THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย GRAIN
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย populationeducation.org

การเกษตรอุตสาหกรรมก็เช่นเดียวกับการทำเหมือง ถ้าเจ้าของธุรกิจต้องการผลผลิตมากขึ้นก็ต้องใส่ปุ๋ยเคมีลงในดินให้มากขึ้นเพื่อชดเชยแร่ธาตุในดินที่สูญเสียไปจากการปลูกพืช ปุ๋ยเคมีที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบจากแร่ธาตุจากการทำเหมืองและพลังงานฟอสซิลประกอบกัน

ยังมีวิธีที่เราสามารถเพาะปลูกได้โดยไม่ใช้สารอาหารในดินจนหมด ทว่าในหลายสิบปีที่ผ่านมา บริษัทเพื่อการเกษตรและรัฐบาลเพิกเฉยต่อทางเลือกดังกล่าว

เกษตรกรรายย่อยที่มีความรู้ ประสบการณ์ และเมล็ดพันธุ์ที่สามารถรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินไว้ถูกยึดที่ดินทำกิน
ความพยายามของนักวิจัยในการสำรวจแนวทางที่จะช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีโดยการสร้างระบบรากพืชหรือเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในดินถูกมองข้ามและไม่ได้รับการสนับสนุน

ในขณะที่พื้นที่ป่า ทุ่งหญ้า และไร่นาที่อุดมสมบูรณ์ถูกแผ้วถางเพื่อทำไร่เชิงเดี่ยวที่เติบโตได้ด้วยการใช้ปุ๋ยเคมี
ผลที่ตามมาคือดินสูญเสียธาตุอาหารอินทรีย์ โลกได้สูญเสียพื้นที่ที่อุดมไปด้วยธาตุอาหารอินทรีย์เช่นนี้ไปแล้วกว่าครึ่ง ส่งผลกระทบต่อไร่นากว่า 20 ล้านตารางกิโลเมตร ทำให้ผลผลิตลดลง ปุ๋ยเคมีไหลลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ก่อให้เกิดมลภาวะ และเนื่องจากธาตุอาหารอินทรีย์ในดินประกอบไปด้วยคาร์บอนเป็นหลัก ทำให้คาร์บอนในดินสลายตัวสู่บรรยากาศโลก กลายเป็นปัจจัยร่วมที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก

ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบในการทำลายดินเหล่านี้มักสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองเป็นผู้อนุรักษ์ดิน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทผลิตปุ๋ยเคมีระดับโลกอย่างยาร่าได้สร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อตามหา “วิธีการใหม่เพื่อเก็บกับคาร์บอนไว้ในดิน” และบริษัทผลิตอาหาร Cargill ก็ได้อออกแบบแนวทางใหม่ๆเพื่อสนับสนุนสิ่งที่เรียกว่า “ระบบเกษตรกรรมฟื้นฟู” โดย Cargill ได้กล่าวว่า “ความอุดมสมบูรณ์ของดินคือ win-win”

ในระยะสองสามปีที่ผ่านมา ธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่แทบทุกบริษัทได้เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ เพื่อการเก็บกับคาร์บอนไว้ในดิน

เหตุผลนั้นเรียบง่าย : ตอนนี้บริษัทสามารถทำเงินจากการเก็บกับคาร์บอนไว้ในดินได้ด้วย รัฐบาลและบริษัทเอกชนต่างก็พยายามหาวิธีเลี่ยงการลดปริมาณก๊าซอย่างเป็นรูปธรรมและเต็มใจที่จะจ่ายเงินซื้อเวลาเพื่อที่จะได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันต่อไป และจะมีที่ใดที่เหมาะสมไปกว่าที่ดินเสื่อมโทรมอีกล่ะ?

มีการประมาณการไว้ว่าพื้นที่การเกษตรสามารถเก็บกักคาร์บอนได้มากถึง 3.4 กิกะตันต่อปีหรือเท่ากับหนึ่งในสามของปริมาณก๊าซที่ปล่อยจากภาคพลังงานและวัสดุก่อสร้าง และเมื่อคาร์บอนเครดิตถูกกำหนดราคาโดยตลาดคาร์บอนไว้ที่ประมาณ 20 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อตัน จึงคิดเป็นมูลค่ากำไรที่สูงมากที่บริษัทฯขนาดใหญ่สามารถเก็บเกี่ยวได้

