THAI CLIMATE JUSTICE for All

บทบาทของป่าในการเยียวยาผลกระทบจากระบาดของไวรัสโควิด 19

เขียนโดย Mita Sen และ Benjamin Singer
วันที่ 11 มิถุนายน 2020
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

ภาพประกอบ United Nations Forum on Forests Secretariat in UN DESA

ภาวะระบาดของไวรัสโควิด 19 ได้นำมาซึ่งหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ระบบสาธารณสุขกำลังทำงานเกินกำลังและการล็อคดาวน์ก็ทำให้เศรษฐกิจและสังคมถดถอยลงเป็นอย่างมาก และทุกคนนับตั้งแต่ชาวเมืองหลวงไปจนกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่าก็ได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้ากัน หลายต่อหลายประเทศพยายามรับมือกับวิกฤตินี้ด้วยการเพิ่มงบประมาณสาธารณสุข ใช้งบประมาณเยียวยาเศรษฐกิจภาคประชาชน ในขณะเดียวกันวิกฤตินี้ก็ทำให้เรามองเห็นโอกาสที่จะปรับโครงสร้างการพัฒนาความเจริญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจ ให้มีความยั่งยืนกว่าที่ผ่านมาด้วย
.
ป่าและต้นไม้สร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ชุมชนในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาติพันธุ์ เกษตรกรรายย่อย และชุมชนชาวป่าชาวเขาต่างๆ ป่าลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนโดยการดูดซับก๊าซเรือนกระจกเป็นปริมาณถึงหนึ่งในสามของปริมาณที่ปล่อยโดยกิจกรรมมนุษย์ทุกปี นอกจากนี้ยังให้ผลผลิตที่จำเป็นต่อสุขภาวะของมนุษย์อีกด้วย
.
หากภาวะระบาดของไวรัสโควิด 19 ไม่บรรเทาลงในเร็ววันนี้ มนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยผลผลิตจากป่าเพิ่มขึ้นเป็นอย่างสูง ซึ่งทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าเราจะทำอย่างไรที่จะรักษาป่าไว้ให้เป็นแหล่งทรัพยากรในระยะยาวโดยไม่ถูกทำลายในเวลาที่อุปสงค์เพิ่มสูงขึ้นเช่นนี้
.
การบริหารทรัพยากรป่าอย่างยั่งยืนมีบทบาทมากในการช่วยให้ผู้คนนับล้านพ้นจากความยากจนและสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็งต่อภาวะโรคระบาด ภาวะโลกร้อน และภัยพิบัติอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลของประเทศต่างๆ สหประชาชาติ และพันธมิตรเพื่อการพัฒนาต่างๆ จะต้องร่วมกันตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรจึงจะใช้ทรัพยากรป่าต่อสู้กับภาวะระบาดของไวรัสโควิด 19 อย่างไม่ล่าช้า
เวลานี้สหประชาชาติได้รวมเอาแผนปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับป่าและชุมชนในระดับสากลเข้าไว้ในแผนกลยุทธ์สำหรับปี 2030 เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ยังขาดอยู่ได้แก่แรงผลักดันทางการเมือง ความร่วมมือในระดับนานาชาติ และการลงมือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ล่าช้า
.
ป่าเป็นเสมือนเปลรองรับชนกลุ่มเปราะบาง
เป็นเวลานานนับศตวรรษมาแล้วที่ป่าเป็นที่พึ่งพิงของชาวชนบทที่มีฐานะยากจน แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2000 อาจช่วยลดภาระของป่าลงได้บ้าง ในบรรดาผู้คนที่ยากจนที่สุดในโลกที่อาศัยอยู่ตามชนบทนั้น ร้อยละ 40 อาศัยอยู่ในป่าหรือทุ่งซาวันน่าห์
เป็นที่คาดการณ์ว่าป่าเป็นแหล่งอาหาร รายได้ และความหลากหลายทางสารอาหารให้แก่คนจำนวนร้อยละ 20 ของประชากรโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิง เด็ก เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ


