THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

โดย มนตรี จันทวงศ์
กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly)
ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2564

  1. การเปลี่ยนแปลงการไหลที่ผิดปกติของแม่น้ำโขง ยังคงเกิดขึ้นอย่างรุนแรงต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2564 เช่นเดียวกับปีก่อนหน้านี้ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการควบคุมการระบายน้ำของเขื่อน 11 เขื่อนในประเทศจีน โดยมีเขื่อนจินหงเป็นเขื่อนควบคุมการระบายน้ำเขื่อนสุดท้าย ก่อนไหลลงสู่ลุ่มน้ำโขงตอนล่างเข้าประเทศลาว ไทย กัมพูชาและเวียดนาม รวมทั้งการควบคุมการระบายน้ำของเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว สามารถสังเกตการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำได้ที่สถานีวัดระดับน้ำ อ.เชียงคาน จ.เลย นอกจากนี้การควบคุมน้ำโดยเขื่อนใหญ่บนลำน้ำสาขาในลาว เช่น เขื่อนน้ำอู, เขื่อนน้ำงึม, เขื่อนน้ำเทิน 2 เป็นต้น ได้ส่งผลต่อปริมาณการไหลลงสู่แม่น้ำโขงด้วยเช่นกัน
  2. การเปลี่ยนแปลงการไหลที่ผิดปกติ ส่งผลกระทบต่อทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนตลอดแนวน้ำโขง, การใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงในด้านต่าง ๆ และผลกระทบต่อระบบนิเวศที่เป็นห่วงโซ่ความสัมพันธ์กันในระบบนิเวศ อาทิเช่น ปริมาณตะกอนที่ลดลงมากผิดปกติ ตั้งแต่สถานีวัดน้ำ อ.เชียงคาน จ.เลย ลงมาจนถึงสถานีวัดน้ำ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี กว่า 800 กิโลเมตร ทำให้เกิดการระบาดของสาหร่ายในแม่น้ำโขง และชาวบ้านไม่สามารถจับปลาได้ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564, ปริมาณปลาหลายชนิด ลดน้อยลง, การออกดอกของไม้น้ำ ในแม่น้ำโขง ที่ผิดฤดูกาล เช่น ไคร้น้ำ, หว้าน้ำ เป็นต้น, ระดับน้ำโขงที่เปลี่ยนแปลงผิดปกติในฤดูแล้ง ท่วมพื้นที่วางไข่ของนกที่อาศัยทำรังวางไข่ในช่วงฤดูแล้ง และส่งสัญญาณผิดต่อไม้น้ำชนิดต่าง ๆ ซึ่งบางส่วนได้ล้มตายลงอย่างต่อเนื่องจากปีก่อนหน้านี้
  3. ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วในลุ่มน้ำโขง เกิดขึ้นชัดเจนมากขึ้นในลุ่มน้ำโขงทั้งฝั่งไทยและลาว กล่าวคือ มีพายุฝนตกหนัก น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขา แต่แม่น้ำโขงยังมีระดับน้ำน้อยตลอดช่วงฤดูฝน และจะเกิดการเพิ่มระดับเพิ่มผิดปกติอย่างรุนแรงและรวดเร็วในช่วงสั้น ๆ ส่งผลกระทบต่อทรัพย์สิน เครื่องมือหาปลา เป็นจำนวนมาก ดังเช่น กรณีมีฝนตกในลุ่มน้ำเซบังเหียงของลาว ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2563 และ 2564 และมีระดับน้ำขึ้นอย่างฉับพลัน ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ทำให้น้ำโขงมีระดับเพิ่มขึ้นทันทีโดยเฉลี่ย 2-3 เมตร ตั้งแต่ อ.เขมราฐ อ.โพธิ์ไทร อ.ศรีเมืองใหม่ และอ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยไร้การแจ้งเตือนใด ๆ ทั้งจากหน่วยงานของไทย และเอ็มอาร์ซี
