THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Mike Hulme
วันที่ 14 สิงหาคม 2015
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย mikehulme.org
อ้างอิง https://www.researchgate.net/publication/284133935

บทนำ
ภาวะโลกร้อนคือปรากฏการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และการเมืองที่เปลี่ยนแปลงแนวความคิดของเราที่มีต่อตนเองและสังคมมนุษย์บนโลกใบนี้

ดังนั้นจึงเป็นกรณีตัวอย่างของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ประสบการณ์ส่วนตัว และจินตนาการของมนุษย์ที่เกิดปฏิสัมพันธ์กันในบริบททางสังคมที่ซับซ้อนและแปรเปลี่ยนตลอดเวลา

ดังที่ Lucien Boia ได้บรรยายไว้ในหนังสือ Weather in the Imagination ว่า “ภาวะโลกร้อนและภาวะโลกเย็นเป็นปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ แต่การต่อกรกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงหรือการคาดคะเนเอาก็ตาม เป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมและสังคม

ตามความหมายนี้ ประวัตศาสตร์และอุตุนิยมวิทยาจึงมีความสอดคล้องกัน” ตัวอย่างเช่น แนวคิดเรื่องภาวะโลกร้อนกระตุ้นให้เกิดคำจำกัดความของคำว่า Anthropocene ซึ่งกำหนดตำแหน่งของยุคธรณีวิทยาใหม่ไว้ว่ากิจกรรมของมนุษย์มีอิทธิพลที่สำคัญต่อความเป็นไปของดาวเคราะห์โลก

คำจำกัดความเช่นนี้ทำให้แนวคิดของโลกตะวันตกที่แบ่งแยกวัฒนธรรมออกจากธรรมชาติโดยสิ้นเชิงมาอย่างยาวนานนั้นไม่สมเหตุผลอีกต่อไป

ในหนังสือเรื่อง Why We Disagree about Climate Change: Understanding Controversy, Inaction and Opportunity (Hulme 2009) ของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าได้พิจารณาแนวทางต่างๆ ที่คนเราคิดและตอบสนองภาวะโลกร้อนโดยใช้บริบททางวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ศาสนา ความกลัว ความเสี่ยง การพัฒนา และการเมือง

ข้าพเจ้าให้ความเห็นว่าแนวคิดเรื่องภาวะโลกร้อนได้รวบรวมความหมาย อุดมคติ ค่านิยม และเป้าหมายที่แตกต่างกันไว้ด้วยกัน “ความหมายของมันแตกต่างไปตามผุ้รับสารที่แตกต่างกันในบริบท สถานที่ และเครือข่ายที่แตกต่างกัน”

ข้าพเจ้าเขียนหนังสือเล่มนี้ในฤดูหนาวปี 2007/8 แปดปีหลังจากที่สิ่งต่างๆ ในการเมืองเรื่องสภาพภูมิอากาศได้เปลี่ยนแปลไปมากมายจากภาวะโลกร้อน แต่หัวใจสำคัญของหนังสือของข้าพเจ้ายังคงไม่เปลี่ยน

เราจะต้องเปิดเผยสาเหตุที่สำคัญที่เราไม่เห็นด้วยกับการตอบสนองต่อภาวะโลกร้อนก่อนที่เราจะหาแนวทางที่สร้างสรรค์ในการดำเนินการทางการเมืองใดๆลงไป

ข้าพเจ้าต้องการสืบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ในหนังสือของข้าพเจ้าโดยการตั้งคำถามต่อไปนี้

ทำไมภาวะโลกร้อนจึงกลายเป็นแนวคิดที่แบ่งแยกผู้คน และมันบอกอะไรเราได้บ้างเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และอนาคต?

ภาวะโลกร้อนหมายถึงอะไรสำหรับผู้คนกลุ่มต่างๆ? และหากไม่คำนึงถึงความเห็นที่ต่างกันแล้ว เราจะใช้แนวคิดเรื่องภาวะโลกร้อนเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างไร?

นาย Michael Dove ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาระบุว่าในอดีตคนเรามิได้ศึกษาเรื่องภูมิอากาศและการกระทำโดยมนุษย์โดยแยกส่วนออกจากกัน แต่เป็นปัจจัยที่เป็นเหตุและผลซึ่งกันและกัน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชนชาติส่วนใหญ่แล้ว ภูมิอากาศและการกระทำโดยมนุษย์เป็นสองสิ่งที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

สิ่งที่จะกำหนดอนาคตของมนุษย์ได้แก่ภูมิอากาศและการกระทำโดยมนุษย์เองร่วมกัน ไม่ใช่สิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว

ในโลกตะวันตก แนวความคิดที่ว่าภาวะโลกร้อนเกิดจากการกระทำของมนุษย์ได้นำพาให้ประชากรของตนหันมาทำความใกล้ชิดสนิทสนมกับภูมิอากาศอีกครั้ง

