THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย Forest Peoples Programme
วันที่ ปีค.ศ. 2020
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Giacomo Pirozzi

เป้าหมายที่ 11: ฟื้นฟูและขยายพื้นที่อนุรักษ์

ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนช่วยในการดูแลและขยายพื้นที่อนุรักษ์เป็นอย่างมากในรูปแบบของ ICCA หรือพื้นที่อนุรักษ์โดยกลุ่มชาติพันธุ์ โดยวิธีการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมและสร้างสรรค์และต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม โลกได้พลาดโอกาสในการใช้วิธีของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์ในวงกว้าง ในทางที่ถูกต้องแล้ว รัฐควรให้การสนับสนุนและร่วมมือกับชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยการรับรองสิทธิในการจัดการที่ดิน ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีการที่หน่วยงานของรัฐใช้อยู่

เป้าหมายที่ 12: ลดความเสี่ยงของการสูญพันธุ์

สิ่งมีชีวิตที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์หลายสายพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น ผู้ซึ่งมองว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เป็นเหมือนเครือญาติและผู้ที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของตน ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นช่วยอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ในหลายๆ สถานการณ์ รวมไปถึงการรักษาถิ่นที่อยู่ การจัดการโดยวิถีธรรมชาติ การจัดตั้งระบบตรวจตราและเฝ้าระวัง และการแบ่งปันภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับระบบนิเวศน์ ความสัมพันธ์แบบสองทางที่ได้ประโยชน์ร่วมกันเช่นนี้มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์เป็นอย่างมาก

เป้าหมายที่ 13: รักษาความหลากหลายทางพันธุกรรม

ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นดูแลรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมในการทำไร่นาและปศุสัตว์ของตน ซึ่งคิดเป็นส่วนสำคัญของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร สุขภาวะ และความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การเกษตรแบบอุตสาหกรรมยังคงรุกรานการเกษตรท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและทำลายความหลากหลายทางพันธุกรรมและความมั่นคงทางอาหารในระดับสากลในที่สุด

เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ D

จัดสรรให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพและบริการทางระบบนิเวศน์

ใจความสำคัญ

สำหรับชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นแล้ว ระบบนิเวศน์ที่ให้ “บริการทางระบบนิเวศน์” ได้แก่ที่ดิน แหล่งน้ำ และทรัพยากรในเขตแดนของตน ซึ่งตอบสนองความต้องการทางกายภาพและจิตวิญญาณของผู้อาศัย ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติที่นำทางโดยวิถีชีวิตดั้งเดิมของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น ทำให้ที่ดินของพวกตนมีบทบาทที่สำคัญมากต่อสังคมโลกในการดูดซับคาร์บอน สร้างภูมิคุ้มกันทางระบบนิเวศน์ และการบรรเทาและปรับตัวต่อผลกระทบจากภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตาม ภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ที่ดินเหล่านี้กำลังถูกรุกรานเพื่อนำมา “พัฒนา” โดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นโบราณเป็นความรู้ที่ทรงคุณค่าสำหรับการฟื้นฟูระบบนิเวศน์และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ธรรมชาติ ทว่าความรู้เหล่านี้มักถูกมองข้ามในเวทีการประชุมระดับชาติและนานาชาติต่างๆ ดังนั้นการดำเนินการในระดับชาติของ Nagoya Protocol on Access to Genetic Resources and the Fair and Equitable Sharing of Benefits Arising from their Utilization ควรหันมาให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการวางแนวทางการจัดการที่ดิน แหล่งน้ำ และทรัพยากรทางพันธุกรรมและชีวภาพ

ข้อเสนอแนะ :

  • รัฐบาลจะต้องรับรองสิทธิเหนือที่เขตแดน แหล่งน้ำ ทรัพยากร และวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงพืชและสัตว์พันธุ์ที่สำคัญและถิ่นที่อยู่ และให้ความช่วยเหลือในด้านสุขภาวะ ความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิง คนยากจน และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ
  • รัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุนด้านทุนแก่ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นเพื่อนำไปใช้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศน์โดยใช้วิธีการที่ได้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นโบราณ
  • รัฐบาลจะต้องพัฒนากรอบดำเนินการที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายและให้ผลตอบแทนแก่ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่อนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศน์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

เป้าหมายที่ 14: บริการจากระบบนิเวศน์

บทบาทของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการรักษาบริการจากระบบนิเวศน์นั้นรวมถึงการปกป้องเขตแดนของตนจากการรุกรานสิ่งแวดล้อมจากภายนอก และฟื้นฟูระบบนิเวศน์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งผู้หญิงมีส่วนสำคัญในการดังกล่าว ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นประสบความสำเร็จในการปกป้องที่ดินและระบบนิเวศน์จากกิจกรรมการขุดเจาะน้ำมัน ทำเหมืองแร่ สร้างถนน ตัดไม้ ปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว และขุดเจาะน้ำบาดาล และยังได้ปกป้องแหล่งน้ำ สัตว์ป่า ฟื้นฟูป่า และเฝ้าระวังป้องกัน ผู้หญิงในหลายชุมชนมีหน้าที่ในการรักษาบริการจากระบบนิเวศน์โดยการปลูกป่าทดแทน

เป้าหมายที่ 15: ฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ระบบนิเวศน์

ที่ดินของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นมักมีการถูกตัดทำลายน้อยกว่าและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นปริมาณที่น้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ และยังสามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้ระบบนิเวศน์มีความเข้มแข็งมาก ส่วนหนึ่งมาจากระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติแบบดั้งเดิมโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่นการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและการจัดการไฟป่า ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในหลายภูมิภาคของโลกมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูระบบนิเวศน์โดยการปลูกป่า ขุดลอกแหล่งน้ำ ปรับปรุงระบบทำลายขยะ และฟื้นฟูป่าและแหล่งน้ำที่เสื่อมโทรมแล้วให้กลับคืนสภาพเดิม

เป้าหมายที่ 16: บังคับใช้ Nagoya Protocol

ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นใช้กระบวนการของชุมชนเพื่อนำเอากฎหมายสมัยใหม่มาปรับใช้ให้เข้ากับธรรมเนียมปฏิบัติเดิมของตน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศน์โดยถ้วนหน้ากัน กระบวนการของชุมชนดังกล่าวเป็นการมองภาพรวมและมุ่งเน้นไปที่ลำดับความสำคัญและความต้องการของสมาชิกชุมชนในแต่ละพื้นที่และบริบท การนำเอาแนวทางสมัยใหม่มาปรับใช้ในการกระจายผลประโยชน์ และปรับวิถีธรรมเนียมดั้งเดิมให้สอดคล้องกับกฎหมายบ้านเมืองนี้จะทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน และชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น

(อ่านต่อวันอังคารหน้า)


อ้างอิง https://lbo2.localbiodiversityoutlooks.net/transitions-towards-living-in-harmony-with-nature/


Social Share