THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Mike Hulme
ปีที่เผยแพร่ 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Mike Hulme

ภาพประกอบโดย Mike Hulme

แนวคิดเกี่ยวกับภูมิอากาศโลก
ลองจินตนาการว่าคุณได้มาเยือนต่างแดนในดินแดนที่คุณไม่คุ้นเคย คุณไม่มีความรู้เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศของสถานที่แห่งนี้มาก่อนเลย

ยกตัวอย่างเช่นเกาะเมารีในศตวรรษที่ 14 ที่ต้องเดินทางโดยใช้เรือแคนูจากท่าเรือโอเทโร่ของนิวซีแลนด์ไปยังเกาะโพลีนีเซียก่อนที่จะไปเมารีอีกทอดหนึ่ง

หรือนึกถึงผู้ตั้งรกรากชาวอังกฤษที่เดินทางด้วยเรือใบถึงฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริกาในต้นศตวรรษที่ 17 ถึงเมืองที่ปัจจุบันเรียกว่าเจมส์ทาวน์ เวอร์จิเนีย

สมมติว่าคุณเป็นหนึ่งในผู้ตั้งถิ่นฐานเหล่านั้น คุณก็คงต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่คุ้นเคยในดินแดนที่แปลกตา คุณจะไม่มีทางทราบได้เลยว่าอากาศในวันพรุ่งนี้หรือเดือนหน้าจะเป็นเช่นไร เพราะความคิดและร่างกายคุณยังจดจำลักษณะภูมิอากาศที่บ้านเกิดของคุณห่างออกไปนับพัน ๆ ไมล์ ทำให้คุณต้องใช้เวลาหลายปีในการทำความเข้าใจสภาพภูมิอากาศของที่อยู่ใหม่ เช่นรูปแบบเกิดขึ้นประจำ ความผิดปกติ การเปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน ในแต่ละฤดู และในแต่ละปี ประสาทรับรู้สภาพภูมิอากาศของที่อยู่ใหม่ต้องใช้เวลาพัฒนาเป็นแรมปีกว่าจะสามารถปรับตัวได้

ชีวิตคนเราต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศอยู่เสมอ ทั้งทางประสาทสัมผัสทางกายภาพและการตีความโดยใช้จินตนาการ ทำให้เกิดระดับที่แตกต่างกันในประสบการณ์ที่มีต่อสภาพภูมิอากาศของถิ่นที่อยู่ และผู้คนก็แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์เหล่านั้นกันผ่านทางวัฒนธรรม ว่าทำไมสภาพภูมิอากาศของพื้นที่หนึ่งแตกต่างจากสภาพภูมิอากาศของอีกพื้นที่หนึ่ง

ด้วยเหตุผลนี้เอง ประสบการณ์และจินตนาการของผู้คนที่มีต่อสภาพภูมิอากาศของถิ่นที่อยู่จะฝังตัวอยู่ในวัฒนธรรมของสังคมนั้นเสมอ

วัฒนธรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์ แนวคิดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ และภาษา เป็นผลลัพธ์ของประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอยู่เสมอและบางครั้งถึงกับเป็นภัยธรรมชาติ การรับรู้เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศของถิ่นที่อยู่และการพัฒนาวัฒนธรรมที่เป็นผลจากความพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศนั้นมีความเป็นสากลและโบราณ

ดังนั้นเราจะพบว่าคัมภีร์พระเวทของฮินดูมีคำอธิบายเกี่ยวกับวงจรสภาพภูมิอากาศ คัมภีร์โบราณของชาวฮีบรูกล่าวถึงการค้นหารูปแบบของสภาพภูมิอากาศที่ผูกพันอยู่กับความเชื่อของมนุษย์ในพระผู้สร้าง และสำนักพระราชวังจีนโบราณมีบันทึกเกี่ยวกับการคาดการณ์ช่วงเวลาและความถี่ที่ภัยธรรมชาติจะเกิดขึ้นในแต่ละปี

แนวคิดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศเหล่านี้ทำให้ผู้คนมีความรู้สึกที่มั่นคงปลอดภัยในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ถ้าคนเราปราศจากซึ่งความคิดที่ฝังรากอยู่กับการทำนายสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นเสียแล้ว ก็จะกระเสือกกระสนอยู่กับความไม่มั่นคงปลอดภัยในสภาพแวดล้อมรอบด้าน

ในความพยายามที่จะจัดระเบียบสภาพภูมิอากาศนั้น มนุษย์พิจารณาจากลักษณะอื่น ๆ ที่พบในชีวิตประจำวันนอกเหนือไปจากประสบการณ์กับฝน ลม ความเย็น และความร้อน ดังนั้นการจัดระเบียบนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชีวิตและวัฒนธรรมของมนุษย์ ซึ่งรวมถึงถิ่นที่อยู่ ความสัมพันธ์ทางสังคม ความสัมพันธ์กับสัตว์ วิถีชีวิตประจำวัน จินตนาการ ความทรงจำและเรื่องราว และพระเจ้าและจิตวิญญาณ เหล่านี้เพื่อทำความเข้าใจสภาพภูมิอากาศ

ชีวิตในรูปแบบของวัฒนธรรมคือความสอดคล้องกันระหว่างพฤติกรรมประจำวัน สถาบัน และสิ่งประดิษฐ์กลายมาเป็นวัตถุดิบสำหรับการจัดระเบียบสภาพภูมิอากาศ

ดังนั้นเราสามารถเห็นความคิดของมนุษย์ที่มีต่อสภาพภูมิอากาศของถิ่นที่อยู่นั้นได้จากวัฒนธรรมที่ก่อตัวขึ้นจากประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีต่อสภาพภูมิอากาศของถิ่นที่อยู่ อย่างเช่นสำหรับชาวอินูอิตแห่ง West Greenland นั้น “สภาพภูมิอากาศไม่ใช่ตัวแปรที่เราจะวัดและหาค่าเฉลี่ย แต่สภาพภูมิอากาศเป็นผลของการแลกเปลี่ยนวัตถุธาตุระหว่างโลกและท้องฟ้า และระหว่างชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องเป็นจังหวะ”

ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้แนวคิดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศฝังตัวเข้ากับประสาทสัมผัสของมนุษย์เกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ของตน การที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถทำความรู้จักสภาพภูมิอากาศของท้องถิ่นตนได้อย่างถ่องแท้จึงนับว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ สภาพภูมิอากาศจะก่อเกิดรูปแบบและความหมายได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์มีประสบการณ์ที่ยาวนานกับสภาพภูมิอากาศของที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมและความทรงจำที่เก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์ของแต่ละบุคคล

ความเข้าใจในสภาพภูมิอากาศของถิ่นที่อยู่ของบุคคลหนึ่งทำให้เกิดอัตลักษณ์ตัวตนของบุคคลและความเป็นเจ้าของ และเกิดความแตกต่างในภูมิภาค ประเทศ และกลุ่มชาติพันธุ์ขึ้น

ตัวอย่างเช่นถ้าคุณอาศัยอยู่ในเมืองนอริชทางตะวันออกของประเทศอังกฤษ เมื่อมีคนถามคุณถึงสภาพภูมิอากาศที่บ้าน คุณอาจอธิบายถึงสภาพภูมิอากาศของเมืองนอริช สภาพภูมิอากาศของภาคตะวันออก หรือสภาพภูมิอากาศของประเทศอังกฤษก็ได้ แต่ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไรก็ตาม คุณจะไม่เพียงให้คำตอบเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศแก่ผู้ถามเท่านั้น แต่ยังบอกเป็นนัยว่าคุณคือใครอีกด้วย

ดังนั้น เราอาจทำความเข้าใจสภาพภูมิอากาศในฐานะที่เป็นความคิดที่ประกอบไปด้วยลำดับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ความทรงจำด้านวัฒนธรรม อัตลักษณ์ทางสังคม และวิถีชีวิตมนุษย์

