวต่อผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อนจากภายในวัฒนธรรมเองได้อย่างไร เรามีโมเดลและกลยุทธ์สำหรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและวัฒนธรรมจำนวนหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งกลยุทธ์บางประการนั้นมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ในขณะที่บางประการก็ต้องอาศัยความพยายามสร้างขึ้นมาเช่นการศึกษาข้อมูล ประวัติศาสตร์ ตัวอย่าง ประสบการณ์ และทางเลือกต่างๆรวมถึงแรงขับเคลื่อนทางศีลธรรม การบัญญัติกฎหมาย แรงผลักดันจากสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมเอง เป็นความน่าทึ่งที่กลยุทธ์เดียวกับที่เราใช้ในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมนั้นสามารถนำมาใช้ในการอนุรักษ์วัฒนธรรมได้ด้วย

บางทีบทเรียนที่สำคัญเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อวัฒนธรรมได้แก่ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้ที่กำหนดกฎเกณฑ์และทำการตัดสินใจด้วยตนเอง เราไม่สามารถพูดได้ว่าการตัดสินใจแบบใดเหมาะสมสำหรับทุกคน แต่สมาชิกของชุมชนท้องถิ่นต้องลุกขึ้นมารับผิดชอบต่อชุมชนของตนและอ้างสิทธิในการแลกเปลี่ยนอาหาร ความบันเทิง และการดูแลซึ่งกันและกันโดยแนวทางที่นักวิชาการวัฒนธรรม Rob Hopkins เรียกว่า re-localization

ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่เชื่อมโยงภาวะโลกร้อนเข้ากับวัฒนธรรมในวิถีชีวิตประจำวันได้แก่พลังงาน โลกที่เราสร้างขึ้นพึ่งพาพลังงานเป็นอย่างสูง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่มนุษย์จะนำเอาทรัพยากรพลังงานออกมาใช้โดยคำนึงถึงวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่รองลงไป ข้าพเจ้าเห็นด้วยว่าเราไม่ค่อยคำนึงถึงความสำคัญของพลังงานถ่านหินที่มีต่อวัฒนธรรมโลก แม้แต่เมื่อการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงถูกพิจารณาว่าเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดในปัจจุบัน เราไม่พอใจเมื่อเห็นใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน และกลุ้มใจเมื่อนึกถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน แต่เราไม่ยอมตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างการใช้พลังงานถ่านหิน ภาวะโลกร้อน การขาดแคลนน้ำ และโรคระบาด และหายนะที่จะเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของปัจจัยเหล่านี้

ดังนั้น คำถามที่สำคัญจึงได้แก่ เราจะสามารถหาจุดที่ลงตัวระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับวิทยาศาสตร์ตะวันตกเพื่อให้คนท้องถิ่นเข้าใจได้ในขณะที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สากลเข้าใจถึงลักษณะเฉพาะของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อชุมชนท้องถิ่นนั้นๆได้อย่างไร? มีนักมานุษยวิทยาจำนวนหนึ่งได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับองค์ความรู้ทั้งสองด้าน เช่นในกรณีของสวิตเซอร์แลนด์ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่าองค์ความรู้ท้องถิ่นข้อใดที่นับเป็นศาสตร์แต่ยังไม่ได้ทำให้พฤติกรรมของสมาชิกชุมชนเปลี่ยนไปได้บ้าง? นักวิชาการด้านสาธารณสุขคงบอกเราได้ว่าความรู้ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันทำให้การเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างถาวรนั้นเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปอย่างช้ามากถึงแม้ว่าในใจของเราจะต้องการการเปลี่ยนแปลงมากก็ตาม ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าได้ศึกษาเรื่องภาวะโลกร้อนมาถึง 15 ปี และสามีของข้าพเจ้าทำงานในสาขาเทคโนโลยีเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ เราเพิ่งจะสามารถหาเวลาและรวบรวมทรัพยากรที่เอาชนะความล่าช้าในการติดตั้งระบบทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์และระบบรีไซเคิลขยะตามบ้านเรือนในอเมริกาเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมานี้เอง ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะสามารถควบคุมเทคโนโลยีและข้อบังคับทางศีลธรรมของประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้โดยสมบูรณ์ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่มีเวลามากพอที่จะเอาชนะเหตุบังเอิญที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเมื่อต้องเลี้ยงลูกสองคนและทำงานประจำอีกสองงาน ดังนั้นข้าพเจ้าจะคาดหวังผลลัพธ์จากผู้อื่นที่ต้องพึ่งพาระบบและไม่มีอิสรภาพพอที่จะผลักดันเรื่องเหล่านี้อันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางฐานะทางการเงินได้อย่างไร?

