THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

ผมไม่เห็นด้วยกับคาร์บอนเครดิตเพื่อเป้าหมาย net zero ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในเรื่องป่าไม้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต หรือผ่านโครงการ REDD+ เพราะ มันคือ การฟอกเขียว บิดเบือนเป้าหมาย เจตนารมณ์ในการที่ภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกหันมาทางลัดง่ายๆ ด้วยการลงทุนคาร์บอนภาคป่าไม้ เพราะ

1) มันนำมาใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่ลดปล่อยก๊าซฯ อย่างที่ควรจะเป็น (เข้าใจดีครับว่า ภาครัฐและทุนไม่สามารถเอาแต่ซื้อคาร์บอนเพื่อมาลดสุทธิกับการปล่อยทั้งหมดได้ เพราะปริมาณการปล่อยมันมหาศาลเกิน แต่ก็จะใช้เป็นทางออกง่ายที่จะไม่ลดการปล่อยอย่างสุดความสามารถ)

2) มันไม่เป็นธรรมต่อโลกและสังคมส่วนอื่นๆ ที่ต้องได้รับผลกระทบจากการทำลายธรรมชาติ เดือดร้อนจากโลกร้อน เพราะการทำลายธรรมชาติและชุมชนในที่หนึ่ง แล้วไปชดเชยอีกที่หนึ่งด้วยการปลูกป่า ฟื้นฟูป่า ให้เงินชุมชนดูแลป่า มันชดเชยกันได้หรือ!

3.การฟื้นฟูป่า สนับสนุนชุมชนฟื้นฟูป่า เป็นสิทธิที่ชุมชนควรได้รับ และเป็นหน้าที่ของรัฐและทุน (ที่มีบทบาททำลายทรัพยากรและชุมชนมานานอยู่แล้ว เหมือนที่ประเทศพัฒนาแล้วถุกเรียกร้องให้สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการปรับตัวโลกร้อนในฐานะที่เป็นสิทธิ) กองทุนทุกประเภทที่มีอยู่ทั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม กองทุน GCF และอื่นๆ ควรต้องสนับสนุน หรือภาคเอกชนก็เข้ามามีบทบาทสนับสนุนชุมชนได้โดยตรง โดยไม่ต้องเอาผลประโยชน์ไปค้ากำไรต่อ

4. กำไรที่ลงทุนจากคาร์บอนเครดิตมันเหมือนเงินหรือหุ้นที่ถูกปั่นผลประโยชน์ การแบ่งผลประโยชน์ที่เป็นธรรมต่อนิเวศ ต่อชุมชน จะแบ่งอย่างไร เมื่อเราไม่รู้ว่าห่วงโซ่ผลประโยชน์ไปได้ถึงไหน มีแนวโน้มว่าชาวบ้านได้แต่เงินค่าจ้างปลูกป่า ได้คาร์บอนเครดิตราคาถูก


5.หากจะป้องกันพวกธุรกิจสีเทาที่จะมาซื้อ ลงทุนคาร์บอน เรากันได้หรือ เพราะจะมีบริษัท รวมทั้งประชาสังคมนายหน้าเข้ามาเจรจาซื้อขาย โดยชุมชน และสังคมไม่รู้เลยว่า ขายต่อไปให้ใคร

6.ทั้งหมดอยู่บนผลประโยชน์แอบแฝงของตัวกลางทั้งหลาย ที่ทำให้สังคมเห็นว่า ลำพังชุมชนไม่มีปัญญารักษาป่า หากไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากคาร์บอนเครดิต! และเอาเข้าจริงแล้วบรรดาตัวกลางทั้งหลายนี่แหล่ะที่จะคอยรับประโยชน์เหล่านี้ อาจไม่ได้แบ่งเครดิต แต่ได้เป็นที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ เกิดอาชีพนักตรวจสอบคาร์บอนเครดิต ซึ่งขณะนี้ TGO ก็ฝึกอบรม สร้างผู้ตรวจสอบอยู่