ภาพประกอบโดย Mike Hulme

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ปรากฏในการศึกษาที่เกี่ยวกับนักศึกษาต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียที่พยายามปรับตัวให้เข้ากับสังคมใหม่และสภาพภูมิอากาศใหม่ และเป็นสาเหตุว่าทำไมหลาย ๆ คนที่ถูกถามถึงสภาพภูมิอากาศที่บ้านเกิดจึงมักให้คำตอบที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่ตนคิดว่าควรจะเป็น

ตัวอย่างเช่น คำว่า fudo ในภาษาญี่ปุ่นมิได้หมายความเพียงภูมิอากาศในภูมิภาคหนึ่ง ๆ เท่านั้น แต่หมายถึงพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์อันซับซ้อนของธรรมชาติที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรม

โดยนัยเดียวกัน สำหรับชาวอะบอริจินส์ในออสเตรเลียแล้ว สภาพภูมิอากาศคือ “ประเทศ” ที่รวมเอาลักษณะภูมิอากาศ ฤดูกาล สถานที่ ผู้คน และความสัมพันธ์ระหว่างกันของสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เกิดเป็นมาตุภูมิขึ้น

วัฒนธรรมทางวิทยาศาสตร์ของประเทศตะวันตกได้สร้างแนวความคิดใหม่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศได้สำเร็จเมื่อ 200 ปีมาแล้ว และได้เปลี่ยนแปลงแนวความคิดสมัยโบราณที่มีต่อสภาพภูมิอากาศไปมากด้วยการแยกคำอธิบายของกระบวนการทางกายภาพของบรรยากาศโลกออกจากความหมายเชิงวัฒนธรรมที่มนุษย์กำหนดจากรูปแบบของสภาพภูมิอากาศในชีวิตประจำวัน
ตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงแนวคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศได้แก่ การใช้สภาพภูมิอากาศเป็นอุปมาอุปมัยในคำสอนเชิงศาสนา ซึ่งถูกนักวิทยาศาสตร์นำมาใช้เป็นครั้งคราวเพื่ออธิบายภาวะโลกร้อนแก่บุคคลทั่วไป
ในการแปลความการทำนายสภาพภูมิอากาศในอนาคตเพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจได้นั้น เราต้องใช้สภาพภูมิอากาศของภูมิภาคอื่นในการอธิบายถึงสภาพภูมิอากาศในอนาคตของอีกภูมิภาคหนึ่ง ตัวอย่างเช่นสภาพภูมิอากาศของเมืองคาตาลันทางตอนเหนือของประเทศสเปนอาจถูกใช้เพื่ออธิบายสภาพอากาศของภาคตะวันออกของประเทศอังกฤษในอนาคต หรือสภาพภูมิอากาศของรัฐเวอร์จิเนียในอนาคตอาจมีสภาพใกล้เคียงกับรัฐฟลอริด้าในปัจจุบัน
คุณสมบัติทางสถิติของสภาพภูมิอากาศในอนาคตอาจมีความใกล้เคียงกับสภาพภูมิอากาศของภูมิภาคหนึ่ง ๆ ในปัจจุบันก็เป็นได้ แต่ว่าความหมายทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ผูกติดอยู่ถิ่นที่อยู่ที่ทำให้ผู้คนเข้าใจสภาพภูมิอากาศของถิ่นที่อยู่ของตนได้นั้นจะสูญหายไปกับการใช้สภาพภูมิอากาศเป็นอุปมาอุปมัยในคำสอนเชิงศาสนา เนื่องจากเราไม่สามารถภูมิอากาศและวัฒนธรรมออกจากกันได้

