THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย Rain Forest Movement
วันที่ 23 มีนาคม 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Rain Forest Movement

วารสารฉบับนี้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เลขาธิการ WRM พิจารณาว่าเป็นต้นเหตุหลักของการตัดไม้ทำลายป่าและรุกรานที่ดินของชนพื้นเมือง ได้แก่การนำเอาที่ป่ามาออกสัมปทานเพื่อเป็นเครื่องมือในการแบ่งเขตที่ดินและที่ป่าตามผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของคนเมือง ซึ่งเป็นหัวข้อที่มีความซับซ้อนและทำให้เราต้องหันมาทบทวนความคิดเห็นของสาธารณชนที่มีต่อคำว่า ‘ที่ดิน’ และ ‘ชนพื้นเมือง’ ว่าถูกแบ่งแยกออกจาก ‘ธรรมชาติ’ ได้อย่างไร และนักทุนนิยมและล่าดินแดนมีการจัดการที่ดินเหล่านั้นตามผลประโยชน์ของตนเองอย่างไร

บทความบางบทในวารสารฉบับนี้ได้อธิบายถึงประวัติศาสตร์ของการล่าอาณานิคมและการแปลงที่ป่าในบราซิล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคองโกเป็นสัมปทานและการต่อต้านโดยชนพื้นเมือง ในบางกรณีอย่างในคองโกและประเทศไทยนั้น เห็นได้ชัดว่าประวัติศาสตร์ความรุนแรงในการยึดที่ทำกินและกัดกันชนพื้นเมืองนั้นยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน หรือแนวร่วมของผู้หญิงในบราซิลที่ต่อต้านสัมปทานอนุรักษ์ป่าที่รัฐให้แก่เอกชน ซึ่งทำให้ชีวิตและวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองตกอยู่ในความเสี่ยง หรืออีกบทความหนึ่งที่กล่าวถึงการที่นานาชาติได้ผลักดันให้ชนพื้นเมืองออกไปจากพื้นที่อนุรักษ์และเปลี่ยนป่าให้เป็นอุทยานที่บริหารจัดการโดยเอกชนในทวีปอาฟริกา เป็นต้น

เมื่อเกิดพื้นที่อนุรักษ์ใหม่ๆมากขึ้น ความเสี่ยงที่เกิดจากการขยายตัวของพื้นที่สัมปทานเพื่อผลิตคาร์บอนเครดิตในป่าเขตร้อนก็สูงขึ้น โครงการสัมปทานเช่นนี้มีเป้าหมายเพื่อควบคุมปริมาณคาร์บอนเครดิตและบริการทางระบบนิเวศในตลาด ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างองค์กร NGO ที่มีเป้าหมายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โบรคเกอร์ ธนาคาร ผู้ค้า สถาบันรับรองมาตรฐาน รัฐบาล และอื่นๆกำลังแข่งขันกันผลิตและควบคุมคาร์บอนเครดิตด้วยการขยายอิทธิพลไปตามพื้นที่ป่าและพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน

บรรษัทข้ามชาตินับร้อยและรัฐบาลของอีก 130 ประเทศได้ประกาศว่าจะบรรลุเป้าหมาย ‘net zero’ ด้วยการใช้แนวทางแก้ปัญหาด้วยธรรมชาติมาให้เหตุผลถึงการที่ต้องเร่งให้เกิดโครงการสัมปทานคาร์บอน และเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศโลกที่มีความเร่งด่วนเป้นอย่างมากยังเป็นข้ออธิบายว่าทำไมโครงการสัมปทานเหล่านี้จึงมีขนาดที่ใหญ่กว่าโครงการป่าคาร์บอนที่ผ่านๆมาอีกด้วย

ตัวอย่างในกรณีนี้ได้แก่ในปี 2021 บริษัท Mayur Renewables PNG (MR) ซึ่งเป็นบริษัทสาขาของ Mayur Resources (MRL) ได้รับสัมปทานคาร์บอนสามโครงการจากรัฐบาลปาปัวนิวกินี ครอบคุลมพื้นที่ป่า 8,000 ตารางกิโลเมตรและบริษัทยังวางแผนที่จะขยายพื้นที่ออกไปอีก 14,000 ตารางกิโลเมตร การสัมปทานครั้งนี้เป็นโครงการผลิตคาร์บอนเครดิตโดยใช้แนวทาง REDD ที่มีอายุโครงการ 30 ปี

MRL ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นผู้จัดจำหน่าย “ผลิตภัณฑ์ซีเมนต์และหินปูนที่เป็น carbon neutral” รายใหญ่ในภูมิภาค และเป้าหมายของการสัมปทานครั้งนี้คือการทำให้โครงการ Central Cement & Limestone ใกล้ Port Moresby เป็นธุรกิจที่เป็น ‘carbon neutral’

