THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

Thai Climate Justice for All
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
มูลนิธิอันดามัน
สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เวทีสัมมนาวิชาการ : สังเคราะห์องค์ความรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับทรัพยากรทะเลและชายฝั่งประเทศไทย ครั้งที่ 3

วันอังคารที่ 16 พ.ย. พ.ศ. 2564

ดร.กฤษฏา บุญชัย ผู้ดำเนินรายการจากเครือข่าย Thai Climate Justice For All

ได้กล่าวนำว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นโจทย์ใหญ่ จากการประชุม COP26 ที่ผ่านมามีทั้งความก้าวหน้าและความผิดหวัง เช่น ประเด็นที่ไทยไม่ได้ลงนามความร่วมมือ ใน 3 ประเด็น คือ การยุติการตัดไม้ทำลายป่า การใช้ถ่านหิน และการลดก๊าชมีเทน รวมถึงผลกระทบต่อประชาชนในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตามเมื่อลงไปในระดับชุมชน ประชาชนมีความพร้อมปฏิบัติการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการปรับตัวของชุมชน  โดยวิทยากรที่ร่วมแลกเปลี่ยนวันนี้ 2 ท่าน คือ รศ.ดร. รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ จากคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล  และ อาจารย์สุธีระ ทองขาว จากสำนักวิชาการวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

รศ.ดร. รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ :  ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระดับน้ำทะเลและตะกอนป่าชายเลน

ป่าชายเลนมีความสำคัญในการป้องกันภัยพิบัติและเป็นรอยต่อกับมหาสมุทรและป่าบก ป่าชายเลนจะเกิดบริเวณปากแม่น้ำที่มีสภาพเป็นเลนตะกอนสะสม ต้นไม้จึงเป็นพันธุ์เฉพาะ โดยบริเวณดังกล่าวจะเป็นการผสมของ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ต้นไม้จึงมีการปรับตัวโดยแบ่งเป็นโซน โดยโซนแรกเป็นบริเวณที่ระดับที่น้ำทะเลลดลงต่ำสุด จะมีไม้จำพวกต้นแสม โซนสองเป็ฯบริเวณที่ระดับน้ำท่วมสูงสุดจะมีไม้ประเภท โกงกาง และโซนสามเป็นรอยต่อกับป่าบก จะมีไม้ประเภทตะบูน ตะบัน ระบบรากป่าชายเลนจึงปรับตามระดับน้ำทะเล จึงเหมาะสำหรับการหลบภัยของสัตว์น้ำขนาดเล็ก ปัจจุบันเราพบว่าป่าชายเลนของประเทศไทยลดลงจากกิจกรรมของมนุษย์ทำให้ป่าชายเลนได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ทั้งนี้ทีมวิจัยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ได้ทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตะกอนป่าชายเลนบริเวณบ้านขุนสมุทรจีนอ่าวไทยตอนในซึ่งมีปัญหาการกัดเซาะรุนแรง  มีการติดตั้งเครื่องมือใช้การเปลี่ยนแปลงผิวตะกอน เพื่อดูว่าแผนดินมีการทรุดตัวหรือสะสมเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยที่มีผลต่อการของตะกอน คือ การเติบโตของรากพืช การย่อยสลายของพืช การทับถมของตะกอนจากต้นน้ำ  ใช้เวลาวัดตะกอนเป็นเวลา 7 ปี ผลการศึกษาที่น่าสนใจพบว่า แผ่นดินทรุดตัวอย่างรวดเร็วในอันตรา 0.5 ซม.ต่อ 3 เดือน ความสูงของผิวดินก็มีแนวโน้มลดลง จึงสอดคล้องกับลักษณะชายฝั่งของบ้านขุนสมุทรจีนที่ถูกกัดเซาะ ได้ประเมินว่าถ้าไม่มีตะกอนเข้ามาเติมในช่วง 7 ปี พื้นที่ชายฝั่งจะหายไป 20 มม. แต่เนื่องจากช่วงศึกษา 3 ปีแรกมีการปลูกป่าเพื่อแก้ไขป้องกัน ทำให้การกัดเซาะช้าลงบ้าง

การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลยังไม่เห็นชัดเจนแต่กิจกรรมของมนุษย์ทำให้นิเวศป่าชายเลนได้รับผลกระทบมากขึ้น เช่นการขัดขวางตะกอน การดูดน้ำใต้ดิน หรือการสร้างโครงสร้างหนักทบบนตะกอนทำให้ชั้นดินยุบตัวลง ทำให้ระดับน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น ทำให้ชายฝั่งถูกกัดเซาะมากยิ่งขึ้นมากกว่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อ.สุธีระ ทองขาว : บทบาทป่าชายเลนและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการป่าชายเลนที่เหมาะสม

 ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนอกจากจะส่งผลให้ป่าชายเลนถูกทำลาย แต่ยังส่งผลกระทบต่อบริการทางนิเวศ เช่น ปริมาณอาหารลดลงส่งผลกระทบต่ความมั่นคงอาหาร เราจึงได้รับผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม อย่างไรก็ตามป่าทั่วโลกลดลงมีปัจจัยจากการกระทำของมนุษย์มากกว่า 

อุณหภูมิโลกสูงขึ้นทำเกิดภาวะโลกร้อนหรือโลกรวน ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจึงกระทบต่อป่าชายเลนถูกน้ำทะเลรุก ทำให้เกิดความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ โดยเฉพาะคลื่นซัดชายฝั่งรุนแรงขึ้น ทำให้ระบบนิเวศน์ป่าชายเลนเสียหาย และที่อันตรายมากคือน้ำทะเลมีความเป็นกรดมากขึ้น ทำให้สิ่งมีชีวิตที่มีโครงสร้างเปลือกบางลงและสุ่มเสี่ยงที่จะหายไปหรือสูญพันธุ์หากการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจกเพิ่มขึ้น

ส่งสำคัญคือทำอย่างไรลดการปลดปล่อยและดูดซับก๊าชเรือนกระจก จึงจำเป็นต้องการเพิ่มพื้นที่ป่า ซึ่งในอนาคตป่าบกจะทำเพิ่มพื้นที่ป่าได้ยากเพราะเกิดความแห้งแล้งเพราะฝนไม่ได้ตกที่ต้นน้ำเนื่องจากสภาพป่าเปลี่ยนแปลงไป ป่าชายเลนจึงเป็นความหวังในการดูดซับก๊าชเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพ แต่ป่าชายเลนจะอุดมสมบูรณ์ได้ต้องมีการจัดการเชิงระบบนิเวศที่บูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ปัจจุบันป่าชายเลนลดลงประกอบกับคุณภาพน้ำเสื่อมลงมีการปนเปื้อนสารเคมีต่างๆที่ส่งผลต่อวงจรซีวิตสัตว์น้ำ รวมถึงการทำประมงที่มากเกินแม้ว่าในอนาคตจะมีป่าชายเลนเพิ่มก็ไม่อาจทำให้สัตว์น้ำเพิ่มปริมาณได้ รวมถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในเขตร้อน และป่าชายเลนลดลง สิ่งมีชีวิตอพยพไปในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกว่าสิ่งที่สำคัญที่ฝากประเด็นไว้คือ การเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน และการร่วมเฝ้าระวังระดับน้ำทะเล เพราะปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชุมชนชายฝั่ง

ดร.กฤษฎา ผู้ดำเนินรายการ ได้ได้มีข้อถามถึงประเด็น ปัจจุบันมีความกระตือรือร้นหลายฝ่ายในการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อซื้อขายเครดิตคาร์บอน โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องการปลูกป่ากันมาก จะส่งผลที่ดีมากขึ้นหรือว่ามีประเด็นที่ควรห่วงใยหรือไม่

อ.สุธีระ : ได้แลกเปลี่ยนว่า การปลูกป่าเป็นสิ่งที่ดี แต่จำเป็นต้องเข้าใจระบบนิเวศน์เดิมของป่าชายเลนด้วย ให้คำนึงถึงความสมดุลของระบบเดิมด้วย หากปลูกป่ามากเกินไปอาจเกิดการทับถมและย่อยสลายของใบไม้จำนวนมากทำให้เกิดก๊าซไฮโดรเจนซัลไซซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต รวมทั้งพื้นดินด้านล่างได้รับแสงแดดไม่เพียงพอไม่เหมาะสมต่อการเติบโตของต้นไม้ และจำเป็นต้องมีการบูรณาความร่วมมือ มีการเก็บข้อมูลติดตามอย่างมีส่วนร่วม เพื่อติดตามการปลูกป่าที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ชุมชนมีแหล่งอาหารใกล้บ้าน

