THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

ข้อมูลสถานการณ์ ปัญหา ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อประเทศไทย
และข้อเสนอนโยบายและบทบาทประชาชน

1 พฤศจิกายน 2564

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบต่อโลกและประเทศไทยอย่างรุนแรง ดังคำเตือนครั้งที่ 6 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ IPCC ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่บ่งบอกว่า โลกร้อนกำลังเข้าขั้นวิกฤติและแทบไม่เหลือเวลาให้แก้ไขอีกต่อไป จนทำให้การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญา” (Conference of the Parties หรือ COP) ครั้งที่ 26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก๊อตแลนด์คราวนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ด้วยยังหวังว่ามนุษยชาติยังจะสามารถรอดพ้นหายนะได้ เป้าหมายคือ ลดก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 และการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ปัญหาโลกร้อนก็จะหยุดลงได้ นั่นหมายความว่าโลกยังมีหวัง ด้วยพลังของประชาสังคมทั่วโลกที่ตื่นตัวและผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทุกระบบโดยด่วน

Thai Climate Justice for All (TCJA) อันเป็นเครือข่ายที่รวมประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ซึ่งทำงานเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกษตรกรรมยั่งยืน มลภาวะอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน ฯลฯ กับชุมชนท้องถิ่นและประชาชนฐานราก ได้มารวมตัวกันศึกษาขับเคลื่อนต่อสู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายที่จะระดมพลังครั้งใหญ่ขับเคลื่อนสังคมในต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีความหวัง และมีบทวิเคราะห์ ข้อเสนอต่อการประชุม COP 26 และรัฐบาลไทย ตลอดจนประชาชนไทยที่สามารถร่วมกันกอบกู้วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเลวร้ายนี้ได้

ประเด็นสำคัญในการประชุม COP 26

  • การกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซ IPCC เสนอ ว่าต้องลดลงครึ่งหนึ่งในปี 2030 และลดให้หมดในปี 2050 ซึ่งแผน NDC ของทุกประเทศยังไม่ถึง ไม่ทะเยอะยานพอ
  • หาข้อตกลงระบบตลาดคาร์บอนให้ชัดเจน ให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยน (ค้ากำไร, ฟอกเขียว) ในระดับโลกไปถึงสากล คาร์บอนจะกลายเป็นเงินตราใหม่
  • การช่วยเหลือประเทศพัฒนาแล้วต่อประเทศกำลังพัฒนา ที่ยังไม่ถึงเป้าหมาย และมีเงื่อนไข
  • นโยบาย มาตรการภาษี เช่น CBAM ของยุโรป กับระบบการค้าเสรี
  • ขณะที่ข้อเสนอนโยบายจากประชาชน เช่น Loss and Damage, เพศสภาพ, ชนพื้นเมืองและชุมชน ฯลฯ มีฐานะเป็นเวทีวิชาการที่ยังไม่มีความชัดเจนทางนโยบายรองรับ

ข้อเรียกร้องของ TCJA ต่อเวที COP26

  • เร่งกำหนดเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ครึ่งหนึ่งในปี 2030 และลดให้เป็นศูนย์สุทธิในปี 2050 ตามข้อเสนอของ IPCC
  • การลดจะทำได้ต้องยุติการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลทุกประเภทโดยด่วน และแทนที่ด้วยพลังงานหมุนเวียน
  • ผลักดันให้มีการปฏิรูประบบพลังงานของโลกและของประเทศต่างๆ ให้กระจายอำนาจ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
  • ไม่ยอมรับระบบตลาดคาร์บอนฯ รูปแบบต่างๆ เช่น การชดเชยคาร์บอน คาร์บอนเครดิต REDD+ และอื่นๆ เพราะเป็น “ฟอกเขียว” เพื่อให้ธุรกิจพลังงานฟอสซิล ธุรกิจที่ทำลายธรรมชาติยังอยู่ต่อไปด้วยการซื้อคาร์บอนมาชดเชย และเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าที่ต้องเสียที่ป่าและที่ดินทำกินเพื่อให้กับเป้าหมายผลิต ซื้อขายคาร์บอน
  • ปฏิรูประบบงบประมาณที่ประเทศพัฒนาแล้วจะสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา 100,000 ล้านเหรียญฯ นั้น โดยให้กระจายไปสู่การสนับสนุนภาคประชาสังคมและชุมชนในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ควรจำกัดที่หน่วยงานรัฐและกลุ่มธุรกิจ
  • มุ่งคุ้มครอง ส่งเสริมประชาชน คนชายขอบ ชุมชนท้องถิ่นทั้งในมิติด้านการตั้งรับปรับตัว และการมีบทบาททำกิจกรรมดูดซับคาร์บอน สร้างสมดุลนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย[1]

[1] สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ

  • ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 354 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะที่ป่าไม้และการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมสามารถดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ราว 91 ล้านตันคาร์บอนฯ ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยอยู่ที่ 263 ล้านตันคาร์บอนฯ
  • จากการจัดลำดับขององค์กร Climate Watch ในปี 2561 ไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก หรือคิดเป็นปริมาณ 0.8% ของก๊าซเรือนกระจกที่มีการปล่อยทั่วโลก
  • สัดส่วนการปล่อยก๊าซของไทย ปี 2559 แบ่งเป็น ภาคพลังงาน ร้อยละ 71.6, ภาคเกษตร ร้อยละ 14.7, ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 8.9, ภาคของเสีย ร้อยละ 4.7

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อประเทศไทย[2]