ภาวะระบาดของไวรัสโควิด 19 จะทำให้จำนวนคนยากจนเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน งานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ชี้ให้เห็นว่าภาวะระบาดของไวรัสโควิด 19 มีความสัมพันธ์กับอัตราการว่างงานและรายได้ลดลง และจะทำให้ประชากรอีกจำนวน 34.3 ล้านคนตกอยู่ในฐานะที่ยากจนมากในปี 2020 หรือ 160 ล้านคนในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด
.
วิกฤติการณ์ครั้งนี้กระทบประชากรชายขอบ รวมไปถึงชาวชนบทและกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่ามากกว่ากลุ่มอื่น กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณที่ลึกซึ้งกับป่าของบรรพชนและเป็นผู้รักษาภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางพันธุกรรม ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้ กลุ่มชาติพันธุ์มักเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุดในด้านสาธารณสุขเนื่องจากอยู่อาศัยใกล้ชิดกับแหล่งโรคระบาด และมีอัตราการตายสูง กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มรับมือกับภาวะระบาดของไวรัสโควิด 19 ด้วยการหนีเข้าไปอาศัยในป่าลึก
.
ประชากรราว 2.4 พันล้านคนหรือหนึ่งในสามของจำนวนประชากรโลกยังคงพึ่งพาไม้ฟืนในการหุงหาอาหารและให้ความอบอุ่นแก่บ้านเรือนของตน ไม้ฟืนซึ่งรวมไปถึงถ่านเป็นแหล่งพลังงานราคาถูกสำหรับกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและวิกฤติการณ์ต่างๆ และร้อยละ 83 ของประชากรราว 850 ล้านคนที่ทำหน้าที่หาฟืนและผลิตถ่านนั้นเป็นผู้หญิง

การพึ่งพิงแหล่งพลังงานชีวมวลจากป่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่เกิดภาวะระบาดของไวรัสโควิด 19 เนื่องจากแหล่งพลังงานอื่นเกิดการขาดแคลนเพราะการขนส่งที่เกิดอุปสรรคจากการระบาดของโรค และทำให้รายได้ของประชากรเหล่านี้ลดลง
ความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ทำให้ป่าต้องรับภาระหนักขึ้นในการทำหน้าที่เป็นที่พึ่งพาอาศัยของประชากรที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ เนื่องจากจำนวนคนยากจนในชนบทที่เพิ่มขึ้นและจำนวนผู้ที่อพยพจากเมืองกลับสู่ถิ่นฐานในชนบทเนื่องจากสูญเสียงานและแหล่งรายได้ในเมืองจากภาวะระบาดของไวรัสโควิด 19
.
ป่าให้ผลิตผลเพื่อสุขภาพแก่มนุษย์
ป่าไม้ให้วัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพแก่มนุษย์หลายต่อหลายรายการ เห็นได้จากภาคอุตสาหกรรมป่าไม้เพิ่มความสำคัญขึ้นมาอย่างรวดเร็วหลังเกิดภาวะระบาดของไวรัสโควิด 19 ผลิตภัณฑ์เพื่อการอนามัยจำพวกกระดาษชำระและเอธานอลที่ใช้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ทั้งหมดนี้ผลิตจากต้นไม้ เครื่องมือป้องกันส่วนบุคคลหรือ PPE เช่นหน้ากากอนามัยและชุดป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ผลิตจากเยื่อไม้และเส้นใยเซลลูโลส ส่วนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นมีการใช้การขนส่งสินค้าผ่านระบบ e-commerce มากขึ้น ทำให้ความต้องการกระดาษที่ใช้สำหรับผลิตกล่องพัสดุเพิ่มสูงขึ้นในช่วงภาวะระบาดของไวรัสโควิด 19
.
มาตรการที่สำคัญในการบริหารระบบสาธารณสุขได้แก่ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งน้ำ ปัจจุบันประชากรราว 2.2 พันล้านคนขาดแหล่งน้ำสะอาด จึงทำให้ขาดมาตรการป้องกันตนเองจากไวรัสโควิด 19 ได้เพราะไม่มีน้ำสำหรับล้างมือบ่อยๆ ตามที่แพทย์แนะนำ
ป่าเป็นส่วนสำคัญของวงจรหมุนเวียนของน้ำเนื่องจากน้ำปริมาณถึงสามในสี่ของโลกมาจากป่า ป่าทำให้ฝนตก กรองน้ำฝนให้สะอาด ลดการกัดเซาะผิวดิน และเป็นแหล่งน้ำสะอาดให้ประชาชนจำนวนหนึ่งในสามของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง
.
นอกจากจะให้ผลผลิตเป็นแหล่งอาหาร พื้นที่สีเขียว และสวนสาธารณะ ป่ายังมีบทบาทที่สำคัญต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน
เมื่อศูนย์สันทนาการต่างๆ ในเมืองถูกปิดตัวลงเพื่อชะลอการระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้สวนสาธารณะและพื้นที่สันทนาการกลางแจ้งมีความเหมาะสมสำหรับการทำกิจกรรมอย่างเช่นการขี่จักรยาน เดินป่า ตั้งแคมป์ ตกปลา และดูนก และรักษาระยะห่างทางสังคมไปพร้อมกัน
การทำกิจกรรมกลางแจ้งในป่าหรือสวนสาธารณะนั้นเป็นผลดีต่อสุขภาพกายและใจของมนุษย์ด้วยการเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดความเครียด ลดความดันโลหิต และทำให้ผ่อนคลาย ในประเทศญี่ปุ่นมีแนวปฏิบัติที่เรียกกันว่า “การอาบป่า” หรือ “Shinrin-yoku” เป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพของประเทศในรูปแบบของเวชศาสตร์ป้องกันโรค