หากเรื่องนี้เป็นความจริงก็แสดงว่าการทำนายสภาพภูมิอากาศในอนาคตโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เนื่องจากกิจกรรมชองมนุษย์นั้นก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางศีลธรรมและจินตนาการอยู่เสมอ

ดังนั้นการสร้างข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์หรือลงมติผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับธรณีฟิสิกส์ชีวภาพของระบบภูมิอากาศโลกจึงมีข้อจำกัดมากเกินไปที่จะนำมาใช้จริง

ข้าพเจ้าได้พัฒนาแนวทางการสืบสวนข้อเท็จจริงเป็นจำนวนสี่แนวทาง

แนวทางแรกได้แก่ความเสี่ยงในอนาคตที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่มาก ถึงแม้ว่าวิทยาศาสตร์จะสรุปว่ามนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ก็ยังขาดการทำนายรูปแบบของภูมิอากาศในอนาคต

แนวทางที่สองได้แก่ผู้คนด่วนสรุปความจากข้อเท็จจริงก่อนจะได้ดำเนินการทางการเมืองในโลกแห่งความเป็นจริง ข้อเท็จจริงไม่ได้พูดได้ด้วยตัวของมันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอนาคตของมนุษย์และสภาพภูมิอากาศโลกที่ยังขาดความชัดเจนอยู่

แนวทางที่สาม เนื่องจากผู้คนตัดสินข้อเท็จจริงของภาวะโลกร้อนโดยแตกต่างกันไป เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของนโยบายรับมือความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนในอนาคตก็จะมีความซับซ้อนและขัดแย้งกันในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะได้รับการออกแบบจากมุมมอง ระบบคุณธรรม และสวัสดิภาพของมนุษย์ที่แตกต่างกัน

แนวทางสุดท้ายได้แก่การจะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ยังคงเป็นความท้าทายทางการเมืองอยู่ นโยบายและแนวปฏิบัติจะสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมที่แตกต่างกันของผู้มีอำนาจหน้าที่ที่จะประเมินความเสี่ยงและกระทำตามความต้องการของตน

ดังนั้น ‘การก้าวไปข้างหน้า’ ในเรื่องภาวะโลกร้อนจึงกลายเป็นการลงทุนโดยอ้อม แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อให้การเมืองสามารถทำงานได้อย่างสร้างสรรค์และทำให้นโยบายสามารถขับเคลื่อนไปได้ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของผู้คน

ความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนยังคงไม่ชัดเจน
การศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นการบอกความจริงแก่เราเพียงด้านเดียว หรือไม่บอกอะไรอย่างอื่นนอกจากความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับอนาคต อนาคตที่มนุษย์ไม่สามารถทำนายได้

เนื่องจากความรู้ที่เรามีเกี่ยวกับผลลัพธ์จากการมีปฏิสัมพันธ์ของโลกกายภาพนั้นไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีความคลุมเครือจากการกระทำโดยมนุษย์

การกระทำที่สักแต่ว่ากระทำไปเพื่อตอบสนองการคาดเดาการเปลี่ยนแปลงในอนาคตก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะไปเปลี่ยนแปลงรูปแบบของอนาคตที่คาดเดาไว้เช่นกัน ไม่ว่านักวิจัยด้านภาวะโลกร้อนจะใช้ความพยายามอันสูงส่งสักเพียงใด หรือการประเมินความรู้ในระดับสากลอย่างรายงาน IPCC จะก้าวหน้าเช่นไร อนาคตก็ยังเป็นสิ่งที่ยากจะทำนาย

มติของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนจึงมีขีดจำกัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การลงมติด้วยคะแนนเสียงเห็นพ้องต้องกันเป็นจำนวน “ร้อยละ 97.1” ที่ใช้กันแพร่หลายเป็นเพียงขอบเขตความเชื่อที่ยอมรับกันในหมู่ผู้เชี่ยวชาญว่ามนุษย์มีอิทธิพลที่สำคัญต่อสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงในอนาคตต่อสังคมและระบบนิเวศที่เกิดจากอิทธิพลของมนุษย์นั้นเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป

ข้าพเจ้าเคยเขียนไว้ในงานเขียนชิ้นอื่นเกี่ยวกับอันตรายของการลดทอนความสำคัญของภาวะโลกร้อนและการพูดเกินจริงเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนในการทำนายอนาคตของสังคมและระบบนิเวศโดยขาดบทวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในหลายๆแง่มุม

หรือเราอาจพูดได้ว่าการกระทำของมนุษย์ต่อชั้นบรรยากาศโลกกำลังเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงของสังคมและสิ่งแวดล้อมจากอย่างหนึ่งไปสู่อีกอย่างหนึ่ง

