THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Mima Holt, Yamide Dagnet และ Nate Warszawski
วันที่ 22 กันยายน 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย UNDP

3. ทุนในการสนับสนุนการปรับตัวและตรวจติดตาม/ประเมินผล

การบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมักได้รับความสำคัญในการเจรจาและการลงทุนส่วนมาก แต่การสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาปรับตัวได้ก็มีความสำคัญเท่าๆกัน เนื่องจากตกเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วได้ทำไว้ ได้แก่ภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม และอื่นๆที่เกิดจากการปล่อยก๊าซตั้งแต่เริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา
ปัจจุบันเงินทุนในการสนับสนุนการปรับตัวคิดเป็นเพียงร้อยละ 25 ของงบประมาณแก้ปัญหาโลกร้อนทั้งหมดของประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นในการประชุม COP26 จะต้องเร่งให้ประเทศอุตสาหกรรมเหล่านี้เพิ่มเงินลงทุนในลักษณะให้เปล่าแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อช่วยในการปรับตัว

“เราต้องถือว่าการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนเป็นวาระสำคัญและเร่งด่วนพอๆกับการระบาดของไวรัสโควิด 19,”

นาย Chukwumerije Okereke ผู้อำนวยการของ Center for Climate Change and Development แห่งประเทศไนจีเรียกล่าว


ประเทศอย่างสหราชอาณาจักร เดนมาร์ค เนเธอร์แลนด์ และสวีเดนได้ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มงบสนับสนุนการปรับตัวอีกร้อยละ 50 ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆควรก้าวตาม นอกจากนี้ นานาชาติควรเร่งการพัฒนาด้าน Global Goal on Adaptation (GGA) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในข่อตกลงปารีสที่จะเพิ่มความสามารถในการปรับตัว เพิ่มภูมิคุ้มกัน และลดความเปราะบางต่อภาวะโลกร้อนของประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากในปัจจุบัน GGA ยังขาดแนวทางที่ชัดเจนในการตรวจติดตามและวัดผลการเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อน ทำให้ไม่สามารถประเมินความช่วยเหลือที่ต้องการได้ นานาชาติจะต้องเรียกร้องให้เกิดแนวปฏิบัติด้าน IPCC เพื่อการวัดความก้าวหน้าในการปรับตัว เช่นเดียวกับที่มีแนวปฏิบัติในการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศพัฒนาแล้ว และนำผลการวัดที่ได้ไปประกอบรายงานการประเมินผลครั้งที่ 7 ที่กำลังจะครบรอบการรายงาน

4. ร่วมมือกันรับมือความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติอย่างจริงจัง

ข้อมูลจากรายงาน IPCC นั้นเป็นที่ชัดเจนว่าทุกภูมิภาคของโลกกำลังได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน บางพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจนต้องอพยพออก ทำให้ผู้คนสูญเสียที่ดินทำกิน ส่วนภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วม คลื่นความร้อน และพายุก็เป็นภัยที่เราไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์ได้ ดังที่นาย Saleemul Huq ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ International Centre for Climate Change ได้กล่าวไว้ว่า

สิ่งที่เรากระทำหรือละเว้นไม่กระทำจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชีวิตความเป็นอยู่ของลูกหลานของเรา เราเป็น Generation เดียวที่สามารถชี้เป็นชี้ตายแก่อนาคตของโลกใบนี้ได้”

ประเทศที่ร่ำรวยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากจะต้องเสนอแผนเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติในการประชุม COP26 โดยจะต้องยกขึ้นเป็นวาระถาวรในการเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในที่ประชุมสหประชาชาติ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาได้เสนอข้อเรียกร้องและทำให้เกิดการอภิปรายที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ นานาชาติยังต้องกำหนดกลไกการปฏิบัติการสำหรับ Santiago Network on Loss and Damage (SNLD) .ในการประชุม COP26 ณ กรุงมาดริด ซึ่งเดิมเวทีนี้มีเป้าหมายที่จะให้การสนับสนุนทางเทคนิคแก่ประเทศกลุ่มเปราะบางในการฟื้นฟูความเสียหาย แต่ในปัจจุบันมีความคืบหน้าไปเพียงการสร้างเว็บไซต์เท่านั้น และนานาชาติควรต้องหาแหล่งทุนเพื่อการฟื้นฟูที่ประเทศที่ประสบความสูญเสียสามารถเข้าถึงได้ นอกเหนือไปจากทุนเพื่อลดผลกระทบและการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน

5. เพิ่มความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ประกอบข้อตกลงปารีส

