THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย World Rainforest Movement
วันที่ 4 มกราคม 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Arbaro Fund

ความเชื่อผิดๆที่ว่าการปลูกต้นไม้ในระดับอุตสาหกรรมคือวิธีการแก้ปัญหาโลกร้อนนั้นเป็นโอกาสทองของกลุ่มทุนอย่าง Arbaro ที่นำเอาเงินทุนเพื่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อนไปใช้ในการปลูกป่าเชิงเดี่ยวที่ทำลายสิ่งแวดล้อม

สิ่งที่ตามมาคือความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน และชุมชนสูญเสียที่ทำกินและคุณภาพชีวิต

กองทุน Arbaro ก่อตั้งขึ้นในปี 2018 โดยสองบริษัทสัญชาติเยอรมันได้แก่ Finance in Motion และ Unique เพื่อลงทุนปลูกต้นไม้ในซีกโลกใต้ กองทุนนี้มีรายได้แล้วจากการขยายพื้นที่ป่าเชิงเดี่ยวเชิงเดี่ยวเป็นมูลค่านับล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ

ความเชื่อผิดๆ ที่ว่าการปลูกต้นไม้ชนิดเดียวเป็นจำนวนมากๆ จะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน ทำให้กลุ่ม Arbaro สามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาล

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนในลักษณะเดียวกันอย่าง Althelia Climate Fund และ Permian Global Fund อีกด้วย โดย Althelia Climate Fund มุ่งเน้นการทำกำไรจากการปลูกป่าเพื่อขายคาร์บอนเครดิต ส่วน Permian Global Fund นั้นตั้งขึ้นเพื่อการขายคาร์บอนเครดิตโดยเฉพาะ

เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนเหล่านี้และวิธีการโฆษณาชวนเชื่อให้มาก เหตุผลหนึ่งได้แก่กองทุนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้ม “การแก้ปัญหาแบบธรรมชาติ” ซึ่งไม่ต่างอะไรกับเรดพลัสที่เน้นการปลูกต้นไม้จำนวนมากเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งสร้างโอกาสอันงามให้แก่กองทุนอย่าง Arbaro ในการนำเงินทุนเพื่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อนไปใช้ในการปลูกป่าเชิงเดี่ยวที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และโกยกำไรเข้ากระเป๋าตนเอง

ในความเป็นจริงแล้ว กองทุนเหล่านี้มีไว้เพื่อสนับสนุนการกระทำอันเลวร้ายต่างๆ อาทิ การยึดที่ดินทำกินของชาวบ้าน ความรุนแรง และการก่อมลภาวะ และท้ายที่สุดแล้วคือภาวะโลกร้อน

ในเดือนมีนาคม ปี 2020 องค์กรภาคประชาสังคมกว่า 100 องค์กรรวมถึง WRM ได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการบริหารของ Green Climate Fund (GCF) เพื่อคัดค้านการสมัครขอทุนของ Arbaro แต่ไม่ประสบผล โดย GCF อนุมัติเงินทุนมูลค่า 25 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯแก่ Arbaro

ในเดือนเดียวกันนั้น Arbaro ได้นำเสนอแผนการลงทุนแก่ GCF ในการปลูกต้นไม้จำนวนมากในหลายประเทศอย่างเซียร์ร่า ลีโอน กาห์น่า อูกานดา เอธิโอเปีย เปรู เอกวาดอร์ และปารากวัย คิดเป็นพื้นที่ป่าทั้งสิ้น 750 ตารางกิโลเมตร

นอกจากนี้ ทีมบริหารของ Arbaro ได้ลงทุนส่วนตัวมูลค่า 4 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯในการนี้อีกด้วย และยังสมัครขอทุนอีก 196 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ จากกองทุนและธนาคารต่างๆ รวมถึงธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาอย่างเช่น FMO ของเนเธอร์แลนด์และ GIZ ของเยอรมนี นักลงทุนรายย่อย และกองทุน Green Climate Fund

กลยุทธ์ซื้อขายหุ้นนอกตลาด : หมายถึงเงินที่มากขึ้นสำหรับเจ้าของกองทุน!