ภาษาที่ใช้ในการอธิบายความเสี่ยงเป็นปัจจัยหนึ่งที่รายงาน IPCC นำมาใช้อย่างเห็นได้ชัดเจนรายงานการประเมินฉบับที่ 5 เล่มของคณะทำงานชุดที่ 2 ที่เกี่ยวกับผลกระทบและทางเลือกในการปรับตัว

นาย Chris Field ซึ่งเป็นหัวหน้าร่วมของคณะทำงานชุดนี้ได้อธิบายว่าหนึ่งในผลลัพธ์จากการเลือกใช้ภาษาในการรายงานก็คือการ “บรรยายลักษณะของภาวะโลกร้อนว่าเป็นความท้าทายในการบริหารความเสี่ยงเมื่อเราเปิดประตูไปสู่ทางเลือกในการแก้ปัญหาที่มีอยู่มากมาย” เป็นเพราะว่าความคิดเห็นเกี่ยวกับ ‘ความเสี่ยง’ เมื่อร่วมกับความไม่แน่นอนและความเป็นนามธรรมแล้วจะเปิดช่องให้แก่การตัดสินใจทางศีลธรรม การเมือง เศรษฐกิจ ที่แตกต่างกัน และนำไปสู่แนวปฏิบัติที่แตกต่างเช่นกัน

นอกจากนี้ ภาษาที่ใช้อธิบายความเสี่ยงยังท้าทายการบรรยายเรื่องภาวะโลกร้อนที่ใช้กันทั่วไปที่นำมาใช้ได้เพียงบางส่วนหรือในกรณีที่เลวร้ายกว่านั้นคือไม่ได้เลย เนื่องจากความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตยังคงไม่มีความแน่นอนเช่นนี้ และการตีความเรื่องความเสี่ยงและนำไปปฏิบัติยังกระทำได้หลายแนวทาง เราจึงเริ่มที่จะเห็นว่าภาวะโลกร้อนมีความหมายที่แตกต่างกันไปในแต่ละคนและแต่ละสถานที่ และเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

การปฏิเสธความแตกต่างดังกล่าวโดยการเน้นย้ำถึงข้อจำกัด (ข้อจำกัดที่ตื้นแทนที่จะเป็นข้อจำกัดเชิงลึก) ทำให้มติของนักวิทยาศาสตร์นั้นไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

การตัดสินข้อเท็จจริง
‘ธรรมชาติ’ ไม่ควรตกเป็นเป้าหมายของการตัดสินใจทางการเมืองหรือศีลธรรมของเรา เช่นเดียวกับที่เราอาจเห็นตัวอย่างในความสัมพันธ์ระหว่างศีลธรรมทางเพศและการพัฒนา เนื่องจากการระทำของมนุษย์มักก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติอย่างเพิ่มมากขึ้นๆ

ดังนั้นจึงไม่มีคำว่า ‘ธรรมชาติ’ ที่ดำรงอยู่โดยอิสระจากการกระทำของมนุษย์ ถึงแม้ว่าความรู้ในเรื่อง ‘ข้อเท็จจริง’ ของภาวะโลกร้อนแต่เพียงด้านเดียวจะไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นหรือกำหนดการดำเนินการทางการเมืองในโลกแห่งความเป็นจริง

นาย R K Pachauri ซึ่งเป็นอดีตประธาน IPCC นั้นผิดอย่างมหันต์เมื่อกล่าวในรายงาน IPCC ฉบับที่ 5 ที่เผยแพร่ในเดือนพฤศจิกายน 2014 ว่า “สิ่งเดียวที่เราต้องการคือความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราเชื่อว่าเกิดจากความเข้าใจในศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก”

เพียงแค่ความเข้าใจในศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกนั้นไม่เพียงพอต่อการลงมือปฏิบัติ เมื่อ American Association for the Advancement of Science เรียกร้องให้มี ‘การดำเนินการทางการเมืองอย่างเด็ดขาด’ ต่อภาวะโลกร้อนบนพื้นฐานของ ‘สิ่งที่เรารู้’

สิ่งที่เกิดขึ้นได้แก่คำถามที่ว่าจะมีค่านิยมทางศีลธรรมและการเมืองที่มากมายและหลากหลายขนาดไหนที่จะนำมาใช้ในการกำหนดว่าอะไรคือ ‘การดำเนินการทางการเมืองอย่างเด็ดขาด’

สิ่งที่เราต้องลงมือทำเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนนั้นมิได้ระบุอยู่ในรายงาน IPCC ฉบับที่ 5 ภาวะโลกร้อนมิใช่เรื่องราวจากแง่มุมเดียวหรือแก้ได้ด้วยวิธีการเดียว

Hannah Arendt ได้อธิบายเหตุผลนี้ไว้เมื่อห้าร้อยปีที่แล้วในเรื่อง ‘สภาวะของมนุษย์’ สำหรับ Arendt แล้ว มนุษย์ทุกผู้นามย่อมทำการตัดสินข้อเท็จจริงก่อนที่จะลงมือดำเนินการทางการเมืองในโลกแห่งความเป็นจริง

