THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Michael F. Schmidlehner
วันที่ 12 เมษายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Screenshot from the video
“Nature-based Solutions and Shell” (https://youtu.be/p-_peqYDtoA)

คำว่า การแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติ (Natural Base Solution: NBS) ตามนิยามของ International Union for Conservation of Nature (IUCN) ได้แก่ “การดำเนินการเพื่ออนุรักษ์ บริหารจัดการ และฟื้นฟูธรรมชาติและระบบนิเวศอย่างยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสังคมเช่นภาวะโลกร้อน ความมั่นคงทางอาหารและแหล่งน้ำ หรือภัยธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่มนุษย์และความหลากหลายทางชีวภาพ”

เมื่อแนวคิดนี้แพร่หลายมากขึ้น องค์กร NGOs ต่างก็นำมาปรับใช้เป็นหัวใจสำคัญของโครงการต่าง ๆ ของตนเอง แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติทำให้เกิดผลข้างเคียงอะไรอีกบ้างนอกจากผลลัพธ์ในคำจำกัดความตามที่กล่าวมา?

คำจำกัดความได้กล่าวถึงการอนุรักษ์ บริหารจัดการ และฟื้นฟูระบบนิเวศ และการดำเนินการเพื่อประหยัดการใช้พลังงาน พัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาพลังงานทางเลือก การขนส่ง และการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ซ้ำ โดยสรุปแล้ว การกระทำเหล่านี้ถือเป็น “การกระทำเชิงบวกที่สามารถทำได้โดย ‘ไม่ต้องคิดซ้ำสอง’ เพราะเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”

เมื่อแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาตินี้มีแนวโน้มที่จะแก้ปัญหาด้านความหลากหลายทางชีวภาพและภาวะโลกร้อน จึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในหมู่ NGOs เช่นองค์กร The Nature Conservancy (TNC) ได้กล่าวถึง “แนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติ” และ “แนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนที่ถูกลืมเลือน”

การแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติอันรวมไปถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ใช้การฟื้นฟูธรรมชาตินั้นกลายเป็นแนวทางที่มีน้ำหนักมากในการประชุม UNFCCC

เมื่อเราเห็นแผ่นพับหรือเว็บไซต์ที่สวยงามขององค์กรเหล่านี้ที่มุ่งเน้นไปที่องค์ประกอบเรื่องแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติ คนทั่วไปก็จะเกิดความประทับใจที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากฐานรากความคิดและการกำเนิดของยุคใหม่ของการแก้ปัญหาโลกร้อน

เมื่อองค์กรภาคประชาสังคม ภาครัฐ และแม้แต่ภาคเอกชนยังต้องยอมตามธรรมชาติในที่สุด มันคงจะเป็นสิ่งที่ดีมาก
อย่างไรก็ตาม สำหรับนักอ่านที่ใช้ความสังเกตอย่างละเอียดจะตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อมูลในแง่ดีเหล่านี้ ดังที่นาย Paul Johnson นักประวัติศาสตร์ได้กล่าวไว้ว่า “การมองโลกในแง่ดีคือเครื่องมือของมนุษย์ที่ใช้ซ่อนความเป็นจริงที่โหดร้าย”

แต่ใครก็ตามที่เคยติดตามข่าวสารจากองค์กรเหล่านี้ก่อน “การค้นพบ” แนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติจะสังเกตได้ว่าไม่มีการกล่าวถึงประเด็นปัญหาของกลไก REDD หรือ REDD+ ซึ่งได้แก่การทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าที่ยังคงค้างอยู่เลย และกลไกนี้ก็มีบทบาทที่สำคัญมากต่อโครงการอนุรักษ์ธรรมชาติของ NGOs ทั้งหลาย

ดังนั้นเราจะอธิบายถึงการสูญหายไปของ REDD เมื่อเกิดแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติขึ้นใหม่ได้อย่างไร?
ข้าพเจ้าจะอธิบายถึงการเกิดขึ้นของแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติในห้าปีที่ผ่านมาและการเงียบหายไปของกลไก REDD ที่เคยมีบทบาทสำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพและภาวะโลกร้อน

เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงของโครงการภายใต้แนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติและความเกี่ยวข้องกับ REDD ใครคือผู้สนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติ และผลประโยชน์ของพวกเขาคืออะไร ต่อมาข้าพเจ้าจะสาธิตว่าการที่แนวคิด REDD กลายมาเป็นแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาตินั้นเป็นมากกว่าแนวคิดที่เฉลียวฉลาดของนักการตลาดสิ่งแวดล้อมที่ใช้ซ่อนวาระส่วนตัวไว้เบื้องหลังอย่างไร และข้าพเจ้าจะแสดงให้เห็นว่าแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติเอื้อประโยชน์แก่ทุนนิยมเพื่อหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตนเองและทำลายสิ่งแวดล้อมไปด้วยอย่างไร