Arbaro อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่าเป็น ‘กองทุนซื้อขายหุ้นนอกตลาด’ ซึ่งหมายความว่าผู้ที่ซื้อหุ้นจะได้เป็นเจ้าของส่วนหนึ่งของหุ้น กองทุนนี้ทำหน้าที่รวบรวมทุนจากผู้ลงทุนรวมถึงทุนของตนเองด้วยจำนวนหนึ่งเพื่อลงทุนใน Portfolio Company

ในกรณีของ Arbaro นั้นมุ่งเน้นการลงทุนในบริษัทปลูกต้นไม้ในซีกโลกใต้ โดยการเข้าซื้อบริษัทโดยใช้เงินจากกองทุน Green Climate Fund และนักลงทุนรายย่อยอื่นๆ (และเงินทุนมูลค่า 4 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯจากผู้บริหารของ Arbaro เอง)

วิธีการขยายกิจการของกองทุนอย่าง Arbaro มักใช้การกู้ยืมเงินจากธนาคารผ่านทาง Portfolio Company แทนการใช้เงินจากกองทุนของตนเอง ส่วนสินทรัพย์ของ Portfolio Company นั้นถูกนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืม

โดยการกู้ยืมเงินก้อนใหญ่เช่นนี้ทำให้เกิดภาระดอกเบี้ยที่สูง ทำให้กำไรระยะสั้นของ Portfolio Company ลดลงอย่างมากจึงทำให้เสียภาษีเงินได้น้อยลง ทำให้รัฐบาลของประเทศที่บริษัทเหล่านี้เข้าไปปลูกต้นไม้เก็บภาษีได้น้อย แต่นักลงทุนจะหันไปทำกำไรจากการซื้อขายหุ้นนอกตลาดได้มากขึ้น

นอกจากนี้ กลยุทธ์เช่นนี้ยังเป็นหลักประกันว่านักลงทุนอย่างกองทุน Arbaro จะได้รับผลตอบแทนที่สูง แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยงให้แก่การลงทุนด้วยเช่นกัน เนื่องจาก Portfolio Company แบกรับภาระดอกเบี้ยไว้สูงมาก
คำร้องขอกู้ยืมเงินจากกองทุน Green Climate Fund โดย Arbaro ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า Portfolio Company จะรับภาระหนี้สินจำนวนมากในขณะที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลน้อยมาก

กองทุน Arbaro มีเป้าหมายที่จะดำเนินกิจการนานกว่า 15 ปี และเมื่อถึงเวลานั้น ผู้ถือหุ้นนอกตลาดหวังว่า Portfolio Company จะเริ่มทำกำไร ในขณะเดียวกันรายได้ที่ผู้ก่อตั้งกองทุน Arbaro จะได้รับจากกองทุนจะไม่แปรผันไปตามความสามารถในการทำกำไรของ Portfolio Company

คำร้องขอกู้ยืมเงินจากกองทุน Green Climate Fund โดย Arbaro บ่งชี้ว่า ถ้าบริษัทได้รับเงินทุนมูลค่า 200 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ผู้จัดการกองทุนจะได้รับค่าธรรมเนียมการบริหารเงินทุนสูงถึง 26.7 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลประกอบการกองทุน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 570-660% เมื่อเทียบกับเงินลงทุนตั้งต้น 4 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯของผู้บริหารกองทุน (570% ในกรณีที่เงินลงทุนตั้งต้น 4 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯนั้นสูญหมด หรือ 660% ในกรณีที่ผลการลงทุนเป็นเสมอตัว)

นอกจากนี้ผู้บริหารของ Arbaro ยังคิดค่าธรรมเนียมการบริหาร Portfolio Company แยกต่างหากอีกด้วย
เมื่อกองทุนดำเนินกิจการจนถึงเป้าหมาย 15 ปี ทั้ง Arbaro และนักลงทุนจะไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าความก้าวหน้าของโครงการปลูกป่าเพื่อชดเชยคาร์บอนเป็นอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้วิธีการคิดประสิทธิภาพในการดูดซับคาร์บอนของ Arbaro ยังใช้ค่าเฉลี่ยในระยะยาวของปริมาณการดูดซับคาร์บอน ซึ่งขึ้นอยู่กับความอยู่รอดของต้นไม้ที่ปลูก การประเมินเช่นนี้จะดำเนินไปเป็นเวลา 24 ปี ซึ่งการดูดซับคาร์บอนจะเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วง 9 ปีสุดท้ายของโครงการ ซึ่งเกิดขึ้นหลังการลงทุนได้สิ้นสุดลงไปแล้ว