“คำถามก็คือว่าเราต้องการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆไปในทิศทางนี้จริงหรือไม่ และคำถามข้อนี้ไม่สามารถใช้วิทยาศาสตร์มาตอบได้ เพราะเป็นคำถามทางการเมืองเป็นสำคัญ และดังนั้นจึงไม่สามารถให้นักวิทยาศาสตร์หรือนักการเมืองมืออาชีพมาตัดสินใจได้”

ก่อนที่เราจะทำการตัดสินใจ การกำหนดนิยามเป็นเรื่องที่สำคัญ ‘ข้อเท็จจริงคืออะไร?’ เนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้เราคิดถึงอนาคตและความรับผิดชอบของมนุษย์ที่มีต่ออนาคตดังกล่าว ดาราศาสตร์ แนวคิดเชิงอุดมคติ ความเชื่อ และวัฒนธรรมกลายเป็นสิ่งสำคัญและมีส่วนในการตัดสินใจ คุณสมบัติต่างๆเหล่านี้ของมนุษย์ที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันช่วยให้เราตัดสินข้อเท็จจริงได้ดีขึ้น

เพราะเพียงแค่ ‘เข้าใจศาสตร์แห่งภาวะโลกร้อน’ นั้นไม่เพียงพอ เราจะต้องเข้าใจความหมายของภาวะโลกร้อน และความสำคัญในเชิงศีลธรรมเพื่อตอบสนองภาวะโลกร้อนที่แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมต่างๆของแต่และชนชาติ

ดังนั้นการกำหนดนิยามจะต้องมาก่อนการลงมือทำ โดย Arendt ยังได้กล่าวไว้อีกว่า “มนุษย์นั้นสามารถดำรงชีพและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้เพียงเพราะว่าเราสามารถสื่อสารความหมายซึ่งกันและกันได้”

มีการกล่าวถึงความหลากหลายของนิยามที่เกิดจากแนวคิดเรื่องภาวะโลกร้อนและองค์ประกอบที่แสดงนิยามนั้นในหนังสือสองเล่มได้แก่

เล่มแรกที่เขียนโดย Candis Callison ในชื่อ ‘How Climate Change Comes to Matter: the Communal Life of Facts’

เล่มที่สองซึ่งเขียนโดย Philip Smith และ Nicholas Howe ในชื่อ ‘Climate Change as Social Drama’

เนื่องจากมีหลายนิยามสำหรับคำว่าภาวะโลกร้อน (Climate Change) ดังนั้นอาจเป็นประโยชน์กว่าถ้าเราคิดถึงคำว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ (Climate Change) ในฐานะที่เป็นอนุนามมัย หรือการกล่าวถึงส่วนย่อยที่มีลักษณะเด่นของสิ่งนั้นๆ มากล่าวแทนสิ่งที่ต้องการกล่าวถึงทั้งหมด (เช่นเรียกเรือใบห้าสิบลำว่าเป็นใบเรือห้าสิบใบ เป็นต้น)

ดังนั้น มีสิ่งใดหรือความคิดใดที่อาจเปลี่ยนแปลงความหมายของคำว่าภาวะโลกร้อน? มีความเป็นไปได้ที่มากมายแต่ข้าพเจ้าจะยกตัวอย่างสักสี่ประการ

ภาวะโลกร้อนคือ ‘สังคมแห่งความเสี่ยง’

จากแรงบันดาลใจจากงานเขียนของ Ulrich Beck และ Anthony Giddens แนวคิดสมัยใหม่ของภาวะโลกร้อนนี้ได้ให้นิยามแก่ภาวะโลกร้อนว่าเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและเป็นตัวกำหนดวินัยของผู้คนในปัจจุบัน

ผู้แต่งทั้งสองท่านได้เข้าถึงภาวะโลกร้อนจากมุมมองของสังคมสมัยใหม่ที่มองอนาคตมากกว่าจะให้ความสำคัญกับอดีต

ส่วน Giddens มองสังคมแห่งความเสี่ยงนั้นคือสังคมที่กังวลอยู่กับความเสี่ยงและคาดเดากันไปว่าจะบรรเทาความเสี่ยงนั้นได้

อย่างไรในปัจจุบัน นาย Ulrich Beck อธิบายว่า :

“สังคมแห่งความเสี่ยงหมายถึงสังคมที่อดีตมีความสำคัญน้อยลงในการกำหนดปัจจุบัน โดยมีอนาคตเข้ามาแทนที่ ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ยังไม่มีตัวตนและยังเป็นจินตนาการที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำในปัจจุบัน การประเมินความเสี่ยงคือแส้ที่คอยฟาดโบยเราให้อยู่ในที่ทางที่ถูกต้อง ยิ่งคนเรามีความกลัวต่ออนาคตมากเท่าไร ก็จะยิ่งเชื่อข่าวที่นำเอาความเสี่ยงมาโหมกระพือให้เป็นดราม่ามากขึ้นเท่านั้น”