ในเดือนธันวาคม ปี 2021, VT Carbon Partners ได้เสนอเงินกู้มูลค่า 3 ล้านดอลล่าร์แก่ MRL กองทุน VT Carbon Partners เป็นกองทุนร่วมระหว่าง Viridios Capital กับ Tribeca Investment Partners กองทุนนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2021 มีมูลค่าตั้งต้นที่ 3.6 หมื่นล้านดอลล่าร์เพื่อใช้ในการสนับสนุนโครงการที่ ‘ใช้แนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีธรรมชาติ’ ที่รับรองโดย Verra โครงการสัมปทานคาร์บอนเครดิตขนาดใหญ่และแผนการขยายตัวในอนาคตนี้ทำให้ PNG กลายเป็นผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ในการสัมมนาออนไลน์ครั้งหนึ่งในปี 2021 ผู้บริหารของ Viridios Capital กล่าวว่า “PNG ทำให้เกิดธุรกิจใหม่และตลาดส่งออกใหม่ๆ เมื่อเรานึกถึงกฎเกณฑ์ต่างๆที่ประเทศพัฒนาแล้วตั้งขึ้นเพื่อลดการปล่อยก๊าซ (…) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านต่อกันอย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จะต้องการกลไกชดเชยคาร์บอนเป็นอย่างมาก และนี่คือโอกาสทางธุรกิจใหม่ของ PNG รวมทั้งถึงชุมชนท้องถิ่นที่เราจะต้องทำการฝึกอบรมใหม่ให้รู้วิธีการบริหารจัดการป่าอย่างถูกต้อง รวมไปถึงองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ”

ผู้บริหารท่านนี้คงจะคิดว่าการบริหารจัดการป่าอย่างถูกต้องนั้นคือการใช้ป่าเพียงเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ของผู้ลงทุนในสัมปทาน ทำให้ชุมชนท้องถิ่นต้องเรียนรู้วิธีการจัดการป่าใหม่หมดเพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจและละทิ้งวิถีดั้งเดิมในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติของตนเสีย

โดยนัยเดียวกัน ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลมาเลเซียและสิงคโปร์กำหนดให้สัมปทานผลิตคาร์บอนเครดิตแก่ Hoch Standard Ptd. Ltd. เป็นพื้นที่ป่า 20,000 ตารางกิโลเมตรในรัฐซาบาร์ของมาเลเซียในเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 ถึงแม้ว่าจะได้รับการคัดค้านจากมวลชนเป็นอย่างมากก็ตาม และโครงการนี้จะขยายตัวเป็น 40,000 ตารางกิโลเมตรในอนาคต ตามข้อตกลงกำหนดให้รัฐบาลสิงคโปร์มีสิทธิเหนือพื้นที่ป่านี้ไปอีก 100-200 ปี โดยมีบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก Tierra Australia และ Global Nature Capital เป็นผู้แทนในการเจรจาเพื่อร่างสัญญาฉบับนี้ขึ้น และเพื่อรับมือต่อการคัดค้านอย่างหนักขององค์กรภาคประชาสังคมในรัฐซาบาห์ ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 อัยการประจำรัฐซาบาห์ได้ตัดสินว่า ‘ข้อตกลงเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ’ นี้ “ฝ่าฝืนกฎหมาย” อย่างไรก็ตาม อีกสิบวันถัดมา รองผู้ว่าการรัฐซาบาห์ นาย Jeffrey Kitingan ได้ออกมาประกาศว่าข้อตกลงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี แม้ว่าจะมีอุปสรรคทางเทคนิคมากมาย นอกจากนี้ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ของรัฐยังได้ชี้ให้เห็นว่าข้อตกลงนี้เป็นตัวอย่างของความกีดกันชุมชนท้องถิ่นจากการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายต่างๆของรัฐ “ประวัติศาสตร์กำลังดำเนินซ้ำรอยหรือไม่? เรายังไม่หลุดพ้นต่อเงื้อมมือของนักล่าอาณานิคมใช่ไหม” ยังเป็นคำถามที่ทันสมัยและต้องการคำตอบ (จบ)


ที่มา : https://www.wrm.org.uy/bulletin-articles/the-rush-for-carbon-concessions-more-land-theft-and-deforestation?fbclid=IwAR3HLe70vd0Ey295ief-7yTqDUp3Hf75e6RH73ajKKHdRd3aV2RtL_BRoOY


Social Share