หน้าที่ของสภาพภูมิอากาศในเชิงวัฒนธรรม
แนวคิดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความคิด และการกระทำของผู้คน เป็นแนวคิดที่ก่อกำเนิดจากวัฒนธรรมซึ่งเกิดจากสภาพภูมิอากาศอีกต่อหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่แนวคิดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดหน้าที่ทางวัฒนธรรมหลายประการด้วยกัน
สภาพภูมิอากาศสามารถใช้เป็นแนวทางในการทำการเกษตรและป่าไม้ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบอาคารที่อยู่อาศัย ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของมนุษย์ ใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมที่ซับซ้อน และใช้อธิบายลักษณะของสถานที่หนึ่ง ๆ
ด้วยเหตุผลนี้เอง แนวคิดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศจึงมีความเป็นการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้าพเจ้าได้อธิบายหน้าที่ของสภาพภูมิอากาศในเชิงวัฒนธรรมมาแล้วในหนังสือเล่มก่อน ๆ จึงได้นำมาลงในที่นี้โดยแบ่งออกเป็นสามส่วนได้แก่
สภาพภูมิอากาศที่สะท้อนให้เห็นถึงระเบียบของจักรวาล

สภาพภูมิอากาศที่เป็นดัชนีอธิบายถึงสภาพลมฟ้าอากาศและฤดูกาล
สภาพภูมิอากาศที่เป็นการอธิบายความอย่างง่าย
สภาพภูมิอากาศที่สะท้อนให้เห็นถึงระเบียบของจักรวาล

ในงานเขียนเกี่ยวกับขอบเขตของธรรมชาติ นักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ นาง Lorraine Daston ได้อธิบายไว้ว่า “ถ้าโลกนี้ปราศจากความคาดหวังที่สมเหตุสมผลแล้ว โลกแห่งเหตุและผลและคำสัญญาก็จะล่มสลาย”
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า แนวคิดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศทำให้เกิด “ความคาดหวังที่สมเหตุสมผล” ว่าบรรยากาศโลกทำงานอย่างไร

สภาพภูมิอากาศเชื่อมโยงประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เข้ากับความต้องการที่จะอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มั่นคงและปลอดภัย หรือ “ความเชื่อมั่นในสภาพภูมิอากาศ” สำหรับผู้คนในภูมิภาคหนึ่ง ๆ แล้ว สภาพภูมิอากาศควรจะได้รับการจัดระเบียบโดยใช้เครื่องมือที่สามารถทำนายลมฟ้าอากาศได้
มนุษย์สามารถเชื่อในสภาพภูมิอากาศได้ในขอบเขตพื้นที่หนึ่ง ๆ ที่ลักษณะของลมฟ้าอากาศมีความสม่ำเสมอจนพอที่จะทำนายได้ ซึ่งจะสร้างความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมที่มีเสถียรภาพระหว่างมนุษย์และสภาพภูมิอากาศ


ทว่าแนวคิดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศยังทำหน้าที่ที่ลึกซึ้งกว่านั้น ในหลาย ๆ วัฒนธรรม ภูมิอากาศมิใช่เป็นเพียงการจัดระเบียบลมฟ้าอากาศโดยมนุษย์อย่างเดียว แต่ยังสัมพันธ์กับระเบียบและโครงสร้างทางสังคมของมนุษย์ อย่างระบบเครือญาติ ความเชื่อเรื่องเทพเจ้า และความสัมพันธ์ต่อสัตว์อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อชนเผ่า Marshallese แห่งโอเชียเนียตะวันตกพูดถึงสภาวะของ Mejatoto (สภาพภูมิอากาศ) พวกเขาจะหมายรวมไปถึงจักรวาล อุตุนิยมวิทยา ภูมิศาสตร์ มหาสมุทร กาลสมัย ศีลธรรม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นกับสภาวะเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าครองชีพ การฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ทางสังคม หรือการละเมิดสิ่งศักดิสิทธิ์ จะทำส่งผลให้ลมฟ้าอากาศแปรปรวนและเกิดความเสี่ยงต่อโลกของพวกเขา
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่กระจายตัวอยู่ในแถบอาร์คติกในลักษณะเดียวกัน และพวกเขาจะรู้สึกว่ามีการกระทำที่ผิดปกติเกิดขึ้นและความสมดุลถูกทำลายเมื่อน้ำแข็งและสัตว์ป่าปรากฏขึ้นและหายไปเร็วกว่าที่เคยเป็นในแต่ละปี