การขยายตัวของการปลูกป่าในระดับอุตสาหกรรม
โครงการดังกล่าวได้รับการเสนอแก่ Green Climate Fund โดยตั้งชื่อว่า ‘กองทุนเพื่อป่าที่ยั่งยืน’ โดยอ้างว่า “ป่าที่ยั่งยืนจะช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมในหลายๆ ด้าน รวมถึงการดูดซับคาร์บอน การป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ”

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ธุรกิจนี้คือการขยายพื้นที่ป่าเชิงเดี่ยวอย่างรวดเร็วในซีกโลกใต้ และผลที่ได้รับก็คือความเสียหายต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่น กองทุน Arbaro อ้างว่าโครงการของตนได้รับการรับรองจากสถาบัน Forest Stewardship Council (FSC) ทว่าการรับรองดังกล่าวมิได้กล่าวถึงความขัดแย้งเรื่องที่ทำกินกับชาวบ้านที่เกิดขึ้นจากโครงการแต่อย่างใด

รายงานประจำปี 2020 ของ Arbaro ระบุว่าเป้าหมายปี 2021 ของกองทุนได้แก่การริเริ่มโครงการใหม่ๆ จนถึงปัจจุบันนี้ Arbaro ได้ลงทุนไปแล้วในสามประเทศได้แก่ กาห์น่า เซียร์ร่า ลีโอน และปารากวัย และกำลังวางแผนที่จะลงทุนในเอกวาดอร์

เมื่อต้นปี 2020 ที่ผ่านมา Arbaro และรัฐบาลประเทศเอกวาดอร์โดยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อการลงทุนปลูกป่าในเอกวาดอร์คิดเป็นมูลค่า 25 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ในเดือนตุลาคมปี 2021 Arbaro ยังได้เสนอต่อ Green Climate Fund ในการลงทุนเพื่อปลูกต้นไม้เพิ่มในสองประเทศได้แก่โคลอมเบียและกัวเตมาลา ซึ่งหมายความว่า Arbaro สามารถนำเงินทุนจาก GCF มาใช้ในประเทศเหล่านี้ได้อีก

โครงการ Miro Forestry ในประเทศกานาและเซียร์ร่า ลีโอนนั้น กองทุน Arbaro ได้ริเริ่มการปลูกป่าในระดับอุตสาหกรรมซึ่งดำเนินการโดยบริษัทสัญชาติอังกฤษชื่อ Miro Forestry Developments ไปแล้ว และเช่นเดียวกับ Arbaro ที่ Miro ได้รับทุนจากกองทุนสาธารณะซึ่งส่วนมากมาจากธนาคารเพื่อการพัฒนาในยุโรปอย่าง FinFund ของฟินแลนด์ CDC ของอังกฤษ และ FMO ของเนเธอร์แลนด์ ในปี 2018 Miro รับเงินลงทุนก้อนแรกคิดเป็นมูลค่า 20 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ จาก Arbaro

ตัวแทนของ Miro ในกานาและเซียร์ร่า ลีโอนนั้นไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินแต่อย่างใด แต่จะใช้วิธีการเช่าแทน โดยสัญญาเช่าจะประกอบไปด้วยเงื่อนไขที่กำหนดให้นำกำไรที่ได้จากการขายไม้ซุงมาจ่ายค่าเช่าที่ดิน ในปี 2019 ผลประกอบการของ Miro ประสบภาวะขาดทุนจากการสูญเสียทรัพย์สินทางชีวภาพ (ต้นไม้) จากไฟป่า ความแล้ง และความขัดแย้งในเรื่องที่ดินกับชาวบ้าน

รายงานประจำปี 2020 ของ Arbaro ระบุว่า “ในขณะที่สวนป่ากำลังเติบโตและขยายตัวออกไปเรื่อยๆ บริษัทได้เริ่มขั้นตอนในระดับอุตสาหกรรม” นอกจากนี้ยังได้กล่าวอีกว่า “ในปี 2020 เราได้เริ่มทดลองใช้โมเดลการถือครองป่าโดยรายย่อยหรือราวครึ่งตารางกิโลเมตรต่อราย” แต่รายงานมิได้ระบุไว้ว่าปลูกในสถานที่ใด

ในเซียร์ร่า ลีโอน พื้นที่ปลูกป่าของบริษัทคิดเป็น 210 ตารางกิโลเมตรในเขต Tonkolili ซึ่งอยู่ติดกับถนนหลวงที่นำไปสู่ Freetown เมืองหลวงของประเทศ ต้นไม้ส่วนมากที่ปลูกจะเป็นไม้จำพวกยูคาลิปตัสและอคาเซีย และเนื่องจากที่ตั้งที่อยู่ใกล้เมืองหลวงและท่าเรือน้ำลึก จึงเป็นการสะดวกมากที่ Miro จะส่งออกไม้ซุงจากพื้นที่ปลูกป่า