[2] ประเทศไทยยังไม่ได้มีการทำข้อมูลผลกระทบต่อประชาชนกลุ่มต่างๆ ในเชิงลึกและเท่าทันสถานการณ์ ข้อมูลเท่าที่มีอยู่เป็นการเก็บข้อมูลอย่างกว้างๆ ข้อมูลส่วนใหญ่จากศูนย์ข้อมูลข่าวสารการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย อ้างอิงจาก http://t-plat.deqp.go.th/2-%e0%b8%9c%e0%b8%a5%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%97%e0%b8%9a/th-impact-4-4-1/

  • ประเทศไทยเป็นถูกจัดอับดับเสี่ยงจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับ 9 ของโลก (จัดอันดับโดย German Watch ในปี 2561 โดยใช้เกณฑ์เรื่องผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ และศักยภาพการรับมือกับผลกระทบ) เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในแถบภูมิอากาศเขตร้อนชื้นเส้นศูนย์สูตร ละคาดว่าภาวะโลกร้อน จะส่งผลให้ผลิตภาพการผลิตในภาคเกษตรไทยลดลงไม่น้อยกว่า 25%
  • ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในโลกในปีพ.ศ. 2554 โดยมีพื้นที่ 65 จาก 77 จังหวัดของไทยต้องเผชิญกับเหตุน้ำทวมครั้งรุนแรงที่ทําให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 900 ราย รวมทั้งประชากรไม่ต่ํากว่า 13.6 ล้านคนได้รับผลกระทบ รวมถึงพื้นที่การเกษตรมากกว่า 20,000 ตารางกิโลเมตรได้รับความเสียหาย
  • ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2513-2552) อุณหภูมิสูงสุด อุณหภูมิเฉลี่ยและอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยรายปีของประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 0.96 0.92 และ 1.04 องศาเซลเซียส ตามลำดับ
  • เมืองขนาดใหญ่ของประเทศไทย เช่น กรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในอัตราที่สูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ อาจเกิดจากปรากฏการณ์โดมความร้อน (Heat island effect) ที่มีการสะสมความร้อนจากการขยายตัวของเมืองและการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน
  • มีการศึกษาทางวิชาการในปี 2552 ที่อ้างอิงโดยมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า “กรุงเทพฯ เหลือเวลาอีกเพียง 25 ปี ในการเตรียมแผนการป้องกันก่อนที่กรุงเทพฯ จะจมน้ำ” The Asean Post ได้มีการตั้งสมมติฐานว่า หากมีการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่ 4 องศาเซลเซียส โดยไม่มีมาตรการเตรียมพร้อม คาดว่าประมาณ 40% ของพื้นที่กรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมจากฝนตกชุก และระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นถึง 15 เซนติเมตรในปี 2573
  • ค.ศ. 1979 – 2006 พบว่าปริมาณของฝนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและลดลงตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยในทุกแบบจำลอง ส่วนมากได้แก่พื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีปริมาณฝนลดลงในช่วงอนาคตอันใกล้ ขณะที่พื้นที่อื่น เช่น ภาคตะวันตก ภาคใต้ฝั่งตะวันออก จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ส่วนช่วงเวลาอนาคตอันไกล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค (สุจริต คูณธนกุลวงศ์ และ วินัยเชาว์วิวัฒน์ ,2552)
  • จังหวัดที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัยในภาพรวมที่มีพื้นที่เสี่ยงมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ นครสวรรค์ คิดเป็นพื้นที่มากที่สุดถึง 1,780,478 ไร่ รองลงมา ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สุราษฎร์ธานี สุพรรณบุรี พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย ร้อยเอ็ด นครราชสีมา และศรีสะเกษ หากพิจารณาเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัยในระดับมากที่สุด จังหวัดที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ได้แก่ สุพรรณบุรี คิดเป็นพื้นที่ 554,738 ไร่ รองลงมา ได้แก่ นครสวรรค์ 485,005 ไร่ พระนครศรีอยุธยา 420,321 ไร่ พิจิตร 358,524 ไร่พิษณุโลก 286,734 ไร่ และสุโขทัย 280,792 ไร่
  • จํานวนพายุหมุนเขตร้อนในระดับที่รุนแรงกว่าพายุดีเปรสชั่นเขตร้อนที่เกิดขึ้นทั้งหมดในรอบทุก ๆ 10 ปี กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 ซึ่งบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของประเทศไทยต่อเหตุการณ์สภาวะสุดขีดของลมฟ้าอากาศทั้งจากเหตุการณ์ฝนตกหนักและน้ําท่วมที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ สลับกับการเกิดภาวะความแห้งแล้งที่ยาวนานขึ้น
  • โดยตลอด 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติถึง 137 ครั้งโดยเฉพาะในปีพ.ศ. 2554 ซึ่งเกิดมหาอุทกภัยคิดเป็นร้อยละ 87 ของความเสียหายที่ผ่านมาทั้งหมด ซึ่งธนาคารโลกได้ประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท
  • พบว่าพื้นที่การเกษตรกว่า 60% หรือประมาณ 90 ล้านไร่มีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในภาวะฝนแล้งหรือน้ำท่วม ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการพัฒนาและการเติบโตของประเทศไทย
  • ภาคเกษตรไทยมีความเปราะบางอยู่เดิม (มีสัดส่วนประชากรสูงวัย 20%, ราว 80% ของประชากรถือครองที่ดินต่ำกว่า 20 ไร่, มีเพียง 26% ที่เข้าถึงระบบชลประทาน)
  • ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเกษตรไทย มีความเสียหายสะสมในช่วง ค.ศ. 2011-2045 เท่ากับ 0.609 – 2.850 ล้านล้านบาท โดยพื้นที่นอกชลประทาน (ร้อยละ 74 ของพื้นที่เกษตร) ได้รับความเสียหายมากกว่าพื้นที่ชลประทาน ภาคใต้และภาคตะวันออกมีแนวโน้มได้รับความเสียหายมากกว่าภูมิภาคอื่น (วิษณุ อรรถวานิชย์)
  • พื้นที่ปลูกข้าวในประเทศไทยมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบต่อภัยแล้งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนพื้นที่ภาคกลางมีความเสี่ยงต่ออุทกภัย ในทิศทางเดียวกัน พื้นที่ปลูกอ้อย อาจมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากอุทกภัยบางส่วนของภาคกลาง แต่อาจได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเป็นบริเวณกว้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • ผลผลิตพืชไร่เศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด อ้อย มัน และปาล์มน้ำมัน มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระยะเวลาประมาณ 20 ปีข้างหน้า (ช่วงทศวรรษที่ 2560-2570) เล็กน้อย ผลผลิตข้าวนาปีที่อาศัยน้ำฝนมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย ผลผลิตข้าวนาปรังที่อาศัยน้ำชลประทานไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ผลผลิตมันสำปะหลังมีแนวโน้มคงที่ ผลผลิตอ้อยโดยรวมแล้วมีแนวโน้มค่อนข้างดีขึ้น ผลผลิตปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มคงที่และค่อนข้างมีเสถียรภาพ
  • การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิจะทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลซึ่งเป็นแมลงศัตรูข้าวหมายเลขหนึ่งของชาวนาไทย ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะทำลายต้นข้าว
  • อุทกภัยได้ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของยางพารา เหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ มีความถี่และความรุนแรงเพิ่มขึ้น
  • ฝนตกในช่วงฤดูร้อนทำให้การผลัดใบของยางพาราผิดปกติ เนื่องจากมีโรคระบาดทางใบ อุณหภูมิที่สูงขึ้น มีผลกระทบต่อการสังเคราะห์แสงของยางพาราทำให้ผลผลิตลดลง