ถ้าเรื่อง “win-win” ที่กล่าวมาข้างต้นฟังดูดีกว่าความเป็นจริงก็เพราะว่ามันเป็นแบบนั้น ดังที่ La Via Campesina และองค์กรอื่น ๆ ได้พูดกันมานานว่าเราต้องกักเก็บคาร์บอนในดินเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งจะต้องนำระบบวนเกษตรมาใช้เป็นวงกว้าง ต้องมีการจัดสรรที่ดินใหม่ กระจายการผลิตอาหารสู่เกษตรกรรายย่อยในชุมชนท้องถิ่น และที่สำคัญที่สุดได้แก่การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนโครงการทำฟาร์มคาร์บอนที่บริษัทฯพยายามผลักดันนั้นส่อว่าจะก่อให้เกิดแต่ปัญหามากกว่าการแก้ไข เพราะจะทำให้เกิดการยึดที่ดินเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นโครงการที่ออกแบบมาเพื่อฟอกเขียวมลภาวะและรักษาที่ดินให้อยู่ในมือบริษัทเพียงไม่กี่บริษัทที่ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการรวมศูนย์การบริหารที่ดิน

หลักการขั้นพื้นฐานของการทำฟาร์มคาร์บอน
โครงการฟาร์มคาร์บอนมักมีลักษณะดังต่อไปนี้ กล่าวคือขั้นแรกเกษตรกรจะต้องลงทะเบียนกับโครงการทางช่องทางออนไลน์ ต่อมาจะต้องใช้แนวทางการเกษตรที่คาดว่าจะเก็บกักคาร์บอนไว้ในดิน ได้แก่การปลูกพืชคลุมดิน ลดการไถหว่านลง สลับกับการปลูกต้นไม้และใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เกษตรกรจะต้องบันทึกการดำเนินงานเหล่านี้ลงในแพลตฟอร์มดิจิทัลของบริษัท โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมหรือการบินสำรวจไร่ประกอบ บางโครงการกำหนดให้เกษตรกรจะต้องส่งตัวอย่างดินเพื่อการทดสอบ แต่โครงการส่วนใหญ่มักพึ่งพาวิธีการตรวจสอบด้วยตาเปล่าจากระยะไกล ซึ่งเกษตรกรจะต้องรักษาแนวทางนี้ไว้เพื่อเก็บกักคาร์บอนไว้ในดินไป 5-10 ปีหรืออาจขยายไปถึง 20-25 ปีตามข้อกำหนดในสัญญา

หลังจากนั้นเกษตรกรจึงจะได้รับค่าแรงโดยคำนวณจากปริมาณคาร์บอนที่เก็บกักได้และราคาคาร์บอนเครดิตในตลาดโลกในขณะนั้น โดยหักออก 20-25% เพื่อชดเชยการสูญเสียคาร์บอนจากภัยธรรมชาติอย่างภัยแล้งหรือไฟป่าที่อาจเกิดขึ้นหลังจบโครงการ และบริษัทหักอีก 25% เป็นค่าธรรมเนียม

จำนวนโครงการฟาร์มคาร์บอนนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นำโดยบริษัทเพื่อการเกษตรข้ามชาติ เกือบทุกโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ทำไร่เชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา บราซิล ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส โดยมุ่งเน้นไปที่หลักการสำคัญสองประการได้แก่การหมุนเวียนพืชคลุมดินและลดการไถหว่าน ซึ่งทำให้เกษตรกรต้องเผาหรือใช้ยาฆ่าหญ้าอย่างไกลโฟเซต
มีบางข้อยกเว้นอย่างเช่นโครงการนำร่องของยาร่าในประเทศอินเดียโดยพันธมิตรอย่าง Agora Carbon Alliance หรือความร่วมมือระหว่างธนาคารเพื่อการเกษตรของเนเธอร์แลนด์ Rabobank และบริษัท Microsoft ที่จ่ายค่าแรงแก่เกษตรกรในเอเชีย อาฟริกา และละตินอเมริกาในการปลูกต้นไม้บนที่ดินของตน และ Rabobank วางแผนที่จะทำสัญญานี้กับเกษตรกรอีก 15 ล้านคนภายในอีกสิบปีข้างหน้า

