THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

20 ตุลาคม 2021
ประสาท มีแต้ม
Thai Publica – Thai Climate Justice for all

เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/gretathunbergsweden/videos/1033097317441254

ต้นเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศโลกครั้งที่ 26 (COP26-Conference of Parties) ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีขององค์การสหประชาชาติ ครั้งนี้จะจัดที่เมืองกลาสโก ประเทศสหราชอาณาจักร เพื่อพิจารณามาตรการการปกป้องโลกที่เกิดจากปัญหาโลกร้อน การประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งสำคัญเพราะเป็นการทบทวนสถานการณ์ตามรายงานสถานการณ์ฉบับที่ 6 หรือ AR6 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุดหลังจาก “ข้อตกลงปารีส” เมื่อปี 2015 ใน COP21

ก่อนหน้านี้ (28-30 กันยายน 2564) ได้มีเวทีที่เรียกว่า “เยาวชนเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Youth for Climate)” ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เพื่อให้เยาวชนจากทั่วโลกกว่า 190 ประเทศ ร่วมแสดงความเห็นและจัดกิจกรรมเพื่อเรียกร้องต่อที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงานจาก 50 ประเทศที่มาเตรียมประเด็นล่วงหน้าสำหรับการประชุมCOP26

หนึ่งในเยาวชนที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั่วโลกคือสาวน้อยชาวสวีเดนชื่อ เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) ปัจจุบันเธออายุ 18 ปี เธอได้ขึ้นกล่าวในวันเปิดการประชุมด้วยท่าทีสบายๆ ยิ้มแย้ม ร่าเริง แตกต่างจากเมื่อ 2 ปีก่อนที่เธอมีน้ำเสียงสั่นเครือ เครียดจนถูกบางคนวิจารณ์ว่าเธอก้าวร้าว

เมื่อ 2 ปีที่แล้วเธอได้กล่าวในเวทีสหประชาชาติ(United Nations Climate Action Summit) ที่เมืองนิวยอร์ก ความตอนหนึ่งว่า

“นี่เป็นเรื่องที่ผิดพลาดทั้งหมด ฉันไม่ควรมาอยู่ ณ ที่ตรงนี้ ฉันควรจะไปอยู่ในห้องเรียน ในอีกซีกหนึ่งของมหาสมุทร กระนั้นพวกคุณก็หันมาฝากความหวังกับพวกเราคนหนุ่มสาว คุณกล้าดียังไง! (How dare you!) ที่มาพรากความฝันและชีวิตในวัยเด็กของฉันไปด้วยคำพูดที่ว่างเปล่า ฉันเป็นเพียงหนึ่งในผู้ที่โชคดี ประชาชนกำลังทุกข์ยาก ประชาชนกำลังจะตาย ระบบนิเวศน์กำลังล่มสลาย เรากำลังเข้าสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ สิ่งที่คุณได้พูดทั้งหมดมันเกี่ยวกับเงินและนิทานโกหกที่เชื่อว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องเป็นไปจนชั่วนิรันดร์”

มาถึงปีนี้ นอกจากเธอจะยิ้มแย้มแจ่มใสแล้ว เธอมาพร้อมกับข้อมูลวิชาการที่แน่นพร้อมกับมีทัศนคติที่สร้างสรรค์มากๆ เธอเริ่มต้นด้วยประโยคที่สะท้อนถึงความเป็นผู้ใหญ่ว่า

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เป็นแต่เพียงภัยคุกคามเท่านั้น แต่เป็นโอกาสที่จะทำให้โลกของเรามีความสมบูรณ์มากขึ้น สะอาดขึ้น และมีความเขียวกว่าเดิม ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับพวกเราทุกคน เราต้องมองเห็นโอกาสเหล่านี้ เราต้องบรรลุสถานภาพที่เรียกว่า “win-win” ทั้งต่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์และการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง”

เธอได้ตั้งคำถามกับผู้ฟังว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคุณคิดถึงอะไร” เธอหยุดเว้นจังหวะอยู่นิดหนึ่ง พร้อมกับตอบเองว่า “ฉันคิดถึงการจ้างงาน งานที่สะอาด งานที่เป็นสีเขียว” (เสียงตบมือและเสียงเฮลั่นหอประชุม)

