THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย ActionAid
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย ActionAid
อ้างอิง https://www.actionaid.org.uk/…/climate-change-and..

ในขณะที่อุณหภูมิพื้นผิวโลกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราทุกคนนั้น ActionAid ได้พัฒนาแนวทางการเกษตรยั่งยืนที่จะช่วยลดหรือขจัดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

ระบบนิเวศเกษตรคืออะไร?
ระบบนิเวศเกษตรคือวิธีการทำไร่นาและการบริหารผลผลิตทางการเกษตรทั้งพืชและปศุสัตว์ ป่า และประมงที่มีความยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อนและให้ประโยชน์ทางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย เช่น บรรเทาปัญหาขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มและความยากจน ระบบนิเวศเกษตรประกอบไปด้วย Permaculture เกษตรออร์แกนิก และไบโอไดนามิก

ระบบนิเวศเกษตรและระบบเกษตรแบบ Climate-smart ต่างกันอย่างไร?

ถึงแม้ว่าระบบนิเวศเกษตรและระบบเกษตรแบบ Climate-smart จะมีความคล้ายคลึงกันโดยทั่วไป แต่โดยพื้นฐานแล้วต่างกัน กล่าวคือ ระบบเกษตรแบบ Climate-smart เป็นระบบเกษตรที่ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรเสนอขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงและมีความยั่งยืนมากขึ้น และถึงแม้ว่าจะมีข้อดีหลายประการ ระบบเกษตรแบบ Climate-smart ยังคงต้องอาศัยปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลเสียตามมาอย่างกลไก Carbon Offset พลังงานฟอสซิล เมล็ดพืชปรับแต่งพันธุกรรม เคมีปราบศัตรูพืช อุตสาหกรรมแปรรูปพืชผล การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (ซึ่งทำลายป่า) และเกษตรเชิงเดี่ยวที่ทำลายคุณภาพดิน ในขณะที่ระบบนิเวศเกษตรเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำการเกษตรในระดับพื้นฐานทั้งหมดให้กลับสู่แนวทางตามธรรมชาติ โดยการใช้องค์ความรู้จากชาวนาท้องถิ่นผสมผสานกับแนวทางเกษตรยั่งยืนที่สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ระบบนิเวศเกษตรเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนด้วยการปรับปรุงคุณภาพและความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารในดินโดยการใช้ปุ๋ยธรรมชาติอย่างปุ๋ยคอกซึ่งลดการกัดเซาะ บำรุงพืช และเพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำในยามแล้งของดิน

การเกษตรอุตสาหกรรมมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้อย่างไร?

โดยทั่วไปแล้ว การเกษตรส่งผลกระทบและได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนไปในเวลาเดียวกัน แนวทางการเกษตรในปัจจุบันมักอยู่ในรูปอุตสาหกรรมที่ต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการใช้สารเคมีในอัตราที่สูงซึ่งรวมถึงยาปฏิชีวนะในสัตว์ ปุ๋ยเคมี และเมล็ดพืชปรับแต่งพันธุกรรมเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุดโดยไม่คำนึงถึงผลข้างเคียงต่อระบบนิเวศและสังคม

กิจกรรมของมนุษย์อย่างเกษตรอุตสาหกรรม การแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมปศุสัตว์ปล่อยก๊าซมีเธนและคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศโลกเป็นปริมาณที่สูงมาก ยกตัวอย่างเช่น พวกปศุสัตว์จะเรอและถ่ายมูลและปล่อยก๊าซมีเธนและไนตรัสออกไซด์ออกสู่บรรยากาศและเร่งการเกิดภาวะโลกร้อน การใช้ปุ๋ยเคมีก็มีส่วนในการปล่อยไนตรัสออกไซด์ออกสู่บรรยากาศโลกด้วยเช่นกัน

ปุ๋ยเคมีก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้อย่างไร?

การผลิตปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์นั้นใช้พลังงานฟอสซิลในกระบวนการที่สูงมาก และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นปริมาณมาก และเมื่อใส่ลงในดินจะปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ออกมา ซึ่งเป็นก๊าซที่ทำลายบรรยากาศโลกได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 298 เท่า นอกจากนี้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ยังแปรสภาพสารอินทรีย์ในดินให้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศโลกอีกด้วย

บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตสินค้าเพื่อการเกษตรที่มีรายได้หลักมาจากการขายปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์อ้างว่าได้มีความพยายามที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้

ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะโลกร้อน การเกษตร และอาหาร ต้นไม้และป่าไม้คือปัจจัยที่สำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและบรรเทาภาวะโลกร้อนโดยการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศ

แต่ความต้องการอาหารของชาวโลกเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าและรุกรานระบบนิเวศเพื่อนำที่ดินมาเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ การทำไร่นาขนาดใหญ่ที่ต้องการผลผลิตเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดในปริมาณมากมักเป็นการปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว และการปลูกพืชชนิดเดียวกันซ้ำๆ เป็นเวลาหลายๆ ปีในที่ดินเดิมนั้นทำให้ดินเสื่อมอย่างรวดเร็ว และทำให้ผลผลิตอ่อนแอต่อการรุกรานของศัตรูพืช จึงต้องมีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณที่สูง นอกจากนี้ยังทำให้ดินอุ้มน้ำได้น้อยลงในฤดูแล้ง และน้ำท่วมได้ง่ายและถูกกัดเซาะได้ง่ายในฤดูฝน

หลังจากการทำไร่เชิงเดี่ยวเป็นเวลานานๆ ที่ดินจะไม่สามารถผลิตอาหารให้แก้คนและสัตว์ได้อีกต่อไป

ศัตรูพืชประเภทต่างๆ ต้องการสารอาหารที่แตกต่างจากพันธุ์พืชที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการปลูกพืชชนิดเดียวจึงทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะสูญเสียผลผลิตทั้งหมดแก่ศัตรูพืชและทำให้ห่วงโซ่อาหารของโลกตกอยู่ในภาวะที่เสี่ยง

นอกจากนี้การทำไร่เชิงเดี่ยวยังต้องการน้ำเป็นปริมาณมาก ทำให้น้ำในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำไม่พอใช้ ทำให้สังคมตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการขาดน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

ดังนั้น การทำไร่นาสวนผสมจึงช่วยในการรับประกันผลผลิตที่ยั่งยืน แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และป้องกันการรุกรานของศัตรูพืช

(อ่านต่อวันพฤหัสบดี)


Social Share