  • ผลต่อปศุสัตว์ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนจะทำให้ไก่เหล่านี้เกิดความเครียด ซึ่งมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันที่ลดลง ส่งผลให้สัตว์มีร่างกายอ่อนแอเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย รวมทั้งส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตและประสิทธิภาพการใช้อาหารลดลงด้วย นอกจากนี้ ไก่เนื้อเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
  • การเพาะเลี้ยงปลา สภาพอากาศที่ต่างกันในแต่ละฤดูกาลมีผลต่อคุณภาพนํ้าในบ่อเลี้ยงสัตว์นํ้า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั้งในเรื่องอุณหภูมิความเข้มรังสีดวงอาทิตย์และปริมาณนํ้าฝนที่กระทบต่อคุณภาพนํ้าบางตัวแปร ได้แก่ อุณหภูมิและแสงที่ส่องกระทบบ่อ มีผลต่อการกระบวนการทางชีวเคมีที่ส่งผลต่อเนื่องถึงตัวแปรคุณภาพนํ้าอื่น ๆ ในบ่อเลี้ยงสัตว์นํ้าและมีผลต่อการเจริญเติบโต อัตราการรอด และโรคสัตว์นํ้า
  • ระดับน้ำบริเวณทะเลอ่าวไทยในช่วง 25 ปีระหว่างปีค.ศ. 1985-2009 หรือ พ.ศ. 2528-2552 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 มิลลิเมตรต่อปี คาดว่าการทรุดตัวของแผ่นดินบริเวณปากแม่น้ำมีบทบาทสำคัญทำให้ระดับน้ำทะเลปานกลางของท้องถิ่นเพิ่มขึ้นด้วย ระดับน้ำทะเลอันดามันเพิ่มสูงขึ้นด้วยอัตรา 1.30-36.70 มิลลิเมตรต่อปี
  • ทรัพยากรชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน กลุ่มป่าชายเลน สัตว์ทะเล และนกชายฝั่งมีความเปราะบางมากเนื่องจากมีข้อจำกัดในการปรับตัว ส่วนทรัพยากรทางทะเลที่มีความเปราะบางน้อยเนื่องจากมีปรับตัวได้ดี ได้แก่ ทรัพยากรปะการัง หญ้าทะเล ทรัพยากรประมง แพลงก์ตอน และสัตว์หน้าดิน เป็นต้น
  • ชายฝั่งประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งและการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล จำเป็นต้องกำหนดมาตราการป้องกันความสูญเสีย โดยเฉพาะพื้นที่อ่าวไทยตอนใน ฉะเชิงเทรา – สมุทรสาคร และชายฝั่งทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันตก ตั้งแต่อ่าวสวี – อ่าวบ้านดอน ชายฝั่ง นครศรีธรรมราช สงขลา-แหลมโพธิ์ ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ระดับความเสี่ยงรวมในระดับรุนแรงต่อการกัดเซาะชายฝั่งอยู่แล้วในปัจจุบัน
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ โรคจากความร้อน ภาวะทุพโภชนาการ และภาวะสุขภาพจิต เป็นต้น
  • สถานการณ์โรคที่สัมพันธ์กับความร้อนในประเทศไทยพบว่า อัตราป่วยและจำนวนผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มลดลงจากปี พ.ศ. 2558–2561 โดยมีอัตราป่วยสูงสุดในปี พ.ศ. 2559 โดยพบช่วงที่มีอัตราป่วยสูงสุดในช่วงฤดูร้อนคือ ช่วงเดือนเมษายน–พฤษภาคมของทุกปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยงในวัยทำงานที่ต้องทำงานกลางแจ้งโดยอาชีพที่พบอัตราป่วยมากที่สุดคือ กลุ่มผู้ทำอาชีพเกษตรกรรม รองลงมาคือ อาชีพรับจ้าง และทหารเกณฑ์สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคจากความร้อนปี พ.ศ. 2558–2561 มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน แสดงดังรูปที่ 27 คาดการณ์ความเสี่ยงในอนาคตพบว่า หากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยยังมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากความร้อนเพิ่มขึ้น 6,000 ราย และ 14,000 ราย ใน พ.ศ. 2593 และ พ.ศ. 2623 เมื่อเทียบกับจำนวนการเสียชีวิตใน พ.ศ. 2504 (WHO, 2015)
  • การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคที่สำคัญทั้ง 6 โรค (จากภัยพิบัติ อากาศร้อน โรคติดต่อจากแมลง โรคจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ โรคทางเดินหายใจ ทุพโภชนาการ) เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งอาจส่งผลต่อค่าใช้จ่าย ทั้งด้านสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลและมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในภาพรวมของประเทศสูงเป็นลำดับต้นของทวีปเอเชีย โดยเป็นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนร้อยละ 79.82 และเป็นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของรัฐบาลร้อยละ 20.18 (กระทรวงสาธารณสุข, 2558) และเมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน จำแนกตามประเภทของค่าใช้จ่าย ระหว่าง พ.ศ. 2558–2560 พบว่า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านเวชภัณฑ์ และค่าตรวจรักษาพยาบาล เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.4 (พ.ศ. 2558) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.6 (พ.ศ. 2560) (กระทรวงสาธารณสุข, 2561)
  • ชุมชนริมฝั่งแม้น้ำโขง 7 จังหวัดในภาคอีสาน มีความเปราะบางจากโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าของจีน ไทย และลาว (ขายไฟฟ้าให้ไทย หรือไทยไปร่วมลงทุน) ทำให้ระบบนิเวศผันผวน ความหลากหลายและปริมาณสัตว์น้ำลดลง และเมื่อเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยิ่งทำให้พันธุ์ปลาในน้ำโขงลดลงมาก ทำให้ชุมชนเดือดร้อน ขาดความมั่นคงอาหาร และขาดรายได้
  • มีชุมชนท้องถิ่น ชนเผ่า กลุ่มชาติพันธุ์ และชุมชนท้องถิ่นทั่วไปที่อยู่ในป่า โดยในป่าอนุรักษ์ปี 4,192 ชุมชน ส่วนในป่าสงวนฯ มีชุมชนอยู่นับล้านคน (ชุมชนส่วนใหญ่อยู่ในป่ามาตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐ-ชาติ แต่การประกาศกฎหมายป่าไม้ไปครอบทับชุมชน และไม่ได้กันพื้นที่ออก ไม่ได้ออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้ หรือชุมชนที่มาภายหลังก็เข้าไปอยู่ในป่าด้วยแรงจูงใจนโยบายเศรษฐกิจของรัฐ ทำให้ชุมชนอยู่ในป่าอย่างผิดกฏหมาย) ชุมชนเหล่านี้ทำเกษตรพื้นบ้าน (หลายกลุ่มเช่น กะเหรี่ยงทำไร่หมุนเวียน) บางส่วนทำพืชไร่ (โดยการสนับสนุนของธุรกิจการเกษตร) ทำให้ต้องเผาวัชพืชในพื้นที่เกษตรซึ่งอยู่ในป่า เมื่อผนวกกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการไฟป่าของรัฐที่ผิดพลาด (ห้ามใช้ไฟเลย ทำให้ใบไม้แห้งสั่งสมเป็นเชื้อเพลิง) จึงเกิดไฟป่าที่รุนแรงผิดปกติ (ไฟป่าในป่าผสมผลัดใบเป็นระบบควบคุมสมดุลของธรรมชาติ) เกิดเป็นฝุ่น pm สร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน นอกจากนี้ชาวบ้านหลายคนยังโดนฟ้องร้อง “คดีโลกร้อน” ด้วยข้อกล่าวหาจากรัฐว่า การทำกินในพื้นที่ป่าทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
  • ชาวเล เผ่ามอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ย ที่อยู่แถบหมู่เกาะอันดามัน เผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เกิดการเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำ และการเคลื่อนย้ายของปลาในทะเล ทำให้ไม่สามารถหาปลาได้ อีกทั้งพื้นที่ปลาชุกชุม และพื้นที่อยู่อาศัยยังถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล ทำให้ถูกกีดกันสิทธิการเข้าถึงทรัพยากร เมื่อพวกเขาเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยิ่งทำให้มีความไม่มั่นคงอาหาร
  • เกษตรกรที่ทำกินใกล้ชายฝั่งทะเล เช่น สมุทรสงคราม เจอปัญหาน้ำจืดน้อย น้ำทะเลหนุนสูง เกิดเป็นน้ำกร่อย น้ำเค็ม ทำให้การปลูกไม้ผลหลายชนิดต้องเลิกไป เช่น เลิกปลูกลิ้นจี่ และหันมาปลูกพืชทนเค็มได้ดีขึ้น เช่น ส้มโอ มะพร้าว ฯลฯ 