“เราต้องแสวงหาการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นเพื่อระบบเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ เราไม่มีโลกอื่นสำรอง เราไม่มีโลกที่ blah, blah, blah” (หมายเหตุ เมื่อผู้พูดใช้คำว่า blah, blah, blah ในภาษาอังกฤษหมายถึง สิ่งที่เราคิดว่าน่าเบื่อหรือไม่สำคัญ)

เธอได้กล่าวต่ออย่างคมคายและรู้สึกขมขี่นว่า “30 ปีแห่ง blah, blah, blah”, “การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 นี่คือทั้งหมดที่เราได้ยินจากปากของผู้นำของเรา คำพูดเหล่านี้ฟังดูเหมือนกับว่ายิ่งใหญ่ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติจริงเลย ความหวังและความฝันของเราจมหายไปกับคำพูดที่ว่างเปล่าและสัญญาต่างๆนานา มากกว่า 50% ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกไปเพิ่งเกิดขึ้นภายหลังปี 1990 และ 1 ใน 3 เพิ่งปล่อยภายหลังปี 2005” (เธอเกิดปี 2003)

เพื่อสนับสนุนเนื้อหาสาระของสาวน้อย ผมขออนุญาตนำเสนอข้อมูลที่เป็นไทม์ไลน์ ต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการตอบสนองของผู้นำโลก ผมตั้งคำถามว่า มนุษย์เริ่มรู้ว่า “โลกร้อน” ตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วผมก็สรุปออกมาเป็นภาพ กรุณาอ่านอย่างช้าๆนะครับ

จากเอกสารของวิกีพีเดียพบว่า นักวิทยาศาสตร์ (ชื่อ John Tyndall ชาวอังกฤษ) เริ่มพบว่า ก๊าซต่างๆ รวมทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศมีผลต่อการบล็อกรังสีจากดวงอาทิตย์ตั้งแต่เมื่อปี 1859 (พ.ศ. 2402 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4) แล้วก็ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้แหละที่นำไปสู่ปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน ต่อมาในปี 1896 (ปีที่ 29 ของรัชกาลที่ 5) นักวิทยาศาสตร์ได้ตระหนักถึงปัญหาที่สำคัญนี้และได้พยากรณ์ว่า “ถ้าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า อุณหภูมิของผิวโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 5-6 องศาเซลเซียส” แน่นอนว่าเราไม่อาจคาดหวังความถูกต้องของผลการพยากรณ์ได้มากนัก แต่เราได้รับรู้ถึงความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุเป็นผลกัน

กราฟซ้ายมือของภาพ แสดงอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งในที่นี้เป็นการอ้างอิงกับอุณหภูมิในช่วง ค.ศ. 1850 -1900 (เอกสารหลายชิ้นอ้างอิงช่วงเวลาที่ต่างกัน ซึ่งอาจจะสับสนได้) ด้วยการประมาณด้วยสายตาพบว่า ในปี 1988 ซึ่งเป็นปีที่องค์การสหประชาชาติจัดให้มีหน่วยงานที่ชื่อว่า IPCCเพื่อศึกษาและหาค้นหามาตรการแก้ปัญหาโลกร้อน ในปีนั้นอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกประมาณ 0.33 องศาเซลเซียสเท่านั้น แต่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.24 องศาเซลเซียสในปี 2020 ท่ามกลางผลการการศึกษาของ IPCC ถึง 6 ฉบับในช่วง 31 ปี

โดยหลักการทางวิทยาศาสตร์ เราไม่สามารถคาดหวังให้อุณหภูมิของโลกลดลงได้ แม้เราจะลดการปล่อยก๊าซฯลงสัก 100% ในทันทีทันใดก็ตาม เพราะปริมาณก๊าซฯที่ปล่อยเพิ่มขึ้น ย่อมทำให้ “ผ้าห่มโลก” หนาขึ้น และต้องใช้เวลานานถึง 300-1,000 ปี กว่าที่ก๊าซฯ จะค่อยๆสลายตัวไปตามธรรมชาติ

