THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย Irene Banos Ruiz
วันที่ 25 ตุลาคม 2562
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบ picture-alliance

ภาวะโลกร้อนทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมรุนแรงขึ้น ไม่แต่เพียงในประเทศยากจนหรือกำลังพัฒนา แต่ในประเทศอุตสาหกรรมร่ำรวยเช่นกัน ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงเสนอให้ความสำคัญแก่กลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษในการวางแผนแก้ไขปัญหาโลกร้อน
.
เมื่อภัยแล้ง น้ำท่วม และไฟป่ากลายเป็นหัวข้อข่าวประจำวันตามหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วโลก และเมืองต่างๆได้รับผลกระทบอย่างหนัก เราอาจยังไม่ทราบว่ากลุ่มเปราะบางและยากจนนั้นได้รับความเสียหายมาก่อนนานแล้ว
.
งานวิจัยโดย Noah S. Diffenbaugh และ Marshall Burke เผยว่าช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนนั้นจะแคบกว่านี้ถ้าไม่มีวิกฤติโลกร้อน “GDP ต่อประชากรของอินเดียลดลงประมาณร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงที่ยังไม่เกิดปัญหาโลกร้อน ส่วน GDP ต่อประชากรของบราซิลก็ลดลงถึงร้อยละ 25” Noah S. Diffenbaugh กล่าว
.
ดัชนีความเสี่ยงต่อภาวะโลกร้อนของ NGO Germanwatch ชี้ให้เห็นว่าจำนวน 8 ใน 10 ของประเทศที่เป็นเป้าหมายของพายุมรสุมและเฮอริเคนบ่อยที่สุดในช่วงปี 1998-2017 เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่รายได้ประชากรอยู่ในระดับกลางหรือกลางถึงล่าง “ภูมิภาคอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีความเปราะบางต่อภัยธรรมชาติมาก ไม่ใช่เพราะว่าประสบภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง แต่เป็นเพราะราดทรัพยากรในการบรรเทาสาธารณภัย” David Eckstein ผู้ออกแบบดัชนีให้สัมภาษณ์


.
ภัยธรรมชาติที่รุนแรงเกิดขึ้นที่ใดบ้าง?
.
ถึงแม้ว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ภาวะโลกร้อนทำให้ภัยธรรมชาติเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น ทำให้ผู้ประสบภัยเกิดปัญหาในการฟื้นตัว “บ่อยครั้งที่ประเทศในภูมิภาคนี้ประสบภัยซ้ำในขณะที่กำลังซ่อมแซมความเสียหายจากภัยพิบัติครั้งก่อนหน้า” Eckstein กล่าว
.
Oxfam International ให้ข้อมูลว่าพายุไซโคลนที่ขึ้นชายฝั่งของประเทศโมซัมบิคสองลูกซ้อนเมื่อต้นปีที่ผ่านมาทำให้ประชากรกว่า 2.6 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย อาหารและน้ำดื่ม จากข้อมูลของ Internal Displacement Monitoring Centre ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่ามีประชากรโลกทั้งหมด 7 ล้านจากทั้งหมด 10.8 ล้านคนที่ต้องไร้ที่อยู่อาศัยจากเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้
.
ความยากจนในที่ที่คาดไม่ถึง
.
แม้แต่ผู้คนที่ไม่ได้อยู่ในฐานะที่ยากจนก็มีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในฐานะยากจน Harjeet Singh ผู้นำนโยบายด้านภูมิอากาศของ ActionAid International ให้สัมภาษณ์ จากการไปเยี่ยมเมือง Sundarbans ที่กำลังถูกระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นกลืนที่ดินทำกิน “ผู้คนที่นี่พอมีทรัพยากรอยู่บ้าง แต่ก็ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และบางรายกลายเป็นผู้ยากจน”
.
เขาได้เห็นเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันในเมือง Saloum ของประเทศศเซเนกัล ที่ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำนาหรือเลี้ยงปลาได้ ทำให้เกษตรกรเหล่านี้ “ตกอยู่ในภาวะยากจนอย่างรุนแรงและอพยพย้ายถิ่นฐานออกไปโดยไม่มีสมบัติใดๆติดตัว และไม่มีทักษะในอาชีพแรงงานที่เป็นที่ต้องการในตัวเมือง “ เขาอธิบาย

