THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ
สภาลมหายใจเชียงใหม่

ฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาไหม้ มิใช่แค่การเผาไหม้ชีวมวลที่ดาวเทียมจับจุดhot spotได้เท่านั้น แต่หมายถึงการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงจากรถยนต์ เครื่องจักร โรงงานต่างๆ และการเผาไหม้ชีวมวล จากวัสดุการเกษตร และจากพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศ PM2.5 ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ต่อเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หนักหน่วงขึ้นในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา

วิกฤติมลพิษทางอากาศ จึงสัมพันธ์กับการเติบโตของการพัฒนาเมือง การเพิ่มขึ้นของรถยนต์ การเพิ่มขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรม การขยายตัวของพืชเชิงเดี่ยวทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนั้น ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยแรงกดอากาศสูง การระบายตัวของอากาศต่ำ เนื่องจากภาวะโลกร้อน อุณหภูมิ กระแสลม สภาพภูมิศาสตร์ เช่น ภาคเหนือตอนบนเป็นแอ่งกระทะ ขณะที่ภาคกลางเป็นที่ราบ เป็นต้น

จากผลกระทบที่นับวันจะส่งผลวิกฤตมากขึ้น ทำให้เกิดข้อเรียกร้องและการผลักดันจากภาคประชาชน
ภาคประชาสังคม ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ตลอดจนการเรียกร้อง ผลักดันในระดับนานาชาติ ซึ่งพพอจะเห็นแนวโน้มใน 2 ด้าน

ในด้านที่เป็นความก้าวหน้า จะเห็นในหลายประเทศเริ่มลดการใช้พลังงานจากถ่านหิน ในประเทศไทย
เพิ่มการใช้น้ำมันกำมะถันต่ำ และเริ่มมีนโยบายการเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

การเสนอนโยบายและแผนงานอุตสาหกรรมสีเขียว เศรษฐกิจสีเขียว และการพัฒนาเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน แม้จะยังไม่เกิดรูปธรรมที่ชัดเจนอย่างกว้างขวาง ก็ถือเป็นการปักหมุดแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้นกว่าเดิม

แต่ด้านที่น่าห่วงใยอย่างยิ่ง คือ การขยายตัวของพืชเชิงเดี่ยวอย่างอ้อย ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมน้ำตาล และข้าวโพด ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่มีแนวโน้มขยายตัวตามราคาการรับซื้อที่สูงขึ้นในประเทศ ตลอดจนการขยายตัวของพืชเชิงเดี่ยวอย่างกว้างขวางในประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีบริษัทขนาดใหญ่ให้การสนับสนุน

ซึ่งบริษัทใหญ่เหล่านี้ มีอิทธิพลต่อรัฐบาลสูง จึงไม่สามารถคาดหวังจะมีการออกนโยบายของรัฐที่จะจัดการ
การขยายตัวของพืชเชิงเดี่ยวได้ ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้ได้

เรื่องที่เป็นมหากาพย์มาอย่างยาวนาน เห็นจะเป็นการเผาชีวมวลในพื้นที่ป่าในภาคเหนือ มีพื้นที่การเผาไหม้ในเขตป่าอนุรักษ์ คือ เขตอุทยานแห่งชาติ และเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าฯ มากที่สุด รองลงมาเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
เป็นพื้นที่ที่มีความสลับซับซ้อนของปัญหามายาวนาน นับตั้งแต่การที่รัฐประกาศพื้นที่ป่าทับลงบนพื้นที่ทำกิน
ที่อยู่อาศัยและป่าชุมชนของชาวบ้าน ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในที่ทำกิน ส่งผลต่อเนื่องถึงการผลิตที่ไม่มั่นคง  ชุมชนนื้นที่ป่าเหล่นี้ถูกจำกัfการพัฒนามายาวนาน เพราะทุกกระทรวง กรม กองต่างๆ ของรัฐ ไม่สามารถเข้าไปพัฒนาได้ เพราะเป็นพื้นที่ 
“ผิดกฎหมาย” เป็นการสร้างความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากกฏหมายและนโยบายของรัฐเอง

ที่นำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างสิทธิชุมชน ที่ตั้งรกรากมาก่อนกับกฎหมายของรัฐที่เกิดขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่า
จนยากที่จะทำงานร่วมกันด้วยความไว้วางใจกัน

รัฐ แม้จะมีการออก พรบ.ป่าชุมชน แม้จะมีมาตรการที่ผ่อนคลายทางกฏหมายบ้าง แต่ยังมิได้ยอมรับสิทธิชุมชน
อย่างเข้าใจวิถีชุมชนในพื้นที่ จึงน่าจะยังเป็นปัญหาเรื้อรังอีกยาวไกล

สิ่งที่น่าสนใจคือการตื่นตัวของประชาชน  ภาคประชาสังคม ที่รวมตัวกันทุกภาคส่วน ในการแก้มลพิษทางอากาศ จะเป็น
พลังการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ที่ทำให้ทุกภาคส่วนที่เคยทำงานแบบต่างคนต่างทำ ทำคนละจุด คนละพื้นที่
ให้น้ำหนักในการแก้ปัญหาคนละส่วนแบบไม่เห็นช้างทั้งตัว เริ่มเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันบน “พื้นที่กลาง” หรือพื้นที่หน้าหมู่(พื้นที่ร่วม) ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน มองเห็นปัญหา สาเหตุที่เป็นองค์รวม ที่เรียกว่า “เห็นช้างทั้งตัว”

ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิเคราะห์สรุปบทเรียนสร้าง “วาระร่วม” สร้างเป้าหมายร่วมกัน ที่เรียกว่า “เห็นดาวดวงเดียวกัน”

นำมาสู่การออกแบบการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาร่วมกัน มีแผนการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยการแบ่งบทบาทการทำงานตามศักยภาพของแต่ละภาคส่วน

ร่วมกันผลักดันให้เกิดข้อเสนอหลักคิด กระบวนการแก้ปัญหาใหม่แบบยั่งยืน

ร่วมสร้างรูปแบบการแก้ไขปัญหา ตั้งแต่ระดับครอบครัว “บ้านสู้ฝุ่น” ระดับองค์กร “ธุรกิจสู้ฝุ่น” “โรงเรียนสู้ฝุ่น” ระดับชุมชน ระดับเมือง ระดับจังหวัด

มีการสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เข้าถึงข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยเชื่อมโยงความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เข้าถึงข้อมูลวิชาการ  ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ผู้คน สังคม “ตระหนักรู้” จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และการผลิตที่ยั่งยืน

พร้อมการสร้างพื้นที่รูปธรรม และข้อมูล องค์ความรู้ การสื่อสาร ต้องนำไปสู่ข้อเสนอและการผลักดันนโยบายของรัฐ ที่มีเจตจำนงค์ การแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ให้มีการกระจายอำนาจให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขนาดใหญ่ โดยให้สิทธิและบทบาทของชุมชน ประชาสังคม องค์กรปกครองท้องถิ่น และประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทแต่ละท้องถิ่น โดยรัฐบาลต้องออกกฏหมาย นโยบายและมาตรการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จึงจะเกิดการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืนได้



Social Share