THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย Forest Peoples Programme
วันที่ ปีค.ศ. 2020
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Giacomo Pirozzi
อ้างอิง www.localbiodiversityoutlooks.net

การเปลี่ยนผ่านระบบอาหารสู่อาหารท้องถิ่นเพื่อสุขภาพ

ระบบนิเวศและวัฒนธรรมที่สมบูรณ์ทำให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรมและอาหารและทำให้สุขภาวะและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น ระบบอาหารท้องถิ่นเพื่อสุขภาพมีส่วนช่วยรักษาความมั่นคงอาหาร ระบบนิเวศทางการเกษตร และความเป็นธรรมในการแบ่งปันอาหาร

ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมและอาหารมาเป็นเวลาหลายพันปีแล้ว เพื่อเป็นแหล่งอาหารและยารักษาโรค และแหล่งคุณค่าทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของชุมชน ซึ่งผู้หญิงได้มีส่วนร่วม ผู้ผลิตรายย่อยและเกษตรกรรายย่อยยังคงเป็นผู้ผลิตอาหารที่เลี้ยงปากท้องของผู้คนส่วนใหญ่ของโลก แต่ใช้ทรัพยากรที่ดิน น้ำ และพลังงานฟอสซิลน้อยกว่าร้อยละ 25 ของทรัพยากรทั้งหมดในโลก การเพิ่มความหลากหลายในการเกษตร ระบบนิเวศ และอาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบอาหารที่มีความมั่นคงกว่า เพื่อสุขภาวะที่ดีกว่า และเป็นธรรมกว่า การที่จะยกเลิกอุตสาหกรรมเกษตรที่ขาดความยั่งยืนและหยุดการยึดที่ดินและแหล่งน้ำของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นได้นั้นจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในระบบอาหารทั้งกระบวนการ รวมไปถึงการวางแผนกลยุทธ์การใช้ที่ดิน ฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีด้านอาหารท้องถิ่น และวางมาตรการลดการบริโภคอาหารแปรรูปทั้งในชุมชนท้องถิ่นและชุมชนเมือง ในขณะที่ระบบอาหารโลกกำลังถึงจุดวิกฤติของความเสี่ยงต่อความอดอยากอันเนื่องมาจากภาวะโรคระบาดในปัจจุบันและอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นอีก จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านระบบอาหารและเศรษฐกิจไปสู่ระบบท้องถิ่นที่มีความยั่งยืนและหลากหลายมากกว่า

ปัจจัยที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลง :

  • กำหนดนโยบายอาหารที่พิจารณาประเด็นทุกแง่มุมของระบบอาหาร
  • สร้างความมั่นคงให้แก่ระบบอาหารโดยใช้อาหารท้องถิ่นและปฏิรูประบบจัดการ
  • นำเอาระบบนิเวศการเกษตรมาปรับใช้
  • ดำเนินแนวทางเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบแทนที่การแก้ปัญหาโดยใช้เทคโนโลยีในวงแคบ
  • ปกป้องสิทธิเหนือที่ทำกินของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น
  • สนับสนุนนวัตกรรมอาหารชุมชนด้านนโยบายและทุน เช่นธนาคารเมล็ดพืช สหกรณ์ และการบริหารจัดการตามแบบอย่างดั้งเดิมของชนพื้นเมือง

ตอนที่ 5
บทบาทของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในวิสัยทัศน์ปี 2050

ก้าวสู่อนาคตด้วยการเดินตามรอยบรรพชน
ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นรักษาความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตและธรรมชาติไว้เป็นศูนย์กลางของอนาคต ความหลากหลายทางวัฒนธรรมดำรงอยู่ได้ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในขณะที่มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความหลากหลายของระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพที่ยังคงเหลือรอดอยู่ในโลกนี้ได้รับการดูแลรักษาด้วยความสัมพันธ์ที่พิเศษระหว่างธรรมชาติและชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น การที่จะรับประกันความมั่นคงของการถือครองที่ดินโดยชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นได้นั้น รัฐจะต้องออกกฎหมายรับรองและให้ความเคารพต่อองค์กรบริหารและวิธีการจัดการของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น

ปี 2020 ได้รับการวางแผนไว้ให้เป็นปีแห่งธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการรับเอากลยุทธ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพใหม่มาใช้สำหรับปี 2020-2050 ในการประชุม Conference of the Parties (COP-15) ที่ประเทศจีน กระบวนการและงานโครงการเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้วางแผนกันไว้อย่างเต็มที่นั้นต้องหยุดชะงักไปจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เผยให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติที่ซับซ้อนและเปราะบาง โรคระบาดที่เกิดบ่อยขึ้นและโรคอุบัติใหม่ที่ติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์ที่เกิดจากไวรัสโคโรน่าชี้ให้เห็นถึงความไม่สมดุลของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ซึ่งจะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน วิธีแก้ปัญหาเพื่อ ‘กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว’ แต่ไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุของความไม่สมดุลและเปราะบางของระบบสาธารณสุข ระบบอาหาร ระบบเศรษฐกิจและการค้า การเงิน การเมือง และสังคม อาจทำให้เกิดปัญหาโรคระบาดหรือภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นอีกในอนาคต

ปัญหาที่ซับซ้อนเช่นนี้ทำให้มนุษยชาติต้องหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติในอนาคต กลยุทธ์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งปี 2050 นั้นจะต้องเปลี่ยนวิธีการตั้งรับปรับตัวจากความต้องการผลระยะสั้นไปสู่วิสัยทัศน์ในระยะยาว แนวทางการเปลี่ยนแปลง 6 แนวทางของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นเป็นแนวทางที่สำคัญเพื่อการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยีที่ล้มเหลวในปัจจุบันไปสู่ความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับรองสิทธิเหนือที่ทำกิน การจัดการอย่างมีส่วนร่วม ระบบค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เศรษฐกิจยั่งยืน และระบบอาหารท้องถิ่น แนวทางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดจากวิสัยทัศน์ร่วมของคนแต่ละรุ่นที่ได้จากประสบการณ์การต่อสู้ของคนในอดีตและนวัตกรรมของคนในยุคปัจจุบัน เพื่อสร้างมรดกให้แก่คนยุคอนาคต

เรื่องราวจากประสบการณ์ที่ทำมาแบ่งปันในบทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมการอนุรักษ์ฟื้นฟูมากมายที่ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นได้ดำเนินการอยู่ในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนจะทำให้เกิดความร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงและทำให้ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นสามารถทำงานอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศ ตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน และสร้างความยั่งยืนได้มากขึ้นและดีขึ้น

เราทุกคนจะกลายเป็นบรรพชนของคนในยุคอนาคตที่จะมาถึง ดังนั้นเราจะต้องร่วมกันฟื้นฟูโลกใบนี้ไว้ให้เป็นสมบัติของลูกหลานของเราต่อไป

(จบ)


Social Share