THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

บทสัมภาษณ์ Larry Lohmann โดย Francesco Panie
วันที่ 30 กันยายน 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบ https://redd-monitor.org/

ถาม : ตลาดคาร์บอนจะสามารถทำหน้าที่ลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามที่ข้อตกลงปารีสระบุไว้หรือไม่

ตอบ : ตลาดคาร์บอนไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก หน้าที่ของตลาดตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงปารีสและข้อตกลงอื่นๆ ได้แก่ ยืดอายุกิจกรรมการใช้พลังงานฟอสซิล หาประโยชน์จากการขุดหาทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่เป็นธรรม และตัดไม้ทำลายป่าในทางอ้อม

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมตลาดคาร์บอนจึงสนับสนุนบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลและรัฐทุนนิยม ตลาดคาร์บอนดำรงอยู่คู่กับการปล่อยก๊าซที่มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นมานานนับ 20 ปี
.

ถาม : ในช่วงที่ผ่านมากลไกเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีสารเกียวโต และระบบตลาดค้าขายคาร์บอน (ETS) เคยช่วยลดก๊าซได้จริงหรือไม่ เพราะเหตุใด

.ตอบ : ตลาดคาร์บอนไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อลดก๊าซ จึงไม่น่าแปลกใจที่ปริมาณก๊าซเรือนกระจกไม่เคยลดลงเลย

