THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

กฤษฎา บุญชัย
Thai Climate Justice for All
2 พฤศจิกายน 2564

วันนี้ผมจึงมาพร้อมกับเจตนารมย์ที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 และด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ผมมั่นใจว่าประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับ NDC ของเราขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ ซึ่งจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2050”

(คำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยในเวทีประชุม COP 26)


          เป็นที่ฮือฮาไม่น้อยว่า พลเอกประยุทธ์ กล้าหาญที่จะประกาศลดก๊าซเรือนกระจกของไทยลงร้อยละ 40 ภายในอีก 19 ปีข้างหน้า เนื่องจากก่อนหน้านี้ปี 2015 ที่รัฐกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซของประเทศไทย (NDC) ไว้เลื่อนลอยมาก คือ กำหนดว่าไทยจะลดปล่อยก๊าซจากการคาดการณ์ในระดับปกติของปี 2030 ลงร้อยะ 20-25 ความเลื่อนลอยไม่ได้มาจากสัดส่วนที่ลดลงน้อยเกินไปหรือไม่ แต่อยู่ที่วิธีคำนวณที่ “ลับ ลวง พลาง”

         เพราะรัฐไทยใช้วิธีคาดการณ์อนาคตไว้สูงอย่างน่าตกใจ ในปี 2015 อันเป็นปีที่จัดทำแผน NDC เสนอต่อสหประชาชาติ ไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ 341 ล้านตันคาร์บอนฯ แต่คาดการณ์ไปว่าปี 2030 ไทยจะปล่อยถึง 555 ล้านตันคาร์บอนฯ สูงกว่าปี 2015 ถึงร้อยละ 38 ทั้งๆ ที่ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของไทยก็ไม่ได้ก้าวกระโดดดังการคาดการณ์ ผลของการคาดการณ์ไว้สูงเกินที่จะเป็นไปได้ ทำให้เมื่อต้องการลดลงร้อยละ 20 ของปริมาณ 555 ล้านตันฯ ในปี 2030 ก็เท่ากับลดลงมาที่ 445 ล้านตันฯ ซึ่งก็สูงกว่าปี 2015 ที่มีการปล่อยก๊าซถึง 104 ล้านตันฯ ไทยเรายังปล่อยเพิ่มได้อีกเยอะ นี่ไม่เป็นเรียกว่าลดในความเป็นจริง แต่เป็นลดจากจินตนาการ

          พอมารอบนี้ รัฐบาลจัดทำเป้าหมายใหม่ เปลี่ยนตัวเลขการคาดการณ์ที่จะปล่อยในปี 2030 เหลือเพียง 370 ล้านตันฯ และเลื่อนเป้าหมายการลดก๊าซออกไปเป็นปี 2050 ลงร้อยละ 40 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนตัวเลขการคาดการณ์ที่น่าชื่นชม (ในปี 2016 ซึ่งเป็นปีที่วัดล่าสุด ไทยปล่อย 354 ล้านตันฯ) แต่นั่นเท่ากับว่า เรายังไม่ได้มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยโดยทันที แต่ยังปล่อยเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ได้อีกถึง 16 ล้านตันฯ จนถึงปี 2030 (คำถามคือ ทำไม หรือต้องการให้กิจการพลังงานและกิจกรรมอะไรของรัฐและเอกชนที่ยังปล่อยเพิ่มขึ้นได้อีก 9 ปี) จนเมื่อถึงปี 2050 แล้วจึงลดลงร้อยละ 40 ให้เหลือ 222 ล้านตันคาร์บอนฯ

          การหักลดลงเหลือร้อยละ 40 นี่คือความกล้าหาญที่น่านับถือทีเดียว แต่จะสุดยอดทีเดียวหากไม่ต้องรอไปถึงปี 2030 ลดลงเสียตั้งแต่ตอนนี้ไปร้อยละ 50 เหลือ 177 ล้านตันฯ (เหตุที่เป็นร้อยละ 50 เพราะ IPCC เสนอให้โลกลดการปล่อยก๊าซฯ ลงร้อยละ 50 ในปี 2030)

          ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาลดก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวและครึ่งศตวรรษ (LT-LEDS) ที่เพิ่งประกาศเดือนตุลาคมได้กำหนดวิธีการลดไปสู่เป้าหมายของปี 2050 ด้วย 1) นโยบายจัดการพลังงาน (เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและใช้ เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนร้อยละ50) เพื่อให้ลดก๊าซไป 72 ล้านตันคาร์บอนฯ 2) ลดในภาคขนส่ง 41 ล้านตันฯ 3) ลดในภาคการผลิตอุตสาหกรรม 0.6 ล้านตันฯ และ 4) ลดจากการจัดการของเสีย 2 ล้านตันฯ รวมแล้วลดไป 115.6 ล้านตันฯ

          ประเด็นสำคัญอยู่ที่ภาคพลังงานว่า จะจัดการพลังงานอย่างไรให้ลดไปได้ 72 ล้านตันฯ เมื่อเจาะลึกในแผนฯ พบว่า จะปรับปรุงประสิทธิภาพระบบจับและกักเก็บคาร์บอนในพลังงานก๊าซและถ่านหิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 นั่นหมายความว่ายังคงพลังงานฟอสซิล 2 ประเภทนี้อยู่ แม้จะทิศทางลดการพึ่งพาพลังงานถ่านหิน จากปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 17 ของแหล่งพลังงานที่ไทยใช้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ไทยจะลดเลิกพลังงานถ่านหินได้ไม่ยาก แต่ไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 58 ซึ่งก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน และการศึกษาของกลุ่มวิชาการ Green Energy Monitor พบว่าในภูมิภาคเอเชียจะมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติ มูลค่า 3.8 แสนล้านเหรียญฯ ซึ่งจะปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงมากหากดำเนินการเต็มระบบ ไทยเองก็เป็นภาคส่วนสำคัญในกลไกดังกล่าว คำถามคือ แม้เราจะลดถ่านหิน เพิ่มพลังงานหมุนเวียน แต่เราจะลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติได้อย่างที่ประกาศไว้หรือไม่

          จากปี 2030 มาถึงปี 2035 แนวทางที่รัฐจะใช้ในการลดคาร์บอนสุทธิ คือ การส่งเสริมการผลิตรถไฟฟ้าให้เป็นมีส่วนแบ่งในตลาดร้อยละ 69 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรสนับสนุน แต่ควรมีแนวทางให้ชัดเจนว่าจะให้ประชาชนทั่วไป และในระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมดเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าได้อย่างไร เพราะหากปล่อยไปตามกลไกตลาดเสรี ประเทศไทยอาจจะได้รายได้จากการขายรถไฟฟ้า แต่ประชาชนคนยากจน คนทั่วไปยากที่จะเข้าถึง ซึ่งจะกระทบต่อเป้าหมายการลดปล่อยคาร์บอนในภาคชนส่ง 41 ล้านตันฯ ด้วย

          ที่น่าจับตา คือ เป้าหมายปี 2037 รัฐบาลจะดูดซับก๊าซเรือนกระจก 120 ล้านตันฯ ด้วยนโยบายปลูกป่าในพื้นที่ทุกประเภท  ได้แก่ 1. มาตรการการปลูกและฟื้นฟูป่าธรรมชาติ 11 ล้านไร่ ในพื้นที่ต่างๆ เช่น ป่าสงวน พื้นที่ คทช. (ลุ่มน้ำ 1,2) ป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน และพื้นที่ ส.ป.ก. เป็นต้น 2. มาตรการส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ 16 ล้านไร่ ในพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ พื้นที่ ค.ท.ช. (ลุ่มน้ำ 3,4,5) พื้นที่ป่าไม้ถาวร (ลุ่มน้ำ 3,4,5) พื้นที่ ส.ป.ก. ในเขตป่าสงวน และพื้นที่เอกชน (ที่ดินกรรมสิทธิ์) และ 3. มาตรการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท 3 ล้านไร่ รวมถึงมาตรการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าและการป้องกันการเผาป่า