ดังนั้น ความเชื่อเรื่องสภาพภูมิอากาศที่สมดุลทำให้ชีวิตมนุษย์มีความหมายทั้งทางกายภาพและจิตวิญญาณในด้านหนึ่ง ส่วนในอีกด้านหนึ่งนั้น โลกทางสังคมที่ได้รับการจัดระเบียบไว้ดีแล้วหรือจักรวาลก็จะแสดงตัวออกมาในสภาพภูมิอากาศที่มีเสถียรภาพ ตามที่ Thomas Ford ได้อธิบายไว้ว่า “สภาพภูมิอากาศคือคำที่ใช้อธิบายความหมายของสิ่งแวดล้อมโดยรวม”

แนวคิดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศไม่เพียงแต่ทำให้เราสามารถเข้าใจและทำนายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติได้เท่านั้น แต่ยังประกอบขึ้นเป็นโลกแห่งจินตนาการของมนุษย์อีกด้วย ดังนั้นคำจำกัดความของสภาพภูมิอากาศที่มีชื่อเสียงที่กำหนดขึ้นโดย Alexander von Humboldt นักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมันในศตวรรษที่ 18 ที่ว่า สภาพภูมิอากาศคือความสัมพันธ์ระหว่างระบบนิเวศและถิ่นที่อยู่จึงไม่ครอบคลุมกว้างพอ
จากมุมมองของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมนั้น แนวคิดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศสะท้อนถึงความเชื่อของมนุษย์ในจักรวาลที่มีระเบียบจากประสบการณ์ที่มีต่อถิ่นที่อยู่