.
ความเปราะบางทางเศรษฐกิจจากภาวะโลกร้อนไม่จำกัดอยู่เพียงประเทศยากจนเท่านั้น งานวิจัยในปี 2017 ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Peer-reviewed ระบุว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นในรัฐเขตร้อนของสหรัฐอเมริกาเช่นอริโซน่าทำให้ผู้คนเพิ่มการใช้เครื่องปรับอากาศซึ่งหมายถึงการใช้พลังงานที่มากขึ้นและต้นทุนที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามรัฐในตอนเหนือบางรัฐเช่นเมนอาจได้รับประโยชน์จากการลดการใช้เครื่องทำความร้อน ทำให้ผลผลิตมวลรวมของรัฐสูงขึ้นประมาณ 10% ในขณะที่ของอริโซน่าลดลง 20% หรือในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ประชากรกว่า 20% มีความเสี่ยงในเรื่องของการเข้าถึงแหล่งพลังงานที่จะทำให้บ้านเรือนอบอุ่นในฤดูหนาวและเย็นสบายในฤดูร้อน
.
“คนยากจนไม่มีเงินจ่ายค่าไฟฟ้าสำหรับเครื่องทำความร้อนหรือเครื่องปรับอากาศและมักอาศัยอยู่ในอาคารเก่าๆที่ไม่มีฉนวนกันความร้อน” Cristina Linares นักวิจัยประจำ National School of Public Health ของสเปนกล่าว ทำให้ภาวะโลกร้อนมีความรุนแรงต่อคนกลุ่มนี้มาก

.
ผลกระทบต่อประชากรเพศหญิง
.
งานวิจัยที่ Cristina Linares กำลังดำเนินการอยู่ยังบ่งชี้อีกว่าความเสี่ยงของภาวะโลกร้อนต่อประชากรเพศหญิงนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 35-120 โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชราที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียวและแม่เลี้ยงเดี่ยว ตัวเลขนี้ได้จากการวิเคราะห์เงินบำนาญเกษียณอายุเฉลี่ยสูงสุดของประชากรเพศหญิงต่ำกว่าเงินบำนาญเกษียณอายุเฉลี่ยต่ำสุดของประชากรเพศชาย ทำให้แม่เลี้ยงเดี่ยวกว่า 50% ตกอยู่ในฐานะที่ยากจนมาก แม่เลี้ยงเดี่ยวเหล่านี้จึงมีความเสี่ยงต่อภาวะโลกร้อนมากเพราะขาดทรัพยากรที่ช่วยสนับสนุนการปรับตัว
.
“เมื่อผลผลิตเสียหายจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ครอบครัวของคนเหล่านี้ต้องเอาลูกออกจากโรงเรียน และส่วนมากแล้วจะเป็นเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย “ Kiri Hanks ที่ปรึกษานโยบายของ Oxfam International ให้สัมภาษณ์
.
วางแผนและวางแผน
.
ความพยายามในการลดช่องว่างระหว่างชนชั้นโดยขาดการวางแผนที่ดีอาจทำร้ายคนเหล่านี้มากกว่าที่จะช่วยเหลือ ยกตัวอย่างเช่นถ้ารัฐแจกจ่ายเครื่องทำความร้อนหรือเครื่องปรับอากาศอาจทำให้พวกเขารับมือกับอากาศที่ร้อนจัดและเย็นจัดได้ แต่ปัญหาที่จะตามมาคืออัตราการบริโภคพลังงานที่พุ่งขึ้น
.
การให้ความช่วยเหลือหลังภัยพิบัติเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการเตรียมการล่วงหน้า ประเทศอย่างบังคลาเทศได้รับการยอมรับว่ามีการเตรียมการรับมือภัยจากภาวะโลกร้อนดีกว่าหลายประเทศด้วยการสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเลและจัดหาระบบเตือนภัยเพื่อให้ประชากรมีเวลาเตรียมการอพยพเมื่อภัยมาถึง
.
นอกจากนั้น กลไกการป้องกันทางสังคมเพื่อช่วยให้ผุ้อพยพสามารถเรียนรู้ทักษะอาชีพใหม่ที่เป็นที่ต้องการในพื้นที่อาศัยใหม่ก็เป็นสิ่งจำเป็น
.
“ถ้าการอพยพเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็จงวางแผนการอพยพอย่างเป็นระบบไว้ล่วงหน้า แต่เนื่องจากประเทศที่เสี่ยงต่อผลกระทบส่วนมากขาดเครื่องมือในการดำเนินการดังกล่าว ความสนับสนุนจากนานาชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญ” Singh กล่าว
.
การวางแผนเชิงป้องกันเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการลดความเหลื่อมล้ำที่จะขยายขึ้นจากภาวะโลกร้อน
.
“อุณหภูมิโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้นอีก 3 องศา และผมหวังว่าเราคงไม่ไปถึงจุดนั้น อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องวางแผนเชิงป้องกันไว้ล่วงหน้า”


อ้างอิง : https://www.dw.com/en/climate-change-reinforces-inequalities-even-in-developed-countries/a-50596957?fbclid=IwAR2mr-0Tx9dl5-msR5q9ZdGZRrT5pl0L06UdnmZjp4ey2I0omN2B1mFgIX8


Social Share