ถึงแม้ว่าประเทศต่างๆได้ลงนามในข้อตกลงปารีสเมื่อ 6 ปีที่แล้ว แต่ร่างแนวทางสำหรับปฏิบัติตามข้อตกลงยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้นกฎเกณฑ์เหล่านี้จะต้องสรุปเพื่อให้สมาชิกนำไปใช้ในการประชุม COP26
.
“เหตุผลที่สำคัญที่สุดในการใช้กฎเกณฑ์เหล่านี้ได้แก่การกำหนดความรับผิดชอบ” นาย Tony La Vina นักเจรจาต่อรองด้านสิ่งแวดล้อมและผู้อำนวยการ Manila Observatory แห่งประเทศฟิลิปปินส์ระบุ

“ทุกประเทศต้องรับผิดชอบในคำสัญญาที่ให้ไว้ ถ้าเราปล่อยให้แต่ละประเทศทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำ และอ้างในสิ่งที่อยากจะอ้าง เราจะไม่มีวันบรรลุเป้าหมายได้เลย และข้อตกลงปารีสก็จะเป็นสิ่งที่ไร้ค่า”

กฎเกณฑ์ที่ควรได้รับการอนุมัติในการประชุม COP26 ได้แก่:

แนวทางฉบับสมบูรณ์สำหรับกรอบการดำเนินการอย่างโปร่งใส ได้แก่ระบบการรายงานกิจกรรมการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและการให้ความสนับสนุนในข้อตกลงปารีส แนวทางดังกล่าวจะต้องมีความยืดหยุ่น สร้างความที่ยงตรงและสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงภาระที่ไม่จำเป็นต่อปะเทศกำลังพัฒนา

แนวทางสนับสนุนด้าน Global Stocktake หรือกลไกที่ใช้ประเมินความก้าวหน้าในการบรรลุข้อตกลงปารีส ซึ่งรอบการประเมินแรกจะสิ้นสุดลงในปี 2023 แนวทางนี้ควรสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

กรอบการดำเนินงานห้าปีสำหรับ NDC ของแต่ละประเทศ การมีเส้นตายสำหรับเป้าหมาย NDC ระยะสั้นจะกระตุ้นให้นานาชาติเร่งให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมศาสตร์ และปรับตัวทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี การกำหนดเส้นตายทุกห้าปีเพื่อการอัปปเดตข้อมูลแทนที่จะเป็นสิบปีนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกเกิดความกระตือรือร้นที่จะสร้างความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส

มาตรา 6 ซึ่งเกี่ยวกับกฎเกณฑ์สำหรับตลาดคาร์บอน ควรได้รับการสรุปและบังคับใช้ ในแนวทางที่จะไม่ทำให้นานาชาติละเลยความพยายามลดก๊าซอย่างจริงจังและทำให้เกิดการลงทุนเพื่อสนับสนุนการปรับตัว อย่างไรก็ตาม หากประเทศสมาชิกไม่สามารถตกลงเงื่อนไขกันได้ ก็ควรดำเนินการเจรจาเพื่อหาจุดร่วมกันต่อไปแทนที่จะพยายามนำเอากฎเกณฑ์ที่ไม่ได้รับการยอมรับออกมาบังคับใช้

COP26 คือโอกาสที่เราจะสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับทุกคน

ทุกๆ ประเทศทั้งพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนามีผลประโยชน์ร่วมกันในการดำเนินการเกี่ยวกับการบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่จะทำให้เศรษฐกิจและสังคมโลกมีความมั่นคง ดังนั้นนานาชาติจะต้องดำเนินการอย่างเร่งดด่วนใน COP26

“ผลการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์นั้นชัดเจน” นาย Mohamed Adow ผู้อำนวยการสภาบัน Power Shift Africa ในประเทศเคนยากล่าว “นักการเมืองไม่สามารถผลักปัญหาไปให้คนอื่นได้อีกต่อไป พวกเขาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และกลาสโกวคือเวทีที่เปิดโอกาสให้พวกเขาทำ”

หากการประชุม COP26 และเวทีเตรียมการไม่มีผลลัพธ์ที่ชัดเจนอีก อนาคตของประเทศและชุมชนกลุ่มเปราะบางจะมีความเสี่ยงที่สูงมาก ซึ่งการป้องกันสามารถทำได้โดยความร่วมมือ ความกล้าหาญ และความมุ่งมั่น
(จบ)


อ้างอิง : https://www.wri.org/insights/what-vulnerable-countries-need-cop26-climate-summit?utm_source=facebook&utm_medium=world%20resources%20institute&utm_term=e5ee2f4d-a14b-4aca-a1bc-c58b067d4456&utm_content=social&utm_campaign=cop26&fbclid=IwAR1pbVsp8gveh8pz8ldC1SWOrsd8VlUUjmJ_b8-zOE5Fafd30-PgDpWWUqo


Social Share