แต่สิ่งที่สาวน้อยเกรตา ธันเบิร์กและประชาชนคาดหวังก็คือ ปริมาณการปล่อยก๊าซฯต่อปีจะลดลง แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ จากข้อมูลพบว่า ปริมาณการปล่อยในปี 1988 ปล่อย 21,870 ล้านตัน แต่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 35,210 และ 36,440 ล้านตัน ในปี 2015 (ซึ่งเป็นปีที่มี “ข้อตกลงปารีส”) และปี 2019 ตามลำดับ

แล้วจะไม่ให้สาวน้อยนักกิจกรรมผู้มุ่งมั่นคนนี้รู้สึกขุ่นเคืองและเย้ยหยันผู้นำโลกว่า “30 ปีแห่งวาทะที่ไร้สาระ” ได้อย่างไร

ผมขอกล่าวถึงเกรตา ธันเบิร์ก เพียงแค่นี้ก่อนนะครับ แต่จะมีประเด็นซึ่งเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานแล้วก็คือเรื่องราคาพลังงาน ฝ่ายที่สนับสนุนพลังงานฟอสซิล(ซึ่งเมื่อเผาแล้วจะทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน) บอกว่า ถ้าเลิกใช้พลังงานฟอสซิลแล้วหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนจะทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้น ประชาชนจะเดือดร้อน

ในปีที่มี “ข้อตกลงปารีส” คือปี 2015 องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency-IEA ซึ่งเป็นองค์กรของประเทศร่ำรวยแล้ว ก่อตั้งเมื่อปี 1974 หลังจากประเทศกลุ่มโอเปกรวมตัวกันขึ้นราคาน้ำมันดิบถึง 4 เท่าตัวในปีเดียว) ได้ออกผลการศึกษาที่สรุปได้ว่า “ไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์จะยังคงมีราคาแพงกว่าไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลไปจนถึงปี 2040” ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย

เพราะผลการศึกษานี้รวมทั้งแนวคิดอื่น ๆของ IEA หรือเปล่าที่ทำให้ผู้นำโลกใช้เป็นข้ออ้าง

ถ้าจำกันได้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยก็บอกว่า “พลังงานแสงอาทิตย์ มีราคาแพง และไม่เสถียร กลางคืนจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้” ท่านพูดเมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อน ตอนที่ชาวกระบี่และสงขลาลุกขึ้นมาคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

มาวันนี้ ทาง IEA ได้ออกรายงานประจำปี 2020 ซึ่งผมได้สรุปออกมาในภาพข้างล่างครับ

พบว่าในปี 2020 ราคาไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มีราคาถูกที่สุด ในบางพื้นที่ที่มีเงื่อนไขดีๆ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคา 0.66 บาทต่อหน่วยเท่านั้น พร้อมกับได้ยกย่องโซลาร์เซลล์ว่าเป็น “The new king of the world’s electricity markets” สำหรับประเด็น “ห่วงใย” ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ากลางคืนจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้ เรื่องนี้โลกมีคำตอบชัดเจนแล้วครับ แต่จะขออนุญาตไม่กล่าวถึงในวันนี้

ไหน ๆก็ได้กล่าวถึงองค์กรสำคัญอย่างองค์กรพลังงานระหว่างประเทศแล้ว ผมมีข่าวดีมาบอกพร้อมรูปประกอบครับ

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ผู้อำนวยการบริหารขององค์กร IEA ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “อย่างที่ผมได้เคยกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า มันไม่เพียงพอที่จะเอาแต่พูดถึงการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์-คุณจะต้องลงมือกระทำด้วย ทางองค์กร IEA ได้กำหนดเป้าหมายว่าจะปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ภายในเดือนพฤศจิกายน 2024 ซึ่งองค์กรเราจะครบรอบ 50 ปีแห่งการก่อตั้ง”

ดูจากรูปอาคารของสำนักงานแล้ว ท่านผู้อ่านคิดว่าทาง IEA จะใช้วิธีใดจึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตนได้ประกาศไปแล้ว เพราะพื้นที่หลังคาอาคารคงไม่เพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้จนพอใช้เอง แล้วคอยดูกันต่อไปว่าจะเป็นความจริงหรือเรื่องไร้สาระ


อ้างอิง : https://thaipublica.org/2021/10/thai-climate-justice-for-all12/


Social Share