THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย Greenpeace International & Institute for Agriculture and Trade Policy
วันที่ 17 มีนาคม 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Free the Soil

บริษัทเอกชนหลายแห่งกำลังเร่งแผนการ “ฟอกเขียว” อย่างแข็งขันเพื่อปกป้องกิจกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนจากการรณรงค์ต่อต้าน หลังจาก 5 ปีที่แทบไม่ทำอะไรอย่างมีนัยสำคัญเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ได้สัญญาไว้ข้อตกลงปารีส

หลายรายหันมาให้สัญญาในเรื่อง “net zero” แทนเพื่อลดแรงต้านจากสังคมที่จะทำให้แหล่งทุนหยุดสนับสนุนตน

การเปลี่ยนแปลงวิธีการฟอกเขียวนี้แทบไม่ได้ช่วยให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศลดลง แต่สร้างความเสี่ยงที่ชาวบ้านจะถูกยึดที่ดินทำกินและป่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในซีกโลกใต้

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาโลกร้อนที่ถูกต้องก็จะถูกลดความสำคัญลงไป จนกว่าชุมชน ประชาชนจะมีสิทธิในการควบคุมแหล่งทุน ที่ดิน นโยบายของรัฐ และการดำเนินการของบริษัทได้

ตั้งแต่การลงนามในข้อตกลงปารีสในปี 2015 เป็นต้นมา บริษัทชั้นนำของโลกจำนวน 500 บริษัทมีเพียง 67 บริษัทที่ปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส นอกจากนี้ยังไม่มีบรรษัทการเงินชั้นนำใดที่นำเอานโยบายสนับสนุนการลดพลังงานฟอสซิลมาใช้

ดังนั้นบริษัทพลังงานจึงยังได้รับทุนสนับสนุนเพิ่มขึ้นทุกปีตั้งแต่ข้อตกลงปารีส คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.7 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯภายในเวลาเพียงห้าปี

ความล่าช้า เฉยเมยของกลุ่มทุนทำให้ภาคส่วนต่างๆ เริ่มหันมาให้ความสนใจบทบาทของภาคธุรกิจนี้ที่มีต่อภาวะโลกร้อน

รายงาน IPCC ประมาณว่าระบบอาหารปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 37 ของทั้งหมด แต่มีเพียงบริษัทเดียวจาก 35 บริษัทผลิตเนื้อสัตว์และอาหารนมที่ปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส

บริษัทเหล่านี้ก็ยังรับเงินทุนจากบรรษัทการเงินชั้นนำของโลกกันต่อไป รวมถึงบรรษัทที่ออกมาประกาศว่าจะพิจารณาการให้ทุนสนับสนุนอย่างมีความรับผิดชอบด้วย

เป็นการง่ายสำหรับธุรกิจเหล่านี้ที่จะหลบเลี่ยงความรับผิดชอบในภาวะที่รัฐและสังคมยังขาดหลักฐานที่เป็นรูปธรรมเรื่องผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่จะดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลต่อรัฐบาลและบริษัทเอกชนเข้าร่วมขบวนการ รวมถึงบรรษัทการเงินที่ใช้เงินสะสมเกษียณอายุของลูกค้ามาลงทุนในภาคธุรกิจที่ก่อมลภาวะ

ต่อมาการระบาดของไวรัสโควิด 19 ได้หยุดการเติบโตของสังคมเสรีนิยมใหม่ และรัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉิน และประธานาธิบดีทรัมป์ผู้ไม่ยอมรับว่ามีภาวะโลกร้อนอยู่จริงหมดวาระลง ทำให้รัฐบาลหันมาเอาจริงเอาจังกับบริษัทผู้ปล่อยมลภาวะโดยการกำหนดนโยบายและกฎหมายที่จะลดอำนาจและกำไรของภาคธุรกิจลง

ภาคธุรกิจตอบโต้กลับอย่างฉับไวด้วยการสร้างภาพลักษณ์องค์กรใหม่ โดยออกมาประกาศว่าจะปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสและบรรลุเป้าหมายลดก๊าซภายในปี 2050 กันอย่างแข็งขัน

แต่เมื่อเราดูแผนปฏิบัติการเพื่อบรรลุเป้าหมาย net zero ของบริษัทเหล่านี้ก็พบว่าไม่มีอะไรมากไปกว่าข้อเสนอที่จะทำการซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้อื่นเพื่อที่จะได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไปตามที่ต้องการ