หน้าที่ของแนวความคิดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศตามนิยามของประสบการณ์ทางสังคมแบบองค์รวมของมนุษย์ดูเหมือนว่าจะห่างไกลจากแนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์ที่เกิดจากตรรกะแบบตะวันตก
อย่างไรก็ตาม หน้าที่ในการจัดระเบียบโลกของสภาพภูมิอากาศนี้ยังคงมีความสำคัญต่อคนบางกลุ่มในปัจจุบัน เพราะอาจเป็นวิธีการเรียนรู้การตอบสนองของมนุษย์ต่อภาวะโลกร้อนที่ดีกว่าการใช้คำอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์แต่เพียงด้านเดียว
หน้าที่ของสภาพภูมิอากาศในฐานะที่เป็นดัชนี
คนเราเข้าใจสภาพภูมิอากาศในฐานะที่เป็น “อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน หรือความเร็วลมเฉลี่ย” ซึ่งเป็นการคำนวณทางสถิติจากปรากฏการณ์ลมฟ้าอากาศที่เกิดขึ้นในสถานที่หนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ดังนั้น สภาพภูมิอากาศของบ้านเกิดของข้าพเจ้าที่เมืองนอริช ประเทศอังกฤษมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ 10.2 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝนอยู่ที่ 630 มิลลิเมตรตลอดทั้งปี
ดังนั้น มนุษย์จึงทำความเข้าใจในสภาพภูมิอากาศโดยใช้ดัชนีค่าเฉลี่ย ซึ่งหาได้จากการวัดคุณสมบัติทางกายภาพของบรรยากาศที่เริ่มใช้กันในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 18-19
ดัชนีเชิงปริมาณนี้ทำให้สภาพภูมิอากาศกลายเป็นตัวเลขทางสถิติที่ทำให้ประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีต่อสภาพภูมิอากาศนั้นสามารถวัดได้ อย่างไรก็ตาม สูตรทางคณิตศาสตร์ที่ใช้สร้างดัชนีดังกล่าวยังทำหน้าที่ทางวัฒนธรรมอีกด้วยโดยคุณสมบัติทางการสื่อสารของมันเอง
การใช้สูตรทางคณิตศาสตร์คำนวณสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคหนึ่ง ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ทำให้มนุษย์สามารถเปรียบเทียบสภาพภูมิอากาศโดยใช้ตัวเลขแทนความรู้สึกส่วนตัวได้
ดังนั้นข้าพเจ้าจึงสามารถเทียบสภาพภูมิอากาศที่เมืองนอริช รัฐคอนเนคติกัต ประเทศสหรัฐอเมริกา กับเมืองนอริช ประเทศอังกฤษได้ว่าสองเมืองนี้มีอุณหภูมิอากาศที่ใกล้เคียงกัน (10.1-10.2 องศาเซลเซียส) แต่เมืองนอริช รัฐคอนเนคติกัต ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีฝนตกชุกกว่า (1,180 มิลลิเมตรเทียบกับ 630 มิลลิเมตร)
ข้อดีของสถิติสภาพภูมิอากาศแบบใหม่นี้เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ตัวอย่างเช่น สภาพภูมิอากาศที่สามารถวัดค่าได้โดยใช้ดัชนีทางสถิติเช่นนี้ถูกนำไปใช้เป็นวิทยาการศึกษาสำนึกสำหรับการวางแผนทรัพยากรของหน่วยงานภาครัฐในการอนุมัติโครงการเพื่อการพาณิชย์ใหม่ ๆ การใช้งานเช่นนี้ช่วยให้ผู้ตั้งรกรากชาวยุโรปในดินแดนที่ไม่คุ้นเคยเช่นทวีปอเมริกาสามารถดำเนินชีวิตได้ หรือกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ที่ต้องการวางแผนระบบการเกษตรแบบใหม่สามารถดำเนินการได้ นิยามเชิงสถิติของสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ถูกนำมาใช้ในโครงการดังกล่าวเพราะแสดงถึงความมีเสถียรภาพโดยใช้ตัวเลขและทำให้สภาพภูมิอากาศสามารถทำนายได้ภายในขอบเขตที่สมเหตุผล เพื่อตอบสนองต่อความต้องการจากตลาดการเกษตรและนักลงทุน
นอกจากนี้ระเบียบดังกล่าวยังอาจใช้กับสภาพภูมิอากาศหรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจอ่านค่าได้ การลงทุนลงแรงในดินแดนใหม่หรือมิดเวสต์ของอเมริกาสามารถให้การรับประกันผลตอบแทนที่คุ้มค่าได้ เช่นเดียวกันกับที่บริษัทประกันภัยในศตวรรษที่ 19 ไม่ว่าจะเป็นกรมธรรม์ประกันภัยลูกเห็บสำหรับชาวนาหรือประชันการเดินทางสำหรับผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยุโรป เริ่มใช้ดัชนีภูมิอากาศในการคำนวณค่าพรีเมี่ยมและเงินสมทบ
สถิติศาสตร์สำหรับอุตุนิยมวิทยายังถูกนำมาใช้ในการกำหนดค่าความเสี่ยงเชิงพาณิชย์ ตามที่ James Scotts ได้อธิบายไว้ใน Seeing Like A State: How Certain Schemes to Improve the Human Condition Have Failed ว่า ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา สถิติศาสตร์สำหรับอุตุนิยมวิทยาทำให้จักรวรรดิสามารถทำนายสิ่งแวดล้อมและควบคุมประชากรได้
หน้าที่ของสภาพภูมิอากาศในฐานะที่เป็นคำอธิบาย
นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงระเบียบของจักรวาลและทำหน้าที่เป็นดัชนีวัดสภาพภูมิอากาศแล้ว แนวคิดเรื่องสภาพภูมิอากาศของมนุษย์ยังตอบสนองความต้องการของมนุษย์ต่อคำอธิบายต่อปรากฏการณ์ต่างๆ
สภาพภูมิอากาศคือคำตอบสำหรับข้อสงสัยในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม ปัจเจก และการเมือง ดังที่ Fleming และ Jankovic ได้อธิบายความคิดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศว่า “ปัจเจกมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับสภาพภูมิอากาศในฐานะที่เป็นตัวแทนของสิ่งอื่น (เป็นคำอธิบาย) มากกว่าที่จะเป็นดัชนี (เป็นคำพรรณนา) สภาพภูมิอากาศได้รับการนิยามจากสิ่งที่มันทำ ไม่ใช่สิ่งที่มันเป็น”
เรื่องราวของการกำหนดสภาพภูมิอากาศหรือ “ทฤษฎีอุตุนิยมวิทยา” และความขัดแย้งในตัวของมันเองนี้เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักวิชาการโดยทั่วไป ซึ่งส่วนมากจะพยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสภาพภูมิอากาศที่จะนำมาสร้างเป็นทฤษฎีในปลายศตวรรษที่ 19 อย่างยากเย็น
สำหรับนักปรัชญาในยุคคลาสสิกอย่างเฮโรโดตัสกับฮิปโปเครตีสนั้น แนวคิดเรื่องสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดทางสะดวกที่ใช้อธิบายความแตกต่างระหว่างกายภาพและจิตศาสตร์ของปัจเจก สังคมเมือง และประชากร คำอธิบายเช่นนี้ให้เหตุผลตามธรรมชาติในการแบ่งแยกเผ่าพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมออกจากกัน
สภาพภูมิอากาศเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการแบ่งแยก โดยให้คำอธิบายว่าทำไมรูปแบบและพฤติกรรมของสังคมมนุษย์จึงแตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค อย่างเช่นสภาพภูมิอากาศที่ร้อนชื้นเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเกียจคร้านและถูกครอบงำด้วยความต้องการทางเพศ ในขณะที่สภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นทำให้คนขยันทำงาน
Ellsworth Huntington นักธรณีวิทยาชาวอเมริกันเคยให้ความเห็นอันอื้อฉาวไว้เมื่อต้นศตวรรษที่ 18 ว่า อารยธรรมของมนุษย์นั้นขึ้นถึงจุดสูงสุดในภูมิภาคที่มีอากาศหนาวเย็นที่ทำให้ผู้คนมีจิตใจแจ่มใสและกระตือรือร้นในการประกอบหน้าที่การงาน