ภาวะโลกร้อนและอนาคตที่น่ากังวลกลายเป็นสิ่งที่ควบคุมปัจจุบัน

ความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนถูกสื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ภาวะโลกร้อนกลายเป็นความคาดเดาที่ต้องการเครื่องมือทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจใหม่ๆมาบริหารความเสี่ยง

ภาวะโลกร้อนคือ ‘ทุนนิยม’

ข้าพเจ้าขอแนะนำหนังสือเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนอีกเล่มหนึ่งเพื่อให้ผู้อ่านใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้ในสงครามอุดมคติ ดังนั้นภาวะโลกร้อนจึงเป็นอนุนามมัยของความชั่วร้ายของระบบทุนนิยมโลก หนังสือของ Naomi Klein ในชื่อ ‘This Changes Everything: Climate versus Capitalism’ ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ได้ดี โดย Klein ได้บรรยายอย่างชัดเจนถึงบทบาทของภาวะโลกร้อนที่มีต่อเธอ ใจความว่า

“… ฉันได้ศึกษาศาสตร์แห่งภาวะโลกร้อน … ที่อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ”

ภาวะโลกร้อนมีบทบาทในด้านนี้เช่นกันสำหรับผู้ที่มองโลกในแบบสังคมอุดมคติ เช่นที่ Suzanna Jeffrey ได้เขียนไว้ใน International Socialism ว่า :

“พวกเราที่ต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงควรแน่ใจว่าได้ใช้เครื่องมือทางการเมืองในการต่อสู้กับความคลุมเครือภาวะโลกร้อน โดยไม่ใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว

ศัตรูที่แท้จริงคือระบบทุนนิยมซึ่งให้ความสำคัญแก่ผลกำไรเหนือชีวิตผู้คนนับพันล้านและสิ่งแวดล้อม …

และพันธมิตรที่แท้จริงคือผู้คนนับล้านที่กำลังทำงานหนักทั่วโลกและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับระบบที่ตั้งหน้าทำกำไรโดยไม่สนใจสภาวะทางสิ่งแวดล้อมของโลก”

ภาวะโลกร้อนคือ ‘ความสูญเสียทางธรรมชาติ’

ความหมายที่สามของภาวะโลกร้อนได้แก่ความสูญเสียทางธรรมชาติ หนังสือขายดีของ Bill McKibbin ในชื่อ ‘The End of Nature’ เป็นงานเขียนชิ้นแรกๆที่บรรยายภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดผลกระทบที่แตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม โดยกล่าวถึงตำนาน Edenic ที่ไว้อาลัยให้แก่โลกธรรมชาติที่สาบสูญ ภาวะโลกร้อนกัดกินสิ่งที่เป็นพื้นฐานของโลกอุดมคติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และบรรยายไว้ว่า “ประวัติศาสตร์มนุษยชาติได้รับการจัดกลุ่มตามปัญหาของภูมิภาคต่างๆ …

ราวกับว่ามีบางสิ่งหรือบางคนกำลังพยายามทำลายพลังธรรมชาติที่ขับเคลื่อนโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันกับที่ได้บรรยายไว้ใน UK’s Camp for Climate Action (2008) ว่า :

“เมื่อไม่นานมานี้เองเราเคยรู้ว่าช่วงเวลาไหนของปีเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการเพาะปลูก … เมื่อไรที่ใบไม้จะกลายเป็นสีส้ม เมื่อไรที่เราจะได้ปั้นหุ่นหิมะ เสียงนกคุกคูร้องบอกเราว่าฤดูใบไม้ผลิกำลังจะมาถึง เหล่านี้คือความแน่นอนของชีวิต … แต่มาตอนนี้นกคุกคูหายไป และดูเหมือนว่ารูปแบบต่างๆของธรรมชาติได้ผิดเพี้ยนสับสนไป …

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่เราจะต้องไม่มองข้ามความสำคัญของระบบนิเวศที่จะกำหนดชะตากรรมของคนรุ่นลูกหลานในอนาคต”

ดังนั้น ภาวะโลกร้อนจึงทำให้สิ่งที่เคยคิดกันว่าเป็นความแน่นอนกลายเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพภูมิอากาศหรือความบริสุทธิ์ของธรรมชาติที่แยกจากสังคมมนุษย์โดยสิ้นเชิง ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเช่นนี้สอดคล้องกับแนวคิด ‘สรรพสิ่งกำลังล่มสลาย’ ของนักเขียนชาวไนจีเรียที่ชื่อ Chinua Achebe และยังสะท้อนให้เห็นในโครงการ Dark Mountain ซึ่งเป็นโครงการรณรงค์ทางวัฒนธรรมโดยสหราชอาณาจักรที่เกิดขึ้นจากความล้มเหลวในการเจรจา COP15 ณ กรุงโคเปนฮาเก้นในปี 2009 โดยหนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการคือนาย Paul Kingsnorth ได้กล่าวไว้ว่า :