ปัญหาที่เกิดจากโครงการพัฒนา และโครงการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  • ภาคพลังงานคือภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดถึงร้อยละ 70 เพราะส่วนใหญ่พึ่งพาพลังงานฟอสซิล (ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน) แม้รัฐไทยจะชูนโยบายลดพลังงานถ่านหิน แต่ก็ยังพึ่งพาพลังงานก๊าซธรรมชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเช่นกัน
  • ระบบการจัดการพลังงานของไทยที่รวมศูนย์ ขาดธรรมาภิบาล มีความไม่โปร่งใสเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และขาดการมีส่วนร่วมประชาชน ส่งผลให้ไม่สามารถปรับตัวต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มากนัก
  • กระทรวงทรัพยากรฯ (กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ กรมทรัพยากรชายฝั่ง) มีโครงการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอน เช่น โครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ และยังร่วมกับธนาคารโลกพัฒนาโครงการ REDD+ (โครงการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมในประเทศกำลังพัฒนา) โดยสนับสนุนชุมชนดูแลป่า โดยมีกลุ่มทุนข้ามชาติเข้ามาร่วมโครงการปลูกป่าเพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิต กระทรวงฯ ใช้แนวนโยบายทวงคืนผืนป่า เพื่อบีบเอาพื้นที่ทำกินของชาวบ้านไปปลูกป่า ไม่เพียงชุมชนจะได้รับผลกระทบต่อสิทธิในทรัพยากรเพื่อดำรงชีพ ถูกปฏิบัติในฐานะลูกจ้างให้ปลูกป่า ยังถูกเอาเปรียบจากการขาดระบบการแบ่งปันผลประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตที่เป็นธรรม และประเทศยังเสียคาร์บอนเครดิตด้วย
  • ปัจจุบันมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่า 85 โครงการ ทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ รวมทั้งการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ (เขื่อนที่ผลิตไฟฟ้า ถูกมองว่าเป็นพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน)
  • มีโครงการสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่า 28 โครงการ ซึ่งจะส่งทำลายป่าที่ช่วยดูดซับคาร์บอน
  • การขยายตัวกลุ่มธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ ส่งผลกระทบต่อการทำลายป่ามากที่สุด (ภายหลังจากการให้สัมปทานไม้เอกชน) และที่สำคัญคือ เกษตรเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ เป็นตัวการสำคัญของการปล่อยก๊าซมีเทนที่มีผลกระทบรุนแรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • การขยายตัวของเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรม เช่น EEC และเขตอุตสาหกรรมภาคใต้จะนะ และอื่นๆ จะสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ ใช้พลังงานสูง และปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก

แนวนโยบายรัฐต่อการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่แก้ปัญหา

  • ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่ม Non Annex1 คือ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ปล่อยไม่สูงนัก จึงไม่ถูกบังคับให้จัดทำแผนการลดปล่อยก๊าซให้ชัดเจน เป็นเรื่องของประเทศไทยและกลุ่มประเทศในประเภทนี้ที่ให้จัดทำแผนการลดปล่อยตามความเหมาะสม
  • ในปี 2558 รัฐไทยจัดทำเป้าหมายของชาติในการลดก๊าซเรือนกระจก (NDC) ที่เสนอต่อ UN โดยใช้แนวทางคาดการณ์ในกรณีปกติ (BAU) เป็นแนวทางที่ประเทศกำลังพัฒนาที่เช่น ไทย เวียดนาม เกาหลีใต้ใช้ ซึ่งแสดงถึงการไม่ผูกมัดมากนัก ต่างจากสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ที่ใช้แนวทางลดลงอย่างสมบูรณ์จากปีฐาน และจีนใช้แนวทางการลดคาความเขมขนของการปลอยกาซเรือนกระจกเทียบกับปฐาน
  • ด้วยแนวทาง BAU ไทยกำหนดแผน NDC โดยใช้การคาดการณ์ว่าในปี 2030 ไทยจะปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้นเป็น 555 ล้านตันคาร์บอนฯ แล้วจึงปรับลดลงมาที่ร้อยละ 20-25 หรือประมาณ 444 ล้านตันคาร์บอน
  • ข้อวิจารณ์คือ เป็นการตั้งเป้าหมายที่จะไม่ลด เพราะในปี 2000 ไทยปล่อยก๊าซเพียง 245 ล้านตันฯ แม้ปี 2005 จะเพิ่มเป็น 337 ล้านตันฯ (ร้อยละ 34) แต่อัตราการปล่อยก็ไม่สูงก้าวกระโดด จนในปี 2016 ปล่อยที่ 354 ล้านตันฯ เป็นไปได้หรือที่เศรษฐกิจไทยพัฒนาไปถึง 2030 จะปล่อยถึง 555 ล้านตันฯ และเมื่อลดลงมา 20% ก็จะเหลือ 445 ล้านตัน (แสดงว่า เรายังปล่อยเพิ่มได้อีกเกือบ 100 ล้านตันฯ ตามเป้าหมาย)
  • การตั้ง BAU ที่สูงเกินจริงไปมากเพื่อให้ไม่ต้องลำบากในการลดการคาดการณ์ มาจากฐานคิดเรื่องระบบพลังงานของไทย ที่ใช้หลักการเดียวกัน คือ คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริง จนต้องสร้างแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรองไว้ถึงร้อยละ 60 (ประเทศอื่นๆ ตั้งไว้เพียงร้อยละ 20-25) ซึ่งพลังงานที่สำรองไว้สูงได้กลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะทำให้เกิดโรงไฟฟ้าจำนวนมากที่ถูกสร้างเพื่อรองรับ แต่พบว่าโรงไฟฟ้าเหล่านี้ 7 ใน 12 ไม่ได้เดินเครื่อง เพราะการใช้ไฟฟ้าที่แท้จริงไม่สูงขนาดนั้น แต่ประชาชนก็ต้องรับภาระค่าใช้จ่าย
  • รัฐบาลได้เห็นชอบแนวทางแผนพลังงานชาติเมื่อต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในช่วงปี ค.ศ. 2065 – 2070 ซึ่งล่าช้าเกินไป และจะนำไปสู่วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นอีกมาก เนื่องจากหากกำหนดตามกรอบเวลาดังกล่าว จะเอื้อให้บริษัทพลังงาน ยังสามารถสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นก๊าซหรือถ่านหินโครงการใหม่ได้จนถึงปี ค.ศ. 2040 หรือหลังจากนั้นไปอีก
  • ในการเจรจา COP 26 รัฐบาลไทยเพิ่งประกาศปรับ NDC ใหม่ โดยเปลี่ยนว่า ไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดที่ 370 ล้านตันฯ ในปี 2030 (ไม่ใช่ 555 ล้านตันฯ จากการคาดการณ์สูงเกินจริง) หมายถึงในอีก 9 ปี ไทยจะปล่อยเพิ่มได้อีก 16 ล้านตันฯ แล้วจึงปรับลดลงให้เหลือ 200 ล้านตันในปี 2050 (ลดลง 170 ล้านตันภายใน 20 ปี) และเข้าสู่คาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิในปี 2065 และเกิดภาวะสมดุลระหว่างการปล่อยและดูดกลับในสิ้นทศวรรษ[3]

