THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Mima Holt, Yamide Dagnet และ Nate Warszawski
วันที่ 22 กันยายน 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย UNDP

โลกกำลังมาถึงทางแยกที่สำคัญของการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน

ในช่วงเวลาที่การระบาดของไวรัสโควิด 19 กำลังดำเนินต่อไปไม่หยุด ภัยธรรมชาติในระดับความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนก็โจมตีภูมิภาคต่างๆ ของโลกอย่างต่อเนื่อง ในรายงานการประชุม Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ครั้งล่าสุดได้กล่าวถึงแนวทางที่แคบมากในการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเพื่อป้องกันมิให้เกิดหายนะที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประเทศกำลังพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยง

หกปีผ่านมาหลังจากที่ข้อตกลงปารีส ประเทศกำลังพัฒนาที่เปราะบางต่อภาวะโลกร้อนเหล่านี้ประสบปัญหาในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด เมื่อข้อเรียกร้องของตนไม่ได้รับการตอบสนองจากประเทศพัฒนาแล้วอย่างเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ยังห่างไกลหรือการสนับสนุนด้านทุนที่ไม่เกิดขึ้น และในขณะที่นานาชาติรายงานผลการดำเนินงานในเวทีการประชุม COP26 โลกก็ยังอยู่ห่างไกลจากเป้าหมาย 1.5 องศา

ปัจจัยสำคัญ 5 ประการที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องการจากการประชุม COP26

1. ทุกประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ปล่อยก๊าซเป็นปริมาณสูงจะต้องรับเป้าหมายลดก๊าซลงในระดับที่สำคัญภายในปี 2030 เพื่อบรรลุเป้าหมาย 1.5 องศาให้ได้

เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย 1.5 องศา นานาชาติจะต้องลดการปล่อยก๊าซลงร้อยละ 45% ภายในปี 2030 และ net zero ภายในปี 2050 การลดก๊าซไปในทิศทางเดียวกันโดยทุกประเทศคือเป้าหมายหลักของข้อตกลงปารีส อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ล่าสุดโดย UNFCCC พบว่าแผนการรับมือภาวะโลกร้อนของ 113 ประเทศ (ที่รู้จักกันในชื่อ Nationally Determined Contribution หรือ NDC) ที่เสนอเข้ามาในวันที่ 31 กรกฎาคม 2021 นั้นตั้งเป้าลดก๊าซไว้เพียงร้อยละ 12 ภายในปี 2030

การดำเนินการลดการปล่อยก๊าซลงร้อยละ 50 ภายในปี 2030 เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรับประกันอนาคตที่มั่นคงและปลอดภัย ความรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซแทบทั้งหมดนั้นอยู่ในมือของประเทศ G20 เนื่องจากปล่อยก๊าซเป็นปริมาณถึงร้อยละ 75 ของปริมาณทั้งหมด ตามรายงานของ World Resources Institute and Climate Analytics ความพยายามในปัจจุบันของประเทศ G20 ที่จะลดก๊าซจะทำให้อุณหภูมิโลกอยู่ที่ 2.1 องศาภายในปี 2030 แต่ถ้าประเทศ G20 ยึดเป้าหมาย 1.5 องศาภายในปี 2030 และ net zero ภายในปี 2050 อุณหภูมิโลกจะอยู่ที่ 1.7 องศา ทำให้เป้าหมาย 1.5 องศานั้นมีความเป็นไปได้มากกว่า คำมั่นสัญญาของประเทศอย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่ประกาศในการประชุมสหประชาชาติว่าจะหยุดดำเนินการโรงงานถ่านหินทั้งหมดที่ตั้งอยู่นอกประเทศนั้นเป็นสิ่งที่ประชาคมโลกต้องการ ทว่าการดำเนินการภายในประเทศและคำมั่นสัญญาเดียวกันจากประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม G20 นั้นยังเป็นที่คาดหวังอยู่มาก

นาย Mark Bynoe แห่ง Caribbean Community Climate Change Centre กล่าวว่า “เราไม่สามารถหลบเลี่ยงวิกฤตินี้ได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องใช้มาตรการทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไปเกินกว่า 1.5 องศา”