แนวคิดพิสดาร
บริษัทฯเหล่านี้ผลักดันโครงการคาร์บอนเครดิตโดยไม่สนใจต่อปัญหาและข้อจำกัดที่รู้กันอยู่ทั่วไป ซึ่งปัญหาที่ชัดเจนที่สุดได้แก่หัวใจของโครงการที่ตั้งอยู่บนระบบชดเชยหรือ offsets บริษัทเหล่านี้สนับสนุนทุนแก่โครงการด้วยการขายคาร์บอนเครดิตแก่บริษัทหรือรัฐบาลที่ไม่ต้องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่การที่เราจะคาดหวังให้ดินเก็บกักคาร์บอนในปริมาณเท่ากับที่ปล่อยสู่บรรยากาศนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อย่างดีที่สุดดินก็แค่สามารถดูดซับคาร์บอนที่รั่วไหลจากอุตสาหกรรมการเกษตรในอดีต และเมื่ออิ่มตัวแล้วก็ไม่สามารถดูดซับได้อีก ดังนั้นจึงไม่สามารถนำมาชดเชยการปล่อยก๊าซได้

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อดินเป็นเพียงแหล่งดูดซับคาร์บอนเพียงแหล่งเดียวที่ยังเหลืออยู่ เราจึงควรเก็บรักษาไว้เพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกิจกรรมที่มีความจำเป็นสูงสุดที่เกี่ยวกับความอยู่รอดของมนุษยชาติเท่านั้น มิใช่นำมาชดเชยกิจกรรมของบริษัทอย่าง Walt Disney หรือ PepsiCo

อีกปัญหาหนึ่งได้แก่ความไม่ยั่งยืนของโครงการเหล่านี้ ในขณะที่การลดการปล่อยก๊าซเป็นแนวทางที่เป็นรูปธรรมเร่งด่วน การใช้ที่ดินของฟาร์มคาร์บอนเพื่อดูดซับคาร์บอนจากบรรยากาศนั้นไม่สามารถรับประกันว่าจะได้ผลจริง โครงการฟาร์มคาร์บอนส่วนใหญ่มีอายุกว่าสิบปีแต่ดินต้องการเวลาในการสะสมคาร์บอนเป็นร้อย ๆ ปีเพื่อเกิดผลด้านลดภาวะโลกร้อน เมื่อโครงการสิ้นสุดลง ที่ดินเหล่านี้อาจถูกนำไปสร้างเป็นลานจอดรถหรือหันกลับไปใช้ปุ๋ยเคมีอย่างหนักโดยไม่มีบทลงโทษใดๆ

และเมื่อภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดภัยธรรมชาติอย่างความแล้งและไฟป่า คาร์บอนในดินก็จะระเหยออกมาอีก
เพื่อชดเชยความไม่ยั่งยืนของโครงการดังกล่าว บริษัทเจ้าของโครงการมักหัก 20-25% จากค่าแรงเกษตรกรเพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยง แม้ว่าจะไม่มีหลักการคำนวณที่โปร่งใสและเป็นธรรมมารองรับ

หนึ่งในบริษัทเจ้าของโครงการฟาร์มคาร์บอนของสหรัฐฯ ยอมรับว่าต้นทุนจริงของการเก็บกักคาร์บอนไว้ในดินเป็นเวลาร้อย ๆ ปีอาจสูงกว่านี้สิบเท่า ซึ่งไม่มีใครต้องการจะจ่าย

ปัญหาต่อมาคือค่าใช้จ่ายในการวัดอัตราการเก็บกักคาร์บอนของดิน การสำรวจพื้นที่และทดสอบดินประจำปีนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากและในทางปฏิบัติแล้วจะทำให้ราคาคาร์บอนสูงกว่านี้มากหากไม่มีการอุดหนุนจากภาครัฐ

OECD ประมาณการไว้ว่า ต้นทุนนี้เมื่อรวมกับค่าธรรมเนียมทางการเงินอาจสูงถึง 85% ของมูลค่าคาร์บอนเครดิต และการประมาณการโดยกลไก LifeCarbonFarming ของสหภาพยุโรปก็คิดราคาค่าสำรวจและลงทะเบียนโครงการเป็นมูลค่าถึง €110,000-240,000 (124,483-271,600 ดอลล่าร์สหรัฐฯ) สำหรับห้าปีแรก

ในบางกรณี เกษตรกรต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเหล่านี้เอง ส่วนอีกหลาย ๆ กรณีก็ถูกนำไปรวมกับค่าใช้จ่ายโครงการ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตามก็ทำให้ต้นทุนโครงการสูงจนไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งสำหรับเกษตรกรรายย่อยและรายใหญ่

