THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Carl Middleton
วันที่ 24 เมษายน 2020
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย rD4D

ภูมิภาคแม่น้ำโขงกำลังประสบปัญหาแล้งอย่างหนักที่ทำให้ระบบนิเวศทางน้ำ การประมงน้ำจืด และความมั่นคงอาหารและแหล่งน้ำของชาวบ้านตกอยู่ในภาวะเสี่ยง

ความรุนแรงของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อพื้นที่แถบนี้ดึงดูดความสนใจจากนักวิชาการ ก่อให้เกิดงานวิจัยต่าง ๆ ตามมามากมาย รวมไปถึงการศึกษาเพื่อตอบคำถามที่ว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บริเวณต้นน้ำทำให้แม่น้ำโขงประสบกับภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นหรือไม่ หรือควรมีการจัดการแบบอื่นเพื่อลดผลกระทบได้

ในขณะที่ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้น ภัยแล้งก็รุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว ความมั่นคงอาหาร แหล่งน้ำ และพลังงานที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจากปัญหาโลกร้อนทำให้การบริหารจัดการน้ำข้ามเขตแดนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งและต้องถือเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาแนวทางการตั้งรับปรับตัว

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
แม่น้ำโขงเป็นหนึ่งในลุ่มน้ำที่สำคัญของโลก โดยไหลจากต้นน้ำในประเทศจีน ผ่านเมียนมาร์ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียตนาม หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนราว 72 ล้านคน แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ไหลอย่างอิสระมาจนถึงช่วงปี 1990 จนถึงปัจจุบันที่ลักษณะการไหลของแม่น้ำที่เคยขึ้นอยู่กับน้ำท่วมขังในฤดูมรสุม และน้ำลดในฤดูแล้ง เปลี่ยนแปลงไปจากผลกระทบของเขื่อนโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

เนื่องจากน้ำเป็นสื่อสำคัญที่ทำให้เรารับรู้ถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และมนุษย์ก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงผลกระทบดังกล่าวได้ การประมาณการที่ดีที่สุดที่มีอยู่ได้แก่ ถ้าอุณหภูมิผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นปีละ 0.2 องศาเซลเซียสจะทำให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น 200 มม.ต่อปี และทำให้ฤดูกาลน้ำหลากน้ำแล้งผิดเพี้ยนไป ในขณะที่น้ำเค็มจะรุกรานลึกเข้ามาจากปากแม่น้ำมากขึ้น

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจะทำให้ปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติข้ามพรมแดนทำได้ยากขึ้น และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบนิเวศทางบกและทางน้ำ การเกษตรและประมง รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศเมื่อเกิดภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานขึ้นกว่าปกติ

ผลกระทบดังกล่าวจะทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อลักษณะการไหลของน้ำและการสะสมของตะกอนเปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากการสร้างเขื่อน สิ่งที่จะตามมาคือการสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำและระบบนิเวศเสื่อมโทรม

ประการสุดท้ายคือการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนที่ด้อยประสิทธิภาพลง ซึ่งรวมถึงการแจ้งข้อมูลน้ำที่ไม่สมบูรณ์และการตัดสินใจที่ขาดความรับผิดชอบในเรื่องที่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่

โรงไฟฟ้าพลังน้ำและประเด็นปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อน
การก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในลุ่มน้ำโขงก่อให้เกิดความขัดแย้งมานานนับทศวรรษในเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และภาวะโลกร้อนก็ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งเลวร้ายลง

ผู้ที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนอ้างว่าเขื่อนผลิตไฟฟ้าจะผลิตพลังงานทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิลและทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง อย่างไรก็ตามงานวิจัยในลุ่มน้ำโขงเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่าการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมีการปล่อยก๊าซมีเธนดังนั้นจึงไม่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

หนึ่งในคำถามพื้นฐานได้แก่ข้อเท็จจริงที่ว่าเราต้องการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหรือไม่ ในประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่จากประเทศลาวนั้นมี Peak Demand ในเดือนพฤษภาคม ปี 2019 อยู่ที่ 30,853 MW ในขณะที่ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าในประเทศวัดในเดือนมกราคม ปี 2020 มีถึง 45,313 MW เมื่อรวมกับการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศลาวอีก 3,954 MW (เพราะอ้างว่าเป็นแหล่งพลังงานราคาถูกและเพื่อรองรับความแปรผันของความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วง Peak Demand) ทำให้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองมากถึง 47% ซึ่งคิดเป็นสามเท่าของกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่ประเทศต้องการหรือ 15%

เหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้กำลังเกิดขึ้นในประเทศจีนเช่นเดียวกัน ส่วนในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้นั้นก็มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพียงพอต่อความต้องการทั้งในเมืองและชนบท

คำถามข้อที่สองได้แก่เรามีวิธีอื่นที่จะตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดหรือไม่ โดยในปัจจุบันเรายังพึ่งพาพลังงานที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและเขื่อนอยู่เป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม สังคมโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของพลังงานทางเลือก การเพิ่มประสิทธิภาพ และการบริหารอุปสงค์ที่จะเข้ามาแทนที่การทำธุรกิจแบบเก่า ซึ่งเหล่านี้ยังไม่รวมถึงเทคโนโลยีอย่าง ‘Block Chain Solar Power’, Smart Grids, และธุรกิจให้บริการพลังงานรายย่อย

คำถามข้อที่สามคือภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าพลังน้ำอย่างไร งานวิจัยเมื่อเร็วๆนี้ชี้ให้เห็นว่าภูมิภาคที่มีสภาพอากาศที่ร้อนชื้นจะสามารถผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้ดีกว่า อย่างไรก็ตามก็เตือนว่าการสร้างเขื่อนนอกจากจะทำให้ระบบนิเวศและชุมชนที่อยู่ปลายน้ำได้รับความเสียหายแล้วยังเสี่ยงต่อความปลอดภัยอีกด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมาก เห็นได้จากการถล่มของเขื่อน Xe Pian Xe Namnoi ในประเทศลาวในเดือนกรกฎาคม ปี 2018 นอกจากนี้ความแล้งที่เกิดจากเขื่อนยังอาจทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนอีกด้วย

คำถามข้อสุดท้ายคือเขื่อนขนาดใหญ่สามารถลดปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้ดีจริงหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่นในปี 2016 เขื่อน Lancang ในประเทศจีนได้มีการปล่อยน้ำเพื่อบรรเทาภาวะแห้งแล้งฉุกเฉิน แต่ชุมชนที่อาศัยอยู่ปลายน้ำไม่มีการได้รับแจ้งล่วงหน้าจึงเตรียมตัวรับกระแสน้ำไม่ทัน นอกจากนี้เขื่อนยังอาจเป็นสาเหตุของความแล้งด้วยเช่นกัน ในช่วงภัยแล้งในเดือนกรกฎาคม ปี 2019 การกักเก็บน้ำในเขื่อน Jinghong ซึ่งเป็นเขื่อนที่ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศจีนทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำลดลงอย่างมาก แต่จีนก็อ้างว่าการเก็บกักน้ำเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเขื่อนอยู่ในระหว่างการซ่อมแซมและได้รับการร้องเรียนจากชุมชนปลายน้ำ

การรับมือภาวะโลกร้อนขององค์กรส่วนภูมิภาค
คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เป็นองค์กรลุ่มน้ำระหว่างประเทศตั้งขึ้นจากสนธิสัญญาระหว่างประเทศในปี 1995 เพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น

MRC จึงได้กำหนดกลยุทธ์ในการตั้งรับปรับตัวขึ้นในปี 2017 จากงานวิจัยด้านต่าง ๆ รวมถึงอุทกภัย ผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนจากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ และกลยุทธ์การจัดการภัยแล้ง
นอกจากนี้ MRC ยังเก็บข้อมูลการไหลของแม่น้ำ คุณภาพน้ำ และลักษณะการไหลของตะกอน เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

ในขณะที่การประเมินผลกระทบและการวางแผนการตั้งรับปรับตัวประกอบไปด้วยข้อมูลวิจัยที่สำคัญ ๆ
อุปสรรคในงานของ MRC ก็ยังมีอยู่ ได้แก่อิทธิพลที่มีต่อประเทศสมาชิก ความรับผิดชอบต่อชุมชนและประชาสังคม และลักษณะความสัมพันธ์กับประเทศจีนในฐานะที่เป็นพันธมิตรมากกว่าที่จะเป็นสมาชิกขององค์กร