แผนการเช่นนี้ไม่สมเหตุผลและจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประเทศในซีกโลกใต้ เพราะที่ดินจะถูกนำมาใช้ในการปลูกป่าเพื่อขายคาร์บอนเครดิตให้อุตสาหกรรมในประเทศพัฒนาแล้ว

ธุรกิจในทุกภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการเงิน กำลังโปรโมตแผน net zero ของตนกันอย่างเร่งด่วนเพื่อเลี่ยงกฎหมายที่นำมาบังคับใช้กับธุรกิจของตน

ตัวอย่างเช่น บรรษัทการเงินจำนวน 545 รายที่บริหารทรัพย์สินมูลค่า 5.2 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ได้ออกแคมเปญ ‘Climate Action 100+’ เพื่อ “ผลักดันให้บริษัทผู้ปล่อยก๊าซรายใหญ่” บรรลุเป้าหมาย net zero ภายในปี 2050

ในขณะเดียวกันบริษัทเหล่านี้ก็ทำโน้มน้าวรัฐบาลอย่างหนักที่จะชะลอกฎหมายควบคุมการสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทที่ปล่อยก๊าซ โดยให้เหตุผลว่าตนเองเป็นผู้ที่จะตัดสินใจได้ดีที่สุดว่าควรจะให้ทุนสนับสนุนแก่โครงการลดโลกร้อนโครงการใด

เพราะถึงแม้ว่าการมีส่วนร่วมจากภาคการเงินจะเป็นเพียงการฟอกเขียว แต่ก็สามารถบังคับให้ภาคธุรกิจเปิดเผยตัวเลยการปล่อยก๊าซและตั้งเป้าหมาย net zero ได้ด้วยการนำทุนมาเป็นข้อต่อรอง

นี่คือเหตุผลหลักว่าทำไมบรรดาบริษัทโดยเฉพาะในภาคอาหารและการเกษตรจึงหันมาตั้งเป้าหมาย net zero ของตนเอง
Net Zero ยังดีกว่าการไม่ทำอะไรเอาเสียเลย (จริงหรือ?)

BlackRock เป็นกลุ่มบรรษัทการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ถือหุ้นทั้งในธุรกิจพลังงานและการเกษตร และถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ร้ายตัวสำคัญในเรื่องการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่ BlackRock ก็พยายามสร้างภาพให้ตนเองเป็นผู้นำด้านการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้แก่ประชาคมยุโรปในเรื่องการเงินที่ยั่งยืน

BlackRock ได้ประกาศว่าตนคาดหวังให้ “ภาคธุรกิจวางแผนปฏิบัติการที่จะช่วยให้อุณหภูมิผิวโลกสูงขึ้นอีกไม่เกิน 2°C และบรรลุเป้าหมาย net zero ภายในปี 2050”

แต่อะไรคือสิ่งที่บริษัทที่รับทุนจาก BlackRock ต้องทำเพื่อบรรลุเป้าหมาย “net zero”?

หนึ่งในบริษัทที่ BlackRock ลงเงินทุนมูลค่ามหาศาลได้แก่เนสต์เล่ ซึ่งเป็นบริษัทอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลกและหนึ่งในผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลกนอกภาคพลังงาน และก็เป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ตั้งเป้าบรรลุ net zero ภายในปี 2050 ทั้งที่ยังดำเนินธุรกิจแบบเดิมอย่างเต็มกำลัง

ในเดือนธันวาคมปี 2020 เนสต์เล่ได้ริเริ่มแผน “Net Zero Roadmap” เพื่อลดการปล่อยก๊าซลงร้อยละ 50 ภายในปี 2030 และบรรลุเป้าหมาย net zero ภายในปี 2050 ซึ่งการปล่อยก๊าซส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นในห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตน้ำนม เนื้อสัตว์ กาแฟ น้ำมันปาล์ม น้ำตาล และถั่วเหลือง โดยคิดเป็นสัดส่วนปริมาณก๊าซเรือนกระจกถึงครึ่งหนึ่งที่สวิตเซอร์แลนด์ปล่อยทั้งหมด

