THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

(ร่าง) เวทีสัมมนาวิชาการ (ออนไลน์)
สังเคราะห์องค์ความรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ประเทศไทย

1.หลักการและเหตุผล


การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกและกล่าวถึงมากขึ้นในปัจจุบัน จากเดิมที่หลายภาคส่วนมองว่า การเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นทางวิทยาศาสตร์หรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แม้โดยพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนของมนุษย์ ทั้งระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่มาในรูปแบบของการพัฒนา มีการนำฐานทรัพยากรธรรมชาติมาใช้จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เกิดการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นภัยคุกคามที่ย้อนกลับมาสู่สังคมมนุษย์ในปัจจุบันโดยเฉพาะในมิติของภัยพิบัติ ความมั่นคงด้านอาหารที่กำลังสั่นคลอน และความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังจะสูญหายไป ตลอดจนความเสี่อมโทรมและการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทรัพยากรทะเลและชายฝั่งเป็นอีกหนึ่งระบบนิเวศทางธรรมชาติที่กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้จะเป็นไปในลักษณะเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป (Slow Onset Event) คือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ไม่อาจหยุดยั้งได้ แต่จะค่อยๆ เกิดขึ้นและสั่งสมไปเรื่อยๆ ถือเป็นภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่น่ากลัวมาก โดยเฉพาะกับผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดกับทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง นั่นก็คือชุมชนประมงพื้นบ้านที่ต้องดำเนินชีวิตและมีวิถีที่พึ่งพา พึ่งพิงกับธรรมชาติ ที่ผ่านมาเขาเหล่านี้เริ่มเผชิญกับรูปธรรมการเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์ในหลายด้านมากขึ้น ทั้งคลื่นลมแรง ความแปรปรวนของฤดูกาล และความถี่ของพายุ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ความมั่นคงทางอาชีพ และอาหารของชุมชนชายฝั่งโดยตรง อีกทั้งมีหลายเหตุการณ์ที่ยกระดับไปสู่ภัยพิบัติทางธรรมชาติอันสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตของชุมชนชายฝั่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง ผู้สูงอายุ และเด็กที่อยู่ภายในชุมชน ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2547

เพื่อให้เกิดภาพที่ชัดขึ้น พร้อมกับการรองรับทางวิชาการที่ยืนยันว่า ถึงเวลาที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ ทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง จะต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจำเป็นที่จะต้องร่วมกันระดมองค์ความรู้ สร้างความระหนัก และร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์การปรับตัวร่วมกันบนฐานองค์ความรู้ที่เกิดจากทุกฝ่ายในหลากหลายมิติ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคม องค์ความรู้ท้องถิ่น ตลอดจนการคำนึงถึงมิติด้านสิทธิมนุษยชน การพัฒนาที่ยั่งยืน ความเสมอภาคระหว่างเพศ เพื่อนำไปสู่การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง บนพื้นฐานการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาครัฐ ท้องถิ่น ชุนชนชายฝั่ง ประชาชน เอกชน และประชาสังคม ในการรับมือปรับตัวกับความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้น

2. วัตถุประสงค์

2.1 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพชุมชนชายฝั่งและภาคประชาสังคมให้มีความรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดกับทรัพยากรทะเลและชายฝั่งและแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของชุมชนประมง
2.2 เพื่อรวมรวมและสังเคราะห์องค์ความรู้ผลกระทบทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง และแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของชุมชนประมง
2.3 เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายของภาคประชาชนต่อการขับเคลื่อนประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย

3. กลุ่มเป้าหมาย

3.1 คณะกรรมการสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) จำนวน 5 คน
3.2 องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง จำนวน 10 คน
3.3 แกนนำชุมชนประมงพื้นบ้านหญิงและชาย จำนวน 20 คน
3.4 ตัวแทนนักวิชาการด้านทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง จำนวน 11 คน
3.5 ผู้สนใจที่ทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำนวน 5 คน
3.6 ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นชายฝั่งทะเลหรือองค์กรท้องถิ่น จำนวน 9 คน
รวมกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 60 คน

4. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

4.1 ผู้เข้าร่วมมีความเข้าใจและความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรทะเลและชายฝั่งเพิ่มขึ้น
4.2 เอกสารชุดความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรทะเลและชายฝั่งเผยแพร่สู่สาธารณะ และเวทีสมัชชาสิ่งแวดล้อม

5. ระยะเวลาในการจัดเวที ระหว่างวันที่ 4 พฤศจิกายน – 7 ธันวาคม 2564 เวลา 13.00 -16.00 น.

6. หน่วยงานที่รับผิดชอบ

  • สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.)
  • มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (มพย.)
  • มูลนิธิสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI)

7. วิธีการนำเสนอและเนื้อหา

รูปแบบการำนำเสนอ การจัดเวทีออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom จำนวน 7 ครั้ง 7 วัน วันละ 3 ชั่วโมง
พร้อม ถ่ายทอด Facebook live

  • Thai Climate Justice for All
  • มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • มูลนิธิอันดามัน
  • สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Join Zoom Meeting

https://zoom.us/j/98444293943?pwd=S1JVbHlRbGJwcVhKS0pHVGhERW5WQT09

Meeting ID: 984 4429 3943
Passcode: 159755

เนื้อหาการเรียนรู้ประกอบไปด้วย

  • กลุ่มงาน 1 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
    เนื้อหาหลักคือ
    (1) สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบของสภาพภูมิอากาศต่อระบบนิเวศทะเลและชายฝั่ง และทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง (ทะเล ปะการัง สัตว์น้ำ ป่าชายเลน หญ้าทะเล ฯลฯ)
    (2) ผลกระทบที่ชุมชนชายฝั่งจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทะเลและชายฝั่งด้านวิถีชีวิต สังคม และเศรษฐกิจระบบครัวเรือน ชุมชน และภาพรวมของประเทศ
  • กลุ่มงานที่ 2 มุมมองของชุมชนชายฝั่งต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
    เนื้อหาหลัก คือ
    (1) ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์และมุมมองที่ชุมชนชายฝั่งเผชิญอยู่อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
    (2) ตัวบ่งชี้และสัญญาณเตือนที่เป็นเงื่อนไขแสดงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศต่อการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตของชุมชน (ทั้งในประเทศและต่างประเทศ)
  • กลุ่มงานที่ 3 การเรียนรู้ วิเคราะห์ และประเมินนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
    เนื้อหาหลัก คือ
    (1) ประเมินนโยบายภาครัฐต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบนิเวศและทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานของภาครัฐต่อการลดความเสี่ยง การเพิ่มศักยภาพ และการปรับตัวของชุมชนชายฝั่งทะเล
    (2) ทิศทางขับเคลื่อนของภาคประชาชนและชุมชนชายฝั่งต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กลุ่มงาน 3ดำเนินการในเวทีสมัชชา)

Social Share