THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย ActionAid
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดhttps://www.actionaid.org.uk/our-work/emergencies-disasters-humanitarian-response/climate-change-and-agroecology?fbclid=IwAR0TA-xTqmBmAFY8cVXUReBbwDVKgBV_4aDnp6zptSAQHWeWllVrn1ZLuyA

ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบโดยตรงต่อการต่อเกษตรและอาหาร

ภัยธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนอย่างเช่นสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อการต่อเกษตรและความมั่นคงอาหารของมนุษย์ในท้ายที่สุด

ในขณะที่อุณหภูมิและความชื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น รูปแบบของสภาพภูมิอากาศอย่างความแล้ง คลื่นความร้อน ไฟป่า พายุ น้ำท่วม และดินถล่มเกิดบ่อยครั้งขึ้น รุนแรงขึ้น และไม่สามารถคาดการณ์ได้ สภาพดินที่อ่อนแอจากการทำไร่เชิงเดี่ยวไม่มีภูมิต้านทานต่อสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ได้ และความแล้งและอุทกภัยก็นำมาซึ่งปัญหาอื่นเป็นการซ้ำเติม ตัวอย่างเช่น ในปี 2017 ภัยธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนทำให้เกิดวิกฤติการณ์อาหาร ทำให้อาหารขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น ในหลายๆพื้นที่ในทวีปอาฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา เกษตรกรรายย่อยประสบกับปัญหาฝนที่มาล่าช้าและหมดลงเร็วขึ้นๆทุกปี ทำให้เกิดภัยแล้งซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของปศุสัตว์ โดยทำให้หญ้าที่เป็นอาหารสัตว์แห้งตาย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงอาหารและความเป็นอยู่ของชุมชน

ในทางตรงข้าม เมื่อฤดูฝนมาถึง น้ำท่วมที่เกิดจากพายุและฝนตกหนักมากเกินไปทำให้ดินอุ้มน้ำมากเกินกว่าที่พืชต้องการ ทำให้พืชไม่สามารถเข้าถึงสารอาหารในดินและออกซิเจนที่ใช้ในการเจริญเติบโตได้ ในบังคลาเทศ อุทกภัยที่เกิดขึ้นบ่อยๆทำให้พืชผลเสียหายและทำลายถนนหนทาง ทำให้การขนส่งอาหารเป็นไปด้วยความยากลำบากและผู้คนนับล้านตกอยู่ในภาวะอดอยาก ภาวะน้ำท่วมและภัยแล้งเช่นนี้ทำให้ชาวนาไม่แน่ใจอีกต่อไปว่าเมื่อใดที่ควรจะไถหว่าน เมื่อใดที่ควรจะเก็บเกี่ยว ทำให้ความเสียหายของพืชผลกลายเป็นเรื่องปกติ

นอกจากนี้ สาเหตุของการระบาดของศัตรูพืชในทวีปอาฟริกาและเอเชียส่วนหนึ่งก็มาจากภาวะโลกร้อน ตัวอย่างเช่นการระบาดของฝูงตั๊กแตนในปี 2019 และ 2020 ในภูมิภาคอาฟริกาตะวันออกทำลายพืชผลนับพันเอเคอร์นั้นคาดว่าเกิดจากภาวะฝนตกหนักและพายุที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น

ระบบนิเวศเกษตรช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้อย่างไร?

ในการที่เราจะประกันความมั่นคงอาหารและตั้งรับปรับตัวต่อภัยธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนได้นั้น เราจะต้องฟื้นฟูคุณภาพดิน น้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ เราทราบดีว่าอุตสาหกรรมการเกษตรมักปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ขนาดใหญ่ ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อให้เกิด Economies of Scale ที่จำกัดการแข่งขันจากเกษตรกรรายย่อย ทำลายสิ่งแวดล้อม และทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ยังมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเกษตรกรรายย่อยที่ใช้ระบบนิเวศเกษตรนั้นมีประสิทธิภาพ ภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อน และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสูงกว่าเกษตรอุตสาหกรรม

อะไรคือหลักการ เทคนิก และประโยชน์ของระบบนิเวศเกษตร?

