THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Isabelle Gerretsen
วันที่ 19 ตุลาคม 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Getty Images

ในเดือนกรกฎาคม ไฟป่าลุกลามทั่วทางตอนเหนือของอเมริกา ในรัฐโอเรกอน ไฟ Bootleg ทำลายป่ากว่า 400,000 เอเคอร์ และเมื่อต้นไม้จำนวนมหาศาลถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน ปริมาณการชดเชยคาร์บอนก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว รวมถึงคาร์บอนที่บริษัทอย่าง BP และ Microsoft ได้ซื้อไปแล้ว

ไฟป่า Bootleg แสดงให้เราเห็นถึงข้อบกพร่องของกลไกตลาดคาร์บอน ได้แต่คำถามที่ว่าเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าโครงการดูดซับคาร์บอนที่เราซื้อจะยังคงอยู่ในอีก 10 หรือ 100 ปีข้างหน้า เมื่อภาวะโลกร้อนจะทำให้ไฟป่าและภัยแล้งเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น

คำถามคือว่าระบบชดเชยคาร์บอนจะช่วยให้เราลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเพียงพอที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนจริงหรือไม่?

กลไกตลาดคาร์บอนจะเป็นหัวข้อสำคัญในการประชุม COP26 ในวันที่ 26 พฤศจิกายน ณ กรุงกลาสโกว รัฐบาลของประเทศต่างก็กล่าวว่าคาร์บอนเครดิตและระบบการซื้อขายสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
แต่นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมไม่เห็นด้วยและเตือนว่าตลาดคาร์บอนจะทำให้ประเทศร่ำรวยสามารถปล่อยก๊าซกันได้ต่อไป
ก่อนหน้าการประชุมก็มีกลุ่ม Future Planet ได้ทำการวิเคราะห์ไว้ว่าตลาดคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพควรมีหน้าตาเช่นไร และจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อปริมาณก๊าซโดยรวมของโลกได้ในระดับใด

ตลาดคาร์บอนนานาชาติ
นักเศรษฐศาสตร์ได้คิดค้นกลไกตลาดคาร์บอนเพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเกิดความกระตือรือร้นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยให้ค่าตอบแทนในการกระทำดังกล่าว โดยแนวคิดได้แก่ ถ้าประเทศหนึ่งจ่ายเงินให้อีกประเทศหนึ่งทำการดูดซับก๊าซ อย่างเช่นด้วยการปลูกป่าหรือใช้พลังงานทางเลือกแทนพลังงานถ่านหิน กิจกรรมเช่นนี้ก็จะถูกนับเสมือนหนึ่งว่าประเทศที่จ่ายเงินนั้นได้ดำเนินการเอง

เป้าหมายหลักคือทุก ๆ ตันคาร์บอนที่ปล่อยสู่บรรยากาศจะมีอีกตันคาร์บอนหนึ่งที่ถูกดูดกลับสู่พื้นโลก และประเทศต่าง ๆยังสามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตกันได้อีกด้วยโดยมีหน่วยการซื้อขายเป็นตันคาร์บอน
ในทางทฤษฎีแล้ว การแลกเปลี่ยนเช่นนี้ควรจะหักลบกันหมดดังนั้นปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศโลกจากกิจกรรมของมนุษย์จึงจะไม่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม พบว่าการตั้งตลาดคาร์บอนนั้นมีอุปสรรคมากมาย กว่า 30 ปีที่หลายประเทศได้ทดลองและล้มเหลวในการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม ย้อนไปตั้งแต่พิธีสารเกียวโตที่นานาชาติลงนามกันในปี 1997 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกลไกพัฒนาพลังงานสะอาดหรือ Clean Development Mechanism (CDM) และต่อมาคือตลาดคาร์บอนในปี 2006 ภายใต้กลไก CDM นี้ ประเทศที่ร่ำรวยกว่าสามารถหลีกเลี่ยงการลดปล่อยก๊าซได้โดยตั้งโครงการดูดซับคาร์บอนในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อการชดเชย