สูตรวิเศษแห่งการ “แก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติ” และข้อเท็จจริงอันเลวร้ายเบื้องหลัง
“เรามีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกถึงหนึ่งในสามภายในปี 2030 โดยการร่วมมือกับธรรมชาติ”
คำประกาศเช่นนี้แพร่หลายไปในหมู่ประเทศสมาชิกในการประชุมสหประชาชาติและทำให้แนวคิดแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติกลายเป็นยาวิเศษในการรักษาภาวะโลกร้อน

โดยแนวคิดดังกล่าวเริ่มต้นจากงานวิจัยชิ้นเดียวที่มีชื่อว่า “Natural climate solutions” ที่ตีพิมพ์ในเดือนตุลาคม ปี 2017 ในงานเขียนฉบับนี้ ผู้แต่งซึ่งเป็นพนักงานของ TNC เล่าว่า เพื่อให้อุณหภูมิผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นอีกไม่เกิน 2°C เราจะต้องบรรลุเป้าหมายสามประการได้แก่

การฟื้นฟูป่า การรักษาพื้นที่ป่า และการจัดการป่า

งานวิจัยได้กำหนดว่าการฟื้นฟูป่าที่จะทำให้อุณหภูมิผิวโลกไม่เพิ่มสูงขึ้นเกิน 2°C จะต้องกระทำบนพื้นที่ป่าไม่น้อยกว่า 6.78 ล้านตารางกิโลเมตร หรือเท่ากับขนาดของประเทศบราซิลหรือออสเตรเลีย

นาย Chris Lang ที่ทำงานกับ web platform ของ REDD และนาย Simon Counsell อดีตผู้บริหารของ Rainforest Foundation แห่งสหราชอาณาจักร ได้ทำการวิเคราะห์งานเขียนชิ้นนี้และสรุปว่าแผนการดังกล่าวไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับสิทธิเหนือที่ดินทำกินอย่างรุนแรง

เจ้าของงานวิจัยชิ้นแรกมิได้กล่าวว่าเราควรฟื้นฟูป่าในพื้นที่ใด แต่คาดว่าพื้นที่ที่น่าจะมีศักยภาพมากที่สุดตามที่ Lang กับ Counsell ได้คาดเดาไว้ได้แก่พื้นที่ป่าในประเทศแถบซีกโลกใต้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศบราซิล

การฟื้นฟูป่าจากทุ่งปศุสัตว์ขนาดใหญ่เช่นนี้ นอกจากจะเป็นไปไม่ได้ด้วยสภาพแวดล้อมทางการเมืองของบราซิลในปัจจุบันแล้ว ยังเป็นไปไม่ได้ที่จะลดอัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ของผู้บริโภคในระยะเวลาอันสั้นเช่นนั้น

นอกจากนี้ คำกล่าวอ้างในงานวิจัยที่ว่าการฟื้นฟูป่าจะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้

Lang กับ Counsell ยังชี้ให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องของหลักการขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ที่งานวิจัยใช้และสรุปว่าเป็น “งานที่เขียนขึ้นจากตัวเลขทางทฤษฎี แต่ไม่นำเอาข้อเท็จจริงทางการเมือง ประวัติศาสตร์มาร่วมพิจารณา ใช้สมมติฐานที่ไม่สมเหตุผล และละเลยปัจจัยที่สำคัญยิ่งอย่างสิทธิมนุษยชน”

เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้เขียนงานวิจัยฉบับดังกล่าวจะไม่เดียงสาขนาดนั้น? แน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ ท้ายที่สุดแล้ว ผลประโยชน์ขององค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่าง TNC จะไม่สอดคล้องกับโครงการที่สามารถป้องกันหรือลดภาวะโลกร้อนได้จริง
องค์กรเหล่านี้ซึ่งส่วนมากดูเหมือนเป็นบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มากกว่าที่จะเป็นภาคประชาสังคมในปัจจุบันจึงต้องออกแบบวิธีการแก้ปัญหาที่จะไม่กระทบต่อผลประโยชน์ของนายทุนผู้ที่อยู่เบื้องหลัง

ดังนั้นใครเป็นผู้ที่ให้ทุนสนับสนุนแก่โครงการที่แก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติและผลประโยชน์ของพวกเขาคืออะไร?
TNC มีพันธมิตรถึง 33 องค์กรที่ร่วม “ลงทุนในธรรมชาติ” ได้แก่บริษัทระดับโลกอย่าง Shell, Amazon, Coca Cola, Nestlé, Cargill, Syngenta, BHP Billiton, Bank of America และ American Express และองค์กร NGOs ขนาดใหญ่อื่น ๆ อย่าง IUCN, Conservation International (CI) หรือ WWF ก็กำลังดำเนินรอยตาม TNC

