THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย IEA Global
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย IEA Global

ปริมาณการปล่อยก๊าซมีเธนจากภาคพลังงานมีสัดส่วนที่สูงกว่าตัวเลขที่รัฐบาลของแต่ละประเทศประกาศถึงประมาณ 70% จากรายงาน IEA ฉบับใหม่ที่เผยแพร่ในวันนี้ ทำให้เราต้องเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังและนโยบายที่เข้มงวดเพื่อจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลเช่นนี้

มีเธนมีส่วนประมาณ 30% ที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และการลดก๊าซมีเธนเป็นวิธีที่ทันการณ์และยั่งยืนที่สุดในการแก้ปัญหาโลกร้อนและปรับปรุงคุณภาพอากาศ

มีเธนนั้นสลายตัวเร็วกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ก็จริงแต่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกที่รุนแรงกว่ามากในช่วงชีวิตสั้น ๆ ของมัน ซึ่งหมายความว่าถ้าเราลดปริมาณการปล่อยมีเธนลงได้ก็จะเกิดผลดีต่อสภาพภูมิอากาศโลกอย่างทันตาเห็น

ภาคพลังงานปล่อยก๊าซมีเธนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของมีเธนทั้งหมดที่ปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์ และในปีนี้ รายงาน Global Methane Tracker ของ IEA ได้แสดงปริมาณการปล่อยก๊าซมีเธนจากเหมืองถ่านหินและพลังงานชีวภาพแยกตามประเทศเป็นครั้งแรก เพิ่มเติมจากการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตามปกติ

การปล่อยก๊าซมีเธนจากภาคอุตสาหกรรมมีอัตราที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่า 5% ในปีที่ผ่านมา แต่มิได้หมายความว่าปริมาณก๊าซมีเธนในบรรยากาศจะลดลงอยู่ในระดับเดียวกับปี 2019 หรือการใช้พลังงานจะลดลงแต่อย่างใด ซึ่งทำให้เราเห็นว่าความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซที่ผ่านมาอาจส่งผลแล้ว

“เมื่อคำนึงถึงราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงนี้ เราอาจใช้โอกาสนี้ลดการปล่อยก๊าซมีเธนจากการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปด้วยอย่างมิต้องเสียต้นทุนใดๆ” Fatih Birol ผู้บริหารของ IEA กล่าว

The International Energy Agency (IEA) เป็นผู้นำด้านการรณรงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเธนมาอย่างยาวนาน ปัจจัยสำคัญได้แก่ความโปร่งใสในการระบุสถานที่ปล่อยและปริมาณที่จะต้องลด ดังนั้น การที่ Global Methane Tracker รายงานปริมาณที่ต่ำกว่าความเป็นจริงนั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง”

ในปีที่ผ่านมา รายงานยืนยันว่าแหล่งปล่อยก๊าซมีเธนปริมาณสูงอยู่ในรัฐเทกซัสและเอเชียกลาง โดยปริมาณก๊าซจากเติร์กเมนิสถานประเทศเดียวคิดเป็นสัดส่วนถึงหนึ่งในสามของปริมาณทั้งหมดที่ดาวเทียมตรวจจับได้ในปี 2021 และพบการปล่อยก๊าซปริมาณเล็กน้อยจากการผลิตน้ำมันและก๊าซในตะวันออกกลาง

เทคโนโลยีดาวเทียมช่วยให้โลกรับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแหล่งปล่อยก๊าซมีเธน และระบบ Global Methane Tracker ของ IEA ก็ได้รวบรวมเอาข้อมูลจากดาวเทียมเหล่านี้มาวิเคราะห์ ในขณะที่การเก็บข้อมูลได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ทว่าการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นยังล้าหลังอยู่มาก โดยขาดการประเมินในเขตเส้นศูนย์สูตร กิจกรรมขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล หรือในทะเลเหนือที่เป็นแหล่งน้ำมันของรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนในการวัดระดับก๊าซมีเธนก็มิได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซได้ เราสามารถใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันและนโยบายแบบลองผิดลองถูกเพื่อลดก๊าซได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Global Methane Tracker ที่มีระบบสำรวจตรวจสอบนโยบายที่ออกแบบไว้สามารถจำลองตัวอย่างผลลัพธ์ได้ว่านโยบายดังกล่าวจะได้ผลดีที่สุดเมื่อดำเนินการด้วยวิธีใดและในพื้นที่ใดของโลก

ถ้าเราสามารถจับมีเธนที่ปล่อยจากการผลิตพลังงานฟอสซิลในปี 2021 ได้ทั้งหมดและนำมาจำหน่าย ตลาดก๊าซธรรมชาติก็คงจะได้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีกถึง 1.8 แสนล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเทียบเท่าปริมาณก๊าซที่ยุโรปต้องการใช้ตลอดทั้งปี

