THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย Global Forest Watch
วันที่ 12 กรกฎาคม 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Pedro Sifuentes Vigay

เมือง Loreto ประเทศเปรู — อาสาสมัครอุทยานจากชุมชน Vista Hermosa นำสมาร์ตโฟนของเธอขึ้นมาดู แผนที่ดาวเทียมบนหน้าจอแสดงสภาพป่าที่เธอกำลังเดินตรวจตราอยู่ จุดสีแดงซึ่งแจ้งเตือนการตัดไม้ทำลายป่าที่ปรากฏขึ้นในเส้นแบ่งเขตชุมชนนั้นชัดเจน เธอและทีมงานของเธอตอบสนองต่อการแจ้งเตือนโดยทันทีโดยการเข้าพื้นที่สำรวจและยืนยันการตัดไม้อย่างผิดกฎหมายเมื่อพบท่อนไม้วางกองอยู่ เธอจึงได้ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานและบันทึกสิ่งที่พบ และเดินทางกลับไปยังชุมชนเพื่อแสดงผลการสำรวจและกำหนดแผนปฏิบัติการขั้นต่อไป


สมาชิกชุมชน Vista Hermosa และชุมชนอื่นๆ อีก 75 ชุมชนที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเปรูได้เข้าร่วมโครงการทดลองสุ่มตรวจป่ากำหนดระยะเวลาสองปีโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins และมหาวิทยาลัยนิวยอร์คซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย Rainforest Foundation US (RFUS), ORPIO และ Global Forest Watch เพื่อทดลองว่าการใช้สมาชิกชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างดีเช่นข้อมูลจากดาวเทียมจะสามารถป้องกันป่าจากการถูกทำลายได้หรือไม่
ผลการวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Proceedings of the National Academies of Sciences พบว่าการใช้เทคโนโลยีช่วยในการตรวจตราป่าโดยชาวบ้านสามารถลดการตัดไม้ทำลายป่าลงได้ถึงร้อยละ 52 ในปีแรกและร้อยละ 21 ในปีที่สอง เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ไม่ใช้ การตัดไม้ทำลายป่าที่ลดลงมากที่สุดเกิดในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการตัดไม้ทำลายป่าสูงสุด ผลการวิจัยดังกล่าวจึงถูกนำไปใช้ในการกำหนดกลยุทธ์การอนุรักษ์ป่าอเมซอนที่ใช้ต้นทุนต่ำแต่ผลตอบแทนสูงในการแก้ปัญหาโลกร้อน

เราป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าไม่ได้ถ้าเราไม่พบการตัดไม้ทำลายป่า

หลักการของการวิจัยนั้นเรียบง่าย การที่สมาชิกชุมชนท้องถิ่นจะป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าในเขตแดนของชตนได้นั้น พวกเขาจะต้องสามารถตรวจพบการกระทำดังกล่าวได้อย่างทันต่อเหตุการณ์เสียก่อน ซึ่งภาพเรียลไทม์จากดาวเทียมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยพวกเขาได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการหมุนรอบโลกของดาวเทียมอย่างสม่ำเสมอทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพป่าในจุดเล็กๆ ได้ ภาพถ่ายเหล่านี้จะถูกนำไปสร้างระบบเตือนภัย GLAD ซึ่งจะได้รับการอัปเดตทุกสัปดาห์บน GFW platform โดยกรมป่าไม้ของเปรู ทว่าเทคโนโลยีนี้ก็มีจุดอ่อนตรงที่การตัดไม้ทำลายป่ามักเกิดในป่าลึกที่ซึ่งไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตหรือโทรศัพท์มือถือ
.
“ข้อมูลจะมีประโยชน์อันใดถ้าอยู่แต่ในมือของนักวิชาการหรือผู้คนในตึกสูงๆ แต่เพียงฝ่ายเดียว?” Tom Bewick ผู้อำนวยการมูลนิธิป่าฝนเขตร้อนของประเทศเปรูตั้งคำถาม “ที่สำคัญคือเราต้องแปลงข้อมูลให้เป็นการทำงานจริงให้ได้”
.
ดังนั้น เพื่อที่จะแปลงข้อมูลให้เป็นการทำงานจริง ทางมูลนิธิจึงแจกสมาร์ตโฟน ระบบเตือนภัย และโดรน พร้อมอบรมวิธีการใช้งานให้แก่สมาชิกชุมชนท้องถิ่น ข้อมูลในสมาร์ตโฟน แผนที่ และ GPS coordinates จะได้รับการอัปเดตเดือนละครั้งโดยใช้แฟลชไดรฟ์ ทำให้อาสาสมัครสามารถใช้งานได้ในพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตหรือโทรศัพท์มือถือในขณะเดินทางสำรวจการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ห่างไกล