กรณีศึกษาของเชลล์: พบการผลิตคาร์บอนเครดิตและกลไก REDD ในการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติ
ในการทำความเข้าใจเกมส์ผลประโยชน์ขององค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมและบรรษัทเหล่านี้ บริษัทเชลล์เป็นกรณีศึกษาที่ดีที่สุด เชลล์ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นปริมาณ 3.2 หมื่นล้านตันในช่วงปี 1965 ถึงปี 2019 ทำให้เชลล์เป็นผู้ร้ายที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติ ดังนั้นบริษัทแม่ที่เนเธอร์แลนด์จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะกู้ภาพลักษณ์ของตนไว้โดยให้คำมั่นแก่มวลชนว่าจะพยายามลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนลง

การร่วมเป็นพันธมิตรกับ IUCN ตั้งแต่ปี 2000 และ TNC ตั้งแต่ปี 2009 ทำให้เชลล์ประกาศในปี 2019 ว่าได้ลงทุนเป็นจำนวนเงิน 300 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯในการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เชลล์ก็ได้ชูแนวคิดนี้ในการประชาสัมพันธ์มาตลอด

การลงทุนมูลค่าเล็กน้อยนี้ (เมื่อเทียบกับรายรับองค์กรในปี 2018 จำนวน 2.4 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ) และคำประกาศว่าจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ด้วยวิธีการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติภายในปี 2050 ไม่เพียงพอที่จะทำให้บริษัทรอดพ้นไปจากเงื้อมมือของระบบยุติธรรมของเนเธอร์แลนด์ โดยในปี 2021 มีคำสั่งศาลให้เชลล์ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิลง 45% ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปี 2019

ในขณะที่สื่อมวลชนส่วนมากกำลังเฉลิมฉลองช่วงนาทีประวัติศาสตร์นี้ พวกเขาได้ละเลยความแตกต่างระหว่างคำว่า “ลดการปล่อยก๊าซ” และ “ลดการปล่อยก๊าซสุทธิ” ไป ความแตกต่างนี้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการวัดผลของการลดก๊าซของเชลล์และผู้ปล่อยก๊าซรายใหญ่อื่นๆ

การลดการปล่อยก๊าซสุทธินั้นรวมเอาความเป็นไปได้ที่ผู้ปล่อยก๊าซจะหาทางชดเชยการปล่อยก๊าซด้วยวิธีอื่นแทนที่จะลดก๊าซลงอย่างเป็นรูปธรรม โดยการลงทุนในโครงการดูดซับคาร์บอน ดังนั้นผลประโยชน์ของ “วิธีการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติ” จึงได้รับการอธิบาย กล่าวคือเพื่อผลิตคาร์บอนเครดิตราคาถูกที่ทำให้บริษัทน้ำมันสามารถสำรวจและขุดเจาะน้ำมันกันได้ต่อไป และเชลล์ก็ออกมายอมรับตามตรงว่าวัตถุประสงค์หลักของโครงการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติของเชลล์คือ “ผลิตคาร์บอนเครดิต”

การศึกษาโครงการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติของเชลล์ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวมีประเด็นปัญหาเดียวกับที่ได้พบในข้อเสนอของ TNC proposal ได้แก่เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและการจัดการป่าไม้ที่ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า REDD ของเดิม โดย Counsell กับ Lang สรุปว่า “การแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติ” ที่ใช้กันอยู่นั้นเป็นเพียงการนำเอาเหล้าเก่าคือแนวคิดเรื่อง REDD ที่พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมมาใส่ขวดใหม่…

สองในสามของศักยภาพของการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติอยู่ในรูปของต้นไม้และป่าไม้ ซึ่งก็คือ REDD+ นั่นเอง

สองโครงการหลักของเชลล์เพื่อการผลิตคาร์บอนเครดิตตั้งอยู่ในประเทศเปรูและอินโดนีเซีย และเป็นตัวอย่างของความบกพร่องและล้มเหลวของกลไก REDD ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมมานานและทำให้กลไก REDD นั้นหมดความน่าเชื่อถือไป

