THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย Greenpeace International & Institute for Agriculture and Trade Policy
วันที่ 1 พฤศจิกายน2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย The Cosmonaut/Wikimedia Commons

ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นของปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์จากผลกระทบราคาก๊าซธรรมชาติทำให้รัฐบาลต่างก็กังวลเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดวิกฤติอาหารโลก

ในขณะเดียวกัน งานวิจัยก็แสดงให้เห็นว่าปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน คิดเป็นสัดส่วน 1 ในทุกๆ 40 ตันของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่บรรยากาศโลก

ในขณะที่การประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศครั้งที่ 26 ของสหประชาชาติกำลังดำเนินอยู่ โลกจะต้องเลิกเสพติดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ พลังงานฟอสซิล และสารเคมี

งานวิจัยชิ้นใหม่โดยนักวิทยาศาสตร์สามท่านที่ทำงานให้กับ Greenpeace, IATP และ GRAIN ได้ประมาณการผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลกจากการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ในห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดนับตั้งแต่การปรุงดินจนถึงการผลิตขึ้นเป็นครั้งแรก และพบว่า การผลิตที่ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ปล่อยก๊าซคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 2.4 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่บรรยากาศโลกทั้งหมด

ทำให้อุตสาหกรรมเคมีกลายเป็นผู้รับผิดชอบรายใหญ่ต่อภาวะโลกร้อน ห่วงโซ่การผลิตที่ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นปริมาณถึง 1,250 ล้านตันในปี 2018 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 21.5 ของปริมาณก๊าซที่ปล่อยโดยภาคเกษตร (5,800 ล้านตัน) เมื่อเทียบกับ 900 ล้านตันจากภาคการบินพาณิชย์

ก๊าซเรือนกระจกจากปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์เกิดขึ้นหลังการใส่ปุ๋ยในดินและระเหยสู่บรรยากาศในรูปของไนตรัสออกไซด์ ซึ่งสามารถทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 265 เท่า

และร้อยละ 40 ของก๊าซเรือนกระจกจากปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์มาจากภาคการผลิตและขนส่งในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงเพื่อการผลิต

จะเห็นได้ว่าปริมาณก๊าซทั้งหมดที่ปล่อยจากการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์นั้นเป็นที่ชัดเจนว่านี่คือสาเหตุหลักที่จะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน

ตั้งแต่ยุค 1960 เป็นต้นมา การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วคิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 800% และงานวิจัยชิ้นใหม่นี้ก็ยืนยันว่าแนวโน้มเช่นนี้จะรุนแรงขึ้นมากหากเราไม่ดำเนินการหยุดยั้งการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์โดยเร่งด่วน และประมาณการว่าการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์จะพุ่งสูงขึ้นอีกถึง 50% ภายในปี 2050

นอกจากนี้ งานวิชัยชิ้นดังกล่าวยังพบว่าก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากปุ๋ยไนโตรเจนมีความเข้มข้นสูงในบางพื้นที่ ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากจะเป็นจีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป แต่ถ้าคิดเป็นอัตราการปล่อยก๊าซต่อประชากร 1 คนแล้ว ประเทศที่ปล่อยก๊าซสูงสุดได้แก่ประเทศที่ส่งออกสินค้าการเกษตรมากได้แก่สหรัฐอเมริกา แคนาดา อาร์เจนติน่า บราซิล ปารากวัย อุรุกวัย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ และยูเครน และปริมาณก๊าซที่ปล่อยสู่บรรยากาศมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี รวมถึงทวีปอาฟริกา ที่ซึ่งมีอัตราการใช้ปุ๋ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

การปฏิวัติที่ไม่ค่อยจะเขียวนัก

ตั้งแต่ยุค 1960 เป็นต้นมา ได้มีความพยายามที่จะจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคีโดยองค์กรอย่างธนาคารโลก รัฐบาลของประเทศต่างๆ ผู้บริจาค และธุรกิจการเกษตรเพื่อสนับสนุนการนำเอาโมเดลการเกษตรที่เป็น “การปฏิวัติเขียว” มาใช้

โมเดลนี้ได้รับการพัฒนาจากพื้นฐานการปลูกธัญพืชอย่างเช่นข้าว ข้าวสาลี และข้าวโพดที่มีลักษณะอ้วนสั้น (กึ่งแคระ) ที่ให้ผลผลิตสูงเมื่อได้รับปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมาก

ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาล แนวทางการปลูกพืชไร่เช่นนี้ได้เข้ามาแทนที่ความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นและกระตุ้นให้เกิดการใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมหาศาลและต้องใช้เพิ่มขึ้นทุกปีเพื่อให้ผลผลิตคงที่

ในปัจจุบัน ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ในอัตราส่วนเพียงร้อยละ 20-30 ของปริมาณที่ใช้ทั้งหมดที่มีส่วนช่วยในการผลิตเป็นอาหาร ส่วนที่เหลือจะไหลลงแหล่งน้ำและก่อมลพิษในสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศโลก ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่ยังทำให้สาหร่ายในทะเลเติบโตอย่างรวดเร็วจนสิ่งมีชีวิตอื่นๆไม่สามารถอยู่อาศัยได้

บางคนอาจพูดว่า “การปฏิวัติเขียว” ทำให้การผลิตอาหารสามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นได้ แต่การเพาะปลูกที่จำกัดอยู่เพียงธัญพืชไม่กี่ประเภทและใช้สารเคมีในปริมาณมากก็ก่อให้เกิดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ตามมา

นอกจากนี้ยังไม่เป็นไปตามแนวทางที่นานาชาติได้ตกลงกันว่าจะเพิ่มการผลิตอาหารโดยไม่เพิ่มการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาอาหารมีความอ่อนไหวต่อราคาปุ๋ยเคมี (และพลังงาน) ที่มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น