แผนการแก้ไขปัญหาโลกร้อนของเนสต์เล่ไม่มีเรื่องของการลดการขายสินค้าที่ทำจากวัตถุดิบที่กล่าวมาข้างต้น ในทางตรงข้ามบริษัทได้ตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายผลิตภัณฑ์จากนมและเนื้อสัตว์ไว้ที่ร้อยละ 68 ภายในปี 2020 ถึงปี 2030 และอ้างว่าการเติบโตที่สวนทางกับการแก้ไขปัญหาโลกร้อนเช่นนี้จะได้รับการชดเชยโดยการใช้เทคโนโลยีและวิธีการทำฟาร์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นการทดแทน

เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตอาหารอย่างมโหฬารนี้ เนสต์เล่ได้ประกาศลงทุนมูลค่า 1.2 พันล้านดอลล่าร์ภายในสิบปีข้างหน้าในกระบวนการ “Regenerative Agriculture” ได้แก่การซื้อหุ้นมูลค่า 8 พันล้านดอลล่าร์คืนจาก BlackRock และผู้ลงทุนรายอื่นๆภายในปี 2020

ทว่าการปฏิวัติแนวทางการทำฟาร์มดังกล่าวนั้นคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.5 ของมูลค่าเงินปันผลประจำปี

นอกจากเงินลงทุนเพียงเล็กน้อยแล้ว แผน Regenerative Agriculture ของเนสต์เล่ก็ยังมีความคลุมเครือในทางปฏิบัติอยู่มาก

ในเรื่องของผลิตภัณฑ์จากนมและเนื้อสัตว์นั้น เนสต์เล่เสนอว่าจะทำการวิจัยอาหารสัตว์เพื่อหานวัตกรรมการผลิตอาหารสัตว์ที่ทำให้ก๊าซมีเธนที่สัตว์เรอออกมาลดลง

ส่วนในเรื่องของกาแฟและโกโก้ก็ให้ชาวไร่นำวิถีวนเกษตรมาใช้ แต่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ที่เนสต์เล่นมาใช้ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถลดก๊าซได้จริง

ไม่มีแผนที่ชัดเจนว่าจะช่วยให้ชาวไร่นำแผน Regenerative Agriculture มาใช้ได้อย่างไร และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

ในความไม่ชัดเจนหลายๆด้านเช่นนี้ เนสต์เล่สรุปว่าท้ายที่สุดแล้วบริษัทจะหวังพึ่งการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อบรรลุเป้าหมาย net zero ได้

“เราเห็นศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากบรรยากาศแทนที่การปล่อยที่เราไม่สามารถลดได้” เนสต์เล่ระบุไว้ในแผน
เนสต์เล่ประมาณการไว้ว่าจะต้องดูดซับคาร์บอนปริมาณ 13 ล้านตันต่อปีไปจนถึงปี 2030 ซึ่งเป็นปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณที่ประเทศเล็กๆ อย่างลัตเวียปล่อยออกมา และอาจเพิ่มสูงกว่านี้ถ้าโครงการ “Regenerative Agriculture” ไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ

หนึ่งในโครงการนั้นได้แก่โครงการ 4R Nutrient Stewardship Programme เพื่อทดลองลดก๊าซจากปุ๋ยไนโตรเจนในประเทศแคนาดา ผลการทดลองพบว่าชาวไร่ต้องใช้ปุ๋ยในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อผลลัพธ์ที่ลดลง

แนวทาง (ไม่) แก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติ
แผนการลดก๊าซของเนสต์เล่ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเลียนแบบเป้าหมาย net zero ของบริษัทในภาคพลังงานหรือการเกษตรอื่นๆในสองสามปีที่ผ่านมา คือยังคงตั้งเป้าให้ยอดขายผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยมลพิษในกระบวนการผลิตเติบโตอย่างต่อเนื่องและชดเชยโดยการดูดซับคาร์บอนกลับลงดินด้วยการรักษาป่าไม้ไม่ให้ถูกตัดทำลายและปลูกต้นไม้ใหม่ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม โดยเรียกวิธีนี้ว่า “แนวทางแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติ”

ภาพประกอบโดย Santiago Armengod

แนวทางแก้ปัญหาโดยธรรมชาตินี้เกิดต่อยอดมาจากโครงการเรดพลัสของสหประชาชาติ ซึ่งไม่เพียงแต่ประสบความล้มเหลวทั้งในด้านการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมหรือการลดก๊าซ แต่ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นด้วยการกีดกันและไล่ที่ทำกิน ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ บริษัทเอกชน และชาวบ้าน