ในการประชุม COP26 ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเป็นปริมาณสูงควรมีแผนการในการลดกาปล่อยก๊าซอย่างเร่งด่วน กล่าวคือภายในปี 2025 เป็นอย่างช้า ถ้าแผนการดังกล่าวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 1.5 องศาตามข้อตกลงการประชุม COP26 ที่ประชุมi COP26 ก็ควรเร่งให้ประเทศต่างๆ ปรับแผน NDC ของตนภายในปี 2023 เนื่องจากวิกฤติที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า การแก้ไขแผนจะต้องกระทำโดยเร่งด่วนให้ทันต่อเหตุการณ์

2. ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องเพิ่มทุนต่อสู้ภาวะโลกร้อนที่สามารถเข้าถึงได้

ประเทศที่ร่ำรวยยังอยู่ห่างเป้าหมายมากในเรื่องของการกระทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้แก่ประเทศกำลังพัฒนาเมื่อสิบปีที่แล้วที่จะสนับสนุนทุนในการดำเนินการลดก๊าซ รายงานฉบับล่าสุดของ Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) ประมาณการว่าประเทศพัฒนาแล้วลงทุนจำนวน 79.6 พันล้านดอลล่าร์เพื่อลดภาวะโลกร้อนในปี 2019 ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2% จากปี 2018 ทำให้คำสัญญาของประเทศพัฒนาแล้วที่จะลงทุน 100 แสนล้านดอลล่าร์ภายในปี 2020 นั้นไม่น่าจะเป็นไปได้

ประเทศที่ร่ำรวยจะต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาด้านการลงทุนในการประชุม COP26 ในขณะที่ EU เยอรมนี และเดนมาร์คได้รับปากที่จะเพิ่มการลงทุนด้านการต้อสู้กับภาวะโลกร้อนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้ให้คำสัญญาที่จะเพิ่มเงินลงทุนเป็นสี่เท่าจากค่าเฉลี่ยในปี 2013-2016 ภายในปี 2024 (เท่ากับ 11.4 พันล้านดอลล่าร์ต่อปี) ในการประชุมสหประชาชาติครั้งที่ 76 ทว่าคำสัญญาเหล่านี้ไม่น่าจะแก้ปัญหาได้อย่างทันเหตุการณ์ และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆก็ควรจะเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันนี้

นางสาว Maria Laura Rojas Vallejo ผู้อำนวยการของ Transforma แห่งประเทศโคลัมเบียได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “เงินทุนเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการรักษาระดับอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศา และยังรักษาความเชื่อมั่นระหว่างประเทศในการร่วมมือกันแก้ปัญหาโลกร้อน”

ประเทศกำลังพัฒนายังเข้าถึงแหล่งทุนได้ยาก เมื่อการช่วยเหลือทางการเงินมาในรูปแบบของการกู้ยืมและเงินที่ไม่ได้ให้เปล่า แม้ในขณะนี้ประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนและเปราะบางก็พึ่งพาแหล่งทุนในการสร้างภูมิต้านทานต่อภาวะโลกร้อนเป็นอย่างสูง การไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ทำให้สถานการณ์ลำบากขึ้นไปอีกสำหรับชุมชนที่มีภาระหนี้สินมากอยู่แล้วจากความพยายามฟื้นตัวจากการระบาดของไวรัสโควิด ทำให้วาระการประชุมด้านการช่วยเหลือทางการเงินใน COP26 มีความสำคัญมาก

ในการประชุม UN Climate Summit ในเดือนพฤศจิกายน ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องเพิ่มการลงทุนให้แก่ประเทศเปราะบางเป็นจำนวน 5 แสนล้านดอลล่าร์เป็นอย่างต่ำภายในปี 2020-2024 และที่ประชุม COP26 จะต้องรับรองเงินจำนวนดังกล่าวว่าเป็นจำนวนที่จำเป็นในการดำเนินการของนานาชาติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหม่ของข้อตกลงปารีส ซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2025

(อ่านต่อวันอังคาร)


อ้างอิง : https://www.wri.org/insights/what-vulnerable-countries-need-cop26-climate-summit?utm_source=facebook&utm_medium=world+resources+institute&utm_term=e5ee2f4d-a14b-4aca-a1bc-c58b067d4456&utm_content=social&utm_campaign=cop26


Social Share