ฟื้นฟูป่า ฟื้นฟูงาน
จากการที่เศรษฐกิจโลกเกือบทั้งหมดตกอยู่ในภาวะล็อคดาวน์และอัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้น รัฐบาลของประเทศต่างๆได้พยายามออกมาตรการเยียวยาประชาชนในการแก้ปัญหา ซึ่งก่อให้เกิดโอกาสในการกำหนดนโยบายและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับอนาคตด้วย

โดยนโยบายที่มีความยั่งยืนและให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการออกแบบนั้นจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของสังคมที่เข้มแข็งต่อภัยธรรมชาติ
งานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งในปี 2020 บ่งชี้ว่ามาตรการเยียวยาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 5 มาตรการต่อไปนี้จะเป็นมาตรการที่เหมาะสมที่สุดในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของไวรัสโควิด 19 ได้แก่

  1. การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
  2. การปรับปรุงประสิทธิภาพของการก่อสร้าง
  3. การลงทุนในการศึกษาและฝึกอบรม
  4. การลงทุนในทรัพยากรธรรมชาติ และ
  5. การวิจัยและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม

การลงทุนในทรัพยากรธรรมชาติเช่นป่าเป็นมาตรการที่สามารถปฏิบัติได้ทันทีเพราะไม่ต้องการการฝึกอบรมแรงงาน การวางแผนงาน หรือการจัดซื้อมากนัก และยังเป็นไปตามการเว้นระยะห่างทางสังคมอีกด้วย

ภาคป่าไม้เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดการจ้างงานได้เป็นจำนวนมากเพราะเป็นงานที่ต้องใช้แรงงานมากและใช้ทุนต่ำ เช่นงานปลูกป่า ฟื้นฟูป่า บริหารจัดการทรัพยากรป่า งานอนุรักษ์ งานดูแลรักษาแหล่งน้ำ งานวนเกษตร ป่าชุมชน งานป้องกันไฟป่า สร้างถนน และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ชุมชนมีส่วนร่วม อินเดียและปากีสถานสร้างตำแหน่งงานสำหรับผู้อพยพหนีการระบาดของไวรัสโควิด 19 สู่ชนบทที่เกี่ยวกับการปลูกป่า ฟื้นฟูป่า และวนเกษตร ล่าสุดอินเดียประกาศลงทุนเป็นเงินมูลค่า 790 ล้านดอลล่าร์ภายใต้ Compensatory Afforestation Fund Management and Planning Authority (CAMPA) เพื่อการสร้างงานปลูกและฟื้นฟูป่าในชุมชนในป่า ชุมชนชนบท ชานเมือง และชุมชนเมือง

