THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Peter Veit
วันที่ 25 มีนาคม 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย
350.org

ในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน นานาชาติได้มองข้ามกลยุทธ์ที่สำคัญมากกลยุทธ์หนึ่งไป

ในขณะที่มีหลักฐานจำนวนมากที่แสดงถึงประโยชน์ของการบริหารจัดการที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ตั้งเป้าหมายที่จะปกป้องที่ดินเหล่านี้ในแผนรับมือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแห่งชาติในปี 2015 (หรือที่เรียกว่าการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดหรือ NDC) ดังนั้นในการประชุมปีนี้ ปีนี้ประเทศต่างๆจะต้องเสนอเป้าหมาย NDC ใหม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงปารีส โดยรวมเอาเรื่องของการช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ในการรักษาและบริหารที่ดินของตนไว้เป็นประเด็นสำคัญด้วยเหตุผลสี่ประการดังต่อไปนี้

1. กลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นเป็นนักดูแลป่าที่เก่งกาจ

นักวิจัยพบว่าป่าที่จัดการโดยกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นมีอัตราการเสื่อมโทรมที่ต่ำกว่าป่าที่ไม่มีผู้ดูแล ตัวอย่างเช่นป่าที่ได้รับการดูแลรักษาโดยกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศโบลิเวีย บราซิล และโคลัมเบียในปี 2000-2012 นั้นอุดมสมบูรณ์กว่าป่าที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาโดยกลุ่มชาติพันธุ์สองถึงสามเท่า

กลุ่มชาติพันธุ์ดูแลรักษาป่าได้ดีพอๆ กับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหรือแม้แต่ดีกว่า ในระหว่างปี 2006-2011 กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในป่าอเมซอนในเขตประเทศเปรูช่วยลดปกป้องป่าจากการถูกตัดทำลายได้ถึงสองเท่า งานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้เปิดเผยว่าร้อยละ 36 ของพื้นที่ป่าที่มีเขตแดนติดต่อกันอยู่ในเขตที่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ดูแลป่าเป็นอย่างดี ป่าที่มีเขตแดนติดต่อกันเป็นผืนใหญ่มีบทบาทที่สำคัญในการดูดซับคาร์บอน รักษาความหลากลายทางชีวภาพ ควบคุมปริมาณน้ำ และเป็นที่ตั้งของระบบนิเวศน์ที่ชุมชนและสังคมพึ่งพาอาศัยในการดำรงชีพ

2. สิทธิเหนือผืนดินของกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นทำให้เกิดการบริหารจัดการป่าที่ดีกว่า

การจัดสรรที่ดิน การรับรองสิทธิในการถือครองที่ดิน และการออกโฉนดที่ดินเป็นวิธีการที่รัฐจะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นรู้สึกถึงความมั่นคงในชีวิตและเกิดความต้องการที่จะลงทุนลงแรงในที่ดินที่ตนเองดูแลอยู่ งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าเขตแดนที่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ในป่าอเมซอนฝั่งประเทศบราซิลที่มีการออกเอกสารถือครองมีการตัดไม้ทำลายป่าในอัตราที่ต่ำกว่ามากในช่วงปี 1982-2016 เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ไม่มีการออกเอกสารให้

การจดทะเบียนและออกเอกสารถือครองที่ดินในเขตที่อาศัยของกลุ่มชาติพันธ์เป็นการนำเอาสิทธิการถือครองแบบไม่เป็นทางการเข้าในระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เอกสารถือครองที่ดินทำให้กลุ่มชาติพันธุ์รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและได้รับความเคารพในสิทธินั้นและใช้เป็นหลักฐานเมื่อเกิดข้อพิพาทในการอ้างสิทธิการใช้ที่ดินที่ดีกว่าเพียงคำกล่าวอ้าง นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นหลักฐานในการเจรจาต่อรองกับกลุ่มทุนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อพิพาทหรือถูกเอารัดเอาเปรียบได้

3. ป่าของกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นสามารถดูดซับคาร์บอนได้เป็นปริมาณมาก

งานวิจัยพบว่าในระหว่างปี 2001-2019 พื้นที่ป่าทั้งหมดของโลกดูดซับคาร์บอนเป็นปริมาณเฉลี่ยสองเท่าของปริมาณที่ต้นไม้ปล่อย หรือคิดเป็นปริมาณสิทธิเท่ากับ 7.6 พันล้านตันต่อปีหรือมากกว่าปริมาณที่ประเทศสหรัฐอเมริกาปล่อยตลอดทั้งปีถึง 1.5 เท่า และพบว่าป่าที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีมีความสามารถในการดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าป่าเสื่อมโทรม ในที่ลุ่มปากแม่น้ำอเมซอน ที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์มีความหนาแน่นของคาร์บอนสูงกว่าที่ดินประเภทอื่นเนื่องจากพืชอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์กว่า

ที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ในหลายภูมิภาครวมถึงในที่ลุ่มปากแม่น้ำอเมซอนเป็นที่ดินประเภทที่ดูดซับคาร์บอนได้ ในขณะที่ที่ดินที่จัดการโดยภาครัฐปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าปริมาณที่ดูดกลับ ในขณะที่ป่าที่เป็นที่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตอเมซอนสูญเสียพื้นที่ไปเพียงร้อยละ 0.3 ระหว่างปี 2003-2016 ที่ดินประเภทอื่นสูญเสียถึงร้อยละ 3.6

กลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นถือครองที่ดินประมาณร้อยละ 50 ของที่ดินทั้งหมดในโลก ทำให้มีศักยภาพในการเก็บกักคาร์บอนได้มาก จากการสำรวจใน 52 ประเทศในเขตร้อนพบว่ากลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นถือครองพื้นที่ถึงร้อยละ 22 ของป่าที่ใช้ดูดซับคาร์บอนและร้อยละ 17 เมื่อรวมถึงการเก็บกักคาร์บอนไว้ในดินด้วย หากเราปล่อยให้คาร์บอนเหล่านี้สู่บรรยากาศจะทำให้เกิดปริมาณคาร์บอนในบรรยากาศสูงกว่าที่มนุษย์ปล่อยในปี 2017 ถึง 33 เท่า ดังนั้นถ้าเราปล่อยให้นักอสังหาริมทรัพย์ “พัฒนา” ที่ดินเหล่านี้หมายถึงหายนะต่อสภาพภูมิอากาศโลกที่จะมาถึง

ในบางภูมิภาค ปริมาณคาร์บอนที่ถูกเก็บกักไว้ในที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นสูงกว่านี้มาก เช่นในแถบละตินอเมริกาและแคริบเบียน ที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์กักเก็บคาร์บอนเป็นปริมาณสามเท่าของคาร์บอนที่ถูกดูดซับไว้ในป่า

4. ต้นทุนที่อนุญาตให้กลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นใช้ในการรักษาป่าต่ำมากเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้

มูลค่าของคาร์บอนที่เก็บกักไว้ในที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่น รวมถึงระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์นั้นมีคุณค่าสูงกว่าต้นทุนที่รัฐบาลต้องใช้ในการจัดการด้านสิทธิถือครองที่ดินมาก ตัวอย่างเช่นประเทศโบลิเวีย บราซิล และโคลัมเบีย นักวิจัยได้ประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเท่ากับ 54–119 พันล้านดอลลาร์ 523–1,165 พันล้านดอลลาร์ และ 123–277 พันล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ส่วนต้นทุนที่ใช้เพื่อการจัดสรรที่ดินให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์นั้นประมาณร้อยละ 1 ของมูลค่าทางเศรษฐกิจดังกล่าว

การดูดซับคาร์บอนโดยใช้ที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นวิธีที่คุ้มทุนอย่างยิ่งในการลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเมื่อเทียบกับวิธีอื่น อาทิเช่น ต้นทุนที่ใช้ในการดูดซับคาร์บอน (CCS) สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นแพงกว่าวิธีที่ใช้ที่ดินกลุ่มชาติพันธุ์ประมาณ 5-29 เท่า และต้นทุนดังกล่าวสำหรับโรงก๊าซธรรมชาตินั้นแพงกว่าประมาณ 7-42 เท่า

COP26 เป็นเวทีสำคัญในการผลักดันการออกเอกสารสิทธิที่ดินแก่กลุ่มชาติพันธุ์

การอภิปรายเรื่อง NDC ครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในการประชุม UN Climate Change Conference (COP 26) ที่จะจัดขึ้น ณ เมืองกลาสโกว ประเทศสก็อตแลนด์ในเดือนพฤศจิกายน 2021 ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกร่วมทบทวนเป้าหมายด้าน NDC และเป้าหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน โดยทุกประเทศควรยกระดับนโยบายด้าน NDC ของตนที่จะลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน รักษาความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ลดความขัดแย้งทางทรัพยากรและสังคม และฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ :

  1. รับรองและปกป้องสิทธิในการถือครองที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นตามการถือครองมาแต่เดิมอย่างไม่เป็นทางการ
  2. ชดเชยให้แก่ผลประโยชน์ที่ได้รับจากระบบนิเวศน์ที่ดูแลรักษาโดยกลุ่มชาติพันธุ์ เช่นเสนอค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่สามารถดูดซับคาร์บอนและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้
  3. สนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเช่นทางด้านการเฝ้าระวังการรุกรานจากกลุ่มทุน
  4. ปกป้องผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นที่มีบทบาทในการอนุรักษ์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติจากการของกลุ่มทุนอย่างจริงจัง เช่นบังคับใช้กฎหมายลงทาผู้รุกราน
  5. สนับสนุนองค์กรกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรเพื่อเด็กและสตรี เนื่องจากมีบทบาทที่สำคัญในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในขณะที่เหล่าผู้ชายออกไปทำงาน

ที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทที่สำคัญในการปกป้องผู้คนจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน โดยนอกจากจะดูดซับคาร์บอนแล้ว ยังให้ประโยชน์ด้านทรัพยากรธรรมชาติอีกมากมายแก่ประเทศที่ให้การสนับสนุนด้านทุนและการปกป้องกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่น และตั้งเป้าที่จะบรรลุข้อตกลงปารีสอย่างจริงจัง


อ้างอิง     https://landportal.org/pt/node/99369


Social Share