THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Bridget Hoffmann
วันที่ 30 เมษายน 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบ Ideas Matter

ภาพประกอบ Ideas Matte

ในช่วงสิบปีข้างหน้า ภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติทางธรรมชาติอาจทำให้กระบวนการแก้ไขความยากจนในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาโดยกรัฐบาลของประเทศต่างๆ นั้นไร้ผล ได้มีการประมาณการไว้ว่าภาวะโลกร้อนจะทำให้ผู้คนจำนวน 100 ล้านคนทั่วโลกตกอยู่ในฐานะยากจนภายใน 10 ปี และภายในปี 2100 ความแตกต่างทางฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศที่ร่ำรวยที่สุดและประเทศยากจนในทวีปอเมริกาใต้จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจากการที่คนยากจนได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมากที่สุด

รายงาน IDB เกี่ยวกับวิกฤติความแตกต่างทางชนชั้นที่ผ่านมาระบุว่า ภูมิภาคนี้จะต้องใช้ความพยายามกำหนดนโยบายที่ครอบคลุมทุกชนชั้นที่มีความยั่งยืนในการต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้

มีเหตุผลสามประการที่ทำให้ภาวะโลกร้อนทำให้ปัญหาความแตกต่างทางชนชั้นทรุดหนักลง
ประการแรก ภูมิภาค ประเทศ หรือผู้คนที่จนกว่า มักได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้ง่ายและเร็วกว่าภูมิภาค ประเทศ หรือผู้คนที่ร่ำรวยกว่า
ประการที่สอง สัดส่วนความสูญเสียของคนยากจนเมื่อเกิดภัยธรรมชาติสูงกว่าคนรวย
ประการสุดท้าย คนจนมีทรัพยากรที่ใช้ในการรับมือภัยธรรมชาติน้อยกว่าคนรวย
.
ในทวีปอเมริกาใต้นั้น ภูมิภาคอย่างโบลิเวียตะวันตกและเปรูกลางและใต้นั้นเป็นภูมิภาคที่ยากจนที่สุด ดังนั้นจึงเปราะบางต่ออุทกภัยมากที่สุด นอกจากนี้ สำหรับทุกประเทศในทวีปอเมริกาใต้ อุณหภูมิของอากาศยังแปรผกผันกับผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อประชากร ทำให้ประเทศหรือภูมิภาคที่ยากจนได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากกว่า
.
เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีสาเหตุจากภาวะโลกร้อน สัดส่วนความสูญเสียของคนยากจนจะสูงกว่าคนร่ำรวย ตัวอย่างเช่น เมื่อเฮอริเคนมิตช์ขึ้นฝั่งประเทศฮอนดูรัส ร้อยละ 18 ของทรัพย์สินทั้งหมดของคนยากจนถูกกวาดล้างลงทะเลในขณะที่มีทรัพย์สินของคนรวยเพียงร้อยละ 3 ที่ได้รับผลกระทบ ความแตกต่างของความสูญเสียโดยสิ้นเชิงนี้ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการชะลอการบริโภค
.
คนยากจนจะไม่สามารถรับมือหรือฟื้นฟูฐานะตนเองจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้ เนื่องจากขาดเงินทุน เพราะเครือข่ายสังคมของคนจนก็เป็นคนยากจนเช่นเดียวกันจึงขาดที่พึ่งพา และยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ระบบประกัน และเงินออมได้ แม้ว่ารัฐจะพยายามจ่ายเงินเยียวยาเพื่อลดภาระทางการเงินและเสริมสภาพคล่อง แต่คนยากจนก็ยังมีข้อจำกัดอยู่

งานวิจัยในประเทศจาไมก้าเปิดเผยว่า ครอบครัวที่อยู่อาศัยในบ้านเรือนที่มีสภาพที่ดีกว่ามักฟื้นฟูสภาพคล่องได้เร็วกว่าจากเงินเยียวยาหลังภัยพิบัติ นอกจากนี้ ในขณะที่ครอบครัวที่มีฐานะสามารถจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายของตนเองใหม่ เช่น ชะลอการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย รายรับของคนยากจนเกือบทั้งหมดถูกใช้หมดไปกับค่าอาหารประจำวัน ปัจจัยสามประการนี้ทำให้คนยากจนตกอยู่ในฐานะเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติมากกว่าคนรวย และเมื่อได้รับผลกระทบครั้งหนึ่งแล้ว คนยากจนก็จะยิ่งเปราะบางต่อภัยพิบัติครั้งต่อไปมากยิ่งขึ้นไปอีก
.
โชคดีที่รัฐบาลยังสามารถขจัดปัจจัยเหล่านี้ได้โดยการกำหนดนโยบายพัฒนาที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน ชะลอภาวะโลกร้อน บริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และลดความเหลื่อมล้ำทางฐานะ
ขั้นตอนแรกได้แก่ ปรับปรุงระบบประกันสังคมและกำหนดนโยบายที่สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนต่อภัยธรรมชาติผ่านทางโปรแกรมเงินกู้ ประกันสุขภาพ และโครงสร้างพื้นฐานที่ดี นอกจากนี้ยังต้องวางแผนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ เพราะหากการช่วยเหลือมาไม่ทันการณ์แล้ว คนยากจนจะถูกสถานการณ์บังคับให้ขายทรัพย์สิน เอาลูกออกจากโรงเรียน หรือไม่ไปหาหมอยามเจ็บป่วย ซึ่งเหล่านี้จะยิ่งทำให้คนยากจนมีความเปราะบางต่อสถานการณ์ในอนาคตมากยิ่งขึ้นไปอีก การจัดสรรงบประมาณเพื่อการนี้ไว้ล่วงหน้าจะทำให้รัฐบาลสามารถส่งความช่วยเหลือถึงมือผู้ประสบภัยได้โดยไม่ชักช้า
.
การกำหนดนโยบายเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อนควรพิจารณาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วย ตัวอย่างเช่น การใช้การคำนวณต้นทุน-กำไรเพื่อเลือกวิธีที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาโลกร้อนมักทำให้คนจนได้รับผลกระทบในขณะที่คนรวยมักได้ประโยชน์ เนื่องจากคนยากจนมักอาศัยอยู่ตามพื้นที่ชายขอบที่มีค่าใช้จ่ายในการป้องกันภัยธรรมชาติที่สูงกว่า และมีฐานะยากจนเกินไปที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว ดังนั้นรัฐจึงควรพิจารณาเรื่องความเหลื่อมล้ำและกลุ่มคนชายขอบอย่างยุติธรรม นโยบายแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างการยกเลิกสนับสนุนพลังงานฟอสซิลจะต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรมเช่นเดียวกัน เช่นในรัฐโดมินิกันและประเทศเม็กซิโกที่ชดเชยครอบครัวคนจนเมื่อน้ำมันขึ้นราคา เป็นต้น
.
ภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงทั้งต่อเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำในทวีปอเมริกาใต้ หากรัฐบาลของประเทศต่างๆ จะเร่งออกนโยบายลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าวก็จะสามารถรักษาฐานสังคมเดิมไว้ในขณะที่มุ่งเป้าหมายของการพัฒนาประเทศได้ด้วย


อ้างอิง https://blogs.iadb.org/ideas-matter/en/how-climate-change-worsens-poverty-and-inequality/?fbclid=IwAR19McDG3CcU4MazdP00Q9jGQ-f0IdkngV6rtsZVsaVSQdd7NtI43lXpBwo


Social Share