หนึ่งในกลุ่มบริษัทที่นำเรดพลัสมาใช้ในยุคแรกๆได้แก่ South Pole Group ซึ่งตอนนี้รับดำเนินการด้านแผนการซื้ขายคาร์บอนเครดิตให้แก่เนสต์เล่ กลุ่ม South Pole นี้เป็นผู้นำในโครงการเรดพลัสบนเนื้อที่กว่า 7,849 ตารางกิโลเมตรในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศซิมบับเว โครงการดังกล่าวได้ซึ่งรับการสนับสนุนทุนจากหลายบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศที่ปลอดภาษียึดที่ทำกินของชาวบ้านมาใช้ในการปลูกต้นไม้

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ก็ประสบความสำเร็จในด้านที่ทำให้บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศสบรรลุเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยการปลูกต้นไม้ชดเชยการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่รัฐบาลจีน

กลุ่ม South Pole Group เป็นเพียงหนึ่งในหลายบริษัทที่สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านจากแนวทางการพัฒนาธุรกิจด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เนสต์เล่ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ซื้อเครดิตดังกล่าวจ้างให้ South Pole พัฒนาโมเดลเพื่อ “คำนวณความสามารถในการดูดซับคาร์บอนของที่ดินเพื่อการเกษตร ” ในขณะเดียวกัน South Pole ก็ทำสัญญาซื้อขายกับผู้ขายคาร์บอนเครดิตอย่างเช่น Miro Forestry ของอังกฤษเพื่อปลูกต้นไม้ในอาฟริกาตะวันตกและนำเอาคาร์บอนเครดิตที่ได้ไปขายต่อ โดยอธิบายว่าเป็น “หนึ่งในธุรกรรมซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ใหญ่ที่สุด ” และทำกำไรจากทั้งสองด้านของธุรกรรมได้แก่ผู้ปลูกต้นไม้และผู้ปล่อยก๊าซด้วยการคำนวณปริมาณคาร์บอนและจัดให้เกิดดีลซื้อขายที่ประสบความสำเร็จ

อีกหนึ่งบริษัทที่โปรโมตแนวทางแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติได้แก่ SYSTEMIQ ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษ บริษัทที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนี้ก่อตั้งและบริหารงานโดยบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจระดับโลก McKinsey เพื่อรับผิดชอบโครงการพัฒนาธุรกิจยั่งยืนขนาดใหญ่ของยูนิลีเวอร์ในเมือง Davos เป็นเวลาสองปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2016 หนึ่งในโครงการย่อยของโครงการดังกล่าวได้แก่โครงการประสานประโยชน์ด้านอาหารและการใช้ที่ดิน ต่อมาโครงการย่อยดังกล่าวนี้กลายมาเป็นโครงการที่ใช้โปรโมต “แนวทางแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติ” ของบริษัท ทั้งโครงการพัฒนาธุรกิจยั่งยืนและโครงการประสานประโยชน์ด้านอาหารและการใช้ที่ดินนี้ได้รับทุนในการดำเนินงานจากรัฐบาลนอร์เวย์เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซในธุรกิจน้ำมัน ผู้ถือหุ้นของ SYSTEMIQ มีทั้งบุคคลสำคัญในวงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในระดับนานาชาติอย่าง Lord Nicholas Stern, Sir David King, Janez Potočnik และ Thomas Heller และมหาเศรษฐีผู้มีอิทธิพลอย่าง Jeremy Grantham, André Hoffman และ George Soros