เพื่อที่จะลดต้นทุนลง บริษัทเจ้าของโครงการจึงมุ่งพัฒนาระบบสำรวจฟาร์มจากทางไกลให้สมบูรณ์แบบโดยใช้เครื่องบินและดาวเทียม ใช้ข้อมูลคุณภาพดิน และโมเดลเพื่อกำหนดปริมาณคาร์บอนที่สะสมอยู่ในดิน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจทางไกลเช่นนี้ไม่มีทางแม่นยำเท่ากับการทดสอบดินในแล็บ
ตัวอย่างเช่น เมื่อนักวิจัยพิจารณาจำนวนคาร์บอนเครดิตที่ Microsoft ซื้อจากฟาร์มขนาดใหญ่ในออสเตรเลียซึ่งใช้ระบบสำรวจฟาร์มจากทางไกลเพื่อประมาณการปริมาณคาร์บอนที่ดูดซับได้ จะพบว่าตัวเลขประมาณการนั้นเกินกว่าความเป็นจริงไปมาก

นอกจากนี้ระบบสำรวจฟาร์มจากทางไกลยังมีข้อจำกัดอีกถ้าเกษตรกรมิได้ใช้แนวทางการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด เพราะระบบไม่สามารถตรวจสอบปริมาณคาร์บอนในระบบฟาร์มวนเกษตรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพได้ ในความเป็นจริง แม้แต่การทดสอบดินก็ยังมีข้อจำกัดเช่นกัน

จากงานวิจัยทั่วโลกพบว่า การทำไร่นาที่ไม่ไถหว่านเพียงเพิ่มสารอินทรี ย์บริเวณหน้าดินที่ซึ่งมีการสุ่มตัวอย่างไปตรวจเท่านั้น แต่ปริมาณคาร์บอนจะแตกต่างออกไปมากเมื่อขุดหน้าดินให้ลึกลงไป

อีกปัญหาหนึ่งของการทำฟาร์มคาร์บอนได้แก่ประเด็นเรื่อง “คาร์บอนส่วนเพิ่ม ” ในการคำนวณปริมาณการชดเชยคาร์บอนนั้น เกษตรกรที่ประสงค์จะลงทะเบียนกับโครงการจะต้องแสดงหลักฐานว่าฟาร์มของตนสามารถดูดซับคาร์บอนได้ มิใช่ปล่อยออกมา สมมติว่าโครงการหนึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งเกษตรก็ได้เริ่มปลูกพืชคลุมดินไปแล้วเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่นฟื้นฟูสภาพดิน ในกรณีนี้ แน่นอนว่าระบบจะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าคาร์บอนส่วนใดที่ได้จากการปลูกพืชคลุมดินตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการของบริษัทฯที่เน้นการปลูกพืชคลุมดินและลดการไถหว่าน อย่างไรก็ตาม เกษตรกรหลายรายปลูกพืชคลุมดินและลดการไถหว่านไปก่อนที่จะเกิดโครงการฟาร์มคาร์บอนแล้ว และสมัครโครงการเพียงเพื่อรับค่าจ้างจากบริษัทเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่นในประเทศบราซิล รัฐบาลอ้างว่าได้เปลี่ยนพื้นที่การเกษตรกว่า 8 หมื่นตารางกิโลเมตรให้เป็นระบบที่ไม่มีการไถหว่านเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกรโดยไม่ต้องรอคาร์บอนเครดิต

ต่อมาก็มีประเด็นปัญหาด้านก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการทำฟาร์มคาร์บอนเครดิตเอง เกือบทุกโครงการมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายแคบๆอันได้แก่การวัดปริมาณคาร์บอนที่ดินดูดซับเอาไว้แต่มิได้นำเอาปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่โครงการดังกล่าวปล่อยออกมาหักลบ ก๊าซเรือนกระจกซึ่งเกิดจากการใช้สารเคมีและน้ำมันเพื่อขับเคลื่อนเครื่องจักรต่างๆในฟาร์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณที่ปล่อยในช่วงการเปลี่ยนถ่ายระบบเพาะปลูกมาเป็นระบบไร้การไถหว่าน หรือเชื้อเพลิงที่ใช้ขับเคลื่อนระบบสำรวจฟาร์มจากทางไกล ระบบควบคุมด้วยดาวเทียม หรือเครื่องบินที่ใช้ในการบินสำรวจประเมินผล นอกจากนี้ยังไม่ได้พิจารณาถึงสารเคมีตกค้างและของเสียจากการเกษตรอุตสาหกรรมอีกด้วย