          การปลูกป่าดังกล่าว กำลังจะกลายเป็นปัญหาที่ซับซ้อน หากไม่มีการรื้อโครงสร้างการจัดการป่าที่รวมศูนย์ของรัฐ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐไม่ยอมรับชุมชนในพื้นที่ป่า โดยอ้างว่าไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทั้งที่เป็นปัญหาของรัฐที่ไม่ออกเอกสารสิทธิ์ให้ประชาชน รัฐจึงประกาศเขตป่าซ้อนทับลงไปที่ชุมชน โดยเฉพาะในป่าอนุรักษ์ปัจจุบันมีชุมชนอยู่อาศัยถึง 4,192 หมู่บ้าน และมีชุมชนในป่าสงวนอีกมาก โดยนโยบายทวงคืนผืนป่า การจำกัดสิทธิชุมชนในพื้นที่ป่า สร้างผลกระทบต่อชุมชน ปัญหาอยู่ที่รัฐจะหาพื้นที่มาปลูกป่าจากไหน หากไม่ไปทวงคืนมาจากชุมชน และปัญหาที่ซ้อนอีกเรื่องคือ การเอาเรื่องคาร์บอนเครดิตเข้ามาพ่วงกับการปลูกป่า เช่น แผนงานสนับสนุนการลดการทำลายป่า การลดการทำให้ป่าเสื่อมโทรม การอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่า ในประเทศกำลังพัฒนา (REDD+) ที่ดูเป็นหลักการที่ดีแต่เมื่อพ่วงกับคาร์บอนเครดิตเข้ามาจากการลงทุนของภาคเอกชน จะกระทบต่อสิทธิต่อทรัพยากรและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมกับชุมชน

           หากรัฐจะใช้การเพิ่มพื้นที่ป่ามาดูดซับคาร์บอน (โดยไม่ไปบิดเบือนเป้าหมายภาคส่วนอื่นๆ ที่ต้องลดการปล่อยคาร์บอนลง) ต้องเร่งปฏิรูประบบการจัดการป่าให้มีการกระจายอำนาจ สร้างการมีส่วนร่วม รับรองส่งเสริมสิทธิชุมชนจัดการป่า เพื่อให้ชุมชนเป็นพลังร่วมมือกับรัฐได้อย่างเข้มแข็ง และตัดเงื่อนไขเรื่องคาร์บอนเครดิตที่ยังมีปัญหาเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม เพราะหากไม่เร่งดำเนินการปรับโครงสร้าง การเร่งปลูกป่าโดยการยึดคืนทรัพยากรมาจากชุมชนจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนที่เรื้อรังมานานขยายตัวและทำให้เป้าหมายการปลูกป่าไม่สำเร็จได้

          แผนสุดท้ายคือ ทำให้เกิดภาวะคาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิในปี 2065 ข้อคิดเห็นคือ เมื่อกลับไปที่จุดตั้งต้นด้วยการปรับลดในทันที ไม่ต้องรอถึงปี 2030 และดำเนินการด้วยการกระจายอำนาจทุกภาคส่วนทั้งพลังงาน เกษตร อุตสาหกรรม ป่าไม้ ฯลฯ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเท่าเทียม ด้วยแนวทาง “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จะทำให้ประเทศไทยมีความชัดเจนในการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกได้มาก

          สิ่งที่ประชาชนอยากได้ยิน แต่นายกฯ ไทย และผู้นำประเทศต่างๆ มักไม่กล่าวถึงและผลักดันมากพอ ก็คือ บรรดาประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยจะมีความชัดเจนในการป้องกัน ช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางต่างๆ (เด็ก ผู้หญิง คนพิการ คนจน ชนเผ่าพื้นเมือง เกษตรกรรายย่อย แรงงาน ฯลฯ) ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร จะส่งเสริมอย่างไรให้พวกเขาและเธอตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนได้อย่างมั่นคง มีความมั่นคงอาหาร ไม่เผชิญภัยพิบัติ มีเศรษฐกิจมั่นคง มีสุขภาพที่แข็งแรง และมากไปกว่านั้นคือ เห็นคุณค่าและส่งเสริมบทบาทของพวกเขาในการสร้างวิถีชีวิต กิจกรรมที่ดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ดี ซึ่งหลายชุมชนได้ดำเนินการมาแล้ว เช่น การจัดการขยะ จัดการพลังงาน จัดการป่า แม่น้ำ และทะเล ทำวนเกษตร เกษตรกรรมยั่งยืน ฯลฯ

          ไม่ต้องรอถึงปี 2030 พวกเขาล้วนเดือดร้อนจากปัญหาโครงสร้างการจัดการทรัพยากรและการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังเจอความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ทำให้ชีวิตย่ำแย่ เป็นโอกาสอันดีที่ COP26 จะทำให้ปัญหาของประชาชนที่เดือดร้อนเป็นวาระสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการไม่น้อยไปกว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


Social Share