ในประเทศเปรู ชุมชนชาว Quichua แห่งเมือง Puerto Franco กำลังฟ้องร้องโครงการ REDD+ ในอุทยานแห่งชาติ Parque Nacional Cordillera Azul ที่ขายคาร์บอนเครดิตให้แก่เชลล์ โดยชุมชนท้องถิ่นได้รายงานว่าโครงการดังกล่าวมีปัญหาตั้งแต่ดำเนินการโดยไม่ได้ขอความคิดเห็นจากชุมชนในพื้นที่ไปจนถึงการรุกรานและยึดที่ดิน และเรื่องเหล่านี้รวมถึงการหลีกเลี่ยงการลดก๊าซอย่างเป็นรูปธรรมและการแทรกแซงระบบนิเวศ (โครงการป่าคาร์บอนเครดิต) ได้กลายเป็นประเด็นปัญหาของกลไก REDD มาโดยตลอด

โดยสรุปแล้ว กลไก REDD เข้าใจว่าป่าจะทำงานได้ดีกว่านี้และดูดซับคาร์บอนได้ดีกว่านี้เมื่อไม่มีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่

โครงการ Katingan Mentaya ในอินโดนีเซียที่ขายคาร์บอนเครดิตให้แก่บริษัทเอกชนชั้นนำมากมายอย่างเชลล์ โฟล์คสวาเก้น และสายการบินบริติชแอร์เวยส์อ้างว่าได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์ป่าที่สามารถ “ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 447,110,760 ตันภายในเวลา 60 ปี” ซึ่งเท่ากับปริมาณที่ประเทศฝรั่งเศสปล่อยทั้งปี ทำให้โครงการนี้เป็นโครงการดูดซับคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

องค์กร Greenpeace ได้ทำการวิเคราะห์โครงการนี้ในเดือนตุลาคมปี 2020 และพบความล้มเหลวและความขัดแย้งในการดำเนินงานแบบเดียวกับที่เกิดกับโครงการ REDD อื่นๆ ซึ่งได้แก่ additionality, leakage, และ permanence

Additionality หมายถึงผู้สนับสนุนโครงการจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าในทางทฤษฎีแล้วมีปริมาณคาร์บอนกี่ตันที่ได้จากการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมที่ไม่ใช่โครงการ REDD

ความแตกต่างระหว่างการมีโครงการ REDD และไม่มีโครงการ REDD ทำให้เราสามารถหาค่าปริมาณคาร์บอนที่โครงการสามารถดูดซับได้จริง ซึ่งจะนำไปสู่การคำนวณจำนวนเครดิตที่สามารถนำไปขายได้

เราจะเห็นได้ว่าในกรณีนี้ผู้สนับสนุนโครงการจะพยายามทำการคำนวณให้ปริมาณคาร์บอนฯ ที่ได้จากการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมถ้าไม่มีโครงการ REDD มีน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งองค์กร Greenpeace พบการกระทำในลักษณะดังกล่าวในโครงการ Katingan Mentaya และสรุปว่า “ป่าสามารถดูดซับคาร์บอนฯ ได้ดีพอ ๆ กันไม่ว่าจะมีโครงการ REDD หรือไม่ก็ตาม”

ประการที่สอง Leakage ได้แก่การห้ามตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่หนึ่งจะก่อให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าในบริเวณใกล้เคียง องค์กร Greenpeace รายงานเกี่ยวกับโครงการ Katingan Mentaya ว่า “เป็นการแผ้วถางป่าที่อาจเป็นการป้องกันไม่ให้ป่าในพื้นที่อื่นถูกแผ้วถาง”

ประการสุดท้าย Permanence คือสัญญาการซื้อขายเครดิต อย่างในกรณีของ Katingan Mentaya นั้น คาร์บอนฯ ถูกเก็บกักอยู่ในดินตลอดช่วง 60 ปีของอายุโครงการ อย่างไรก็ตาม ย่อมมีปัจจัยที่ผู้สนับสนุนโครงการไม่สามารถควบคุมหรือทำนายได้อย่างเช่น ไฟป่าและการลักลอบตัดไม้ที่จะทำให้คาร์บอนถูกปล่อยสู่บรรยากาศอีก

ปัจจัยที่องค์กร Greenpeace พบในโครงการเหล่านี้คือลักษณะสำคัญของกลไก REDD ที่หลายโครงการเอกชนนำไปใช้ ส่วนองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรอย่าง Greenpeace นั้นปฏิเสธกลไกนี้โดยสิ้นเชิงโดยพิจารณาว่าเป็นความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ และสรุปว่า “ในขณะที่ผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตปล่อยก๊าซ CO2 สู่บรรยากาศต่อไป เราจะได้รับผลกระทบอีก 100 ปีข้างหน้า และไม่มีอะไรจะมารับประกันได้ว่าป่าคาร์บอนฯ จะอยู่ได้นานขนาดนั้น”

อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้ในรายงานของ Greenpeace ไม่ค่อยได้รับการเผยแพร่สู่ผู้บริโภค ในทางตรงกันข้ามมีแต่คำโฆษณาชวนเชื่ออย่างเช่นการเติมน้ำมันที่ปั๊มเชลล์เท่ากับคุณช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ อย่างนี้เป็นต้น