พิธีสารเกียวโตได้กำหนดกลไก “cap and trade” ขึ้น ซึ่งเป็นกลไกที่จำกัดปริมาณก๊าซที่ปล่อยจากแหล่งที่มีความหนาแน่นสูงเช่นภาคขนส่งและพลังงานในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ สหภาพยุโรปได้สร้างระบบแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตที่อยู่บนพื้นฐานของ cap and trade ระบบแรกของโลกขึ้นในปี 2005

จากงานวิจัยในปี 2020 พบว่าระบบนี้ได้ลดการปล่อยก๊าซลงกว่าหนึ่งพันล้านตันคาร์บอนในช่วงปี 2008-2016
ในทางตรงข้าม ระบบ CDM ประสบความล้มเหลวจากความกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คอร์รัปชั่น และการละเมิดสิทธิมนุษยชน 85% ของโครงการ CDM ของสหภาพยุโรปไม่สามารถลดปริมาณกาปล่อยก๊าซลงได้ จากรายงานของคณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรปในปี 2017

ในปี 2015 กว่า 190 ประเทศได้ลงนามในข้อตกลงปารีสและตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ภายใต้มาตราที่ 6 แห่งสาระสำคัญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ประเทศสมาชิกทำข้อตกลงตั้งตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความล้มเหลวที่ CDM เผชิญมา

จากนั้นมาเป็นเวลา 6 ปี ประเทศที่ลงนามได้เร่งออกกฎข้อบังคับต่างๆมากมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสและเพื่อให้ทันการประชุม COP26 ในเดือนพฤศจิกายน ทว่าเมื่อถึงเวลาประชุม การดำเนินการยังคงอยู่ในขั้นตอนของการออกแบบตลาดคาร์บอนเท่านั้น

นักวิชาการบางรายได้แสดงข้อกังวลว่าข้อโต้แย้งที่ยังไม่สามารถลงมติได้อาจสนับสนุนหรือทำลายข้อตกลงปารีสก็ได้ “นี่เป็นสิ่งที่นานาชาติได้ลงนามให้คำมั่นไว้”

นาง Cynthia Elliott นักวิชาการโครงการสภาพภูมิอากาศโลกที่ World Resources Institute กล่าว “ถ้าเราไม่สามารถปฏิบัติตามคำมั่นสัญญานี้ได้ ข้อตกลงปารีสก็จะขาดน้ำหนัก”

แต่ถ้าเรานำมาปฏิบัติอย่างถูกต้อง กลไกการซื้อขายนี้จะสามารถลดการปล่อยก๊าซลงได้ถึงสองเท่าและทำให้ต้นทุนการลดปล่อยก๊าซลดลงอย่างมาก

จากข้อเสนอแนะของกลุ่ม Environmental Defense Fund โครงการชดเชยคาร์บอนสามารถระดมทุนให้แก่ประเทศยากจนเพื่อสร้างงานด้านการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนเช่นการเสนอค่าแรงให้แก่ชาวบ้านเพื่อการฟื้นฟูป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ถ้านานาชาติไม่สามารถปิดช่องว่างของกฎหมายหรือทำให้ตลาดคาร์บอนสามารถลดก๊าซได้อย่างเป็นรูปธรรม ตลาดคาร์บอนจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

หลุมพราง
ปัญหาใหญ่ของกลไกตลาดคาร์บอนในปัจจุบันได้แก่ “แนวทางที่กว้างมากในการคำควณเครดิต” นาย Lambert Schneider ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดคาร์บอนแห่ง Öko-Institut กล่าว “หลายโครงการชดเชยคาร์บอนได้รับการอนุมัติทั้งที่ไม่มีหลักประกันว่าปริมาณการปล่อยก๊าซจะลดได้จริง ในความเป็นจริงแล้ว เงื่อนไขปริมาณการดูดซับก๊าซที่โครงการคาร์บอนเครดิตต้องทำให้ได้นั้นสูงเกินความเป็นจริงไปมาก

นาย Grayson Badgley นักวิชาการด้านป่าไม้แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าว “หลักการนั้นสมบูรณ์แบบ แต่ในทางปฏิบัติแล้วเกิดปัญหาแน่นอน “