เราได้รับข้อมูลจากพื้นที่ว่า อายุสัญญาเช่าที่ดินชุมชนมีระยะเวลาประมาณ 50 ปี และค่าเช่าที่ดินที่ชุมชนจะได้รับนั้นต่ำมากเพียง 200 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อตารางกิโลเมตรต่อปี ซึ่งไม่ได้เป็นแค่การเอารัดเอาเปรียบชุมชน แต่ยังทำให้ชุมชนตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอีกด้วย

การไม่ทำตามข้อตกลง
จากรายงานของสมาชิกชุมชน Miro ได้สัญญาว่าจะสร้างโรงพยาบาล บ่อน้ำกิน ศาลากลางเมือง ทุนการศึกษาและค่าเดินทางไปโรงเรียนแก่เด็กๆ เครื่องจักรที่จะมาช่วยในการทำไร่นา และการฝึกอบรมและจ้างงานเด็กวัยรุ่น ทว่าโครงการเหล่านี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด

ปัจจุบันผู้คนในชุมชนยังชีพอยู่ได้ด้วยการเก็บค่าเช่าที่เพียงน้อยนิด นอกจากนี้ สมาชิกชุมชนยังถูกห้ามไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ปลูกป่าเพราะจะถือว่าเป็นการบุกรุก ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำและถนนได้อย่างที่เคยเป็นมา แม้แต่หัวหน้าชุมชนก็ไม่สามารถเข้าไปในบริเวณบริษัทได้หากไม่ได้รับเชิญ โดยมีหน่วยรักษาความปลอดภัยดูแลเข้มงวด

จากสัญญาระหว่าง Miro และสภาชุมชนพบว่า Miro สัญญาจะสมทบเงินมูลค่าร้อยละ 5 ของกำไรสุทธิแก่กองทุน Community Development Fund ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากแนวนโยบายทางการเงินของ Miro เราคาดว่าว่าบริษัทคงจะซุกซ่อนหรือลดกำไรของตนลงเพื่อที่จะได้ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบให้แก่ชุมชน

ในประเทศกานา โครงการปลูกป่าของ Miro มีขนาดประมาณ 100 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขต Ashanti ในปี 2017 รายงานโดยองค์กร NGO สัญชาติกานาเปิดเผยว่า Miro ได้รับสัมปทานปลูกป่าบนพื้นที่ 50 ตารางกิโลเมตรในอุทยานแห่งชาติ Boumfum โดยมิได้ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้เกิดความขัดแย้งกับเกษตรกรรายย่อยขึ้น
ในรายงานได้อธิบายว่าชุมชนเพิ่งได้รับทราบเกี่ยวกับแผนการปลูกป่าของ Miro ก็เมื่อบริษัทประกาศให้ชุมชนย้ายออกไปจากพื้นที่ ซึ่ง Miro อ้างว่าเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ถือครองที่ดินโดยผิดกฎหมายและเข้าถางพืชไร่และต้นไม้ประมาณ 13,000 ต้นของชาวบ้านออกไปจากพื้นที่ โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ชาวบ้านแต่อย่างใด สุดท้ายเหตุการณ์นี้นำไปสู่การฟ้องคดีระหว่างชาวบ้านและ Miro

ปารากวัย
Arbaro ลงทุนสองโครงการในปารากวัยได้แก่โครงการ Forestal Apepú S.A. และ Forestal San Pedro กองทุน The Green Climate Fund อนุมัติแผนการขยายพื้นที่ปลูกป่านี้ในเดือนธันวาคม ปี 2020 โดย Arbaro เป็นเจ้าของโครงการ Forestal Apepú โดยสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2019 และบริษัทจะปลูกต้นยูคาลิปตัสบนพื้นที่ 61 ตารางกิโลเมตรใน San Pedro ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดป่าเสื่อมโทรมเร็วที่สุดในปารากวัย และมีประชากรยากจนอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด

ต่อมา Arbaro ได้ริเริ่มโครงการ Forestal San Pedro ในปี 2021 โดยการปลูกต้นยูคาลิปตัสบนพื้นที่ 63 ตารางกิโลเมตร ซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่ง ( 17 ตารางกิโลเมตร) ได้มาจากการเช่าที่ดินชุมชนในเขต San Pedro