ข้าพเจ้าคิดว่าวิธีเดียวที่เราจะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคนี้ไปได้คือทำงานจากล่างขึ้นบนและบนลงล่างไปพร้อมๆกัน ความสนใจในการสำรวจข้อมูลข้ามสเกลจากปัจเจกสู่สังคมโลกนั้นคือจุดแข็งของมานุษยวิทยา เราต้องปรับปรุงองค์ความรู้ด้านศาสตร์แห่งภาวะโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง และไม่มองภาวะโลกร้อนว่าเป็นปัญหาที่แยกตัวออกไปโดดๆไม่สัมพันธ์กับสิ่งใด และเมื่อเราเรียกปัญหานี้ว่าเป็นปัญหาในระดับโลก เราต้องไม่ลืมว่าการตัดสินใจของเราในฐานะที่เป็นทั้งปัจเจกและส่วนหนึ่งของสังคมคือพลังที่ขับเคลื่อนความสามารถในการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน ข้าพเจ้าขอแนะนำว่า เมื่อเราทำงานจากระดับท้องถิ่นขึ้นไปสู่ระดับโลก เราอาจพบว่าวิธีแก้ปัญหาโลกร้อนเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ในการที่จะทำเช่นนั้นได้เราต้องสร้างเครือข่ายพันธมิตรระหว่างชุมชนท้องถิ่น นักวิทยาศาสตร์ และสถาบันการเมืองเพื่อหาวิธีที่ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโลกร้อน

บทสรุป

ในชั้นเรียนวิชา ‘การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม’ เมื่อภาคการศึกษาที่ผ่านมาของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าได้เห็นความหวังจากนักเรียนของข้าพเจ้าซึ่งต่างจากเมื่อปีที่แล้วที่ความคิดเห็นของพวกนักเรียนที่มีต่อภาวะโลกร้อนมีเพียงสองแบบคือไม่สนใจและกังวล ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากการใช้พลังของการเล่าเรื่องราวเชื่อมโยงนักเรียนเข้าด้วยกันผ่านทางประสบการณ์เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนของแต่ละคน ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ทุกวัฒนธรรมนั้นมีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนข้ามคนรุ่นต่างๆ และกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดได้แก่การส่งต่อความรู้และประสบการผ่านทางการเล่าเรื่องราว ด้วยการเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกและระดับท้องถิ่นที่ผู้คนกำลังประสบอยู่ด้วยเรื่องราวชีวิตจริงในสถานที่ต่างๆที่กำลังต่อสู้หรือปรับตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่นั้น ทำให้เราสามารถใช้เครื่องมือจากหลายสาขาวิชาเพื่อช่วยให้ชุมชนนำเอาจุดแข็งของตนออกมาใช้ในการปรับตัวได้

ความคิดที่ว่าเราอาจต้องเดินถอยหลังไปก้าวใหญ่เพื่อให้มองเห็นว่าภาวะโลกร้อนเป็นอาการของความผิดปกติของโลกนั้นให้อิสระและการประหยัดต้นทุนที่ทำให้เราสามารถแก้ปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเช่นการขาดแคลนแหล่งน้ำ แหล่งพลังงาน และปัญหาสุขภาพที่กำลังเกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งในโลก ดังที่งานวิจัยหลายต่อหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าต้นทุนในการแก้หลายปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกันไปพร้อมๆกันนั้นต่ำกว่าต้นทุนที่ใช้ในการแก้ทีละปัญหา

เมื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมหรือพฤติกรรม (เช่นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน) แก้ไขปัญหาหลายๆด้านไปพร้อมๆกัน (เช่นการลดก๊าซเรือนกระจก แก้ปัญหาโรคหอบหืดและโรคอ้วน และให้ชุมชนเข้าร่วมแก้ปัญหา) กระบวนการแก้ไขปัญหาจะง่ายขึ้น วิธีนี้ไม่ใช่การพยายามทำให้ปัญหาโลกร้อนที่มีความซับซ้อนสูงมากนั้นเรียบง่ายขึ้น แต่เป็นการทำให้นักมานุษยวิทยาตระหนักถึงการแก้ปัญหาแบบองค์รวม และให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ระดับท้องถิ่นมากขึ้น เราอาจตั้งคำถามว่าการเปลี่ยนแปลงในระดับใดจึงจะทำให้วัฒนธรรมหนึ่งๆสามารถอยู่รอดในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่กลายเป็นสิ่งอื่นไปโดยสิ้นเชิง เรายังคงเป็นอเมริกันในแบบเดิมกับกลุ่มคนที่ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาหรือไม่? และใครที่จะมีอำนาจในการตัดสิน? หากมีชุมชนหนึ่งเปลี่ยนอัตลักษณ์ของตนและรักษาไว้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ที่คนนอกชุมชนดังกล่าวจะประกาศว่าวัฒนธรรมนั้นได้ตายไปแล้วได้หรือไม่? สิ่งเหล่านี้ควรค่าแก่การพิจารณา เมื่อเรามองย้อนกลับไปที่คำถามตั้งตนว่าวัฒนธรรมของเรากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงต่อภาวะโลกร้อนหรือไม่? บางทีคำตอบอาจเป็นใช่ แต่ไม่มากไปกว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์เอง อย่างไรก็ตาม มนุษย์จะยังอยู่รอดต่อไป ถ้าเรื่องนี้ดูเหมือนขัดแย้งกันในตัวมันเองก็เป็นเพราะว่าเรามักมีแนวโน้มที่จะคิดไปว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งตายตัวไม่แปรเปลี่ยนเพราะถูกบังคับอยู่โดยประเพณี จนกระทั่งมีแรงผลักดันจากภายนอกมาบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แทนที่จะเข้าใจว่าวัฒนธรรมคือระบบที่มีปฏิสัมพันธ์กับระบบอื่นและมีการแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา บางวัฒนธรรมอาจตายลงแต่ก็จะฟื้นคืนชีพในรูปแบบที่ต่างออกไป


Social Share