จากปัญหาต่างๆเหล่านี้ เราจะเห็นว่าไม่มีทางที่คาร์บอนที่โครงการอ้างว่าได้ดูดซับไว้จะเทียบเคียงกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ อย่างไรก็ตามบริษัทเพื่อการเกษตรเหล่านี้ก็ยังคงเดินหน้าก่อตั้งโครงการฟาร์มคาร์บอนเครดิตกันต่อไป เพื่อที่จะจำหน่ายเครดิตให้แก่ลูกค้าอย่าง Shell และ Nestlé และสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา บราซิล และประเทศอื่นๆก็วางแผนที่จะดำเนินรอยตามออสเตรเลียในการรวมเอาโครงการเหล่านี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแห่งชาติ

การยึดดินที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ผลประโยชน์ของบริษัทในฟาร์มคาร์บอนนั้นกว้างไกลกว่าการฟอกเขียวอุตสาหกรรมหรือกลไกชดเชยคาร์บอนแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการจ่ายค่าแรงแก่เกษตรกรเพื่อดึงดูดให้เข้าร่วมแพลตฟอร์มดิจิทัลที่บริษัทเพื่อการเกษตรข้ามชาติและบริษัทด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างอิทธิพลเหนือเกษตรกรในการเลือกประเภทผลผลิตและวิธีการทำฟาร์ม โครงการฟาร์มคาร์บอนส่วนใหญ่กำหนดให้เกษตรกรต้องลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่นของบริษัท แพลตฟอร์มดิจิทัลนี้และระบบสำรวจฟาร์มจากทางไกลที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นผลของการร่วมมือของบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Microsoft และ IBM ผู้ซึ่งจะเป็นผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตรายใหญ่ต่อไป โดยบริษัทตั้งเป้าหมายให้แพลตฟอร์มดิจิทัลของตนเป็นการให้บริการทางการเกษตรอย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่คาร์บอนเครดิต เมล็ดพันธุ์ สารกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี และอุปกรณ์ทางการเกษตรโดยบริษัทเอง ซึ่งได้ผลประโยชน์พลอยได้จากข้อมูลเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย โดยผู้จัดการฝ่ายการเงินของโครงการสามารถใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวนี้ซื้อฟาร์มในบราซิล ลงทะเบียนคาร์บอนเครดิต และบริหารจัดการโครงการจากวอลล์สตรีทได้อย่างง่ายดาย

ในทางตรงกันข้ามเกษตรกรได้ผลประโยชน์น้อยมากจากโครงการ ค่าจ้างที่ได้รับเป็นหน่วยตันคาร์บอนที่ดูดซับโดยดินของฟาร์มของตนนั้นต่ำกว่าค่าใช้จ่ายเว้นแต่ว่าเกษตรกรรายนั้นมีที่ดินเป็นสิบๆตารางกิโลเมตร หรือเป็นเกษตรกรที่อยู่ในกองทุนบำนาญหรือมหาเศรษฐีที่กว้านซื้อที่ดินจำนวนมากไว้ ซึ่งจะทำให้โอกาสในการทำกำไรสูงและทำให้มูลค่าของที่ดินนั้นเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นภาพลักษณ์โครงการสีเขียวได้อีกด้วย

แนวทางแก้ปัญหาที่มีหลักฐานรองรับ
ระบบอาหารโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าหนึ่งในสามของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศโลก
และการแก้ปัญหาโลกร้อนจะต้องมุ่งไปที่การลดก๊าซอย่างเป็นรูปธรรม มิใช่การชดเชยด้วยคาร์บอนเครดิต ถึงแม้ว่าโครงการทีช่วยเกษตรกรเก็บกักคาร์บอนไว้ในดินเป็นสิ่งจำเป็นและควรได้รับการสนับสนุน

แต่การแก้ปัญหาโลกร้อนอย่งมีประสิทธิภาพนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทุกฝ่ายเพื่อหยุดการปล่อยก๊าซจากระบบอาหารโลกโดยการหยุดใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและสารเคมี ซึ่งหมายถึงการแปรรูปไร่นาไปเป็นระบบวนเกษตรและสนับสนุนตลาดท้องถิ่นเพื่อกระจายการผลิตลดการผูกขาด และจัดหาที่ดินและคล่งน้ำให้เกษตรกรรายย่อย จัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์เพื่อเพาะพันธุ์พืชเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายและเหมาะสมกับพื้นที่โดยไม่ต้องใช้สารเคมีช่วย รัฐจะต้องกำหนดนโยบายที่มิให้มีการผลิตส่วนเกินและงดสนับสนุนผลผลิตที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอย่างเช่นเนื้อและนม และอาหารที่ก่อให้เกิดของเสียและอาหารพร้อมบริโภคด้อยคุณภาพต่างๆอย่างเช่นฟาสต์ฟู้ดเป็นต้น

