THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Avantika Goswami
วันที่ 30 ธันวาคม 2020
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Wikimedia Commons

แนวคิดเรื่อง Geoengineering ได้พัฒนาตัวเองจากม้านอกสายตามาเป็นวิธีแก้ปัญหาโลกร้อนที่ทุกคนให้ความสนใจภายในระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าการทดสอบแนวคิดดังกล่าวในอดีตอย่างเช่นการทดลอง Ocean Iron Fertilization หรือการเติมธาตุเหล็กลงในมหาสมุทรเพื่อให้สาหร่ายขยายพันธุ์แบบทวีคูณและกักเก็บคาร์บอนจากบรรยากาศไว้ในทะเล และการทดลอง SPICE หรือโครงการที่ประเมินความเป็นไปได้ในการฉีดอนุภาคทึบแสงจากบอลลูนในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์เพื่อกรองรังสีจากดวงอาทิตย์ถูกชะลอไว้ แต่ในความพยายามแก้ไขภาวะโลกร้อนจากกิจกรรมของมนุษย์ก็เกิดโครงการ Geoengineering ใหม่ๆ หลากหลายขนาดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสองโครงการแรกขึ้นอีกมาก


Geoengineering เป็นแนวคิดที่มนุษย์เข้าแทรกแซงระบบโลกโดยมีเจตนาเพื่อยับยั้งภาวะโลกร้อน ซึ่งต้องอาศัยเทคนิคพิเศษในการปรับสภาพภูมิอากาศโลกให้เย็นลง โดยแบ่งออกเป็นสามลักษณะได้แก่การจัดการรังสีจากดวงอาทิตย์ (SRM) การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์หรือ CDR และการปรับสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างของ SRM เช่นการสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์โดยพ่นซัลเฟตในชั้นบรรยากาศกลับไปยังอวกาศหรือการฉีดพ่นเกลือในเมฆให้สามารถสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ได้เป็นต้น ส่วน CDR นั้นเช่นการใส่ปุ๋ยธาตุเหล็กลงในมหาสมุทรเพื่อให้สาหร่ายขยายพันธุ์แบบทวีคูณและกักเก็บคาร์บอนจากบรรยากาศไว้ในทะเล การเก็บกักคาร์บอนไว้ในป่าไม้หรือใต้ดิน (CCS) ที่จะนำไปสู่ ‘net zero’ ภายในปี 2050 ก็เกิดจากแนวคิด Geoengineering เช่นกัน
.
ประเทศจีนเป็นชาติที่ดำเนินหนึ่งในโครงการปรับสภาพภูมิอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยใช้ฝนเทียมเป็นหลัก และตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องครอบคุลมพื้นที่ร้อยละ 60 ของประเทศภายในปี 2025
.
มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้จัดตั้ง Centre for Climate Repair ขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมาเพื่อพัฒนา SRM โดยวิธีทำให้เมฆสามารถสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ได้ และรัฐบาลออสเตรเลียกำลังทดสอบวิธีเดียวกันในการลดอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรรอบๆ Great Barrier Reef เพื่อแก้ปัญหาปะการังฟอกขาว สื่อกระแสหลักอย่าง New York Times ได้อุทิศให้แนวทาง Solar Geoengineering เป็นแนวทางที่ทำให้มนุษย์สามารถ “ซื้อเวลาเพิ่มในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”
.
ทว่าในขณะเดียวกันฝ่ายที่คัดค้านแนวคิด Geoengineering ก็มีเหตุผลที่ใช้หักล้างความเป็นไปได้ของ Geoengineering อย่างแข็งแรง นักเขียนเรื่องภาวะโลกร้อนชื่อดังอย่าง Naomi Klein ได้เตือนว่ามนุษย์ไม่ควรเข้าควบคุมระบบนิเวศน์ และ Geoengineering ไม่สามารถแก้ต้นเหตุของภาวะโลกร้อนซึ่งได้แก่การสะสมก๊าซเรือนกระจกได้ แต่เป็นเพียงคำพูดที่เบี่ยงเบนความสนใจของมวลชนไปจากความจำเป็นในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการเมืองที่ขาวสะอาดและการเคลื่อนย้ายทรัพยากรอย่างถูกต้อง
Naomi Klein ยังเตือนโลกอีกว่าการทดลองเกี่ยวกับ Geoengineering เป็นเรื่องหลอกลวง เนื่องจากวิธีการเหล่านั้นจะต้องดำเนินการในสเกลที่ใหญ่มากพอที่จะสร้างผลกระทบต่อระบบภูมิอากาศโลกได้ ซึ่งนอกจากจะทำได้ยากแล้ว การกระทำเช่นนั้นโดยไม่รู้ผลที่จะตามมายังอาจเป็นอันตรายต่อมนุษยชาติอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น SRM มีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนรูปแบบของฝนและสร้างความเสียหายต่อการเกษตรและประปา หรือการฉีดพ่นซัลเฟตในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์เหนือทวีปอาร์คติกเพื่อทำเมฆภูเขาไฟเทียมอาจส่งผลกระทบต่อฤดูมรสุมในทวีปเอเชียและทำให้เกิดความแห้งแล้งในทวีปอาฟริกา ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านการขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มต่อผู้คนจำนวนสองพันล้านคน และยังมีผลกระทบที่เรายังไม่เข้าใจอีกมาก
.
แนวคิดแบบมีคนได้ก็มีคนเสียอย่างสภาพภูมิอากาศที่เอื้อประโยชน์ต่อคนในบางพื้นที่แต่สร้างความเสียหายให้แก่คนในพื้นที่อื่นขัดต่อหลักความเป็นธรรมทางภูมิอากาศ (Climate Justice) เนื่องจากประเทศที่ได้รับผลกระทบทางลบมักตั้งอยู่ในซีกโลกใต้ ซึ่งส่วนมากเป็นประเทศที่ไม่ควรต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน


นอกจากนี้ยังมีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยถ้อยแถลงในรายงานปี 2017 ของ ETC Group และมูลนิธิ Heinrich Böll มีใจความว่าถ้ารัฐบาลมีอำนาจในการเปลี่ยนทิศทางของพายุ การกระทำดังกล่าวอาจถือเป็นการประกาศสงคราม การแทรกแซงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้เกิดอำนาจเช่นเดียวกับที่อาวุธนิวเคลียร์ทำให้เกิด แม้แต่การมีอยู่ของความสามารถในการแทรกแซงสภาพภูมิอากาศโดยไม่นำออกมาใช้ ก็อาจถือเป็นภัยต่อประเทศเพื่อนบ้านได้
.
การถกเถียงกันในเรื่อง Geoengineering นำเราไปสู่รากเหง้าที่ลึกที่สุดของความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ กล่าวคือคำถามที่ว่า เราควรเข้าแทรกแซงวิถีธรรมชาติต่อไปหรือไม่ เมื่อคำนึงว่าเราได้ทำเช่นนั้นมามากพอแล้วตั้งแต่เริ่มยุคอุตสาหกรรม ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราปล่อยออกมาจะยังคงอยู่ในบรรยากาศต่อไป และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นไปทุกที และแทนที่เราจะปล่อยความรับผิดชอบไว้กับมหาเศรษฐีอย่างบิล เกตส์แต่เพียงผู้เดียว เราควรช่วยกันดำเนินการลดคาร์บอนโดยเร่งด่วน ซึ่งจะเป็นการทำความสะอาดสภาพแวดล้อมให้กลับมาเป็นที่อยู่อาศัยได้
.
Holly Jean Buck ผู้ซึ่งเป็นนักวิจัยของ UCLA และผู้แต่งหนังสือ Has It Come to This? The Promises and Perils of Geoengineering on the Brink ได้ยกประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการดักจับคาร์บอนซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของกระบวนการ Decarbonisation ขึ้นอภิปราย ตามรายงาน Emissions Gap Report ปี 2020 ของสหประชาชาติมีใจความว่า “ถึงแม้ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีนี้จะลดลงเล็กน้อยอันเนื่องมาจากผลกระทบจากการล็อคดาวน์เพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัสโควิด 19 อุณหภูมิโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและคาดว่าจะสูงขึ้นเกิน 3°C ภายในปี 2015 ซึ่งแปลว่าเป้าหมายของข้อตกลงปารีสที่กำหนดให้อุณหภูมิโลกต้องไม่สูงขึ้นเกิน 2°C หรือควรเป็น 1.5°C ภายในปี 2015 นั้นล้มเหลว”
.
ผลการทำนายอุณหภูมิโลกในปี 2030 คาดว่าจะสูงขึ้นอีก 3.2°C แม้ว่าประเทศต่างๆ จะดำเนินมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อลดการปล่อยก๊าซอย่างเต็มที่ Holly Jean Buck กล่าวว่าโอกาสที่เราจะรักษาระดับอุณหภูมิไม่ให้สูงไปกว่า 2°C กำลังจะหมดลงอย่างรวดเร็ว หากเราต้องการบรรลุเป้าหมายนี้ เราต้องลดการปล่อยก๊าซลงเหลือเพียง 1 หมื่นล้านตันต่อปีภายในสิ้นศตวรรษนี้ เมื่อเทียบกับอัตราการปล่อยในปัจจุบันที่ 4 หมื่นล้านตันต่อปี ซึ่งต้องใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพที่สูงกว่าที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันถึงหนึ่งพันเท่า
.