ความขัดแย้งของโครงการ CSR ภาคเอกชนและนิยามเกี่ยวกับ “ความร่วมมือจากภาคเอกชน”

เชลล์ก็เหมือนกับบริษัทอื่น ๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างผลกำไรสู่สุดแก่ผู้ถือหุ้น เป็นเรื่องปกติที่บริษัทเหล่านี้จะเลี่ยงหรือรับมือกับกฎหมายในแนวทางที่คุ้มทุนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นการเชื่อว่าบริษัทเหล่านี้จะร่วมมือกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยไม่หวังผลตอบแทนนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไร้เดียงสา

ในหนังสือชื่อ The Corporation โดยนาย Joel Bakan อธิบายไว้ว่าทำไมความคิดเห็นเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่ผิด
“กฎหมายห้ามมิให้มีการโฆษณาชวนเชื่อในลักษณะที่ว่าโครงการมีขึ้นเพื่อช่วยเหลือแรงงาน ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม หรือช่วยผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่าย แต่สามารถดำเนินโครงการได้ด้วยทุนของตนเองในฐานะที่เป็นนิติบุคคล

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นพนักงานของบริษัทและเป็นผู้ดูแลรักษาเงินลงทุนของนักลงทุน พนักงานจะไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะดำเนินการตามเป้าหมายที่สิ้นสุดลงได้ด้วยตัวของมันเอง แต่มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของบริษัทซึ่งหมายถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ดังนั้นโครงการ CSR ภาคเอกชนจึงเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายเมื่อดำเนินการอย่างจริงใจ”

ข้อขัดแย้งดังกล่าวทำให้เกิดการล็อบบี้อย่างหนักจากภาคเอกชน ดังนั้นข้อตกลงของสหประชาชาติว่าด้วยสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพจึงหันมาพึ่งพา “ความร่วมมือจากภาคเอกชน” หรืออีกนัยหนึ่งได้แก่สหประชาชาติกำลังยื่นชะตากรรมของโลกให้อยู่ในมือของตรรกะแนวคิดเรื่องกำไรสูงสุดของภาคเอกชน

ในกรณีเช่นนี้ แนวทางแก้ปัญหาที่ “สอดคล้องต้องกันกับระบบตลาด” ที่ได้รับการสนับสนุนโดยสหประชาชาติอย่าง REDD หรือ NBS เป็นกลไกที่ก่อให้เกิดผลเสียยิ่งกว่าการไม่ใช้กลไกเสียอีก เนื่องจากเอื้อให้ภาคเอกชนหาประโยชน์จากการทำลายธรรมชาติมากกว่าเดิมและปิดบังข้อเท็จจริงไว้จากสาธารณชน

ถึงแม้ว่าเชลล์จะประกาศไว้บนบิลบอร์ดตามที่ต่างๆว่า “make the change” ทว่านโยบายอย่าง NBS และ REDD เป็นอุปสรรคต่อความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และปล่อยข่าวลวงที่ก่อให้เกิดความสับสนและขัดแย้งในหมู่ประชาชน

ข้อเท็จจริงอันเลวร้ายที่กลุ่มฟอกเขียวพยายามปิดบังแต่ไม่สำเร็จได้แก่ข้อเท็จจริงที่ว่า หลังจาก 30 ปีของข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศโลกและความหลากหลายทางชีวภาพ ธุรกิจพลังงานยังคงดำเนินกิจการไปตามปกติ และภาวะโลกร้อนกำลังทวีความรุนแรงขึ้น

ตั้งแต่ข้อตกลงปารีสในปี 2015 เป็นต้นมา ธนาคารต่างๆได้ออกเงินกู้มูลค่ารวม 2.7 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตรรกะของทุนนิยมในองค์รวมและนิยายเกี่ยวกับ “อาวุธวิเศษ”
Counsell กับ Lang กล่าวว่า “หลักฐานทางวิทยาศาสตร์” ที่เกี่ยวกับ “การแก้ปัญหาด้วยวิธีธรรมชาติ” นั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องเพ้อฝัน การเปลี่ยนชื่อกลไกที่เคยล้มเหลวอย่าง REDD มาเป็น NBS นั้นเป็นเพียงกลยุทธ์โฆษณาชวนเชื่อ แต่ว่านี่เป็นทั้งหมดที่ภาคเอกชนได้ทำลงไปเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือ? การปกปิดและบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยบริษัทเอกชน

ในช่วงปีที่ผ่านมาบ่งบอกว่ามีบางสิ่งที่เป็นพื้นฐานมากกว่านั้นที่ถูกบิดเบือน
เพื่อที่จะให้มองภาพได้ชัดเจนขึ้น เราจะต้องพิจารณาสิ่งที่สังคมรับรู้เกี่ยวกับวิกฤติสิ่งแวดล้อมในช่วงปี 1970-1980

จากทศวรรษดังกล่าวเป็นต้นมา เมื่อผนวกกับ “วิกฤติพลังงาน” ที่เพิ่มเข้ามาเป็นปัญหาให้แก่สังคมอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรก ทำให้งานวิจัยสองชิ้นมีความสำคัญขึ้นมา งานแรกได้แก่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์โดยนักฟิสิกส์ชาวโรมาเนีย นาย Nicholas Georgescu-Roegen ที่มีชื่อว่า The Entropy Law and the Economic Process ในงานเขียนชิ้นนี้ ผู้เขียนนำทฤษฎี thermodynamic มาประยุกต์ใช้เพื่อแสดงให้เห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติไม่สามารถฟื้นคืนได้เมื่อถูกนำไปใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และระบบเศรษฐกิจของสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ต้องมีการเติบโตอยู่ตลอดเวลานั้นทำลายแหล่งทรัพยากรลงอย่างรวดเร็ว

นาย Georgescu-Roegen สรุปว่า ถ้าเราจะหยุดการทำลายดังกล่าว เศรษฐกิจถดถอยเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น

หนึ่งปีต่อมา รายงาน The Limits to Growth ซึ่งจัดทำโดย Club of Rome ใช้คอมพิวเตอร์จำลองสถานการณ์ในอนาคตที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคทรัพยากรโดยมนุษย์ พบว่ากำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมและจำนวนประชากรจะลงลงอย่างรวดเร็ว รายงานทั้งสองฉบับถูกต่อต้านจากนักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจโดยทันที

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระดับพื้นฐานระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่มีที่สิ้นสุดกับทรัพยากรที่มีจำกัดนั้นชัดเจนเกินกว่าที่จะปฏิเสธได้

อีกสองทศวรรษถัดมาจากการก่อตัวของลัทธิเสรีนิยมใหม่ รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ได้นำเสนอแผนการแก้ปัญหาโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถถูกเพิกเฉยได้อีกต่อไป แนวคิด “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งนำไปสู่การประชุมสุดยอด Rio-92 Summit นั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดที่ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้นสามารถดำเนินไปด้วยกันได้ “ถ้าประเทศอุตสาหกรรมลดการบริโภคพลังงานและทรัพยากรลงและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและทรัพยากรขึ้น”

แนวคิดนี้ตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างการเติบโตและการอนุรักษ์และเสนอจุดกึ่งกลางที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับได้
ในสหัสวรรษใหม่นี้ เศรษฐกิจโลกถูกขับเคลื่อนโดยระบบทุนนิยมซึ่งก่อให้เกิดวิกฤติในปี 2008 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทุนพบแหล่งทรัพยากรเพื่อการทำกำไรใหม่ได้แก่แหล่งทรัพยากรอย่างน้ำและบริการสาธารณะอย่างการศึกษาและสาธารณสุข และการทำกำไรจากทรัพยากรธรรมชาติหรือที่เรียกว่า “ทุนทางธรรมชาติ” นี้ได้เคยถูกกล่าวถึงมาแล้วในงานของนักเศรษฐศาสตร์นามว่า Herman Daly และ Robert Costanza ในปี 1990 ซึ่งเป็นแหล่งทุนที่จะเข้ามาแก้ปัญหาการล่มสลายทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้

กระบวนการทางระบบนิเวศอย่างการดูดซับคาร์บอน การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและแหล่งน้ำถูกให้คำจำกัดความเสียใหม่ว่าเป็นบริการทางระบบนิเวศ (Ecosystemic Services) และถูกนำมาใช้เป็นสินทรัพย์ทางเศรษฐกิจจนร่อยหรอลง อีกนัยหนึ่งก็คือวิกฤติเศรษฐกิจจึงกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ การฟื้นฟูและเปลี่ยนแหล่งทรัพยากรให้เป็นทุนจึงมิได้ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกต่อไป ในทางตรงกันข้าม ระบบนิเวศต้องการทุนเพื่อการอนุรักษ์

ตรรกะนี้เริ่มแพร่หลายหลังจากปี 2012 ในการประชุมสุดยอดที่ Rio+20 แนวทางเศรษฐกิจสีเขียวหรือ Green Economy ได้รับการประชาสัมพันธ์อย่างหนักและภาคการเงินได้ประกาศการใช้ Natural Capital Declaration