ดร.กฤษฎา ได้ถามเพิ่มเติมว่า : หน่วยงานราชการ เช่น กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่งมีข้อมูลชุดความรู้นี้หรือไม่ หน่วยงานต้องการการหนุนเสริมหรือไม่

อ.สุธีระ : หน่วยงานต้องประสานความร่วมมือชาวบ้าน ในการติดตามเก็บข้อมูล รวมทั้งต้องมีกฏกติกาต่างๆ ที่สามารถเอื้อให้ชุมชนเข้าไปใช้ประโยชน์ป่าชายเลนได้  รวมทั้งมีการศึกษาร่วมกับชุมชนหน่วยงานจะเสริมชุมชนอย่างไร

ช่วงตอบคำถามและข้อเสนอแนะ

คุณบุญยิ่ง สิงห์พันธ์ จากบ้านเปร็ดใน จังหวัดตราด แลกเปลี่ยนว่าบ้านเปร็ดในมีนักวิจัยชุมชนที่ทำการวิจัยร่วมกับนักวิขาการ ดร.ลัดดาวัล จึงมีข้อมูลปริมาณต้นไม้ที่ชัดเจนสามารถคำนวณปริมาณเครดิตคาร์บอนได้ แต่ในเรื่องผลกระทบสัตว์น้ำจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราสังเกตุว่า ปูมีไข่ตั้งแต่มีตัวขนาดเล็ก โดยเฉพาะพี่น้องที่เลี้ยงปูทะเล พบว่าปูไม่โตและมีไข่นอกกระดองก่อนเวลา สำหรับการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน เดิมบ้านเปร็ดในมีระเบียบในการขออนุญาติคณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์เพื่อใช้ประโยชน์ป่าชายเลนได้ แต่มีขัอกฏหมายห้ามชาวบ้านตัดไม้ใช้ และมีปัญหาต้นไม้ก็ตายเองตามธรรมชาติ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงแนะนำให้จดทะเบียนชุมชนชายฝั่งเพื่อให้จัดการป่าชายเลนได้  เรามีเครือข่ายรอบอ่าวตราดที่ทำงานร่วมกัน 24 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีบริบทไม่เหมือนกัน คือ ทำกันตั้งแต่ป่าบกถึงทะเล “จากภูผามหานที”  เราตะหนักเรื่องคาร์บอนมานาน แต่สิ่งที่เรามีคำถามตลอดคือ ใครได้ประโยชน์ และชุมชนจะได้อะไร และผลกระทบของชุมชนอีกประเด็นคือ การเปิดอาเซียน ทำให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาใช้ทรัพยากรแต่ไม่ได้ร่วมดูแลรักษาด้วย

คุณอะเหร็ด พระคง จากเกาะลิบง จังหวัดตรัง แลกเปลี่ยนว่า เดิมทีชาวบ้านมีการตั้งกฏกติกาขึ้นมาในการจัดการป่ากันเอง ทั้งการใช้และอนุรักษ์ป่า โดยทำร่วมกัน 4 หมู่บ้าน มีการทำข้อตกลงกติกาต่างๆ ในการใช้ประโยชน์จากไม้ และทำกิจกรรมร่วมกัน แต่ปัจจุบันไม่สามารถทำไม่ได้เพราะติดข้อกฎหมาย ได้เสนอเรื่องทำป่าชุมชนก็ไม่ผ่าน ทำให้ชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการจัดการป่า ทำให้เกิดปัญหาและป่าไม้ถูกทำลายเพิ่มขึ้น มีการลักลอบตัดไม้ ก็จะทำให้ป่าชายเลนก็ลด แม้เราจะทำงานกับกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง แต่สำหรับการจัดป่าเราไม่สามารถทำได้ เพราะกฏหมายไม่ชัดเจนดังนั้นต้องหาวิธีให้ชาวบ้านเข้าไปช่วยดูแลได้เนื่องจากรัฐไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอ

คุณพิมพาภรณ์ ทองแซม จากจังหวัดนครศรีธรรมราช แลกเปลี่ยนการดูแลทรัพยากรป่าชายเลน เนื่องจากแต่ละพื้นที่ป่าชายเลนมีความหลากหลายไม่เหมือนกัน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องการบูรณาการทำงานร่วมกันและประสานกับชุมชนในการดูแลทรัพยากรป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง และให้ความรู้ชุมชนในเรื่องการดูดซับคาร์บอนเครดิตคาร์บอนเพื่อให้รู้ข้อดีข้อเสีย ประโยชน์การดูแลป่าชายเลนและความรู้ในการดูแลป่าชายเลนได้ถูกต้อง เพื่อให้ส่งต่อความยั่งยืนให้กับลูกหลาน