ถ้าจะมีการลดปริมาณก๊าซโดยนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนใดๆ ที่เคยบรรลุผล รวมไปถึงตลาดคาร์บอน (และยังไม่เคยมีนโยบายอะไรที่ดีพอที่จะลดปริมาณก๊าซได้จริง ไม่ว่าจะเป็นพิธีสารเกียวโตหรือ ETS ก็ตาม) การลดก๊าซดังกล่าวน่าจะต้องเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐซึ่งจะทำให้เกิดสินค้าซื้อขายในตลาด ไม่ใช่เกิดจากตัวกลไกตลาดเอง
ตลาดคาร์บอนถูกเพิ่มเข้าไปในกฎหมายดังกล่าวเพียงเพื่อช่วยบริษัทเอกชนลดต้นทุนที่จะเกิดจากขีดจำกัดสูงสุดในการปล่อยก๊าซที่บังคับใช้โดยรัฐก่อนหน้านี้ ตัวตลาดคาร์บอนเองไม่ได้ทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงแต่อย่างใด
.
ดังนั้นเมื่อคุณถามพ่อค้าคาร์บอนมืออาชีพว่าทำไมนโยบายที่รวมเอาตลาดคาร์บอนไว้ด้วยจึงไม่มีผลลัพธ์เชิงบวกต่อภาวะโลกร้อน
พวกเขาก็จะตอบว่า “ไม่ใช่ความผิดของผมนะ! ไปถามรัฐบาลสิว่าทำไมถึงไม่ตั้งขีดจำกัดสูงสุดในการปล่อยก๊าซที่เหมาะสมที่จะทำให้เกิดสินค้าสำหรับการซื้อขาย พวกเราก็แค่ซื้อและขายคาร์บอนและเก็งกำไรหลังจากที่มันเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น เพราะมันคืองานของเรา”
และเมื่อคุณไปถามรัฐบาลว่าทำไมสินค้าคาร์บอนเครดิตจึงไร้ความหมายถ้าดูจากมุมมองของความพยายามที่จะแก้ไขภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง
พวกเจ้าหน้าที่รัฐก็จะตอบคุณว่า “แล้วคุณจะให้ผมทำอย่างไรล่ะ ถ้าเรากำหนดกฎเกณฑ์ที่จำกัดการปล่อยก๊าซได้จริงแก่นักธุรกิจเพื่อการซื้อขายคาร์บอนเครดิต พวกทุนนิยมก็จะลุกขึ้นประท้วงและบ่อนทำลายเสถียรภาพของรัฐบาล เราต้องต่อรองกับภาคธุรกิจที่ไม่ต้องการลดปริมาณก๊าซที่ปล่อย และอ้างว่ามิฉะนั้นราคาสินค้าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขอให้ลืมเรื่องโลกร้อนไปเสีย เพราะความมั่นคงทางเศรษฐกิจสำคัญกว่า”
.
สิ่งที่ทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีกก็คือ แม้แต่เงินตราที่ใช้ซื้อขายคาร์บอนที่กำหนดโดยข้อบังคับที่ไร้ความหมายในพิธีสารเกี่ยวโตหรือ ETS ก็ไม่ได้มีราคาที่ต่ำพอสำหรับภาคธุรกิจ
ถึงแม้ว่ากลไกตลาดจะทำให้ราคาลดลงในภายหลัง ดังนั้นภาคธุรกิจและรัฐบาลรวมไปถึงนักวิชาการและ NGO ที่รับใช้ธุรกิจจึงได้เห็นพ้องกับกลไกการแลกเปลี่ยนตัวที่สองซึ่งได้แก่ “offsets” (กิจกรรมชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการซื้อขายคาร์บอนมาหักลบกับการปล่อยจริง เพื่อให้ได้คาร์บอนเป็นศูนย์โดยสุทธิ)
.
หน้าที่ของ Offset คือ การลดราคาตัวกลางในการแลกเปลี่ยนลงไปอีกด้วยการแปลง ทำให้อ่อนลง หรือลบล้างข้อกฎหมายหลังการบังคับใช้ ผ่านทางช่องทางที่เรียกว่า “ประตูหลังบ้าน” ซึ่งจะเป็นผลร้ายมากต่อการแก้ปัญหาโลกร้อน
เรื่องนี้มิได้หมายความว่ากฎหมายที่ทำให้กลไกตลาดคาร์บอนเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นไม่ใช่เรื่องไร้สาระ แต่ระบบ offset ย่ำแย่กว่านั้น
การ offset คือการแทนที่การลดปริมาณก๊าซอย่างจริงจังด้วยสิ่งลวงๆ ราคาถูกที่ไม่ได้ทำให้เกิดการลดก๊าซ แต่กลับตั้งชื่อสิ่งลวงนั้นว่า “การลดก๊าซ” เพื่อให้เกิดความสับสน
“การลดก๊าซ” อย่างปลอมๆ นี้ประกอบไปด้วยคำสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตลงให้น้อยกว่า “ปริมาณที่คำนวณโดยวิธีการทางธุรกิจ” หรือคำสัญญาที่จะยึดที่ดินของผู้อื่นเพื่อนำมาปลูกต้นไม้โตเร็วเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซ หรือคำสัญญาที่จะลดก๊าซเรือนกระจกประเภทอื่นเช่น ไนตรัสออกไซด์ หรือ ไฮโดรฟลูโอโรคาร์บอน การเลี่ยงบาลีอย่างฉลาดเหล่านี้ทำให้ภาคธุรกิจสามารถปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไปได้
.
ข้อตกลงปารีสก็เช่นกันที่ได้นำเอาหลักการนี้มาใช้ภายใต้ชื่อ ITMOs หรือ “การแลกเปลี่ยนกิจกรรมการลดก๊าซข้ามชาติ”
เช่นเดียวกับ “การลดก๊าซ” อย่างปลอมๆ ที่กล่าวมาข้างต้น หน้าที่ของ ITMOs คือการยืดอายุกิจกรรมการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยทำให้ดูเสมือนเป็นกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกโดยให้เหตุผลว่า สำหรับประเทศที่ให้ความร่วมมือน้อยนั้น ก็ยังให้ความร่วมมือบ้างในรูปแบบที่ยอมรับได้ ราวกับว่าการเลี่ยงบาลีเช่นนี้ยังไม่คลุมเครือมากพอ หลักการนี้ยังปฏิเสธที่จะยอมรับว่า “การแลกเปลี่ยน” การลดก๊าซอย่างปลอมๆ ของ ITMO นี้กำลังดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพในตลาดปัจจุบัน
.
ประเทศสมาชิกของข้อตกลงปารีสหลายประเทศได้รับคำแนะนำล่วงหน้ามิให้ใช้คำว่า “ตลาดคาร์บอน” กับข้อตกลงปารีสในสื่อสาธารณะ เพราะว่าในปี 2015 เป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปว่ากลไกตลาดคาร์บอนมีแต่จะทำให้ปัญหาโลกร้อนยิ่งเลวร้ายขึ้น
ปรากฏว่ากลยุทธ์นี้ได้ผล สื่อมวลชนส่วนใหญ่และกลุ่มอนุรักษ์ยังมองว่าข้อตกลงปารีสเป็นข้อตกลงทางสิ่งแวดล้อมมากกว่าจะเป็นข้อตกลงทางการค้า