การลงสำรวจพื้นที่โดย Centros de Estudions Heñoi ในเดือนพฤษภาคม ปี 2021 เปิดเผยถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปลูกป่าในระดับอุตสาหกรรมนี้ ผู้อยู่อาศัยใกล้สวนป่า Apepú กล่าวว่า “เมื่อมีการปลูกต้นยูคาลิปตัสและพวกเขาสัญญาว่าจะนำผลประโยชน์มาให้ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครได้รับเลย เขาสัญญาว่าจะช่วยให้ชุมชนเติบโต แต่กลายเป็นว่านำแต่ความเดือดร้อนมาให้ แท้จริงแล้วพวกเขาแค่ต้องการที่ดินของเรา”

ผู้อยู่อาศัยเน้นย้ำว่าความไม่มั่นคงในสัญญาถือครองที่ดินทำให้พวกเขาประสบภาวะยากลำบากทางเศรษฐกิจ โดยอธิบายว่า “เคยมีคนอยู่ในหมู่บ้านมากกว่านี้ แต่พวกเขาจ้างให้คนย้ายออกไปด้วยเงินเพียงเล็กน้อยหรือวัวสักตัวหนึ่ง สมัยก่อนชุมชนนี้มีขนาดใหญ่กว่านี้ แต่ตอนนี้มีแต่ป่าปลูก”

บริษัทปลูกป่าถือโอกาสหาผลประโยชน์จากสภาวะยากลำบากของชาวบ้าน และทำให้เกษตรกรรายย่อยเชื่อว่าการปลูกยูคาลิปตัสจะทำให้รายได้ของตนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังทำให้ชุมชนแตกแยก โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่ใช้ได้แก่การจับเกษตรกรมาทำสัญญาขายต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกในที่ดินที่บริษัทเช่าให้แก่บริษัทเอง สตรีชาวบ้านคนหนึ่งเล่าให้เราฟังว่า “บริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้จะห้อมล้อมเราและต้อนให้เราจนมุม และท้ายที่สุดก็จะเสนอเงินชดเชยเล็กน้อยแลกกับการไล่เราออกไป”

หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกองทุน Arbaro ได้ลงทุนปลูกต้นยูคาลิปตัสบนที่ดินผืนใหญ่ในประเทศปารากวัยผ่านทางบริษัทชื่อ PAYCO บริษัทนี้ใช้การปลูกต้นยูคาลิปตัสเพื่อชดเชยการทำฟาร์มปศุสัตว์และผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่สูง นอกจากนี้ยังพบว่า PAYCO ก่อให้เกิดความขัดแย้งและใช้ความรุนแรงต่อชุมชนท้องถิ่นด้วย

บทสรุป
กองทุน Arbaro ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนนานาชาติและกองทุนสาธารณะและนำมาใช้ในการฟื้นฟูป่าและบรรเทาปัญหาโลกร้อนอย่างผิดๆ และโครงสร้างของกองทุนได้รับการออกแบบมาเพื่อทำให้กลุ่มผู้บริหารกองทุนสามารถเข้าถึงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีจำกัดเพื่อทำกำไรเข้ากระเป๋าของตัวเองโดยแทบจะไม่มีความเสี่ยงทางธุรกิจใดๆเลย แต่กลับเป็นชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ปลูกป่าที่แบกรับความเสี่ยงแทน

โดยไม่เพียงแต่จะสูญเสียที่ดินทำกิน คุณภาพชีวิต และวิถีชีวิตของตนเท่านั้น แต่ยังถูกหลอกให้เซ็นสัญญาที่กดค่าแรงอย่างเช่นที่เซียร์ร่า ลีโอนที่จ่ายค่าแรงให้ชาวบ้านเพียง 200 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อตารางกิโลเมตรต่อปี ดังนั้นการปลูกป่าในระดับอุตสาหกรรมทำให้เกิดการลงทุนที่แพร่กระจายโมเดลที่ก่อให้เกิดมลภาวะและทำให้ภาวะโลกร้อนเลวร้ายลง
กองทุนอย่าง Arbaro ก็ทำให้เกิดลัทธิล่าอาณานิคม การเหยียดเชื้อชาติ และความรุนแรงต่อชุมชนท้องถิ่น และทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปในคราวเดียวกัน (จบ)

อ้างอิง https://wrm.org.uy/…/arbaro-fund-a-strategy-to-expand…/


Social Share