THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Senay Habtezion
วันที่ ตุลาคม 2013
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย UN Photo/Martine Perret

ระดับความรุนแรงของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อผู้คนนั้นจะแตกต่างกันไป โดยส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับสถานะทางสังคม เพศภาวะ ฐานะทางเศรษฐกิจ อำนาจหน้าที่ และความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากร

ถึงแม้ว่าประชาคมโลกจะตระหนักถึงความแตกต่างในบทบาทของเพศหญิงและเพศชายในการพัฒนาความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เพศหญิงยังคงมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเมือง การกำหนดนโยบายและกฎหมายน้อยกว่า จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะโลกร้อนมากกว่าเพศชาย

การนำเอาความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของเพศหญิงมาใช้ และสนับสนุนบทบาทของเพศหญิงจะทำให้การแก้ไขปัญหาโลกร้อนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สังคมยังคงละเลยต่อผลกระทบจากความไม่เท่าเทียมทางเพศและความเสียเปรียบของเพศหญิงในด้านเศรษฐกิจและสังคมยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายในการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน

ในขณะที่โลกกำลังยุ่งอยู่กับการทำนายว่าสภาพภูมิอากาศยุคหลังพิธีสารเกียวโตจะเป็นเช่นไร สิ่งที่สำคัญกว่าคือ จะต้องรวมเอาประเด็นด้านเพศภาวะเข้ามาพิจารณาในการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนในทุกระดับ ซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยงต่อเด็กและสตรีและเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน
.
ภาวะโลกร้อนมีผลกระทบต่อคนยากจนมากที่สุด
ภาวะภูมิอากาศแปรปรวนเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคของเรา อุณหภูมิที่สูงที่สุดที่ได้รับการบันทึกไว้ถึง 13 ครั้งเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 1997 ถึง 2011 ทั้งสิ้น

องค์กร World Meteorological Organization ชี้ให้เห็นว่าปริมาตรของหิ้งน้ำแข็งอาร์กติกถึงจุดต่ำสุดในปี 2011 ปรากฏการณ์เช่นนี้ร่วมกับการละลายของชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น อุทกภัย และความแปรปรวนของฤดูกาลเป็นอันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศชายฝั่ง และแหล่งน้ำจืด

เป็นที่คาดการณ์ว่าภายในสิบปีข้างหน้า ผู้คนจำนวนเป็นพันล้านคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาจะประสบภาวะขาดอาหารและน้ำจืดจากภาวะโลกร้อน (UNFCCC 2007) และภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้ยบ่อยครั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเกิดจากสภาวะอากาศสุดขั้วอย่างคลื่นความร้อน พายุไซโคลน ภัยแล้ง อุทกภัย พายุทอร์นาโด หิมะถล่ม พายุฝน พายุฝุ่น และระดับน้ำทะเลท่วมสูง
.
ภาวะโลกร้อนทำให้ปัญหาความยากจนพุ่งสูงขึ้นและเป็นอุปสรรคต่อความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs

รายงานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ปี 2011 ระบุว่าภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชากรยากจนในประเทศกำลังพัฒนาเพราะทำให้แหล่งน้ำ ดินเพาะปลูก และป่าเสื่อมโทรม และทำให้เกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้งขึ้น

ความยากจนและภาวะโลกร้อนนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด คนยากจนและกลุ่มเปราะบางมักดำรงชีพโดยการพึ่งพาปัจจัยที่ไวต่อสภาพภูมิอากาศ เช่น การเกษตร ทำให้ต้องรับความเสี่ยงที่สูงกว่ากลุ่มอื่น นอกจากนี้ยังขาดทรัพยากรที่จำเป็นในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อภัยธรรมชาติ เช่นบ้านที่แข็งแรงขึ้น หรือเมล็ดพันธุ์ทนแล้ง เมื่อไม่มีเงินทุนเพื่อการจัดหาเครื่องมือที่เหมาะสม คนยากจนเหล่านี้จึงหันไปหาแหล่งทรัพยากรที่ไม่ต้องซื้อหา ได้แก่ต้นไม้ จึงนำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่าในที่สุด
.
ภาวะโลกร้อนไม่มีความเท่าเทียมทางเพศ
สตรีในประเทศกำลังพัฒนามีความเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศเป็นพิเศษเพราะดำรงชีพโดยการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นส่วนมาก ผู้หญิงส่วนใหญ่มีหน้าที่หุงหาอาหาร สำรองน้ำและฟืน จึงประสบภาวะยากลำบากมากกว่า เพราะไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรและไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในระดับท้องถิ่น