ถาม : อะไรคือปัญหาหลักๆ ของตลาดคาร์บอนและคุณคิดว่ามันสามารถแก้ไขได้หรือไม่

ตอบ : การที่เราพูดถึงตลาดคาร์บอนว่าเป็นสิ่งที่มีปัญหาในกระบวนการแก้ปัญหาโลกร้อนอาจก่อให้เกิดการเข้าใจผิดได้ โดยการสื่อเป็นนัยว่าในทางทฤษฎีแล้ว ตลาดคาร์บอนสามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้ถ้าเราแก้ไขข้อผิดพลาดบางอย่างสำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด ตลาดคาร์บอนไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนตั้งแต่แรก ผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนนั้นไม่ได้เกิดจากข้อผิดพลาดของตลาด แต่เกิดจากคุณสมบัติของตลาดยกตัวอย่างจากแง่มุมทางธุรกิจ ตลาดคาร์บอนไม่ได้มีปัญหาพื้นฐานใดๆ และทำหน้าที่ของมันซึ่งก็คือ การถ่วงเวลาแก้ปัญหาโลกร้อนให้ช้าลงได้อย่างสมบูรณ์แบบ แน่นอนว่าภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการกำลังถกเถียงกันอย่างไม่รู้จบว่ารัฐควรออกใบอนุญาตปล่อยก๊าซกี่ฉบับแก่เอกชน หรือ offset แบบใดจึงจะเหมาะสมที่สุด แต่การถกเถียงเหล่านี้ก็เป็นเพียงการเบี่ยงเบนความสนใจของมวลชนไปจากประเด็นที่แท้จริง และถ่วงเวลาการแก้ปัญหาโลกร้อน เพื่อที่จะทำการสำรวจและขุดเจาะพลังงานถ่านหินกันต่อไป
.
ดังนั้นคำกล่าวว่า “ตลาดคาร์บอนยังมีปัญหาที่วิธีนำไปใช้แก้ไขปัญหาโลกร้อน” นั้นเป็นคำกล่าวที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ซึ่งจริงๆ แล้วตัวตลาดคาร์บอนนั่นเองคือปัญหา ตลาดคาร์บอนถูกออกแบบมาเพื่อทำให้กฎหมายอ่อนแอลง และชักนำสังคมไปในทางที่ต่อต้านกฎหมายเหล่านี้ สิ่งที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ การออกแบบตลาดคาร์บอนมีความขัดแย้งในตัวเอง เนื่องจากตลาดทำหน้าที่แลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งได้กำหนดราคาไว้ล่วงหน้าเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างในระยะยาว ทำให้เกิด “ภาวะฟองสบู่ในวังวนของการเก็งกำไร” โดยสรุปแล้ว ตลาดคาร์บอนควรถูกยกเลิก ไม่ใช่แก้ไข


ถาม : มีกลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมากสนับสนุนให้ปฏิรูปตลาดคาร์บอน คุณคิดว่ากลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ควรสนับสนุนการปฏิรูปหรือยกเลิกตลาดคาร์บอน

ตอบ : ถ้าพวกเขาสนับสนุนให้ปฏิรูปตลาดคาร์บอน พวกเขาก็คงไม่ใช่กลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมตามที่กล่าวอ้าง แต่น่าจะเป็นกลุ่มที่สนับสนุนภาคเอกชนโดยทำหน้าที่ป้องกันกิจการของภาคเอกชนจากกลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงมากกว่า
เป้าหมายที่แท้จริงของ NGO ที่สนับสนุนตลาดคาร์บอนคือ การบ่อนทำลายเป้าหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมในขณะที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะปฏิรูป
ในอดีตอาจมีระยะเวลาสั้นๆ เมื่อ 20 ปีมาแล้วที่บางองค์กรตั้งความหวังไว้อย่างจริงใจว่าตลาดคาร์บอนสามารถกำหนดนโยบายที่ทั้งนายทุนยอมรับได้และสามารถแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านมา เราต้องยอมรับว่าตลาดคาร์บอนมิได้มีส่วนช่วยลดโลกร้อนเลย นอกจากนี้ยังกีดกันชุมชนท้องถิ่นซึ่งน่าจะมีบทบาทสำคัญในการร่วมมือแก้ปัญหาอีกด้วย
องค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมากในซีกโลกเหนือมักติดกับดักของการคิดถึงแต่เรื่องเศรษฐกิจจนลืมนึกถึงเป้าหมายเดิมคือเรื่องสิ่งแวดล้อมและวิธีการแก้ไขปัญหา

เรื่องนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมกลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนจึงมองว่า องค์กรสิ่งแวดล้อมเหล่านี้อยู่ฝ่ายเดียวกับบริษัทพลังงานอย่าง ENI หรือ Exxon-Mobil และเป็นเหตุผลว่าทำไมการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดจึงพยายามไม่ใส่ใจเกี่ยวกับแนวคิดตลาดคาร์บอน และดำเนินกิจกรรมลดโลกร้อนที่แท้จริงต่อไป อาทิ World Rainforest Movement, Indigenous Environmental Network, Climate Justice Alliance, No REDD in Africa network, และอื่นๆ อีกมากที่รณรงค์ต่อต้านตลาดคาร์บอนอยู่ในปัจจุบัน

