THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

Thai Climate Justice for All
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
มูลนิธิอันดามัน
สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เวทีสัมมนาวิชาการ : สังเคราะห์องค์ความรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับทรัพยากรทะเลและชายฝั่งประเทศไทย ครั้งที่ 2

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564

คุณเกศินี แกว่นเจริญ ผู้ดำเนินรายการจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนา  

ได้แนะนำหัวข้อที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในวันนี้ มี 2 ประเด็น คือ 1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับความหลากหลายทางชีวภาพ 2)  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับหญ้าทะเล ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรแล้วส่งผลต่อวิถีชีวิตของชุมชนชายฝั่ง

เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับความหลากหลายทางชีวภาพ ผลกระทบ และแนวทางการรับมือของชุมชน
โดย คุณวราริน พงษ์พานิช นักวิชาการชำนาญพิเศษ กรมทรัพยากรประมงและชายฝั่ง

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม พบว่าทำให้ปริมาณฝน ลมและอุณหภูมิเปลี่ยนไปในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เกิดไฟป่า ความแล้ง การเลื่อนของฤดูกาล การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกมีผลต่อการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ทำให้ปริมาณน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น สิ่งที่ชุมชนชายฝั่งจะพบเจอประจำ เช่น ความรุนแรงของมรสุมที่เพิ่มมากขึ้น ปริมาณน้ำทะเลหนุนที่สูงขึ้นและน้ำเอ่อท่วมน้ำเรือนบริเวณชายฝั่ง

ผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะความหลากหลายทางชีวภาพ  เช่น ปะการังฟอกขาว และสิ่งมีชีวิตในทะเลตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ที่อาศัยแนวปะการังก็จะสูญพันธุ์หากปรับตัวไม่ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่  กล่าวคือจำนวนที่สูญไปมากกว่าจำนวนที่เกิดใหม่ ทำให้ระบบนิเวศน์ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้สัตว์น้ำอพยพย้ายถิ่นไปยังพื้นที่ที่มีสภาพอากาศเย็นกว่า และส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตพันธุ์พืชและสัตว์ หากพันธุ์ใดไม่สามารถเผชิญกับผลกระทบอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตซึ่งเคยเกิดขึ้นครั้งใหญ่ในโลกมาแล้ว 5 ครั้ง เมื่อ 65 ล้านปีก่อน เป็นยุคที่ไดโนเสาร์ขนาดใหญ่สูญพันธุ์  ซึ่งคาดว่าครั้งที่ 6 นี้มนุษย์จะเป็นตัวหลักสำคัญที่เร่งให้เกิดการสูญพันธุ์สิ่งมีชีวิตครั้งใหญ่ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเร็วกว่าสิ่งมีชีวิตจะปรับตัวได้ทัน การแพร่พันธุ์และวงจรชีวิตสัตว์เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลต่อห่วงโซ่อาหารในทะเล หรือการเพิ่มปริมาณน้ำฝนส่งผลต่อปริมาณความเค็มน้ำทะเล จะทำให้เพิ่มอัตราการตายของสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อวงจรสัตว์น้ำขนาดเล็ก ปริมาณผู้ล่าจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้อุณหุมิที่สูงขึ้น น้ำทะเลสูงขึ้น น้ำทะเลมีค่าความเป็นกรดสูงขึ้น จะส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น แพลงก์ตอนเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี เป็นสีเขียว การเพิ่มของอุณหภูมิที่สูงขึ้น มีผลต่อการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์น้ำไปในอุณหภูมที่ต่ำกว่า ทำให้ส่งผลกระทบต่อชนิดพันธุ์ดั้งเดิม หรือการสูญเสียแนวชายฝั่งจากคลื่นที่รุนแรงขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการกัดเซาะมากขึ้นที่ดินบริเวณชายฝั่งหายไป หรือการเปลี่ยนแปลงความเป็นการด่างน้ำทะเลเปลี่ยนไป ซึ่งเกิดจากคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศที่กลับมาสะสมในท้องทะเล ทำให้ทะเลเป็นกรด มีผลทำให้สัตว์ทะเลที่มีเปลือกจะผุกร่อน เช่น หอย ถ้าเราเลี้ยงหอยจะทำให้เปลือกบางทำให้มีความเสี่ยงต่ออัตราการรอดชีวิต หรือปะการังผุพังง่ายขึ้น