[3] รัฐบาลไทย, แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการลดก๊าซเรือนกระจกระยะยาว ครึ่งศตรวรรษ, ตุลาคม 2021

  • แผนการลดก็คือ การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอย่างน้อยร้อยละ 50 ของศักยภาพการผลิตไฟฟ้าใหม่ และการเพิ่มรถไฟฟ้าร้อยละ 69 ในปี 2035 เป็นต้น
  • นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังประกาศลดการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า ทั้งที่ไทยพึ่งพลังงานถ่านหินเพียงร้อยละ 17 แต่สิ่งที่น่าจับตาก็คือ การสนับสนุนให้ใช้ก๊าซธรรมชาติ (ไทยพึ่งก๊าซฯ ร้อยละ 58) ซึ่งเป็นเครือข่ายธุรกิจใหญ่ของเอเชียที่มีไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญ ก๊าซธรรมชาติก็เป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน (แม้จะไม่เท่าถ่านหิน) แต่การทิศทางนโยบายรัฐไม่ทิ้งพลังงานฟอสซิล จะทำให้รัฐไทย (รวมถึงรัฐอื่นๆ ในเครือข่ายผลประโยชน์ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ) ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย NDC ได้[4]

[4] กลุ่มประเทศในเอเชียแผนงานที่จะสร้างโครงสร้างพื่นฐาน ด้านก๊าซมูลค่า 3.8 แสนล้านดอลลาร์แห่งใหมทั่วทั่งเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานก๊าซมูลค่า 1.89 แสนล้านดอลล่าร์ ระบบท่อส่งก๊าซมูลค่า 5.4 หมื่นล้านดอลล่าร์ และสถานีนำข้าและส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งใหม่มูลค่า 1.37 แสนล้านดอลล่าร์ โครงสร้างพื้นฐานใหม่นี้อาจกลายเป็นทรัพย์สินที่สร้างภาระเมื่อเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนทิศไปสู่พลังงานสะอาด หากสร้างเต็มศักยภาพจะปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ 117 กิกกะตันฯ ตลอดอายุการใช้งาน เป็นปริมาณ 1 ใน 4 ของมลพิษทั้งหมดที่โลกผลิตได้ในขณะที่ยังคงมีโอกาสที่จะจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส (Robert Rozansky, 2021, กับดักที่พึงระวังจากโครงการก๊าซในเอเชีย, Global Energy Monitor, https://www.thaiclimatejusticeforall.com/wp-content/uploads/2021/10/GEM_AsiaGas2021_Oct26_Thai.pdf)

  • รัฐบาลไทยยังเร่งดำเนินการคาร์บอนเครดิต (การฟอกเขียว โดยการลงทุน ซื้อคาร์บอนเครดิตมาหักลบกับการปล่อยก๊าซคาร์บอน) ทั้งการขายเครดิตผ่านโครงการปลูกป่า โครงการ REDD+ และอื่นๆ ปัจจุบันไทยกำลังร่วมโครงการคาร์บอนเครดิตกับญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศ ซึ่งการค้าขายคาร์บอนฯ จะกลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาลในระดับโลก (คาดการณ์ว่า ราคาคาร์บอนในปี 2025 จะอยู่ที่ 88 เหรียญสหรัฐต่อตันฯ และจะเพิ่มเป็น 109 เหรียญฯ ในปี 2030 และจะพุ่งขึ้นสูงเป็น 368 เหรียญในปี 2050)
  • รัฐบาลจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NAP) ปี 63-73 และมีแผนรายสาขา เช่น แผนปรับตัวด้านสาธารณสุข แผนปรับตัวด้านเกษตร ฯลฯ
  • ยังไม่เห็นกลไกดำเนินการ ขณะที่เกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่น คนจน กลุ่มคนเปราะบาง ยังเผชิญความเสี่ยง และส่วนใหญ่ปรับตัวได้อย่างจำกัด
  • มีการปรับตัวหลายอย่างถูกจำกัดจากนโยบายรัฐ เช่น การทำวนเกษตรพื้นบ้าน ไร่หมุนเวียนในพื้นที่ป่า ถูกห้าม การจัดการป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ถูกกำหนดขอบเขตให้จำกัด ฯลฯ