ในปัจจุบัน การเกษตรเคมีเช่นนี้ถูกควบคุมโดยบริษัทเอกชนเพียงไม่กี่บริษัทที่มีพลังในการล็อบบี้ทางการเมือง ยกตัวอย่างเช่นบริษัท Yara ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของนอร์เวย์

การล็อบบี้ดังกล่าวเป็นการรับประกันว่าเกษตรกรจะต้องใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์กันต่อไปเป็นระยะเวลาหลายสิบปี โดยการใช้โฆษณาชวนเชื่อว่าเป็น “การเกษตรที่แม่นยำต่อเป้าหมาย” หรือ “การเกษตรอัจฉริยะ”

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ชิ้นล่าสุดไม่พบว่า ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์มีส่วนทำให้เกิดประสิทธิภาพเช่นนั้น การสำรวจในหลายภูมิภาคของโลกไม่พบว่าผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มสูงขึ้นหลังการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ ตัวอย่างเช่นในประเทศแคนาดา สุดท้ายแล้วเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ “4R Nutrient Stewardship Programme” ของบริษัทปุ๋ยก็ต้องใช้ปุ๋ยในปริมาณที่มากขึ้นและได้ประสิทธิภาพที่น้อยลง และอัตราการปล่อยก๊าซจากปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ของแคนาดาก็เพิ่มสูงขึ้นในสองสามปีที่ผ่านมาจนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อประชากรสูงที่สุด

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์คือการแยกการเลี้ยงปศุสัตว์ออกจากไร่นา ปัจจุบันปศุสัตว์มักถูกเลี้ยงโดยการให้อาหารสัตว์ (ซึ่งผลิตในประเทศอื่น) ในโรงเลี้ยง ทำให้เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์แทนที่จะใช้ปุ๋ยคอกแบบดั้งเดิมที่ให้ธาตุไนโตรเจนแก่ดิน วงจรนี้ทำให้ดินขาดสารอาหาร จึงนำมาสู่ความต้องการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ในที่สุด

เราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร?

ถ้าเราจะแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างได้ผล เราจะต้องนำระบบเกษตรนิเวศเข้ามาแทนที่เกษตรอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ในปริมาณมาก

เกษตรนิเวศไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี แต่พึ่งพาระบบอาหารท้องถิ่นที่รวมเอาระบบการเลี้ยงปศุสัตว์และอาหารสัตว์ไว้ด้วยกัน เราจะต้องปลูกธัญพืชให้มีความหลากหลายและเติบโตได้โดยไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี แทนการปฏิวัติเขียว

ในปัจจุบัน บริษัทที่ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชส่วนใหญ่มักจะไม่เพาะเมล็ดที่มีคุณสมบัติดังกล่าวเนื่องจากเป็นบริษัทที่ขายปุ๋ยเคมีควบคู่กันไปด้วยและให้การสนับสนุนแนวทางปฏิวัติเขียว

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะต้องเกิดจากเกษตรกรที่เพาะเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นและเติบโตได้จากสารอาหารที่มีในท้องถิ่นเอง

นอกจากนี้ยังต้องมีการฟื้นฟูองค์ความรู้ด้านการทำฟาร์มอินทรีย์และการบำรุงดินที่สูญหายไปและแบ่งปันไปในหมู่เกษตรกรเพื่อนำมาใช้แทนการทำเกษตรที่พึ่งพาสารเคมี

การเลิกทำเกษจรที่พึ่งพาสารเคมีจะต้องทำควบคู่ไปกับการเลิกเลี้ยงปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรม ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ในปริมาณมากเท่านั้น แต่ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมหาศาลซึ่งทำลายป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ

การเติบโตของเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันมิใช่อุปสรรคสำคัญของการเลิกใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ แต่เราจะต้องต่อต้านการล็อบบี้หน่วยงานรัฐโดยบริษัทผู้ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อริเริ่มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีและหน่วยงานรัฐผู้สนับสนุนกำลังโฆษณาชวนเชื่อว่า เราสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้โดยใช้ปุ๋ยที่พอดีกับความต้องการของพืชโดยไม่ต้องมีการยกเครื่องโมเดลเกษตรอุตสาหกรรมและระบบอาหารโลกใหม่ทั้งหมด ซึ่งไม่เป็นความจริง การบิดเบือนข้อเท็จจริงเช่นนี้ใช้เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากการเพิ่มการขายปุ๋ยในทวีปอาฟริกา

อุตสาหกรรมการเกษตรมีผลประโยชน์อยู่ในปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์เป็นมูลค่าสูงมาก ตั้งแต่บริษัทผลิตปุ๋ยอย่าง Yara ไปจนถึงบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์และสารกำจัดศัตรูพืชอย่าง Bayer และ Syngenta และบริษัทผลิตอาหารสัตว์และเนื้อสัตว์อย่าง Cargill และ Bunge

ตลาดปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ในปัจจุบันมีมูลค่าถึง 7 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่าบริษัทเหล่านี้จะปกป้องอุตสาหกรรมของตนอย่างถึงที่สุดในการกำหนดนโยบายทุกระดับ รวมถึง COP 26

ทว่ามนุษย์และสิ่งแวดล้อมจะต้องมาก่อนผลกำไร เราจะต้องหยุดยั้งการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์เสียตั้งแต่ตอนนี้หากต้องการชะลอภาวะโลกร้อนและวิกฤติสิ่งแวดล้อม (จบ)

อ้างอิง https://grain.org/…/6761-new-research-shows-50-year…


Social Share