ยกตัวอย่างเช่นโครงการชดเชยคาร์บอนของรัฐแคลิฟอร์เนียที่ผลิตคาร์บอนเครดิตจำนวน 20-39 ล้านหน่วยนั้นยังมิได้บรรลุเป้าหมายด้านการดูดซับคาร์บอนเลยแม้แต่น้อยตามรายงานของ CarbonPlan ซึ่งเป็นองค์กร NGO ที่มีเป้าหมายในการหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนกลไกการชดเชยคาร์บอน

เรื่องนี้ก่อให้เกิดคำถามต่อองค์กรที่มีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์ป่าแต่กลับฟื้นฟูป่าเพื่อขายเครดิตแก่ภาคเอกชนเพื่อจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อ หลายองค์กรอนุรักษ์ในสหรัฐอเมริการวมไปถึง Nature Conservancy (TNC) และ Northeast Wilderness Trust ได้เข้าร่วมโครงการตลาดคาร์บอน และ Badgley ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “อะไรจะเกิดขึ้นถ้าไม่มีการแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อคาร์บอนเครดิต? มันจะทำให้ป่าตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถูกตัดถางหรือไม่?”

ระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทำให้ “เจ้าของที่ดินพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารที่ดินของคนเพื่อนับเป็นคาร์บอนเครดิตอยู่แล้ว” นาง Barbara Haya ผู้อำนวยการโครงการตลาดคาร์บอนแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกล่าว

อย่างไรก็ตาม TNC ชี้ให้เห็นว่ามีสถานการณ์ที่การอนุรักษ์ป่าสามารถใช้คาร์บอนเครดิตได้อย่างสมเหตุผล เช่นการนำทุนมาใช้เพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการป่าเพื่อให้ดูดซับคาร์บอนได้มากขึ้น ที่อุทยานแห่งชาติ St John River ในรัฐเมน องค์กรได้ซื้อที่ป่า 750 ตารางกิโลเมตรจากบริษัทผลิตเยื่อกระดาษรายหนึ่ง และในอีก 20 ปีต่อมาป่าแห่งนี้ได้ผลิตไม้ที่เป็นแหล่งรายได้หลักให้แก่ TNC และถ้า TNC สามารถแปลงป่านี้จากการผลิตไม้เป็นป่าเพื่อการผลิตคาร์บอนเครดิต ก็จะทำให้องค์กรไม่ต้องล้มต้นไม้ เป็นการอนุรักษ์ป่าได้อีกทางหนึ่งด้วย

“ตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา การขายไม้เป็นแหล่งรายได้หลักของ TNC และถ้า TNC เปลี่ยนเป้าหมายไปเป็นการผลิตคาร์บอนเครดิตนั่นหมายความว่า TNC จะต้องเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการที่ป่าเพื่อการเก็บกักคาร์บอนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” โฆษกของ TNC ชี้แจง

องค์กร Northeast Wilderness Trust ก็ให้ความสำคัญกับความแตกต่างระหว่างกลไกชดเชยคาร์บอนที่มีการตัดไม้ตามมากับไม่มีการตัดไม้ โครงการ Wild Carbon ขององค์กรนั้น “อุทิศให้แก่การผลิตคาร์บอนเครดิตจากป่าที่จะไม่ถูกตัดโค่นในภายหลัง “ นาย Jon Leibowitz ผู้บริหารองค์กรกล่าว
“คำพูดที่ว่าองค์กรอนุรักษ์มีภารกิจที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของตลาดคาร์บอนนั้นไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด”

นาย Leibowitz ชี้แจง “มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าป่าที่มีอายุมาก ๆ จะดูดซับคาร์บอนได้ดี ซึ่งเป็นวิธีการที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงมาก ด้วยเหตุนี้เอง องค์กรอนุรักษ์จึงควรได้รับการสนับสนุนด้านการขายคาร์บอนเครดิตในตลาด ตราบเท่าที่โครงการมีทั้งการปลูกต้นไม้ใหม่และรักษาต้นไม้เดิมไว้”