ปริมาณก๊าซมีเธนที่ปล่อยจากการใช้พลังงานฟอสซิลนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยประเทศที่อยู่อันดับบนสุดและล่างสุดนั้นมีปริมาณการปล่อยก๊าซที่ต่างกันมากเป็นร้อยเท่า

ปริมาณก๊าซมีเธนในบรรยากาศโลกอาจจะลดลงได้ถึง 90% ถ้าทุกประเทศลดระดับการปล่อยก๊าซมีเธนลงให้เทียบเท่ากับประเทศที่มีการปล่อยก๊าซต่ำที่สุดได้แก่นอร์เวย์

คำมั่นสัญญาที่จะลดก๊าซมีเธนที่ประกาศโดย 110 ประเทศ นำโดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ณ การประชุม COP26 ในเดือนพฤศจิกายนที่กรุงกลาสโกวนั้นเป็นก้าวที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยตั้งเป้าหมายลดก๊าซมีเธนจากกิจกรรมของมนุษย์ลง 30% ภายในปี 2030

อย่างไรก็ตาม ประเทศปล่อยก๊าซรายใหญ่ที่เหลือได้แก่จีน รัสเซีย อิหร่าน และอินเดียจะต้องเข้าร่วมด้วย การลดก๊าซจึงจะประสบความสำเร็จ
“คำมั่นสัญญาที่จะลดก๊าซมีเธนจะต้องเป็นหลักสำคัญที่ทำให้ทุกประเทศหันมาลดก๊าซอย่างจริงจัง” Dr Birol กล่าว

“การลดก๊าซมีเธนจากกิจกรรมของมนุษย์ลง 30% ภายในสิ้นทศวรรษนี้จะเกิดผลลัพธ์ต่อภาวะโลกร้อนเช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งให้เป็น net zero ทั้งหมดภายในปี 2050”

ระบบ Global Methane Tracker ของ IEA แสดงให้เห็นว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ลดลงในช่วงต้นของการระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้เราต้องใช้มาตรการที่เร่งด่วน เข้มแข็ง และโปร่งใส

นาย Frans Timmermans รองประธานคณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรปกล่าวไว้ว่า “มีเธนเป็นก๊าซที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกที่รุนแรงเป็นอันดับสองรองจากคาร์บอนไดออกไซด์ การลดก๊าซมีเธนโดยทันทีจึงเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง จากที่เราได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะลดก๊าซมีเธนไว้ เราต้องการข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซที่เที่ยงตรงตามความเป็นจริงเพื่อระบุระดับความเร่งด่วนของการลดก๊าซในแต่ละพื้นที่ และรายงานของ IEA จะต้องเน้นให้เห็นถึงความสำคัญนี้”

นาย John Kerry ผู้แทนพิเศษว่าด้วยประเด็นสภาพภูมิอากาศแห่งสหรัฐอเมริกากล่าวว่า “การลดก๊าซมีเธนเป็นหนทางที่เร็วที่สุดที่จะบรรเทาปัญหาโลกร้อน และการลดการรั่วทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ในระบบขนส่งน้ำมันและก๊าซเป็นวิธีที่เร็วที่สุดในการลดก๊าซมีเธน รายงาน IEA ฉบับใหม่ได้รวมเอาข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับโอกาสในการลดก๊าซนี้และเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆปรับปรุงข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซของตนให้มีความถูกต้องแม่นยำขึ้น และร่วมมือกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซมีเธนลง 30% ภายในปี 2030 ภายใต้คำมั่นสัญญาที่จะลดก๊าซมีเธนของสหประชาชาติ”

และนาย Jonathan Wilkinson รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติแหล่งแคนาดากล่าวว่า “ในแคนาดานั้น การต่อสู้กับภาวะโลกร้อนก็คือการต่อสู้กับการปล่อยก๊าซมีเธน แคนาดาได้ตั้งเป้าหมายลดก๊าซมีเธนลง 75% หรือต่ำกว่าระดับการปล่อยในปี 2012 ภายในปี 2030 โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือให้บรรลุผล ทำให้เราเป็นประเทศแรกที่ตอบสนองคำร้องขอความร่วมมือจาก IEA เรากำลังทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ ภาคอุตสาหกรรม และแรงงานเพื่อร่วมมือผลักดันวาระการลดก๊าซมีเธนให้สัมฤทธิ์ผล” (จบ)

อ้างอิง https://www.iea.org/…/methane-emissions-from-the-energy…


Social Share