ในเดือนมีนาคม ปี 2016 ผู้นำองค์กรได้ริเริ่มความร่วมมือหลานซางเจียง-แม่โขง หรือ LMC ขึ้น และอีกสองปีต่อมาได้กำหนดแผนห้าปี (2018-2022) เพื่อสร้างความเข้มแข็งในฐานะที่เป็นองค์กรจัดการทรัพยากรน้ำให้แก่ LMC
โดยแผนดังกล่าวได้ระบุว่าจะ “ปรับปรุงการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านภัยแล้งและอุทกภัยในภูมิภาคหลานซางเจียง-แม่โขง ประเมินระบบควบคุมอุทกภัยและระบบบรรเทาภัยแล้งอย่างมีส่วนร่วม และร่วมมือกันจัดตั้งระบบสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวกับภัยแล้งและอุทกภัยสำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่ในในภูมิภาคหลานซางเจียง-แม่โขง”

LMC จึงเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก 6 ประเทศในภูมิภาคหลานซางเจียง-แม่โขง

อย่างไรก็ตามองค์กรก็ยังประสบปัญหาการจัดการน้ำข้ามพรมแดนอยู่ ซึ่งรวมถึงการเปิดเผยข้อมูลน้ำกับสาธารณชน การบริหารงานอย่างโปร่งใสและรับผิดชอบต่อชุมชน แผนงานที่ส่งผลในเชิงบวกกับทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม และการทำงานร่วมกับ MRC

ในเรื่องของการทำงานร่วมกับ MRC นั้น ขั้นตอนแรกคือการ “ร่วมมือกันผลิตงานวิจัยในปี 2019 ในเรื่องภัยแล้งและลักษณะการไหลของแม่น้ำโขง ที่จะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกันยายน ปี 2020” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่สำคัญมากแต่ก็ก่อให้เกิดการโต้แย้งมากเช่นกัน

ในช่วงระหว่างภัยแล้งในปี 2019 ได้เกิดการโต้เถียงกันระหว่างตัวแทนของสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยและองค์กรภาคประชาสังคมทางภาคเหนือของประเทศไทยเกี่ยวกับการที่เขื่อนของจีนก่อให้เกิดภัยแล้งในลุ่มน้ำโขง ดังนั้นความโปร่งใสในกระบวนการวิจัยและการเผยแพร่งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

ทบทวนแนวทางการตั้งรับปรับตัว
ลุ่มน้ำหลานซางเจียง-แม่โขงอันอุดมสมบูรณ์คือศูนย์กลางของชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนในพื้นที่ แต่ปัจจุบันกำลังเสื่อมโทรมลงจากภาวะโลกร้อน แม้ว่าลักษณะของปัญหาและแนวทางแก้ไขจะเป็นเรื่องทางเทคนิค แต่โดยพื้นฐานแล้วเป็นปัญหาทางการเมืองระดับประเทศและภูมิภาค รวมไปถึงการแข่งขันในด้านอำนาจหน้าที่ระหว่าง MRC กับ LMC

แนวทางในการปฏิบัติรวมถึงปรับปรุงกระบวนการเข้าถึงข้อมูลทรัพยากรน้ำอย่างต่อเนื่อง ประเมินความเสี่ยงที่สิ่งปลูกสร้าง เช่น เขื่อนจะเปลี่ยนแปลงสภาพของแม่น้ำ ทบทวนสัญญาก่อสร้างเขื่อนให้ใช้งานได้อย่างสารพัดประโยชน์ หาแหล่งพลังงานอื่นเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และการบริหารอุปสงค์และประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

อย่างไรก็ตาม เรายังมีโอกาสที่จะใช้แนวทางแก้ปัญหาแบบองค์รวมด้วยการใช้ธรรมชาติเข้าช่วย เราได้เห็นแล้วว่าการใช้เขื่อนขนาดใหญ่ในการจัดการอุทกภัยและภัยแล้งนั้นมีข้อจำกัด และแนวทางการ ‘ควบคุมธรรมชาติ’ นั้นก็เริ่มเสื่อมความนิยมลงทั่วโลก การแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเข้าช่วยที่นำเสนอโดย UNESCO นั้นมุ่งเน้นไปที่การอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศรวมถึงป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำได้ตามธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็เตรียมความพร้อมและกลยุทธ์การตั้งรับปรับตัวให้แก่ชุมชนโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม รวมไปถึงแผนบรรเทาสาธารณภัยในกรณีที่เกิดภัยแล้งและอุทกภัยด้วย (จบ)

อ้างอิง https://ideas4development.org/…/climate-change…/


Social Share