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาแนวคิดเรื่อง “การแก้ปัญหา” และสถานการณ์ที่ “win-win” จึงเข้ามาทำให้แนวทางการลดกิจกรรมของมนุษย์ที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศนั้นยุ่งยากมากขึ้น เปิดโอกาสให้การแก้ปัญหาด้วยวิธีธรรมชาติได้เข้ามามีบทบาท ในขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จำเป็น ทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เราไม่สามารถรับมือกับปัญหานี้ได้ด้วยการใช้เล่ห์กลเพื่อซุกปัญหาที่แท้จริงไว้ใต้พรม แต่จะต้องขจัดภาพลวงตาออกไปและมองแต่ข้อเท็จจริงที่ว่าการเปลี่ยนทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นทุนและความสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดการปฏิเสธความจริงที่ว่าเราจะต้องหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมและหยุดใช้พลังงานฟอสซิลโดยทันที

การแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติจะเป็น “การสังหารหมู่” สำหรับป่าอเมซอน ชนพื้นเมือง และสัตว์ในป่าหรือไม่?

เหยื่อรายแรกของการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติได้แก่ชาวป่า ข้อเสนอจากทุนนิยมสีเขียวอย่างโครงการปลูกป่าคาร์บอนทำให้เกิดความแตกสามัคคี บ้างก็ยอมแพ้ต่อคำสัญญาของ NGO อย่าง TNC หรือ IUCN

ในการนำเสนอโครงการ “Amazon 2.0” ของ IUCN นั้นมีใจความว่า “โครงการในประเทศบราซิลที่ดำเนินการโดย IUCN ในสามพื้นที่ได้แก่ Alto Purus, Mamoadate Indigenous Lands, และ Chandless State Park กับชนพื้นเมือง 4 เผ่าได้แก่ Kaxinawa, Madjá, Manchineri และ Jaminawa พื้นที่ดำเนินงานนั้นมีขนาดรวมหนึ่งหมื่นตารางกิโลเมตร กินพื้นที่ข้ามเขตรอยต่อระหว่างประเทศบราซิลและเปรู ทำให้โครงการมีความยุ่งยากซับซ้อนสูงมาก”

โครงการที่ออกแบบโดย Pro-Indigenous Commission of Acre (CPI-Acre) ซึ่งเป็นพันธมิตรในท้องถิ่นของ IUCN มีเป้าหมายที่จะ “สนับสนุนโมเดลการบริหารจัดการป่าในพื้นที่”

ในเอกสารจำนวน 65 หน้านี้เราจะไม่พบคำว่า “carbon”, “REDD” หรือ “REDD+” เลย อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ของ IUCN เปิดเผยว่าวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าวได้รวมเอาการใช้ REDD+ safeguard และมุ่งเน้นการติดตามผลการดำเนินกลยุทธ์ REDD+ ในระดับชาติ”

ไม่ได้เป็นการบังเอิญที่โครงการนี้ของ IUCN ซึ่งได้รับทุนจากสหภาพยุโรปนั้นเลือกเอารัฐ Acre เป็นประตูสู่บราซิล ยี่สิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลของรัฐนี้ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “รัฐบาลแห่งป่า” ได้ออกกฎหมายและจัดตั้งองค์กรต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขายคาร์บอนเครดิตและบริการทางระบบนิเวศต่าง ๆ จากทรัพยากรป่าของรัฐที่มีอยู่มากมาย

การรุกรานที่ดินโดยบริษัทที่ขายไม้แปรรูปและเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล Bolsonaro government และการก่อสร้างถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชื่อมต่อเมือง Pucallpa (เปรู) และเมือง Mâncio Lima (Acre) จะทำหน้าที่พยุงราคาคาร์บอนจากป่าเหล่านี้เนื่องจากโครงการจะมี “additionality” ที่สูงมากเพราะการตัดไม้ทำลายป่าโดยเมกะโปรเจ็กที่ REDD หรือ NBS ไม่มีแผนที่จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น

ในเวลาเดียวกัน กลุ่มชาติพันธุ์ ชาวแม่น้ำ และชาวป่าเริ่มกังวลต่อรัฐประหารสีเขียวที่จะเปลี่ยนป่าอเมซอนให้กลายเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนนี้ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว นี่คือสิ่งที่ Amazon 2.0 จะทำให้เกิดขึ้น ในจดหมาย Defense of the Amazon and Mother Earth ที่เขียนขึ้นโดยตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ถึง IUCN ในเดือนพฤษภาคมปี 2021 มีใจความว่า “เราไม่ยอมรับการรุกรานพื้นที่ป่าโดยบริษัทแปรรูปไม้ เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ เจ้าของไร่ เมกะโปรเจ็กที่สนับสนุนโดยรัฐบาลเผด็จการบราซิลและนโยบายล้างเผ่าพันธุ์ด้วยวิธีการทางอ้อมแต่ไม่ได้รุนแรงน้อยไปกว่ากันเลยของ “ทุนนิยมสีเขียว” และโครงการอย่าง REDD+, REM, PSA และ “การแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติ”