ถาม : ในการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผมเห็นคนจำนวนมากเริ่มสนใจวิธีการใช้ธรรมชาติแก้ปัญหาโลกร้อน แนวทางนี้คืออะไร และอะไรคือความเสี่ยงที่จะเกิดจากการนำเอาวัฏจักรธรรมชาติมาแปลงให้เป็นเงินตราสำหรับการแลกเปลี่ยน

ตอบ : จากการที่ตลาดคาร์บอนก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดนี้ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อหลอกล่อผู้ที่เข้ามาสำรวจให้เสียเวลา เราจึงต้องระวังและคอยมองหาวิธีการพูดที่แตกต่างกันออกไปเช่น “เราไม่จำเป็นต้องทิ้งพลังงานฟอสซิลไว้ในดินเลย สิ่งที่เราต้องทำเพียงแต่หาทางเลือกอื่น” เนื่องจากคำพูดเช่นนี้ย่อมเป็นก้าวแรกของตลาดคาร์บอนที่ให้นักลงทุนเข้ามาแลกเปลี่ยน “สิ่งอื่น” แทนการขุดเจาะน้ำมัน
ในทางปฏิบัตินั้น การใช้ธรรมชาติแก้ปัญหาโลกร้อนเป็นหนึ่งในคำพูดดังกล่าวเพราะคำว่า “การใช้ธรรมชาติแก้ปัญหาโลกร้อน” คือการพูดที่แตกต่างกันออกไปของ “เราไม่จำเป็นต้องทิ้งพลังงานฟอสซิลไว้ในดินเลย” เนื่องจากคำพูดเช่นนี้เปิดทางให้ภาครัฐและเอกชนอ้างว่า “เรากำลังพยายามแก้ไขปัญหาโลกร้อนอยู่เพราะเราสนับสนุนแนวคิดการใช้ธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน จงอย่าไปมองที่กิจกรรมขุดเจาะน้ำมันของเราแต่เพียงด้านเดียว เพราะเราสามารถชดเชยการปล่อยก๊าซได้ด้วยวิธีการทางธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน มันจะได้ผล เชื่อเราสิ”
และนักอุดมคตินิยมก็จะประท้วงอย่างไร้ผลว่า “เดี๋ยวนะ! นั่นไม่ใช่วิธีการใช้ธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนที่เราพูดถึง เราต้องการให้ชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ปกป้องป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ เราต้องการเกษตรอินทรีย์ เราต้องการแม่น้ำสะอาดที่สามารถชะล้างคาร์บอนไดออกไซด์ลงสู่ทะเลได้ดี และแน่นอนว่าเราต้องการให้หยุดใช้พลังงานฟอสซิลเสียที”
เนื่องจากทั้งภาครัฐและเอกชนได้นำเอาแนวคิดการใช้ธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนไปแปลงเป็นการใช้ที่ดินเพื่อการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการอุตสาหกรรม สลับไปกับโรงงานแปรรูปสินค้าและเหมืองถ่านหินเสียแล้ว ซึ่งการกระทำเช่นนี้นำไปสู่การเกิดตลาดคาร์บอนเช่นเดิม


ถาม : ก่อนการประชุม COP26 ที่จะเกิดขึ้นนั้น กระบวนการ UNFCCC ก็แทบจะไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์อันใด คุณคาดหวังผลจากการประชุมในครั้งต่อไปว่าอย่างไรบ้าง

ตอบ : จากมุมมองของนักลงทุนรายใหญ่ผู้ได้ประโยชน์นั้น UNFCCC มิใช่เป็นเรื่องไร้ประโยชน์เสียทีเดียว การที่กระบวนการดังกล่าวเบี่ยงเบนความสนใจของมวลชนและผลาญพลังงานของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงนั้นก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลจากการซื้อเวลาให้แก่ธุรกิจพลังงาน
ผมจึงหวังว่าในการประชุม COP ครั้งต่อไปนั้น ที่ประชุมจะมองเห็นถึงผลร้ายของกระบวนการ UNFCCC และแนวคิดการใช้ธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนที่ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของนายทุน


อ้างอิง : http://www.thecornerhouse.org.uk/sites/thecornerhouse.org.uk/files/Carbon%20Markets%20Eliminated.pdf?fbclid=IwAR1ccptcqReLFE9yMSvM6_tZfsCIP4lEpeVBi-Z-5NM6qvA46PAd8QeWAQM


Social Share