“Dark Mountain กลายเป็นโครงการรณรงค์ทางวัฒนธรรมที่แพร่หลายไปในผู้คนที่เลิกเชื่อแนวความคิดเกี่ยวกับอนาคแบบเดิมและต้องการไขความลับของตำนานที่มนุษย์ตั้งตนเป็นจุดศูนย์กลางและแยกตัวออกจากธรรมชาติและพยายามจะควบคุมโลก”

ภาวะโลกร้อนคือ ‘กิจกรรมของมนุษย์’

อนุนามมัยที่สี่ของภาวะโลกร้อนได้แก่แนวคิดเรื่องกิจกรรมของมนุษย์ที่แพร่ไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดยุคใหม่ที่กรรวมพลังของกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทำให้เกิดผลกระทบที่ถาวรต่อโลกกายภาพ

ตามที่ปรากฏในบทความว่า “กิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อม” เมื่อภาวะโลกร้อนเป็นอนุนามมัยหนึ่งของกิจกรรมของมนุษย์ จึงกลายเป็นแนวคิดที่เปิดเผยความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ “ทำให้เกิดการวางแผนจัดการเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญโดยใช้กระบวนการอภิปรายโต้แย้งแบบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมของมนุษย์นั้นก็มีหลากหลายรูปแบบ ในบางรูปแบบ ภาวะโลกร้อนให้ความหวังเรื่องอนาคตที่สดใสแก่เราด้วยกิจกรรมของมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่และให้ผลลัพธ์เชิงบวก

ส่วนอีกบางรูปแบบก็ยังคงเป็นก้าวเดินที่อันตรายสำหรับมนุษยชาติอยู่

ชุดเป้าหมายที่ขัดแย้งกันในตัวเอง
เมื่อภาวะโลกร้อนได้รับการตัดสินในแนวทางที่กล่าวมาแล้วและอื่นๆ เราก็จะเริ่มมองเห็นแนวทางปฏิบัติที่ต้องลงมือกระทำ นิยามของภาวะโลกร้อนที่แตกต่างกันไปเหล่านี้ทำให้เกิดเป้าหมายที่หลากหลายและบางเป้าหมายก็มีความขัดแย้งกัน
ดังนั้น เป้าหมายของการดำเนินการบรรเทาปัญหาโลกร้อนจึงมีตั้งแต่เพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นไปอีกเกิน 2 องศา เพื่อปกป้องอารยธรรมหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายเหล่านี้มาจากเหตุผลที่ดีทั้งนั้นเพราะเกิดขึ้นจากแนวคิดเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนจากมุมมองที่แตกต่างกัน ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากค่านิยมทางการเมือง วิชาการ และคุณธรรมที่แตกต่างกัน เป็นเป้าหมายที่เกิดจากการตัดสินข้อเท็จจริงด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน

ดังนั้นเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนจึงไม่สามารถบรรลุได้โดยใช้การดำเนินการทางการเมืองโดยเด็ดขาดเพียงด้านเดียวได้ แต่จะต้องมีความหลากหลายและมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเพราะว่าเป้าหมายเหล่านั้นเกิดขึ้นจากมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่างกันของมนุษย์

ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้ Luers และ Sklar ประกาศว่า “.. การมุ่งมั่นไปที่เป้าหมายเดียวอย่างเช่นการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นไปอีกเกิน 2 องศากลับกลายเป็นอุปสรรคในกระบวนการร่างนโยบายเพราะเป็นการ … สร้างกรอบให้แก่นิยามของภาวะโลกร้อนให้เป็นความเสี่ยงที่เป็นนามธรรมและไกลตัว ทำให้นโยบายดังกล่าวขาดความตระหนักถึงค่านิยมและการประเมินความเสี่ยงที่แตกต่างกันของคนในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก”

คำประกาศนี้ยังได้รับการเห็นพ้องจาก Victor และ Kennel ผู้ซึ่งเสนอให้หันมาใช้เป้าหมายที่หลากหลายแทนที่จะมุ่งเน้นไปที่การรักษาระดับอุณหภูมิโลกแต่เพียงอย่างเดียว

ความเสี่ยงทางสภาพภูมิอากาศจะต้องนำมาพิจารณาร่วมกับความเสี่ยงด้านอื่นๆ และประเด็นด้านสวัสดิภาพ ตัวอย่างเช่น การริเริ่มนำเอาชุดวัตถุประสงค์ที่มีความเชื่อมโยงกันมาใช้ใน Sustainable Development Goals (SDGs)
นอกจากนี้ แนวทางการตั้งเป้าหมายแบบใหม่นี้ยังปรากฏในรายงาน IPCC ฉบับที่ 5 โดยคณะที่งานชุดที่ 2 อีกด้วย
การใช้กลไกทางการเมืองเพื่อก้าวไปข้างหน้า