  4. แผนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าบนแม่น้ำโขง ถูกผลักดันอย่างต่อเนื่อง จากกลุ่มบริษัทที่มีเป้าหมายลงทุนในการก่อสร้างเขื่อนต่าง ๆ ได้แก่ เขื่อนหลวงพระบาง, เขื่อนปากแบ่ง, เขื่อนปากลาย และเขื่อนสะนะคาม มีการทำงานประชาสัมพันธ์กับชุมชนริมฝั่งโขงในประเทศไทยตลอดทั้งปี 2564 และรัฐบาล สปป.ลาว ประสบความสำเร็จในการเจรจาให้รัฐบาลไทยขยายความตกลงซื้อขายไฟฟ้าจาก 9,000 เป็น 9,500 เมกกะวัตต์ เพื่อรองรับการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำงึม 3, เขื่อนปากแบ่ง, เขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนปากลาย โดยมติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ( ครั้งที่ 11/2564 (ครั้งที่ 33) วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564 http://www.eppo.go.th/index.php/th/component/k2/item/17553-cepa-prayut33 ) มติการประชุมดังกล่าวนี้ ได้กำหนดระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนต่าง ๆ เข้าระบบไฟฟ้าของไทยในปี 2569, 2571, 2573 และ 2575 ตามลำดับ
    มติ กบง. ดังกล่าวนี้จะนำไปสู่การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงอีกอย่างน้อย 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนหลวงพระบาง, เขื่อนปากแบ่ง, เขื่อนปากลาย ในภาคเหนือของลาว และจะสร้างผลกระทบต่อเนื่องและรุนแรงข้ามพรมแดนมายังประเทศไทยและประเทศท้ายน้ำอื่น ๆ รุนแรงมากยิ่งขึ้น
    นอกจากนี้ มติ กบง.ดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์สัดส่วนการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเดียวเกิน13 % ซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2573-2575 เมื่อเทียบกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 แต่มติ กบง. ดังกล่าวถือเอาสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าเมื่อสิ้นสุดแผนเป็นสำคัญ
  5. เอ็มอาร์ซี ในฐานะเป็นองค์กรระดับภูมิภาค ไม่ได้มีบทบาทใด ๆ ในการคุ้มครองระบบนิเวศน้ำโขงและวิถีชีวิตประชาชนลุ่มน้ำโขง 60 ล้านคนดังที่มักมีการกล่าวถึงความสำคัญของลุ่มน้ำโขง กลไกสำคัญของเอ็มอาร์ซี ในกระบวนการพิจารณาข้อเสนอการสร้างเขื่อนบนลำน้ำโขงของทั้ง 4 ประเทศคือ กระบวนการตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง หรือ PNPCA (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement) ที่ได้ดำเนินผ่านมาในการพิจารณาเขื่อนไซยะบุรี, เขื่อนดอนสะโฮง, เขื่อนปากแบ่ง, เขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนปากลาย ทุกครั้งคณะกรรมการร่วมจาก 4 ประเทศไม่สามารถบรรลุฉันทามติได้ ซึ่งต้องมีการส่งให้คณะมนตรีแม่น้ำโขงพิจารณาต่อ แต่กระบวนการนี้ไม่เคยเกิดขึ้น และปัจจุบันเอ็มอาร์ซี กำลังจัดกระบวนการ PNPCA เขื่อนสะนะคาม ซึ่งจะยังคงเป็นความล้มเหลวซ้ำซาก ที่กระบวนการ PNPCA นี้ ไม่สามารถเป็นกระบวนการที่รับผิดชอบต่อประชาชนลุ่มน้ำโขงได้จริง เอ็มอาร์ซีมีเป้าหมายชัดเจนในการสนับสนุนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงทั้งหมด ภายใต้แผนงานเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืน ในขณะที่ตัวแทนเอ็มอาร์ซีของไทยในปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ไม่สามารถทำหน้าที่นำเสนอผลการศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง ที่ได้ศึกษาต่อเนื่องมาแล้ว 5 ปี ให้สามารถเห็นถึงผลกระทบใด ๆ ที่ชัดเจนได้ อันเป็นบทบาทสำคัญในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของการใช้แม่น้ำโขงของประชาชนไทย และการรักษาระบบนิเวศแม่น้ำโขง

Social Share