ทว่าบริษัทเพื่อการเกษตรและอาหารที่ทำกำไรอยู่กับระบบอาหารโลกในปัจจุบันคงไม่สนับสนุนแนวทางเช่นนี้แน่นอน บริษัทคืออุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง โดยการยับยั้งการแก้ปัญหาที่เป็นรุปธรรมและนำสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจอย่างคาร์บอนฟาร์มเข้ามาแทนที่ เว้นแต่จะมีผู้ที่ลุกขึ้นมาท้าทายอิทธิพลของบริษัทเหล่านี้ได้

การยึดดินในออสเตรเลียและประเทศอื่นๆ
ออสเตรเลียได้ริเริ่มโครงการฟาร์มคาร์บอนในปี 2011 เพื่อผลิตคาร์บอนเครดิตมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โครงการที่ผ่านเกณฑ์ของออสเตรเลียสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้โดยใช้หน่วยวัดปริมาณคาร์บอนเป็น Australian carbon credit units (ACCUs) ผ่านทางกองทุน Climate Solutions ให้แก่รัฐบาลหรือบริษัทในออสเตรเลีย แต่ที่ผ่านมารัฐบาลออสเตรเลียนับเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด นอกจากนั้นก็มีบริษัทผู้ซื้ออย่าง Shell และ TotalEnergies ผ่านทางบริษัท Agriprove ผู้ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของโครงการฟาร์มคาร์บอนหนึ่งในออสเตรเลีย

ที่ผ่านมาโครงการประสบปัญหาที่จะผลิตคาร์บอนเครดิตให้ทันต่อความต้องการซื้อจากผู้ปล่อยก๊าซรายใหญ่ของออสเตรเลีย ที่ต้องการชดเชยการปล่อยก๊าซมากกว่าที่จะหยุดการปล่อย ดังนั้น เพื่อที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตคาร์บอรเครดิต รัฐบาลออสเตรเลียจึงลดมาตรฐานเกณฑ์การคัดเลือกลง เช่นลดระยะเวลาการพักดินจาก 100 ปีลงเหลือ 25 ปี ในทางตรงข้ามก็ขึ้นราคาคาร์บอนต่อหน่วยไปด้วย ทำให้เกิดการยึดที่ดินทำกินกันอย่างกว้างขวาง ในช่วงต้นปี 2022 นั้น รัฐบาลต้องออกกฎหมายห้ามบรรษัทการเงินกว้านซื้อพื้นที่เพาะปลูกไปเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกป่าเพื่อผลิตคาร์บอนเครดิตเพื่อป้องกันการยึดที่ดินทำกินจากชาวบ้าน

มีผู้เตือนรัฐบาลออสเตรเลียว่าการซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการฟาร์มคาร์บอนที่ไม่สามารถรับประกันระยะเวลาการพักฟื้นดินได้นั้นจะบ่อนทำลายวัตถุประสงค์ทั้งหมดของโครงการ รองประธาน Intergovernmental Panel on Climate Change นาย Mark Howden กล่าวว่าการที่ออสเตรเลียพึ่งพาคาร์บอนในดินเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกแต่เพียงด้านเดียวนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา “เมื่อสภาพอากาศร้อนและแล้งขึ้น คาร์บอนในดินแถบภาคใต้ของออสเตรเลียก็จะลดลง”

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเทศอื่นๆที่กำลังประสบปัญหากับปริมาณการปล่อยก๊าซของตนพยายามเดินตามรอยออสเตรเลียโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา ทำให้ภาคประชาสังคมอย่าง National Family Farm Coalition และองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆของสหรัฐฯกำลังต่อสู่เพื่อคัดค้านนโยบายที่จะตั้งตลาดคาร์บอนในประเทศ เช่นเดียวกับที่ European Coordination Via Campesina และองค์กรประชาสังคมในยุโรปที่กำลังเร่งดำเนินการเช่นเดียวกันกับสหภาพยุโรป (จบ)


อ้างอิง https://grain.org/…/6804-from-land-grab-to-soil-grab…


Social Share