ดังนั้น หลังจากที่เราให้ความสำคัญต่อความหลากหลายของเป้าหมายแล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคืออะไร?
แนวทางหนึ่งได้แก่โครงการสร้างวิสัยทัศน์ทางสิ่งแวดล้อมโลกโดยสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการกำหนดรูปแบบของอนาคตที่เราต้องการ

โครงการนี้เกิดขึ้นจากการประชุมสุดยอด ณ กรุงริโอเดอจาเนโรในปี 2012 มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวม “… ข้อเสนอของผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก … เพื่อนำมาสร้างวิสัยทัศน์ที่เป็นองค์รวมให้สหประชาชาติและผู้นำประเทศต่างๆ นำไปใช้วางแผนพัฒนาสำหรับปี 2015 ที่จะเป็นแผนซึ่งมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกคน ทว่าเราจะสามารถวิสัยทัศน์ที่เป็นองค์รวมดังกล่าวจากความเห็นของประชาชนทุกคนได้จริงหรือไม่?


ในการวิเคราะห์กระบวนการสร้างวิสัยทัศน์ที่คล้ายคลึงกันโดยรัฐบาลของประเทศเดนมาร์กในปี 2009 เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุม COP15 ณ กรุงโคเปนฮาเก้นนั้น Blue และ Medlock พบว่ามีความเสี่ยงในการกระทำเช่นนั้นเหมือนกัน
การวิเคราะห์การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ใช้ในกระบวนการสรุปได้ว่า การรักษาความหลากหลายของนิยามและความเห็นต่างทางวิสัยทัศน์ในการอภิปรายยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และได้ระบุว่า : “… ยิ่งเราใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นมาตรฐานและสากลมาใช้กำหนดนโยบายมากเท่าไร เรายิ่งต้องทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมมีความหลากหลายมากขึ้นเท่านั้น” เพราะการกำหนดรูปแบบของอนาคตรูปแบบเดียวโดยกลุ่มคนที่หลากหลายนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ภาพประกอบโดย Mike Hulme

นอกจากนั้น การกำหนดรูปแบบของอนาคตด้วยการปฏิบัติตามคำประกาศของชนชั้นปกครองและคนร่ำรวยในเรื่อง ‘สิ่งที่เราต้องลงมือทำ’ เช่นแนวทางที่ Earth League ได้นำเสนอใน Earth Day iในเดือนเมษายน 2015 กลุ่ม Earth League ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ นักสิ่งแวดล้อม และนักวิชาการชั้นนำ 18 คนได้เสนอให้รัฐบาลของประเทศต่างๆในการประชุม COP21 ณ กรุงปารีสในปี 2015 ให้พิจารณา ‘องประกอบสำคัญ 8 ประการในการแก้ปัญหาโลกร้อน’
ในข้อเสนอนั้นพบว่ามีความชัดเจนอย่างยิ่งในสิ่งที่ต้องกระทำ โดยใช้วลีเช่น ‘งบประมาณด้านคาร์บอนจะต้อง …’, ‘เราจะต้อง …’, ‘ทุกประเทศจะต้อง …’, ‘เราจะต้องใช้ …’, ‘เราจะต้องใช้มาตรการดูดซับคาร์บอน …’, ‘เราจะต้องตระหนักว่า …’ จะเห็นได้ว่านักวิชาการ 18 คนนี้พูดเป็นเสียงเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในสังคมโลก

ทั้งสองตัวอย่างของการ ‘กำหนดเป้าหมายอนาคต’ จบลงที่การจำกัดความหลากหลาย นิยาม และเป้าหมายที่ได้จากแรงบันดาลใจเรื่องภาวะโลกร้อน และจบลงที่กระบวนการทางการเมืองที่เป็นทางลัด การโต้แย้ง และเจรจาในนามของความจำเป็น (ทางวิทยาศาสตร์)

แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าของเสนอแนวทางที่แตกต่างออกไป ได้แก่ การลงทุนทางสังคม การเมือง และภูมิปัญญาเพื่อจัดตั้งเงื่อนไข 4 ประการเพื่อรับรองและจัดการเรื่องพหุนิยมที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน แถลงการณ์ดังกล่าวประกอบด้วยข้อเสนอของ Earth League และจุดยืนของข้าพเจ้า ซึ่งไม่ได้เกิดจาก ‘ความเข้าใจศาสตร์แห่งภาวะโลกร้อน’ หรือกระบวนการสร้างวิสัยทัศน์ที่เป็นองค์รวมจากล่างขึ้นบน และไม่ใช่การกระโดดไปสู่บทสรุปที่ว่ารัฐบาลของนานาประเทศจะต้องทำอะไรบ้าง แต่เป็นการดึงดูดความสนใจเข้าหาความสำคัญของกระบวนการที่ถูกต้องเหมาะสม