ส่วนในระดับรัฐนั้น โครงการปลูกป่าในอินเดียตะวันออกทำให้เกิดการจ้างงานสำหรับผู้อพยพหนีการระบาดของไวรัสโควิด 19 สู่ชนบทเป็นจำนวน 500,000 ครัวเรือน ซึ่งแต่ละครัวเรือนจะทำหน้าที่ปลูกไม้ผลจำนวน 100 ต้นต่อครัวเรือนภายใน 5 ปี
ในปากีสถาน แรงงานรายวันที่สูญเสียงานจากการระบาดของไวรัสโควิด 19 ได้รับหน้าที่ปลูกต้นไม้จำนวน 10 ล้านต้นทั่วประเทศ เท่ากับการสร้างงานจำนวน 63,600 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในชนบทและเป็นเพศหญิง เช่นเดียวกันกับที่ไอซ์แลนด์ ซึ่งได้ลงทุนมูลค่า 3.7 ล้านดอลล่าร์ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด 19 รอบที่สองด้วยการฟื้นฟูคุณภาพดินและป่าต้นเบิร์ช
.
ป่าที่สมบูรณ์ช่วยลดผลกระทบจากโรคระบาดในอนาคต
เป็นที่คาดการณ์ว่าร้อยละ 60 ของโรคระบาดในมนุษย์และร้อยละ 75 ของโรคระบาดอุบัติใหม่นั้นเกิดจากสัตว์ป่าเป็นพาหะมาสู่มนุษย์ เชื้อโรคที่อาศัยสัตว์เป็นพาหะเช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ถางป่า (สัมปทานไม้ ธุรกิจเกษตรพาณิชย์ การท่องเที่ยว เหมืองแร่ เขื่อน ถนน ฯลฯ-ผู้แปล) ทำให้เกิดกระจายเชื้อโรคจากป่า สัตว์ป่าสู่มนุษย์ง่ายขึ้น
.
งานวิจัยในปี 2020 พบว่าการตัดไม้ทำลายป่ามีส่วนทำให้เกิดโรคระบาดอย่างไวรัสโควิด 19 ได้อีกในอนาคต ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยบ่งชี้ว่าเมื่อมนุษย์ทำลายป่า โอกาสที่โรคติดต่อจากสัตว์ป่ามาสู่คนจะเพิ่มสูงขึ้น
ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ การสัมปทานไม้ ตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบค้าสัตว์ป่า ธุรกิจพืชพาณิชย์ขนาดใหญ่ ธุรกิจท่องเที่ยว โครงการพัฒนาที่ทำลายป่า และภาวะโลกร้อนทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคระบาด ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกระทบต่อการระบาดของโรคติดต่อ