การที่ภาคธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับ “แนวทางแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติ” เช่นนี้อาจจบลงเพียงการฟอกเขียวและหันเหความสนใจของมวลชนไปจากการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง แต่ถ้ามีบริษัทที่ดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย net zero อย่างจริงจังเพิ่มขึ้น ก็จะเกิดการรุกรานที่ทำกินของชาวบ้านและป่าชุมชนในซีกโลกใต้เพิ่มขึ้นเช่นกัน
การที่เนสต์เล่ออกมาประกาศว่าจะชดเชยการปล่อยก๊าซปริมาณ 13 ล้านตันต่อปีด้วย “แนวทางแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติ” นั้นจะต้องใช้การปลูกต้นไม้บนที่ดินถึง 4.4 หมื่นตารางกิโลเมตรต่อปี ส่วนบริษัทพลังงานสัญชาติอิตาลี Eni จะต้องใช้ต้นไม้มากกว่านี้ถึงสองเท่าไปจนถึงปี 2030 และได้วางแผนการปลูกต้นไม้บนพื้นที่กว่า 8.1 หมื่นตารางกิโลเมตรในอาฟริกาไปแล้ว เช่นเดียวกับบริษัทน้ำมัน Shell ซึ่งแผน net zero ของบริษัทรวมไปถึงการขุดเจาะน้ำมันที่มากขึ้นและใช้ “แนวทางแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติ” มากขึ้นเพื่อการชดเชยหรือคิดเป็นการปลูกต้นไม้บนที่ดิน 8.5 หมื่นตารางกิโลเมตรต่อปีไปจนถึงปี 2035

เมื่อรวมทั้งสามบริษัทเข้าด้วยกัน เราจะมีป่าเพิ่มขึ้นถึง 2 แสนตารางกิโลเมตรหรือคิดเป็นพื้นที่เทียบเท่าพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมดของประเทศมาเลเซียในทุกๆปี!

ทั้งหมดนี้เพื่ออะไร? ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครที่สามารถบรรลุเป้าหมาย net zero หรือการควบคุมปริมาณก๊าซที่ปล่อยไม่ให้เกินกว่าปริมาณที่ดูดซับได้ โดยไม่ลดการปล่อยก๊าซอย่างเป็นรูปธรรม และเมื่อแนวทางการชดเชยคาร์บอนก่อให้เกิดความขัดแย้งในภูมิภาคซีกโลกใต้ การแก้ปัญหาโลกร้อนก็จะไม่เกิดขึ้น

ตามรายงานของ La Via Campesina ซึ่งได้ร่วมมือกับภาคประชาสังคมอื่นๆระบุไว้ว่า เป้าหมาย net zero ที่ภาคธุรกิจนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายนี้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า “กลุ่มทุนไม่เคยมีความตั้งใจที่จะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง แต่จะใช้การฟอกเขียวมาบังหน้าเพื่อใช้พลังงานฟอสซิลกันต่อไป”

โครงการประสานประโยชน์ด้านอาหารและการใช้ที่ดิน : หน้ากากใบใหม่ของยาร่าและยูนิลีเวอร์

หนึ่งในการล้อบบี้ลับที่เฉลียวฉลาดมากที่สุดของธุรกิจอาหารและการเกษตรได้แก่โครงการประสานประโยชน์ด้านอาหารและการใช้ที่ดิน ที่ริเริ่มโดยบริษัทปุ๋ยยาร่าสัญชาตินอร์เวย์และยูนิลีเวอร์ ซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซรายใหญ่ในภาคอาหารและการเกษตร โดยการหนุนหลังจากรัฐบาลนอร์เวย์ โครงการนี้ได้ตั้งบริษัทเอกชนที่บริหารงานโดยอดีตผู้บริหารของแมกเคนซี่เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรประชาสังคมที่รับทุนจากภาคธุรกิจและองค์กรธุรกิจขึ้น ในปัจจุบัน โครงการประสานประโยชน์ด้านอาหารและการใช้ที่ดินและเครือข่ายของบริษัทภายใต้โครงการนี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในระดับนานาชาติด้านธุรกิจอาหารและภาวะโลกร้อน

ภาพประกอบ : Greenpeace France

โครงการประสานประโยชน์ด้านอาหารและการใช้ที่ดินตั้งตนเป็น “ชุมชนแห่งองค์กรและปัจเจก” ทว่าเป้าหมายสำคัญที่แท้จริงได้แก่การรักษาผลประโยชน์ของสองบริษัทผู้ก่อตั้ง โดยยูนิลีเวอร์ซึ่งเป็นผู้ซื้อน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลกได้ทำการโปรโมตกลยุทธ์การออกประกาศนียบัตรสำหรับการผลิตน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนเพื่อสร้างภาพให้ธุรกิจที่ไม่ยั่งยืนให้ดูเป็นความยั่งยืนเสีย ส่วนยาร่าซึ่งเป็นผู้ผลิตปุ๋ยไนโตรเจนรายใหญ่ที่สุดของโลก ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณ 1 ใน 50 ของปริมาณทั้งหมดที่โลกปล่อยจากการผลิตสินค้าประเภทนี้เพียงรายการเดียว ได้ออกแคมเปญสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ปุ๋ยไนโตรเจนว่าเป็นสิ่งที่จะช่วยลดโลกร้อนได้ โดยอ้างว่าทำให้เกษตรกรสามารถผลิตอาหารได้มากกว่าบนที่ดินที่เล็กลง จึงช่วยลดการรุกรานพื้นที่ป่าและลดโลกร้อน