หน้าที่ของอาสาสมัครจากแต่ละชุมชน

นักวิจัยของ ORPIO ได้กำหนดให้ชุมชนจำนวน 76 ชุมชนเข้าร่วมโครงการดังกล่าวโดย 39 ชุมชนรับผิดชอบในการหาอาสาสมัครที่จะเดินสำรวจป่า ซึ่งแต่ละชุมชนจึงคัดเลือกสมาชิก 3 คนขึ้นมาทำหน้าที่ โดยอาสาสมัครที่ทำหน้าที่สำรวจป่าจะได้รับเบี้ยเลี้ยงคนละ $8 ต่อวันต่อคน ในขณะที่อีก 37 ชุมชนที่เหลือคอยควบคุมจากศูนย์
.
เมื่อสัญญาณแจ้งเตือนได้รับการยืนยัน อาสาสมัครจะทำการบันทึกเหตุและนำหลักฐานกลับมายังชุมชนเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับขึ้นตอนปฏิบัติต่อไปร่วมกัน ซึ่งกรณีส่วนมากนั้นเป็นการรุกรานป่าโดยบุคคลภายนอกเข้ามาตัดไม้หรือถางที่ทำไร่ ในบางครั้งสมาชิกชุมชนจะเข้าห้ามปรามด้วยตนเองและสามารถหยุดการรุกที่ป่าได้ ส่วนในบางกรณีก็จะรวบรวมหลักฐานส่งให้กับหน่วยงานของรัฐให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าปราบปราม ไม่ว่าแนวทางการตัดสินใจจะเป็นเช่นไร ระบบการเฝ้าระวังเช่นนี้ขจัดปัญหาความล่าช้าของการตอบสนองต่อการรุกที่ป่าได้เป็นอย่างดี จากการเปรียบเทียบระหว่าง 36 ชุมชนที่ทำหน้าที่ตรวจตราและ 37 ชุมชนที่ทำหน้าที่ควบคุมจากส่วนกลางพบว่ากิจกรรมการตรวจตรากระจุกตัวหนาแน่นในบริเวณที่อาสาสมัครมีเครื่องมือสนับสนุนพร้อม และความถี่ในการสำรวจและพบการรุกที่ป่าเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าในช่วงปีแรกของโครงการ

วิธีการนี้สามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นได้


ผลการวิจัยพบว่าโครงการนี้ทำให้ชุมชนท้องถิ่นมีความสามารถในการปกป้องเขตแดนของตนเองได้ดีขึ้น และการตัดไม้ทำลายป่าลดลง ซึ่งโมเดลนี้สามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ของป่าอเมซอนได้เป็นอย่างดี การวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการนำวิธีนี้ไปใช้สามารถรักษาป่าได้ถึง 134,000 เฮกตาร์จากทั้งหมด 500,000 เฮกตาร์ในเปรูและ 300,000 เฮกตาร์จาก 2.2 ล้านเฮกตารในบราซิล


วิธีการนี้ทั้งคุ้มทุนและได้ผล เป็นวิธีการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับอนาคตไม่แต่เพียงประเทศเปรูเท่านั้น แต่สำหรับทั่วโลกด้วย” Bewick กล่าว

(จบ)


อ้างอิง : https://www.globalforestwatch.org/blog/people/indigenous-forest-monitors-reduce-deforestation/?utm_source=twitter&utm_medium=globalforests&utm_campaign=socialmedia&utm_term=e7ebdcac-2cae-4149-be82-ebf7f7a9b199&fbclid=IwAR2swKMEL3E6ugm9f4U6GEzWNUOdXRSG0rsvwN71dI6YQwow2NPemAgBTX8


Social Share