ในขณะที่สภาพภูมิอากาศของโลกยังคงเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง เป็นที่คาดว่าจะเกิดโรคระบาดบ่อยขึ้น และผลการวิจัยยังระบุอีกว่าการอนุรักษ์ที่ดิน การปกป้องผืนป่า และการสร้างแนวกันชนป่าด้วยการส่งเสริมจัดการป่าของชุมชน จะลดการติดต่อระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่าและลดโอกาสในการเกิดโรคระบาด
.
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
ในขณะที่เรากำลังต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด 19 อยู่ในขณะนี้นั้น เป็นที่ชัดเจนว่ามาตรการ building back better หรือการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนภายหลังการระบาดของไวรัสโควิด 19 นั้นจะต้องมีการวางแผนรับมือภัยธรรมชาติที่ดีพอ
การระบาดของไวรัสโควิด 19 จะไม่ใช่วิกฤติสุดท้ายที่โลกจะต้องเผชิญ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กลว่าถึงไวรัสโควิด 19 ว่าเป็น “เสียงนาฬิกาปลุก” ให้มนุษยชาติตื่นตระหนัก ถ้าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของไวรัสโควิด 19 อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราต้องสร้างระบบนิเวศป่าที่อุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนและชุมชนเข้มแข็งจากการพึ่งพาป่าชุมชน ป่าไม่เพียงแต่จะบรรเทาความยากจนของชุมชนในชนบทเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนทางกลยุทธ์แก่นโยบายที่สำคัญๆ เช่น ความมั่นคงอาหาร สาธารณสุข การจ้างงานและการบรรเทาสาธารณภัย ทว่าป่าในปัจจุบันยังถูกทำลายจากการตัดไม้ ธุรกิจพืชพาณิชย์ขนาดใหญ่ การท่องเที่ยว เหมืองแร่ เขื่อน ถนน โครงการพัฒนา ไฟป่า มลภาวะ พายุ และภาวะโลกร้อน
.
เมื่อกลุ่มเปราะบางหันเข้าพึ่งพาป่าในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด 19 ประชาคมนานาชาติจะต้องลุกขึ้นมาร่วมกันส่งเสริมกลุ่มเปราะบาง ชุมชนท้องถิ่น ต่อสู้ปัญหา และพัฒนาการบริหารจัดการป่าและต้นไม้นอกป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม แนวทางนี้ได้รวมอยู่ในแผนกลยุทธ์ของสหประชาชาติว่าด้วยป่าและเป้าหมายเกี่ยวกับป่าของโลกในปี 2030 และเป้าหมาย SDG ในปี 2030 ไว้แล้ว
ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของไวรัสโควิด 19 ในระดับชาติและนานาชาติจากกรอบนโยบายที่กล่าวมาข้างต้น

ประการแรก ให้การสนับสนุนการบริหารทรัพยากรป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม ด้วยการเร่งดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ของสหประชาชาติว่าด้วยป่าและเป้าหมายเกี่ยวกับป่าของโลกในปี 2030
.
ประการที่สอง ให้จัดทำโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของไวรัสโควิด 19 เพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริมชุมชน ชาวป่า ชนเผ่า กลุ่มชาติพันธุ์ และชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าจากกิจกรรม โครงการพัฒนา การขยายครอบครองที่ดินของกลุ่มทุนที่ทำลายป่า เพิ่มตำแหน่งงานที่เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ป่า อนุรักษ์ป่า ปกป้องแหล่งน้ำ วนเกษตร และปลูกต้นไม้ในเมือง ในมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด 19

ประการที่สาม ผลักดันกฎหมายจัดการป่าและระบบธรรมาภิบาลป่า (กระจายอำนาจ เป็นธรรม มีส่วนร่วม ประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ มีความพร้อมรับผิดชอบ ฯลฯ-ผู้แปล) โดยชุมชนท้องถิ่นและประชาชนมีส่วนร่วม
โดยการปรับโครงสร้างหน่วยงานรัฐด้านป่าไม้ ให้มีระบบคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ จัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม โดยชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทอย่างสำคัญ
.
ประการสุดท้าย สนับสนุนการเก็บและปรับปรุงข้อมูลสถิติที่เกี่ยวกับป่าโดยชุมชน ประชาชนมีส่วนร่วม ให้เป็นปัจจุบัน และมีความเฉพาะเจาะจงกับบริบทพื้นที่และชุมชนที่หลากหลายอยู่เสมอ รวมถึงการทำวิจัยและการวิเคราะห์ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่มีต่อการบริหารจัดการทรัพยากรป่าอย่างยั่งยืน


อ้างอิง https://www.un.org/…/un-desa-policy-brief-80-forests…/

Scroll to Top