ประการแรก วิทยาศาสตร์จะต้องทำหน้าที่ของมัน กล่าวคือ องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนมิใช่ความแน่นอนที่จะทำให้เกิดความต้องการการเปลี่ยนแปลงหรือเป็นคำวินิจฉัยว่าสิ่งที่ต้องทำเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนคืออะไร “วิทยาศาสตร์จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางประชาธิปไตย มิใช่เป็นสิ่งทดแทน” สำหรับภาวะโลกร้อนแล้ว เรื่องนี้คือการเปลี่ยนแปลงของมุมมอง องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มิได้อยู่ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน ดังที่พระสันตะปาปาฟรานซิสเคยตรัสไว้ว่า ‘เราควรให้ความเคารพต่อวิทยาศาสตร์ แต่ไม่จำเป็นจะต้องเชื่อฟังมันเสียทั้งหมด’

ประการที่สอง เราต้องสนับสนุนการเกิดนิยามและคำอธิบายใหม่ๆเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่หลากหลายขึ้น เพราะทำให้เกิดแรงบันดาลใจและเป็นการแสดงออกทางความเชื่อและค่านิยมที่จะก่อให้เกิด “เสียงจากศีลธรรม” ที่ Naomi Klein โหยหา ซึ่งรวมไปถึงเรื่องราวและตำนานทางศาสนาที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่หรือเรื่องราวใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เราตัดสินข้อเท็จจริงของภาวะโลกร้อนได้ตามที่ Clingerman ได้กล่าวไว้ว่าจุดแข็งของศาสนาและสถาบันศาสนาทั่วโลกทำให้เสียงธรรมคำสอนเดินทางไปในบทสนทนาของผู้คน

ประการที่สาม เราควรลงทุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตัวแทนทางการเมืองเพื่อให้สามารถทำงานได้ในสภาพแวดล้อมที่มีความขัดแย้งสูงทั้งในระดับรัฐและเหนือรัฐและใต้รัฐ การดำรงชีพอยู่ในภาวะโลกร้อนก็เหมือนกับการอยู่ในโลกแห่งประชาธิปไตยที่เจ็บปวด ที่ซึ่งนโยบายที่ดีถูกปฏิเสธโดยผู้มีอำนาจทางการเมืองที่ได้อำนาจมาเพราะมีเสียงที่ดังในสังคม
จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องจัดหาช่องทางให้ประชาชนมีเสียงที่ดังขึ้นกว่าในห้องประชุมโดยใช้สื่ออินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ทำการตัดสินใจทางการเมืองได้ดีขึ้น ได้แก่สภาพแวดล้อมที่มีความเชื่อถือในตัวองค์กร การใช้อำนาจอย่างมีความรับผิดชอบ และการให้ความเคารพต่อความเห็นต่าง ตัวแทนที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ประการที่สี่ ข้าพเจ้าขอเสนอให้มีการลงทุนในการอบรมประชาชนที่มีคุณธรรม ผู้ที่จะลงมือปฏิบัติงานเพื่อผลลัพธ์ที่ตอบสนองวัตถุประสงค์ที่เหมาะสมเท่านั้น ตัวอย่างเช่น การดึงความสนใจของผู้คนเข้าหาคุณค่าในเชิงบวกของกิจกรรมของมนุษย์โดยผ่านทางการฝึกอบรม

แน่นอนว่าเป้าหมายของนโยบายแก้ไขภาวะโลกร้อนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญและจะต้องเชื่อมต่อความเชื่อ วัฒนธรรม และค่านิยมทางการเมืองที่แตกต่างกันไปของแต่ละชนชาติให้ชัดเจน ในสังคมประชาธิปไตยในอุดมคตินั้น เราจะต้องให้ความสำคัญต่อความหลากหลายของเป้าหมาย และใช้กระบวนการทางการเมืองเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างเป้าหมาย (ถ้ามี)
แต่การลงทุนที่สำคัญที่สุดได้แก่การวางโครงสร้างที่เหมาะสมสำหรับผู้คนที่จะอาศัยและทำการตัดสินใจตามแนวทางประชาธิปไตยได้แก่ การสร้างพื้นฐานที่ถูกต้องมั่นคงแก่กระบวนการทางการเมือง เพื่อให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจอย่างมีความรับผิดชอบ และเสียงของผู้ไม่มีอำนาจได้รับการรับฟัง

ผลลัพธ์นั้นสำคัญ แต่กระบวนการก็สำคัญเช่นเดียวกัน เราไม่สามารถทำนายหรือควบคุมผลของกระบวนการทางการเมืองและศีลธรรมของมนุษย์ได้ เช่นเดียวกับที่ไม่สามารถควบคุมสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนได้


Social Share