นักวิทยาศาสตร์ต่างก็เห็นด้วยว่าแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนโดยใช้วิธีธรรมชาติอย่างการใช้ป่าไม้ดูดซับคาร์บอนนั้นต้องใช้สเกลในการดำเนินการที่ใหญ่มาก ดังนั้น Holly Jean Buck จึงได้สนับสนุนเทคโนโลยี CDR ที่มีความเป็นธรรมทางสังคมเช่นการดักจับคาร์บอนจากภาคอุตสาหกรรมหรือ ‘Negative Emission’ หรือ DAC
ในขณะที่การเก็บกักคาร์บอนไว้ในป่าไม้หรือใต้ดิน ณ จุดที่มีการปล่อยก๊าซเช่นโรงปูนหรือโรงไฟฟ้าถ่านหินอาจเป็นข้ออ้างให้โรงงานเหล่านั้นปล่อยก๊าซมากขึ้นไปอีก และการเก็บกักคาร์บอนโดยการใช้พลังงานชีวมวลก็ทำให้เกิดการแย่งที่ดินจากภาคเกษตร การดักจับคาร์บอนจากภาคอุตสาหกรรมหรือ DAC นี้จะสามารถดักจับคาร์บอนในปริมาณที่มีนัยสำคัญต่อการลดภาวะโลกร้อนได้
.
Holly Jean Buck ยังเสนอว่าในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานนั้น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ DAC จะทำให้เกิดการจ้างงานในตำแหน่งที่ต้องใช้ความรู้และทักษะเดียวกับงานในภาคพลังงานถ่านหิน ทำให้ไม่เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ
.
ในการดำเนินวิธีการดักจับคาร์บอนจากภาคอุตสาหกรรมหรือ DAC นั้นจะต้องใช้กฎหมายที่เข้มงวดในระดับรัฐและประเทศ ทุนวิจัย และนโยบายที่จะมาสนับสนุน สิ่งสำคัญที่สุดได้แก่วิธีนี้จะต้องใช้หน่วยงานราชการในการนำไปปฏิบัติ มิใช่บริษัทพลังงาน มิฉะนั้นบริษัทเหล่านี้ก็จะนำไปบิดเบือนเพื่อให้ตนเองสามารถสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซกันได้ต่อไป
.
ความนิยมในวิธีการเก็บกักคาร์บอนไว้ในป่าไม้หรือใต้ดินในประชาคมโลกชี้ให้เห็นถึงความล่าช้าในการเข้าแทรกแซงโดยรัฐ และกฎหมายและทุนจากภาครัฐก็มีความจำเป็นต่อการใช้เทคโนโลยีใดๆ ในสเกลที่ใหญ่ นับตั้งแต่พลังงานแสงอาทิตย์ไปจนถึงวัคซีน
.
เราไม่สามารถถือเอาได้ว่า Geoengineering เป็นเครื่องมือวิเศษที่สามารถนำมาใช้ลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างทันใจ เพื่อที่จะยอมแพ้ต่อการลดก๊าซด้วยวิธีตรงไปตรงมาอย่างเร่งด่วน และยิ่งไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อใช้ชีวิตแบบบริโภคนิยมและวัตถุนิยมและปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันต่อไป เทคโนโลยีบางอย่างที่สามารถช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซได้นั้นจะต้องได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล (โดยการสนับสนุนกิจกรรมแปลงพลังงานถ่านหินให้เป็นพลังงานสะอาด) และบริหารจัดการอย่างเป็นประชาธิปไตยเพื่อให้มั่นใจว่าผลประโยชน์ตกอยู่แก่มวลชน และเพื่อให้มั่นใจว่าเกิดการลดก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วนจริง


อ้างอิง : https://www.downtoearth.org.in/blog/climate-change/why-geoengineering-is-still-a-dangerous-techno-utopian-dream-74828?fbclid=IwAR3IqXJDHt3wigvAowaD_QcSNcohjXFFJl2PIK5P8HAFFzdKkfCbTvIUO3c


Social Share