นาย Leibowitz ว่า “ถ้าเราทำอย่างถูกวิธีแล้ว ราคาคาร์บอนเป็นกลไกที่มีประโยชน์ในการเก็บกักคาร์บอนไว้ในป่าไม้และดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโครงการที่อนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืน เนื่องจากทำให้ต้นไม้โตอย่างไม่มีขีดจำกัด ซึ่งจะทำให้ต้นไม้สามารถเก็บกักคาร์บอนได้มากขึ้น”

นอกจากป่าเพื่อการดูดซับคาร์บอนแล้ว บางโครงการที่มีความมุ่งมั่นที่จะดูดซับคาร์บอนโดยแท้จริงหลีกเลี่ยงการขายคาร์บอนเครดิตไปเลย เจ้าหน้าที่ Gilles Dufrasne ของ Carbon Market Watch พูด แต่เมื่อต้องการขายก็จะสำรวจหาโครงการที่ไม่สามารถลดก๊าซได้โดยไม่ได้ทุนจากการชดเชยคาร์บอน หรือพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่า เราทำเช่นนี้เพื่อให้แน่ใจว่ากลไกการชดเชยไม่ได้ให้ทุนแก้โครงการลดก๊าซที่มีอยู่แล้ว

ถึงแม้ว่ามีโครงการที่ดูดซับคาร์บอนได้จริงก็ต่อเมื่อได้รับค่าชดเชย กลไกการชดเชยก็อาจมีข้อบกพร่องได้จากสาเหตุอื่น ดังที่เราได้เห็นจากกรณีไฟ Bootleg ที่เผาทำลายป่าที่คาดหวังกันว่าจะเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนถาวร ป่าคาร์บอนเครดิตส่วนมากในสหรัฐอเมริกาอยู่ภายใต้ Improved Forest Management protocol ที่ไม่ได้นำปัจจัยเรื่องไฟป่าและโอกาสที่จะเกิดไฟป่าบ่อยขึ้นจากภาวะโลกร้อนมาร่วมพิจารณา

นาย Badgley ยังได้เสริมว่า “เรารู้ดีว่าความเสี่ยงมีแต่จะเพิ่มขึ้น และระบบที่รัฐแคลิฟอร์เนียใช้กันอยู่นั้นก็ไม่ได้รองรับความเสี่ยงนี้”

ไม่มีวิธีการใดที่สามารถรับประกันว่าโครงการดูดซับคาร์บอนจะมีความยั่งยืน เช่นไม่มีใครรู้ว่าอัตราการตัดไม้ทำลายป่าในบราซิลในอีกสิบปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง และการเปลี่ยนแปลงก็กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นาย Schneider กล่าวว่า “ข้อมูลที่ใช้ในการทำนายอนาคตเป็นเพียงสมมติฐานซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงมาก “

กฎเกณฑ์ใหม่
ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ เตรียมตัวเพื่อการเจรจาต่อรองกฎเกณฑ์สำหรับตลาดคาร์บอนในการประชุม COP26 ในเดือนพฤศจิกายนนั้น

นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมได้เน้นย้ำความสำคัญถึงการกำจัดคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ และพบว่ายังมีประเด็นปัญหาคงค้างอยู่สองประการได้แก่

1) การนับเครดิตซ้ำซ้อน
2) เราควรนับเครดิตที่ได้จากโครงการ CDM เดิมรวมเข้ากับระบบตลาดคาร์บอนที่ตั้งขึ้นใหม่หรือไม่

ประการแรก เรื่องของการนับเครดิตซ้ำซ้อน ยกตัวอย่างเช่นประเทศบราซิลต้องการอ้างสิทธิในเครดิตที่ขายให้แก่ประเทศอื่นไปแล้วด้วย ซึ่งหมายความว่าเครดิตที่ขายไปจะถูกนับสองครั้ง ถ้าสหราชอาณาจักรต้องการลงทุนเพื่อการอนุรักษ์ป่าอเมซอน บราซิลต้องการอ้างสิทธิในเครดิตที่ตนเองผลิตและที่ขายให้แก่สหราชอาณาจักร นอกจากนี้ บราซิล รวมทั้งจีนและอินเดีย ยังต้องการขายเครดิตเก่าที่ผลิตจากยุคพิธีสารเกียวโตเพื่อมิให้การลงทุนสูญเปล่า