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อความหลากหลายชีวภาพ แต่เมื่อรวมกับการกระทำของมนุษย์เพิ่มทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้นส่งผลกระทบที่มากขึ้น สัตว์บางชนิดปรับตัวไม่ทันทำให้เสี่ยงสูญพันธุ์หรือหายไปจากระบบนิเวศ  เช่น อุณหภูมิที่มากกว่า 32 องศาเซลเซียส จะทำให้ลูกเต่าหัวฆ้อนทะเลฟักออกมาเป็นเพศเมียทั้งหมด หรือถ้าอุณภูมิต่ำกว่า 28 องศาเซลเซียสลูกเต่าจะฟักออกมาเป็นเพศผู้ทั้งหมด รวมถึงชนิดพันธุ์ปลาที่อยู่ตามแนวปะการังหายไปโดยเฉพาะปลากินพืชที่ควบคุมปริมาณสาหร่าย ทำให้สาหร่ายเจริญรวดเร็วระบบนิเวศในแนวปะการังเสียสมดุล ทำให้ปะการังเสื่อมโทรมและทรุดตัวเร็วขึ้น

ผลกระทบต่อชุมชนชายฝั่ง ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งมากขึ้น แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนหายไป ชุมชนชายฝั่งมีความเสี่ยงในอาชีพมากขึ้น เพราะบริเวณที่เคยจับปลาได้ สัตว์น้ำอพยพไปไกลขึ้น จะต้องออกเรือไปทำประมงไกลขึ้น ทำให้เกิดต้นทุนและความเสี่ยงสูงการทำประมงขึ้น อาจต้องเปลี่ยนอาชีพหรือหาอาชีพเสริม

แนวทางการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของชุมชนชายฝั่ง การปรับตัวอันดับแรกต้องวิเคราะห์ปัจจัยหนุนเสริม ศักยภาพและข้อจำกัด เช่น แหล่งทรัพยากรและสถานภาพทรัพยากร สภาพภูมิอากาศในพื้นที่ ลักษณะอาชีพของคนในชุมชนมีการพึ่งพาทรัพยากรในระดับไหน  ความเข้มแข็งของชุมช และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้มีข้อมูลว่าอะไรเป็นศักยภาพและข้อจำกัดในการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยน้ำความรู้ประสบการณ์ในการรับมือมาผสมผสานกับความรู้ใหม่ๆ เพื่อหาทางเลือกปรับตัวให้เหมาะสมขึ้น ดังนั้นหลักสำคัญ คือ เราสามารถในการเข้าถึงทรัพยากร คุณภาพของคนซึ่งรวมถึงความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ความเข้มแข็งของชุมชนทำให้ปรับตัวได้ดีขึ้น หรือการมีกองทุนในการฟื้นฟูทรัพยากรและนโยบายที่สนับสนุนชุมชนปรับตัวได้ มีมาตรการให้ความรู้และติดตามการเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที

การแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วม

  • มีข้อเสนอให้ปรับกรอบเวลาในการประเมินติดตามการเปลี่ยนแปลงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 30 ปี ให้สั้นลงเหลือ 5 ปี เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น วิทยากรได้แลกเปลี่ยนว่า ข้อมูล 30 ปีที่ผ่านมานำข้อมูลมาใช้ในการดูการเปลี่ยนแปลงในอดีต และมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเพื่อใช้ในการคาดการณ์อนาคตมีความแม่นยำเพิ่มขึ้น
  • แลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัจจุบันในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมาพบว่าภาคใต้ฝั่งอันดามัน หลายจังหวัดรวมทั้งจังหวัดตรัง มีปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงมากในรอบหลายสิบปี ทำให้เกิดความกังวลในการดำรงชีวิตว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้เข้าร่วมและวิทยากรแลกเปลี่ยนว่ามีหลายจังหวัด เช่น ภูเก็ต กรุงเทพฯ ก็เช่นเดียวกัน
  • มีข้อคำถามจากอ่าวไทยฝั่งสงขลา มีแท่นขุดเจาะน้ำมันทำให้มีกระทบหรือเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ เพราะเห็นว่าฝูงปลาลดลง และน้ำมีตะกอนมากขึ้น วิทยากรได้ตอบว่าต้องดูว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นพร้อมๆหรือหลังมีแท่นขุดถึงจะวิเคราะห์เชื่อมโยงกันได้ สถานการณ์ผลกระทบดังกล่าวเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ จะแบ่งเป็น 2 ประเด็น เกิดจากรั่วไหลของน้ำมัน  เป็นผลกระทบจากมลพิษผลกระทบจะกระจายสู่ชุมชนขึ้นกับกระแสลมกระแสน้ำ เป็นมลพิษจากการกระทำของมนุษย์ ทำให้สิ่งมีชีวิตอพยพไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะในการดำรงชีพ ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับหญ้าทะเล
โดย ดร.อัญชนา ปานเทพ คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ความสำคัญของหญ้าทะเล หญ้าทะเลเป็นที่อาศัยของพะยูน เต่า และสัตว์น้ำสำคัญต่างๆ จึงเป็นทรัพยากรที่มีค่าทั้งต่อระบบนิเวศน์และท่องเที่ยว หญ้าทะเลสามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนและตะกอนในน้ำได้ ลดการกัดเซาะชายฝั่งเพราะสามารถต้านแรงคลื่น และเป็นที่อนุบาลและอาศัยของสัตว์น้ำ ประเทศไทยมีประชากรพะยูนมากเป็นอันดับ 4 ของโลก ทำให้แหล่งหญ้าทะเลเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ปัจจุบันหญ้าทะเลกำลังจำนวนลงอย่างรวดเร็วเพราะถูกคุกความจากการพัฒนาพื้นที่และจากภาวะโลกร้อนซึ่งทำให้เกิดพายุและน้ำหลาก พาตะกอนและขยะพลาสติกลงมาถมป่าหญ้าทะเลจนตายทำให้ปริมาณหญ้าทะเลจะลดลง

ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อหญ้าทะเล ทำให้หญ้าทะเลสีเขียวอยู่ในภาวะเครียด ใบหญ้าทะเลเปลี่ยนเป็นสีแดงขึ้น จากอุณหภูมิที่สูงขึ้น และความเข้มรังสียูวีที่สูงขึ้น ส่งผลต่อการเติบโตหญ้าทะเลช้าลง ความหลากหลายทรัพยากรทรัพยากรลดลง ทำให้ระบบนิเวศปะการังได้รับผลกระทบเนื่องจากหญ้าทะเลที่เป็นแนวกันชนให้ปะการังลดลง ส่งผลกระทบต่ออาชีพ รายได้และแหล่งอาหารของเรา ชายฝั่งถูกกัดเซาะมากขึ้น ผลกระทบทางอ้อมต่อหญ้าทะเล เช่น น้ำท่วมจากปริมาณฝนทำให้เกิดตะกอนทับถมหญ้าทะเลตาย

 หญ้าทะเลมีหลายขนาด โดยจำแนกตามขนาดใบ คือ เล็ก กลาง และใหญ่ หญ้าทะเลใบใหญ่จะกันคลื่นลมที่จะมากัดเซาะชายฝั่งได้ดี ส่วนหญ้าใบเล็กเป็นอาหารของพะยูน ดังนั้นการปลูกหญ้าคา (ใบใหญ่) มากๆเพียงอย่างเดียวอาจไม่เหมาะสมเพราะใช้เวลาโตนานเกินไป และทำให้ระบบนิเวศน์ป่าหญ้าทะเลขาดสมดุลจำนวน การปลูกคละประเภทช่วยให้หญ้ามีความหนาแน่นมาก ป้องกันคลื่นลม ดักจับตะกอน และดักจับคาร์บอนได้ดีขึ้นเมื่อมีหญ้าหลายๆชนิด มากกว่าจะมีชนิดเดียว จึงชวนให้คิดในการวางแผนการปลูกหญ้าทะเลให้มีความหลากหลาย และหลังการปลูกจะต้องติดตามประเมินผล

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าควรมีแผนการปลูกและติดตามผลร่วมกันเป็นภาพรวมจะได้ผลมากกว่าต่างคนต่างปลูก เราจึงควรสร้างเครือข่ายร่วมกับกรมอุทยานฯเพื่อให้สามารถวางแผนจำนวนและชนิดได้ มีการวางแนวเขตกันการรุกราน และตรวจติดตามผลเพื่อให้หญ้าทะเลเพิ่มขึ้นได้จริง และทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น และหากหญ้าทะเลมีความหนาแน่นปริมาณการเก็บคาร์บอนก็สูงขึ้นตาม   

พื้นที่ชายฝั่งทะเลที่สะสมคาร์บอนซึ่งประกอบด้วยสาหร่ายทะเล หญ้าทะเล และป่าชายเลน ประเทศไทยไม่มีสาหร่ายทะเลขนาดใหญ่ แต่มีหญ้าทะเลและป่าชายเลนที่กักเก็บคาร์บอนได้สูงกว่าป่าบก ซึ่งมีคุณค่าที่สำคัญและจำเป็น ปัจจุบันในการขายเครดิตคาร์บอน เรียกว่า  blue carbon  เราจึงต้องช่วยกันปลูกและรักษาหญ้าทะเลและป่าชายเลนเพื่อรักษาระบบนิเวศน์และกักเก็บคาร์บอนไม่ให้ขึ้นสู่บรรยากาศ รวมทั้งได้ฟื้นฟูความหลากหลายทรัพยากร และช่วยลดการสะสมตะกอนจากชายฝั่งทะเลด้วย โดยร่วมมือกันทำเป็นเครือข่ายอย่างมีระบบและยั่งยืน เป็นการบรรเทาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยการลดการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก

ช่วงตอบคำถามและข้อเสนอจากผู้เข้าร่วม

  • ได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์อยากให้สื่อสารองค์ความรู้เรื่องหญ้าทะเลแก่คนรุ่นใหม่ตะหนักประโยชน์ของหญ้าทะเลและเป็นแหล่งรักษาอาหารของชุมชนชายฝั่ง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้สืบสาน วิทยากรได้แลกเปลี่ยนให้มูลนิธิฯเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อเชื่อมต่อความรู้ระหว่างนักวิชากานจากสถาบันการศึกษาสู่ชุมชน
  • ในพื้นที่อำเภอท่าชนะจังหวัดสุราษธานีเป็นทะเลเปิด ไม่มีหญ้าทะเลทำให้ไม่แน่ใจว่าปลูกหญ้าทะเลได้หรือไม่ วิทยากรได้แลกเปลี่ยนว่าเป็นทะเลเปิดคลื่นลมแรงพื้นที่จึงไม่เหมาะสมนาการปลูก แนะนำให้ทำอย่างอื่นที่เหมาะสมกับพื้นที่ได้เช่นกัน  เช่น ทำบ้านปลา ทำเขตอนุรักษ์ อย่างที่ทำในปัจจุบัน
  • ในกรณีของพื้นที่ที่เคยมีหญ้าทะเลแต่ตายหมด ต้องไปสำรวจสาเหตุที่ทำให้ตายและโอกาสในการฟื้นฟู อาจฟื้นฟูใหม่ได้เพราะเคยมีมาก่อน
  • พื้นที่ไหนที่เป็นป่าชายเลนก็ให้เตรียมอนุรักษ์ไว้สำหรับการขาย carbon credit เพราะมีศักยภาพในการเก็บคาร์บอนที่สูงเทียบเท่าป่าหญ้าทะเล
  • สตูลมีการร่วมมือระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานในการอนุรักษ์หญ้าทะเลแล้ว
  • ในตรังตอนนี้พะยูนกระจายตัว จึงอยากให้กระจายการปลูกหญ้าทะเลตาม เช่นที่หาดเจ้าไหม
  • ทราบว่าทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและหลายภาคส่วนกำลังทำระเบียบการซื้อขายเครดิตคาร์บอนในหญ้าทะเลและป่าชายเลน โดยแนวทางที่ยกร่างพบว่าเปิดให้ภาคเอกชนและบุคคลภายนอกประมูลโดยกำหนดคุณสมบัติที่ชุนชนอาจจะไม่สามารถทำได้ เห็นว่าหากจะทำเรื่องบลูคาร์บอนไม่จำเป็นต้องมีคนกลางให้ซับซ้อน ควรคนให้ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการเองและการใช้เครดิตซื้อขายไปเพิ่มการลงทุนที่ไม่ได้ทำให้ก๊าชเรือนกระจกลดลง หากนโยบายไม่สอดคล้อง จึงมีความกังวลว่าจะเป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากภาคเอกชนโดยที่ชุมชนไม่ได้รับประโยชน์หรือทำให้เสียสิทธิในการเข้าถึงการใช้ทรัพยากรที่เคยพึ่งพิง อยากฟังความเห็นของวิทยากร

วิทยากรได้แลกเปลี่ยนว่า ควรมีกองทุนคาร์บอนโดยเงินจากภาคเอกชน โดยชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการเชิงพื้นที่ในการปลูกหญ้าทะเล แล้วจึงประเมินคาร์บอนให้มีระบบในการประเมินการลดปริมาณคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม ไม่ทราบระเบียบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เนื่องจากกลไกซื้อขายเครดิตคาร์บอนยังเป็นภาคสมัครใจ จึงจำเป็นต้องมีกลไกกลางเช่น องค์กรก๊าชเรือนกระจก เพื่อให้ประโยชน์เกิดประโยชน์ต่อชุมชน จึงจำเป็นต้องหารือกลไก สุดท้ายขอฝากวิทยากรสื่อสารกลไกหน่วยงานต่างๆให้ช่วยกันป้องกันหรือมาตรการไม่ให้นายทุนมาหาประโยชน์กับชาวบ้านและรักษาสิทธิชุมชนดั้งเดิม ขณะที่เดียวกันก็ทำให้ไทยบรรลุผลการลดก๊าชเรือนกระจกตามเป้าที่วางไว้

  • กระบี่มีเป้าหมายในการปลูกหญ้าทะเลปีละ 5 ไร่ แต่ปัญหาคือไม่สาเหตุหญ้าทะเลบางส่วนที่ปลูกตาย  วิทยากรได้เสนอจะส่งนักวิชาการไปศึกษาสาเหตุการตายของหญ้าทะเลให้ และเสนอให้มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้รวบรวมข้อมูลเครือข่ายปลูกหญ้าทะเลเพื่อรวมกลุ่มวางแผนและขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเข้มแข็งต่อไป


กลุ่มภาคีเครือข่าย :

Thai Climate Justice for All
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
มูลนิธิอันดามัน
สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


Social Share