ดังนั้นประชาคมโลกจะต้องกำหนดกลยุทธ์ในการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนโดยพิจารณาข้อจำกัดของกลุ่มเปราะบางต่างๆโดยเฉพาะเพศหญิงเป็นสำคัญ
.
มีปัจจัยบางประการที่ทำให้เกิดความเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและเพศหญิง

ประการแรก ความแตกต่างด้านเวลาที่ใช้เพื่อการเข้าถึงทรัพยากร สินเชื่อ ตลาด และสถาบันที่เป็นทางการ (เปิดทำการในเวลาที่ผู้หญิงต้องอยู่บ้านเพื่อดูแลลูกและทำงานบ้าน) ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างรายได้และผลผลิตของผู้หญิงและผู้ชาย กล่าวคือ รายได้ของเพศหญิงคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 30 ถึง 80 ของรายได้ของเพศชาย

งานวิจัยโดย World Bank ใน 141 ประเทศพบว่ามี 103 ประเทศที่มีกฎหมายที่มีความเหลื่อมล้ำทางเพศซึ่งไปจำกัดโอกาสทางเศรษฐกิจของเพศหญิง

นอกจากนี้ยังพบว่า สองในสามของประชากรโลกที่อ่านออกเขียนได้จำนวน 743 ล้านคนเป็นเพศหญิง และถึงแม้ว่าจำนวนผู้หญิงจะคิดเป็นสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนแรงงานภาคเกษตร ระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลกก็ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนของประชากรเพศหญิง
.
ประการที่สอง ผู้หญิงประสบอุปสรรคในการมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายในทุกระดับ ทำให้ไม่สามารถกำหนดแนวทางการพัฒนา สนับสนุน และช่วยเหลือที่เหมาะสมแก่เพศภาวะของตนได้
.
ประการที่สาม บรรทัดฐานทางสังคมจำกัดผู้หญิงในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตือนภัยธรรมชาติและทักษะในการหนีภัย เช่นการว่ายน้ำหรือปีนป่ายขึ้นที่สูง นอกจากนี้ บรรทัดฐานการแต่งกายและมีลูกเล็กติดตัวก็เป็นอุปสรรคต่อการลี้ภัยเช่นเดียวกัน
.
ประการที่สี่ การขาดข้อมูลที่มีการวิเคราะห์แยกตามเพศทำให้รัฐไม่สามารถประเมินความสำคัญของบทบาทของผู้หญิงที่มีต่อการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้อย่างถูกต้อง ทำให้เกิดนโยบายและการสนับสนุนที่ไม่เหมาะสมต่อลักษณะของปัญหา เพศภาวะ

ข้อจำกัด และความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบ นโยบายดังกล่าวจึงไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและการสนับสนุนการตั้งรับปรับตัวของชุมชน

ผู้หญิงมีส่วนสำคัญในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน
ผู้หญิงมีบทบาทที่สำคัญในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและในกิจกรรมการผลิตอาหารในระดับครัวเรือนและชุมชน จึงทำให้พวกเธออยู่ในตำแหน่งที่สามารถกำหนดกลยุทธ์การปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยที่ความรู้และทักษะของผู้หญิงสามารถนำไปใช้ในการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนได้ดี
มีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นว่าชุมชนสามารถรับมือกับภัยธรรมชาติได้ดีกว่าเมื่อมีผู้หญิงเป็นผู้นำในการเตือนภัยและฟื้นฟูความเสียหาย เพราะมีแนวโน้มที่จะแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวกับสุขภาวะชุมชน ใช้พลังงานที่เกิดมลภาวะต่ำ และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ดีกว่าเมื่อครอบครัวตกอยู่ในภัยอันตราย งานวิจัยในปี 2000 พบว่าผู้หญิงในอินเดียแสดงถึงประสิทธิภาพและความเข้มแข็งที่สูงมากในวงจรภัยพิบัติ ได้แก่การเตรียมตัวรับมือและการจัดการฟื้นฟูความเสียหายหลังเกิดภัย รวมไปถึงกิจกรรมอย่างการจัดหาอาหารและน้ำ เมล็ดพันธุ์ เครื่องมือเพาะปลูก และการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ
นอกจากนี้งานวิจัยยังได้เผยถึงความสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศและบทบาทของผู้หญิงที่มีต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนที่มีต่อการบรรลุเป้าหมาย SDG การมีส่วนร่วมของเพศหญิงในการพัฒนาเศรษฐกิจทำให้เกิดผลผลิตมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้หญิงได้รับค่าแรงเท่าเทียมกับผู้ชายแล้ว เป็นที่คาดการณ์ว่า จีดีพีของสหรัฐอเมริกา ประชาคมยุโรป และญี่ปุ่นจะสูงขึ้นร้อยละ 9, 13 และ 16 ตามลำดับ
การมีส่วนร่วมของผู้หญิงยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนของการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงมักมีประสิทธิภาพมากกว่าในการระดมกำลังชาวบ้านในยามวิกฤติ การบริหารจัดการความเสี่ยง และความเข้าใจในกลยุทธ์ที่ต้องใช้แก้ปัญหาในระดับท้องถิ่น
ความตระหนักต่อความสำคัญในการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในประชาคมโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นองค์กร Organisation for Economic Co-operation and Development ได้เพิ่มงบประมาณสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศเป็นจำนวนสามเท่านับตั้งแต่ปี 2002 จนถึงปี 2006 (จาก 2.5 พันล้านดอลล่าร์เป็น 7.2 พันล้านดอลล่าร์) อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำทางเพศก็ยังพบเห็นได้ในกระบวนการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนในระดับชาติและระดับนานาชาติ

ข้อเสนอแนะ

  • ทำการวิจัยเชิงลึกในหัวข้อบทบาทของเพศหญิงและเพศชาย ผลกระทบ และกลยุทธ์ที่ใช้ในการรับมือกับภาวะโลกร้อน การพัฒนาองค์ความรู้ด้านความสามารถ บทบาท และความรู้ของเพศหญิงและเพศชายจะทำให้มีข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนในการกำหนดนโยบายหรือออกแบบการช่วยเหลือการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน
  • นำมุมมองด้านเพศภาวะเข้ามาร่วมพิจารณาในการออกแบบการช่วยเหลือการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนทุกโครงการเพื่อกำหนดความต้องการและลำดับความสำคัญ เพื่อนำเพศหญิงเข้ามีส่วนร่วมในการวางแผน และเพื่อได้ผลลัพธ์ที่มีความเท่าเทียมกันทางเพศ การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนจะต้องนำความรู้ ทักษะ และความร่วมมือจากเพศหญิงมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในด้านการพัฒนาสุขภาวะ การศึกษา และความเป็นอยู่ การมีส่วนร่วมของผู้หญิงทำให้เกิดผลลัพธ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมและการผลิตที่สูงกว่าและบรรลุเป้าหมาย SDG อย่างมีประสิทธิภาพกว่า ประการสุดท้าย การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกระบวนการวางแผนและดำเนินการจะทำให้การตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนมีประสิทธิภาพและยั่งยืนกว่า
  • นำเอาประเด็นด้านความไม่เท่าเทียมทางเพศ ความเปราะบางของเพศหญิง และความยากจนมาร่วมพิจารณาในกระบวนการการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน เนื่องจากข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจ กฎหมาย และวัฒนธรรมประเพณีทำให้ผู้หญิงมีความเปราะบางและเสียเปรียบ ซึ่งการกำหนดนโยบายและออกแบบโครงการจะต้องคำนึงถึงข้อจำกัดเหล่านี้เนื่องจากแท้จริงแล้ว บทบาทของผู้หญิงทำให้ชุมชนและครัวเรือนมีความเป็นอยู่ที่ดีซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจของชุมชน การใช้กลยุทธ์ เทคโนโลยี และการปฏิบัติการของโครงการจะต้องคำนึงถึงลักษณะความแตกต่างทางเพศอยู่เสมอ ในอนาคตข้างหน้า แผนงาน Nationally Appropriate Mitigation Actions and National Adaptation Plans (ซึ่งตั้งขึ้นภายใต้ United Nations Framework Convention on Climate Change) จะเปิดโอกาสให้มีการพัฒนานโยบายและโครงการรับมือต่อภาวะโลกร้อนในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อเพศหญิงและคนยากจน ซึ่งจะทำให้ความพยายามในการตั้งรับปรับตัวขยายผลไปในวงกว้าง
  • นำมุมมองด้านเพศภาวะเข้ามากำหนดกลไกการสนับสนุนด้านการเงินในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อให้ระบบการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนนั้น ลักษณะความแตกต่างทางความต้องการของเพศมีความสำคัญมาก และจะต้องนำมาพิจารณาในการออกแบบกลไกการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ เพื่อช่วยลดข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของเพศหญิงในโครงการพัฒนาต่างๆ เราจะต้องตั้งเกณฑ์ด้านเพศภาวะเพื่อการกำหนดงบประมาณ วัตถุประสงค์ และการประเมินผลโครงการด้วย (จบ)

Social Share