เนื่องจากการลดก๊าซภายใต้พิธีสารเกียวโตได้เกิดขึ้นไปแล้ว การนำเครดิตเก่ามาใช้อีกไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรกับสภาพภูมิอากาศโลกและประเทศที่ตกอยู่ในความเสี่ยงต่อภาวะโลกร้อน” นาย Schneider ให้เหตุผล
ดังนั้นเราจึงไม่ควรอนุญาตให้มีการนับเครดิตซ้ำซ้อนหรือการนำเครดิตเก่ามาใช้ใหม่โดยสิ้นเชิง

ประการที่สอง โครงการที่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่าง CDM ก็ยังเป็นอีกปัญหาหนึ่ง หลายโครงการชดเชยคาร์บอนที่ผ่านมา “ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่” นาง Erika Lennon อัยการอาวุโสของ Center for International Environmental Law แจ้งว่าหลายผู้พัฒนาโครงการหลายรายมิได้ปรึกษาและขอความเห็นชอบจากชุมชนท้องถิ่นก่อนดำเนินการ

หนึ่งในโครงการดังกล่าวได้แก่โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Alto Maipo ในเมือง Santiago ประเทศชิลีที่ได้รับการรับรองโดย CDM โดยไม่คำนึงถึงประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการคัดค้านจากชุมชนท้องถิ่นที่ร้องทุกข์ว่าโครงการดังกล่าวเปลี่ยนเส้นทางการไหลของแม่น้ำ Maipo ในช่วงกว่า 100 กิโลเมตรเพื่อการผลิตไฟฟ้า ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นขาดน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค

“การเคารพสิทธิมนุษยชนในด้านการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย” นาง Lennon กล่าว

เราไม่ควรตั้งตลาดคาร์บอนที่ขายเครดิตราคาถูกขึ้นมาเว้นแต่ว่าจะมีกฎข้อบังคับที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการคอร์รัปชั่น” นาย Haya เสริม “คุณไม่สามารถตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนได้จากความหลอกลวง เราต้องแน่ใจว่าเครดิตนั้นเป็นสิ่งที่จับต้องได้จริง ไม่ใช่คำโกหก” และยังได้เสนอให้บริษัทและประเทศผู้ซื้อเครดิตตั้งกองทุนเพื่อการตั้งรับปรับตัวโดยการลดการปล่อยก๊าซอย่างเป็นรูปธรรม เพราะถึงแม้ว่าในท้ายที่สุดแล้วนานาชาติจะกำหนดกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมขึ้นมารองรับตลาดคาร์บอนได้ก็ตาม แต่เราก็ไม่สามารถตั้งความหวังไว้กับตลาดคาร์บอนเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนแต่เพียงทางเดียวได้
“เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่แตกต่างจากครั้งที่เราทำข้อตกลงปารีส” นาย Elliott ชี้แจง “หลายประเทศได้ตั้งเป้าหมาย net zero กันแล้ว ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าตลาดคาร์บอนยังจำเป็นอยู่หรือไม่ และการแก้ปัญหาที่แท้จริงควรจะเป็นการแปรรูปอุตสาหกรรมใช่ไหม การนำเสนอกลไกชดเชยคาร์บอนมิใช่ส่วนสำคัญของการแก้ปัญหาโลกร้อน แต่เป็นการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากกว่าเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย net zero ภายในปี 2050 และรัฐบาลของประเทศเราก็ไม่ควรซื้อเครดิตจากประเทศอื่นเพื่อปล่อยก๊าซต่อไป แต่ควรลดการปล่อยก๊าซลง” (จบ)

อ้างอิง https://www.bbc.com/…/20211018-climate-change-what-is…


Social Share