ไม่น่าแปลกใจที่โครงการประสานประโยชน์ด้านอาหารและการใช้ที่ดินนี้จะใช้วิธีการออกประกาศนียบัตรสำหรับการผลิตทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพและลดการตัดไม้ทำลายป่าเป็นทางออกของปัญหาโลกร้อนในภาคเกษตร แต่ไม่ยอมลดการใช้พลังงานถ่านหินในกระบวนการผลิตอาหาร และคาดหลังจะได้รับค่าตอบแทนจากภาคธุรกิจในเรื่องการรักษาป่าไม้เพื่อเป็นการชดเชยการปล่อยคาร์บอนในกิจกรรมการผลิตของตน

ทั้งยาร่าและยูนิลีเวอร์ร่วมมือกันมานานในความพยายามที่จะขยายธุรกิจเพื่อการเกษตร ก่อนหน้าที่จะเกิดโครงการประสานประโยชน์ด้านอาหารและการใช้ที่ดินดังกล่าว ทั้งสองบริษัทเคยริเริ่มโครงการ Global Alliance for Climate Smart Agriculture ในปี 2014 โดยการสนับสนุนของนายจอห์น เคอรี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น และนายเดวิด นาบาร์โร ที่ปรึกษาเลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น ในการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ณ กรุงนิวยอร์ค โครงการดังกล่าวซึ่งประกอบด้วยสมาชิกกลุ่มเดียวกับสมาชิกของโครงการประสานประโยชน์ด้านอาหารและการใช้ที่ดินในปัจจุบันประสบความล้มเหลวในด้านการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็ไม่ได้เป็นวัตถุประสงค์หลักของโครงการ แต่เป็นการกีดกันแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนในภาคเกษตรที่แท้จริงอย่างระบบวนเกษตรและอธิปไตยทางอาหาร

โครงการเพื่อช่วยโลกที่แท้จริงจะไม่ได้รับทุนสนับสนุน
การฟอกเขียวบริษัทนี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจเท่าใดนัก งานวิจัยโดยที่ปรึกษาธุรกิจชิ้นหนึ่งเมือเร็วๆนี้ได้ข้อสรุปที่น่าละอายว่าในยี่สิบปีที่ผ่านมา โครงการเพื่อความยั่งยืนโดยภาคธุรกิจต่างๆประสบความล้มเหลวถึงร้อยละ 98 เนื่องจากเจ้าของโครงการจะไม่ยอมทำการใดๆที่จะส่งผลกระทบถึงผลกำไรของตน และจะต่อต้านแรงกดดันทั้งจากภาครัฐและชุมชนอย่างเต็มกำลัง และจะยอมทำการเปลี่ยนแปลงเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นแล้วเท่านั้น

ดังนั้น ก่อนที่เราจะยินดีไปกับข่าวที่ว่ามีหลายบริษัทในภาคธุรกิจยอมแพ้ต่อการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมและตกลงดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซ เราจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าการดำเนินการดังกล่าวมิได้เป็นเพียงผักชีโรยหน้าเพื่อซ่อนกิจกรรมการปล่อยก๊าซตามปกติไว้เบื้องหลัง เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว เป็นการยากมากที่ภาคธุรกิจจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้