7.การให้ชุมชนเข้าโครงการปลูกป่าคาร์บอนเครดิต ก็มีลักษณะคล้ายเกษตรพันธะสัญญา (contract farming) นี่เอง ซึ่งนอกจากทำสัญญาแบ่งปันผลประโยชน์ไม่เป็นธรรม แต่ยังมีผลไปถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ป่าไม้ที่ดินของชุมชน ป่าที่ถูกเข้าโครงการคาร์บอนเครดิตจะเน้นปลูกไม้ที่ดูดซับคาร์บอนได้สูง เป็นสวนป่า ละเลยความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงอาหาร และที่สำคัญต้องไปลดที่ทำกินของชุมชนมาปลูกป่า ป่าที่ปลูกก็ห้ามใช้อย่างน้อย 10 ปีตามหลักประกันเบื้องต้นคาร์บอนเครดิต

8.อย่าลืมว่าชุมชนในป่าถูกควบคุมกำกับโดยหน่วยงานป่าไม้ของรัฐ ซึ่งไม่สนใจสิทธิชุมชนอยู่แล้ว เพราะชาวบ้านถูกมองว่าอยู่อย่างผิดกฎหมาย เพียงแต่รัฐกำหนดหน้าที่อย่างเข้มงวดแลกกับสิทธิดำรงชีพแบบมีเงื่อนไขชัวคราวให้ ยิ่งรัฐต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าดูดคาร์บอน 11 ล้านไร่ ภายในปี 2580 จะเอาที่จากไหน ที่ง่ายที่สุดคือไปบีบเอาที่จากชุมชน

ดังนั้น ผมจึงไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของภาคส่วนต่างๆ ที่กำลังตื่นเต้นกับคาร์บอนเครดิต ไม่ว่าจะเป็น TGO ภาคเอกชนที่เตรียมลงทุนคาร์บอนเครดิตเต็มที่ โครงการ REDD+ที่สนับสนุนโดยธนาคารโลก ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยมีกรมอุทยานฯ เป็นตัวหลัก และภาคสังคมทั้งหลายที่กำลังพยายามโน้มน้าวชุมชนให้เข้าสู่โครงการคาร์บอนเครดิต โดยไม่บอกปัญหาที่จะตามมาทั้งระบบอย่างรอบด้าน เพราะภาครัฐและทุนไทยและทั่วโลกกำลังถูกบีบให้ลดการปล่อยก๊าซ โดยเฉพาะภาคพลังงานที่มีผลประโยชน์ผุูกขาดของกลุ่มผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองสูง เลยเกิดความต้องการหาทางลัดด้วยการมาปลูกป่าเต็มไปหมด จึงเกิดความต้องการพื้นที่เพื่อปลูกป่ามหาศาล

การปลูกป่าเป็นเรื่องดี แต่มันจะดีมากที่ไม่ใช่วิธีแก้บาปด้วยการทำบาปต่อไปแต่เอาบุญมาชดเชย (เอาเข้าจริงแล้ว การปล่อยก๊าซนั้นพิสูจน์ได้ แต่การดูดกลับด้วยป่าไม้ ยังมีข้อถกเถียงทางวิชาการอยู่มากว่าทำได้อย่างที่คำนวณหรือ)

เราควรทำให้สังคมเห็นโครงสร้างใหญ่ที่สร้างปัญหาก๊าซเรือนกระจกไม่ว่าจะเป็นภาคพลังงาน ภาคธุรกิจการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และเรียกร้องให้ปรับลดโดยด่วนจะมีเงื่อนไขกดดันหรือสนับสนุนอย่างไรก็ตาม แต่ไม่ใช่ด้วยการใช้กลไกตลาดคาร์บอนมาบิดเบือนการลดปล่อยก๊าซอย่างที่ควรจะเป็น และที่สำคัญ ไม่ควรเอาชุมชนในพื้นที่ป่า ที่เขาถูกกดทับ ถูกทอดทิ้งมาเป็นเวลานาน มาเป็นหมากเบี้ยของการรับรองโครงการฟอกเขียว โครงสร้างอันอยุติธรรมของสภาวะโลกร้อนและสังคม ด้วยการชวนเชื่อว่า “ชุมชนจะได้รับเงินแล้ว จากคาร์บอนเครดิต” ทั้งที่ชุมชนมีสิทธิจะได้รับการคุ้มครอง ส่งเสริม อย่างไม่มีเงื่อนไขที่เอาเปรียบเขาอยู่แล้ว

กฤษฎา บุญชัย
ผู้ประสานงาน TCJA


Social Share