คุณวรันธรณ์ จากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ถามเรื่องการก่อสร้างที่กีดขวางทางน้ำปรกติ เช่น อ่างเก็บน้ำมีผลอย่างไรต่อการสะสมตะกอนและป่าชายเลน และพื้นที่ชายฝั่งที่ถูกน้ำท่วมซ้ำซากมีตะกอนทับถมจำนวนมากจะส่งกระทบต่อป่าชายเลนอย่างไร ดร.รัตนวัฒน์ ได้ตอบว่า เขื่อนและฝายทำให้ปริมาณตะกอนสะสมลดลง ขณะเดียวกันถ้าไม่มีเขื่อนแต่ป่าถูกทำลายต้นน้ำปริมาณตะกอนก็จะมีมาก ปริมาณตะกอนที่มากหรือน้อยนี้ทำให้เกิดผลต่างกัน ถ้าจะให้ดีแล้ว ปริมาณตะกอนจะต้องน้อยกว่าหรือเท่ากับการทรุดตัวของชายฝั่ง ถ้าตะกอนมาทับถมมากเกินไปก็ทำให้ระบบนิเวศน์เสียสมดุลทำให้สัตว์น้ำตาย ยิ่งเป็นตะกอนที่พัดพามีสารพิษทำให้เกิดมลพิษสะสม จากการวิจัยปากแม่น้ำท่าจีนและแม่กลอง พบโลหะหนักเกินค่ามาตรฐานจึงมีผลกระทบต่อปูแสมในป่าชายเลน

คุณภาคภูมิ วิธารติรวัฒน์ มูลนิธิอันดามัน

ได้แลกเปลี่ยนประเด็นเรื่องการฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ โดยร่วมมือกับชุมชนดูแลคุ้มครองพื้นที่ดูแลรักษาระบบนิเวศน์ แล้วป่าก็จะฟื้นฟูขึ้นมาเองมากกว่าการปลูกใหม่ แต่เน้นการปลูกคน คือ ให้ความรู้ จัดกิจกรรมรณรงค์และฝึกอบรม ควบคุมไม่ให้ตัดไม้ การปลูกไม้เป็นเพียงกิจกรรมเสริม ธรรมชาติจะฟื้นฟูตัวเองเมื่อเราดูแล และมีประเด็นคำถามว่า ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นมีผลต่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจะมีผลอย่างไรต่อป่าชายเลน  อาจารย์สุธีระ เห็นด้วยการปลูกต้นไม้ในใจคนให้ป่าไม้เติบโตฟื้นฟูตัวเอง แต่จำเป็นต้องออกกฏระเบียบท้องถิ่นให้มีผลในทางปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของชุมชนด้วย สำหรับความร่วมมือกับหน่วยงานกับประชาชนมีช่องว่างในความเข้าใจกันจำเป็นต้องเชื่อมประสานกัน  สำหรับภาวะโลกรวนทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณชายฝั่งซ้ำซาก จำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงชุมชนใหม่เพราะมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ว่าการเปลี่ยนแปลงมีความถี่และความรุนแรงระดับใด โดยชุมชนจำเป็นต้องมีการประเมินกันเองเพราะมีความคุ้นเคยกับพื้นที่ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐมีกำลังในการประเมินความเสี่ยงที่เป็นภาพรวมเท่านั้น  ถ้าโลกร้อนขึ้นก๊าชเรือนกระจกมีปริมาณมากขึ้น จำนวนวันฝนตกจะน้อยลงแต่หนักขึ้น ขณะที่ปริมาณฝนรวมเท่าเดิม ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ประกอบกับถ้าเกิดในช่วงน้ำทะเลหนุน ก็ยิ่งทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น บริเวณชายฝั่งและป่าชายเลนก็จะได้รับผลกระทบหากน้ำน้ำท่วมในระดับที่ป่าชายเลนจะปรับตัวได้ก็จะตายลง กว่าจะเกิดป่าชายเลนใหม่ก็ต้องใช้เวลา แต่ถ้าระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นแค่ 1-2 เมตรจะไม่เกิดผลกระทบมากนัก แต่การเกิดใหม่ของป่าชายเลนจากการงอกใหม่ของเมล็ดพันธุ์ไม้อาจจะลดลงหรืออัตราการรอดต่ำทำให้ต้นไม้เกิดใหม่จะไม่มี เหลือแต่ต้นเก่าๆ พื้นที่ป่าชายเลนก็เปลี่ยนแปลงไปและได้รับผลกระทบหนัก และประการสุดท้ายคือความเป็นกรดของน้ำทะเลจากปริมาณก๊าชคาร์บอนสะสมในทะเลมากขึ้นก็จะกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่มีเปลือกเช่น กุ้ง หอย ปู ในลำดับต้น ฝากพี่น้องชุมชนชายฝั่งให้สังเกตจะเห็นว่าสัตว์มีเปลือกเติบโตช้า เนื่องจากการสร้างกระดองจากการลอกคราบได้ยากขึ้น