ระบบนิเวศเกษตรคือการทำไร่สวนผสมด้วยวิธีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของเกษตรกรชุมชนมาผสมผสานกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่เป็นการกระจายไม่กระจุกตัว และมีความยั่งยืนมากกว่า เกษตรกรรายย่อยที่ใช้ระบบนิเวศเกษตร รวมไปถึงชุมชนประมงและกลุ่มชาติพันธุ์จัดหาความมั่นคงทางอาหารให้แก่สังคมโลกโดยการผลิตอาหารเป็นปริมาณร้อยละ 80 ของอาหารที่ผลิตได้ทั้งหมด แต่รัฐบาลและผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจก็ยังละเลยบทบาทของคนกลุ่มนี้ที่ให้ความสำคัญแก่ระบบการผลิตอาหารท้องถิ่นเพื่อสุขภาวะของมนุษย์และต่อต้านการเกษตรและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อมุ่งเน้นกำไร

ระบบนิเวศเกษตรเป็นมิตรต่อดินและสิ่งแวดล้อม โดยเลียนแบบวงจรธรรมชาติจึงไม่ทำให้ดินเสื่อมสภาพ เกษตรกรรายย่อยหมุนเวียนปลูกพืชผลที่หลากหลายในที่ดินของตนเพื่อไม่ให้ธาตุอาหารในดินหมดเร็วเกินไปและเกิดศัตรูพืช โดยใช้วิธีปลูกพืชคละพันธุ์กันหรือปลูกพืชไร่สลับกับไม้ผลยืนต้น และแทนที่จะใช้ปุ๋ยเคมี เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยคอก พืชคลุมดิน หรือปุ๋ยหมักเพื่อเพิ่มสารอาหารให้ดินอย่างต่อเนื่อง

ระบบนิเวศเกษตรใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพกว่าเพราะไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกที่ต้องชัพลังงานฟอสซิลปริมาณมหาศาลในการผลิตอย่างสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี

ระบบนิเวศเกษตรทำให้เกษตรกรมีสุขภาวะที่ดีเพราะใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่ทำจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติอย่างพริกและกระเทียมและไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ระบบนิเวศเกษตรลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำเนื่องจากใช้แรงงานในครอบครัวและชุมชน ทำให้ทรัพยากรไม่ไหลออกนอกชุมชนและเกิดความสามัคคีในการร่วมมือกันทำนาไร่

ระบบนิเวศเกษตรลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนโดยช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ (เช่นการทำไร่สวนผสม) ซึ่งเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อนให้เกษตรกร เพราะการเกษตรวิธีนี้จะลดผลกระทบจากภัยแล้งและอุทกภัยได้ นอกจากนี้ดินที่ผ่านการทำเกษตรแบบนิเวศเกษตรยังสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศได้ดี ดังนั้นจึงสร้างภูมิคุ้มกันภาวะโลกร้อนให้แก่พื้นที่เกษตรได้ดีกว่าเกษตรอุตสาหกรรม

ActionAid ช่วยเกษตรกรและชุมชนในการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนได้อย่างไร?

ในจำนวนเกษตรกร 500 ล้านรายที่ถือครองพื้นที่เกษตรร้อยละ 90 ทั่วโลกนั้น กว่าครึ่งเป็นผู้หญิง เกษตรกรสตรีมักประสบข้อจำกัดด้านความเหลื่อมล้ำทางเพศทำให้ขาดอำนาจในการตัดสินใจ ได้รับผลตอบแทนต่ำ ขาดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ไม่มีที่ดินและทรัพยากร ต้องมีหน้าที่ทำงานบ้านที่ไม่ได้รับค่าจ้าง และไม่สามารถเข้าถึงตลาดในการขายสินค้าหรือบริการ ดังนั้น :

ActionAid จึงขอต่อต้านวิธีการแก้ปัญหาอย่างผิดๆที่นำเสรอโดยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างการเกษตรแบบ Climate-smart

ActionAid สนับสนุนสตรีให้เข้าถึงตลาดการค้า

ActionAid อุทิศตนเพื่อช่วยลดภาระหนี้สินของเกษตรกรสตรีผู้ที่ทำเกษตรแบบนิเวศเกษตร

ActionAid สนับสนุนระบบนิเวศเกษตรให้เข้ามาแทนที่เกษตรอุตสาหกรรมเพื่อรักษาความมั่นคงอาหารแก่ชุมชน ตัวอย่างเช่นเราขอสนับสนุนสตรีชาวกัมพูชาในการปลูกป่าชายเลนเพื่อสร้างแหล่งอาหารที่มั่นคง

ActionAid ช่วยให้เกษตรกรตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนโดยการจัดหาเครื่องมือการเกษตร เมล็ดพันธุ์ และข้อมูลในการทำเกษตรยั่งยืน

ActionAid ช่วยให้เกษตรกรสตรีเข้าใจถึงสิทธิของตนและจัดหาข้อมูลที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

และ ActionAid จัดฝึกอบรมเกษตรสวนผสมให้แก่เกษตรกร

(จบ)


Social Share