ข้อเสนอต่อรัฐบาล

การกำหนดเป้าหมาย

  • เรียกร้องให้รัฐบาลไทย กำหนดเป้าหมายปรับลดก๊าซเรือนกระจกแบบสมบูรณ์ (ไม่ใช่ระบบ BAU) โดยใช้ปีปัจจุบันเป็นฐาน (ปัจจุบันปล่อย 354 ล้านตันคาร์บอนฯ) แล้วปรับลดลงครึ่งหนึ่งในปี 2030 (เหลือ 177 ล้านตันคาร์บอนฯ) และลดเป็นศูนย์สุทธิในปี 2050
  • จัดทำแผนพัฒนาประเทศในทิศทาง Degrowth โดยไม่มุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคส่วนที่สร้างผลกระทบต่อก๊าซเรือนกระจก แต่การพัฒนาด้วยความยั่งยืนและเป็นธรรม
  • กระจายอำนาจ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกนโยบาย ทุกภาคส่วนทั้งในเรื่องการปรับตัวและการดูดซับก๊าซเรือนกระจก
  • กำหนดนโยบายที่ให้ทุกภาคส่วนร่วมรับผิดชอบบนความแตกต่างต่อการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นธรรม
  • มุ่งบริหารให้ภาคเอกชนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากต้องลดการปล่อยก๊าซจากระบบการผลิต (ไม่ใช่ด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต) และใช้เครื่องมือเรื่องภาษี และอื่นๆ เข้ามากำกับและส่งเสริมให้ภาคเอกชนเปลี่ยนเป็นพลังงาน
  • มีนโยบายสาธารณะที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกัน ช่วยเหลือ สนับสนุนประชาชน ชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้มีขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างบูรณาการ โดยให้เป็นนโยบายที่สำคัญเป็นอันดับแรกของการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แผนพลังงาน

  • เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการใช้พลังงานถ่านหิน และปรับลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงด้วย โดยหันมาเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจนเป็นพลังงานหลักของประเทศ
  • เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน โดยกระจายอำนาจให้ประชาชนผลิตซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างเสรี โดยที่ภาครัฐมีระบบสนับสนุน สร้างแรงจูงใจอย่างมีนัยสำคัญเพื่อให้ประชาชนสามารถเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนได้
  • ปรับระบบขนส่งสาธารณะ และกิจการสาธารณะ ตลอดจนหน่วยงานของรัฐทั้งหมดให้ใช้พลังงานหมุนเวียน

แผนด้านเกษตรกรรม

  • กำหนดเป้าหมายให้เปลี่ยนระบบเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยวไปสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน
  • พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารพยากรณ์สภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
  • สร้างเสริมนวัตกรรมการปรับตัวของครัวเรือนเกษตรกรและชุมชน
  • จัดทำนโยบายฟื้นฟูปรับตัวของเกษตรกรรายย่อยและชุมชนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีนโยบายเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของเกษตรกรรายย่อย และชุมชน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 

แผนด้านป่าไม้

  • เรียกร้องให้รัฐบาลส่งเสริม สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ป่าทุกประเภท มีสิทธิและความเข้มแข็งในการฟื้นฟูดูแลจัดการ ใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าในการดูดซับคาร์บอน โดยไม่เอาระบบคาร์บอนเครดิตมาพ่วงในทุกรูปแบบ
  • เร่งรับรองสถานภาพที่ดินทำกินของชุมชนตามกฎหมายในพื้นที่คุ้มครองทั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
  • ส่งเสริมการจัดการป่าชุมชนกว่า 12,000 แห่ง
  • สร้างมาตรการแรงจูงใจทางเศรษฐกิจให้คนปลูกต้นไม้ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ
  • จัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กแทนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่
  • จัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการปลูกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว

แผนด้านอุตสาหกรรม

  • การมีกฎหมายและกลไกการพัฒนาบัญชีรายชื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมทุกประเภทและทุกขนาดทั่วประเทศ เพื่อสร้างฐานข้อมูลสำหรับนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซฯ ได้แม่นยำและมีประสิทธิภาพ
  • การมีมาตรการให้ใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด (best available technologies: BAT) สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภทที่มีการใช้พลังงงานเข้มข้นและมีการปล่อยก๊าซฯ ปริมาณสูง และมีมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ในการลดการปล่อยก๊าซฯ
  • การเน้นส่งเสริมและคัดเลือการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ
  • การมีนโยบายที่ชัดเจนและมาตรการที่เข้มแข็งในการห้ามนำเข้าเศษวัสดุใช้แล้วและของเสียประเภทต่างๆ โดยเฉพาะเศษพลาสติกทุกประเภท ขี้แร่ เศษโลหะ และอื่นๆ สำหรับกิจการรีไซเคิลและการกำจัดหรือบำบัดในประเทศไทย ซึ่งอุตสาหกรรมการรีไซเคิลเป็นกิจการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษชนิดอื่นๆ สูงมาก
  • การมีนโยบายและมาตรการเพื่อลดปริมาณและจัดการของเสียภาคอุตสาหกรรมให้ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
  • การมีมาตรการชัดเจนในการส่งเสริมและกำกับให้มีการคัดแยกและลดปริมาณของเสียจากชุมชนตั้งแต่ต้นทาง