ประเด็นสุดท้าย ประเทศไทยมีความหลากหลายชีวภาพสูง แต่หากเราประมาทไม่ติดตามการเปลี่ยนแปลงก็อาจประสบกับวิกฤต สิ่งสำคัญคือต้องประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จึงฝากพี่น้องชายฝั่งในการติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะจะกระทบต่อที่อยู่อาศัยของชุมชนชายฝั่ง

รศ.ดร. รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์

มีประเด็นแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมว่า : การอนุรักษ์ป่าชายเลนเป็นสิ่งที่ดี เพราะบ้านเรามีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูง การฟื้นฟูป่าโดยธรรมชาติย่อมดีกว่าการปลูกใหม่ อย่างไรก็ตามหลายพื้นที่ป่าหมดแล้วไม่มีต้นทุนพันธ์พืชเดิมอยู่จำเป็นต้องปลูกขึ้นมาใหม่เพื่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ

การปลูกป่ารู้วิธีปลูกป่าไม่ปลูกชิดมากเกินไป  และตัดสางนำไปใช้ประโยชน์บ้าง เพราะป่าที่ไม่ได้ตัดสางจะแย่งแสงกันฆ่ากันตายเอง และจากการศึกษาพบว่าป่าชายเลนที่มีการตัดสางมีการดูดซับคาร์บอนได้ดีกว่าป่าที่ไม่ได้ตัดสาง หากมีการจัดการใช้ที่เหมาะสมก็รักษาป่าได้  จึงจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือและความเข้าใจระหว่างหน่วยงานรัฐและประชาน สำหรับประเด็นการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล จำเป็นต้องให้ชาวบ้านเก็บข้อมูลระยะยาว

คุณวรันธรณ์

ได้ถามเพิ่มเติม ประเด็นเรื่องป่าชายเลนธรรมชาติจะมีการดูดซับคาร์บอนดีกว่าป่าปลูกเชิงเดี่ยวหรือไม่ ดร.รัตนวัฒน์ได้ให้ความเห็นว่า โดยปรกติป่าธรรมชาติดั้งเดิมมีปริมาณคาร์บอนมากกว่าป่าปลูกอยู่แล้วเพราะมีการสะสมไว้เดิมอยู่แล้ว และมีมวลการดูดซับมาก ป่าเก่าจึงดีกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ต้องปลูกป่าใหม่เลย เพราะสามารถไปปลูกตรงพื้นที่เสื่อมโทรมทดแทนได้ และก่อนที่จะลงมือปลูกให้ศึกษาเรื่องสมดุลองค์ประกอบ สภาพแวดล้อมให้ดีก่อน เพื่อไม่ให้แก้ไขปัญหาอย่างผิดวิธี และให้ธรรมชาติสามารถดูแลรักษากันเองได้

ผู้ดำเนินรายการ ได้ ตั้งคำถามทิ้งท้ายไว้ว่า ปัจจุบันเราเข้าใจระบบนิเวศน์ขนาดไหนเพื่อเข้าไปแก้ปัญหาได้ถูกวิธี และมีการร่วมมือจากทุกภาคส่วนหรือไม่? ส่วนการสัมมนารอบต่อไปจะเกี่ยวข้องกับเครดิตคาร์บอนและเรดพลัสและกล่าวปิดการประชุม


กลุ่มภาคีเครือข่าย :

  • Thai Climate Justice for All
  • มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • มูลนิธิอันดามัน
  • สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Social Share