ธุรกิจที่เราจะต้องจับตาดูอยู่เสมอได้แก่ภาคการเงิน เช่นบรรษัทการเงินอย่าง BlackRock หรือแม้แต่กองทุนเพื่อการเกษียณอายุก็ได้รับการก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ทุนแก่บริษัทผู้ปล่อยก๊าซรายใหญ่เหล่านี้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีเงินอยู่ในมือคนเหล่านี้ เงินนั้นก็จะไหลไปสู่ภาคธุรกิจเสมอ และสิ่งที่บริษัทต่างๆต้องทำเพื่อเข้าถึงกองทุนเหล่านี้ก็เพียงแค่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะบรรลุเป้าหมาย net zero แต่ผลที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ปริมาณการปล่อยก๊าซจะไม่ลดลงเท่านั้น แต่ยังก่อความเดือดร้อนให้แก่ชุมชนชาวบ้านที่มิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ผู้คนและสิ่งแวดล้อมไม่ได้ดีขึ้นจากการที่บรรษัทการเงินที่สำนึกรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อนและทำเพียงแค่การโยกย้ายเงินทุนจากบริษัทน้ำมันอย่าง Exxon ไปสนับสนุนบริษัทอาหารอย่าง Nestlé แทนและอ้างว่าได้ลดการสนับสนุนบริษัทพลังงานฟอสซิลและหันมาสนับสนุนบริษัทที่มีเป้าหมาย net zero แล้ว

การแก้ปัญหาที่แท้จริงจะต้องมาจากภาคประชาชน มิใช่ภาคธุรกิจ ในด้านการเกษตรและอาหาร มีชาวนาและผู้ผลิตรายย่อยเริ่มหันมาใช้แนวทางอธิปไตยทางอาหารและการแก้ปัญหาโลกร้อนที่ไม่ต้องพึ่งพาภาคธุรกิจ ซึ่งแน่นอนว่าเราจะไม่พบวิสัยทัศน์เช่นนี้ในโครงการประสานประโยชน์ด้านอาหารและการใช้ที่ดินของเนสต์เล่ ยูนิลีเวอร์ หรือ BlackRock

เราจะต้องร่วมมือกันยืนหยัดต่อต้านกระแสการฟอกเขียวของภาคธุรกิจ ปฏิเสธการแก้ปัญหาโดยวิธีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและกลไกสนับสนุนอย่างโครงการประสานประโยชน์ด้านอาหารและการใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นที่ตัวระบบ การเปลี่ยนไปใช้พลังงานอีกแบบหรือเทคโนโลยีอีกแบบเป็นเพียงการทำให้บริษัทย้ายไปสร้างความเสียหายที่อื่นจากที่เดิมเท่านั้น ขอให้เราลองนึกถึงที่ดิน แหล่งน้ำ และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติหรือ “โครงการประสานประโยชน์ด้านอาหารและการใช้ที่ดิน” รวมถึงการใช้พลังงานฟอสซิลที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตพลังงานชีวภาพ หรือการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำหรือพลังลมเพื่อนำพลังงานมาใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิลในอนาคต เราต้องหยุดลัทธิผลาญทรัพยากรธรรมชาติเช่นนี้ รวมถึงการผลาญทรัพยากรในอุตสาหกรรมการเกษตรและประมงด้วย

นอกจากนี้เรายังต้องต่อต้านการผูกขาดการลงทุน มิฉะนั้นเราไม่มีทางที่จะโยกย้ายทุนจากภาคพลังงานฟอสซิลไปยังพลังงานสะอาดได้ เนื่องจากบรรษัทการเงินมีหน้าที่นำกองทุนเกษียณอายุของแรงงานมาขายในรูปของหุ้นหรือพันธบัตร กองทุนเกษียณอายุนี้คิดเป็นสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของเงินทั้งหมดในระบบการเงินโลก และถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ไม่เพียงแต่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล แต่ยังเกี่ยวข้องกับการกระทำอันเลวร้ายอย่างการยึดที่ดินทำกินของชาวบ้าน และแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างสาธารณสุขให้เป็นเอกชน กองทุนเกษียณดังกล่าวซึ่งบริหารจัดการโดยบรรษัทการเงินเพียงไม่กี่บริษัทมีมูลค่าถึง 5 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งมากพอที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ แต่จะไม่ถูกนำมาใช้ในการแก้ปัญหาหากปล่อยให้อยู่ในมือของเอกชน

ปัญหาที่เราประสบอยู่ในปัจจุบันมิใช่การทำให้บริษัทอย่าง BlackRocks หรือ Nestlé หันมาลงทุนเพื่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อน แต่การทำให้ภาคประชาสังคมสามารถเข้าควบคุมกองทุนดังกล่าวและมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในปัจจุบันทั้งสองประการถูกควบคุมโดยภาคธุรกิจ


อ้างอิง https://grain.org/…/6634-corporate-greenwashing-net…


Social Share