แผนด้านประมงและชายฝั่ง

  • อนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศทะเลและชายฝั่ง และทบทวนโครงการพัฒนาชายฝั่งให้อยู่บนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรมเป็นอันดับต้น
  • ยุติการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ
  • สร้างความเข้มแข็งการตั้งรับปรับตัวและเตรียมความพร้อมของชุมชน

การส่งเสริมเพศสภาพต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  • การเชื่อมโยงความเสมอภาคทางเพศกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ต้องกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ตอบสนองต่อปัญหาในเพศที่แตกต่างอย่างเท่าเทียม
  • กำหนดมาตรการคุ้มครอง ส่งเสริม พัฒนากลไกขับเคลื่อนจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วม การเข้าถึงประโยชน์
  • จัดทำมาตราการให้ทุกกลุ่มเข้าถึงโอกาสโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สร้างพื้นที่ให้เพศที่แตกต่างมีส่วนร่วมคิด ตัดสินใจในการกำหนดเป้าหมาย นโยบายให้ชัดเจน

สิ่งที่ประชาชนสามารถลงมือทำได้เอง

ด้านอาหาร

  • สร้างการพึ่งตนเองด้านอาหารให้มากขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงทางอาหารของครัวเรือน
  • ปรับพฤติกรรมการบริโภคที่คำนึงถึงผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนผลผลิตของเกษตรกรรายย่อยจากระบบเกษตรอินทรีย์ เกษตรนิเวศ 
  • มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะ ตั้งแต่ต้นทางเพื่อลดการจัดการขยะที่ปลายทาง ขณะเดียวกันร่วมสร้างระบบหมุนเวียนเพื่อนำไปใช้ใหม่ หรือนำกลับมาเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ 

ร่วมรณรงค์เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาผลกระทบต่อภาคเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้คนในสังคมได้มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ด้านป่าไม้และเพิ่มพื้นที่สีเขียว

  • สนับสนุนการบริโภคผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่มีดูแลป่า มีระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับผืนป่า เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรผสมผสาน ใช้พลังผู้บริโภคในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ไทยร่วมกัน
  • การเชื่อมโยงการสนับสนุนผ่านกลไกการตอบแทนระบบนิเวศ หากผู้เป็นผู้ใช้บริการระบบนิเวศก็สนับสนุนผู้ดูแลระบบนิเวศ ทั้งคนทั่วไป ผู้ประกอบการในพื้นที่ และนอกพื้นที่
  • ร่วมรณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องบทบาทป่าไม้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ด้านพลังงาน

  • ประหยัดการใช้พลังงานทุกกิจกรรม (เพราะพลังงานหลักของประเทศยังใช้พลังงานฟอสซิล)
  • หากมีความพร้อมให้หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น โซล่าเซลล์ รถไฟฟ้า

ด้านการเมือง

  • ร่วมกันผลักดันให้รัฐมีนโยบายและกลไกการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยหลักความเป็นธรรมทางนิเวศ การเตือนภัยล่วงหน้า การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิประชาชน สิทธิชุมชน การกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วม การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรม  
  • ร่วมกันติดตามตรวจสอบโครงการรัฐและเอกชนที่สร้างปัญหาต่อระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ และกระทบต่อสิทธิชุมชนในการสร้างสรรค์ระบบนิเวศ จัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
  • ร่วมกันตรวจสอบว่า นโยบาย โครงการของรัฐที่อ้างถึงการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ก่อปัญหาความไม่เป็นธรรม ผลักภาระ สร้างผลกระทบต่อประชาชน และไม่นำเอาระบบตลาดคาร์บอนมา “ฟอกเขียว” เพื่อหลีกเลี่ยงการลดก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตอย่างจริงจัง

เอกสารอ้างอิง

แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการลดก๊าซเรือนกระจกระยะยาว ครึ่งศตรวรรษ, ตุลาคม 2021

วิษณุ อรรณวานิช, 2564, ผลกระทบโลกร้อนต่อภาคเกษตรและความมั่นคงอาหาร, เอกสารประกอบคำบรรยาย 19 สิงหาคม 2564 เวทีเสวนาออนไลน์ โลกร้อนกับเกษตรและความมั่นคงอาหาร, Thai Climate Justice for All

สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2560, แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี พ.ศ. ๒๕๖๔ – ๒๕๗๓, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย, ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลกและประเทศไทย, http://t-plat.deqp.go.th/

Robert Rozansky, 2021, กับดักที่พึงระวังจากโครงการก๊าซในเอเชีย, Global Energy Monitor,

https://www.thaiclimatejusticeforall.com/wp-content/uploads/2021/10/GEM_AsiaGas2021_Oct26_Thai.pdf

https://www.thaiclimatejusticeforall.com/wp-content/uploads/2021/10/GEM_AsiaGas2021_Oct26_Thai.pdf

Thai Climate Justice for All

สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
1/62 ซ.งามวงศ์วาน 43 (ซอยย่อย 19) ถ.งามวงศ์วาน แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 

Facebook :https://www.facebook.com/ThaiClimateJusticeforAll
Website : www.thaiclimatejusticeforall.com


Social Share