ความรุนแรงทั้งสองแบบกล่าวคือทางตรงและทางอ้อมนี้ได้รับการผลักดันโดยกลุ่มผลประโยชน์และในที่สุดแล้ว ความรุนแรงทางอ้อมก็จะทำให้เกิดความรุนแรงทางตรงขึ้น เมื่อรัฐบาลล้มเหลวในการปกป้องชนพื้นเมืองจากการรุกรานและจับมือเป็นพันธมิตรกับอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก่อตั้งตลาดคาร์บอนเครดิต ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นโดยตรงต่อพื้นที่ป่าคือการเอื้อประโยชน์แก่อุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากหลักการ “additionality” จะไปเพิ่มมูลค่าของคาร์บอนที่ถูกเก็บกักไว้ การเปลี่ยนผืนป่าให้เป็นทุนเช่นนี้ทำให้ชุมชนได้รับการยอมรับว่าเป็นเจ้าของผืนป่า (ที่ยังเหลืออยู่) ในที่สุด แต่ก็เป็นไปภายใต้เงื่อนไขที่ว่าชุมชนจะต้องดูแลผืนป่าในฐานะที่เป็นแหล่งทุนของอุตสาหกรรม

การโปรโมตให้ชุมชนมีภาพลักษณ์ที่เป็น “ผู้ปกป้องผืนป่า” เช่นนี้ไม่ได้ทำให้ชุมชนสามารถดำเนินชีวิตไปตามวิถีและประเพณีดั้งเดิมได้อีกต่อไป แต่กลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “บริการทางระบบนิเวศ”

กระบวนการแยกชุมชนออกจากการพึ่งพาที่ดินเพื่อดึงชุมชนเข้ามาเป็นแรงงานให้แก่ทุนเช่นนี้เป็นพื้นฐานของการเจริญเติบโตของทุนนิยมตามที่คาร์ล มาร์กซ์เคยกล่าวไว้

การระดมแรงงานนี้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่เมื่อวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมถูกเปลี่ยนให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ ดังเช่นการเกิดอุทกภัยใน Acre ในเดือนมีนาคม ปี 2021 ที่อยู่อาศัยและไร่นาของกลุ่มชาติพันธุ์หลายชุมชนถูกทำลายและแม้ตอนนี้ก็ยังมีหลายครอบครัวไม่สามารถฟื้นฟูความเป็นอยู่ดังเดิมได้เนื่องจากการห้ามล่าสัตว์และตัดไม้ และระบบเฝ้าระวังดูแลสิ่งแวดล้อมก็ยิ่งทำให้วิกฤติอาหารและที่อยู่อาศัยเลวร้ายขึ้นไปอีก

เราไม่รู้ว่าเราได้ผ่านจุดที่ไม่สามารถหวนคืนกลับในเรื่องของภาวะโลกร้อนแล้วหรือยัง และเราก็ไม่รู้ว่าความล่มสลายทางสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงหรือไม่ ทว่าคำถามที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันได้แก่

เราคือใครในฐานะที่เป็นสังคมหนึ่งๆ?

เราเสื่อมโทรมถึงกับปิดตาตนเองต่อสาเหตุที่แท้จริงที่ก่อให้เกิดหายนะของโลกที่กำลังจะมาถึงหรือไม่?

เราปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในยี่สิบปีที่ผ่านมา?

เรายังสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ และยังสามารถแก้ไขสิ่งผิดได้

แต่ก่อนอื่นเราต้องตระหนักว่าการประชุมสุดยอดของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพนั้นถูกเบี่ยงเบนไปเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจนเราไม่สามารถคาดหวังการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมจากการประชุมอย่าง COP-15 ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและ COP-26 ที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จัดขึ้นในปี 2021

นอกเหนือไปจากการออกนโยบายสนับสนุนทุนนิยมสีเขียว
เราจะต้องร่วมมือกันตอบสนองข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวป่า ชาวแม่น้ำ และเกษตรกรรายย่อยที่กำลังต่อสู้กับรัฐบาลและกลุ่มทุน เราขอเรียกร้องให้ประเทศบราซิลและองค์กรภาคประชาสังคมทั่วโลกร่วมมือกันปกป้องผืนป่าอเมซอนและชนพื้นเมืองจากอันตรายของทุนนิยมสีเขียว (จบ)


อ้างอิง https://www.wrm.org.uy/NBS-miraculous-weapon-save-climate….


Social Share