โดยแนวทางนี้ สภาพภูมิอากาศมิใช่เป็นเพียงสิ่งที่สร้างลักษณะนิสัยของปัจเจกและสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนมนุษย์อีกด้วย
เราสามารถนำสภาพภูมิอากาศและปรากฏการณ์ธรรมชาติมาอธิบายได้ว่าเหตุใดมนุษย์จึงอพยพย้ายถิ่น ตัวอย่างเช่นชาวมองโกลในศตวรรษที่หกย้ายถิ่นเพื่อแสวงหาพื้นที่เลี้ยงปุสัตว์ที่ดีกว่า หรือชาวซีเรียในปัจจุบันที่ย้ายหนีภัยสงครามที่มีสาเหตุมาจากความแห้งแล้ง


มิติที่สภาพภูมิอากาศเป็นผู้ที่กำหนดพฤติกรรมและการย้ายถิ่นของมนุษย์นี้เน้นให้เราเห็นถึงอิทธิพลของสภาพภูมิอากาศเหนือพฤติกรรมของมนุษย์
หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้นักวิชาการในหลายสาขายึดเอาสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุของพฤติกรรมอันไม่พึงปรารถนาต่าง ๆ ของมนุษย์ (เช่นความเกียจคร้าน) เป็นเพราะความเข้าใจได้ง่ายและไม่เกิดผลกระทบต่อคนกลุ่มใด และทำให้มนุษย์ไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลเสียที่ตามมาจากพฤติกรรมเหล่านั้น และสภาพภูมิอากาศจึงทำหน้าที่เบี่ยงเบนความรับผิดชอบที่มีต่อพฤติกรรมเสีย ๆ ของมนุษย์ออกจากตัวมนุษย์เอง
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ที่สภาพภูมิอากาศเป็นตัวแทนรับเรื่องเสียหายของมนุษย์นี้มีความเป็นจริงน้อยกว่าที่มนุษย์อ้างไว้มาก ตัวอย่างเช่น ความแตกต่างระหว่างคำกล่าวที่ว่า สงครามในซีเรียที่เกิดขึ้นในปี 2011 นั้น “เกิดจาก” หรือ “ได้รับผลกระทบจาก” หรือ “ได้รับอิทธิพลจาก” หรือ “ก่อตัวขึ้นจาก” ภาวะโลกร้อนนั้นเป็นคำพูดที่ค่อนข้างคลุมเครือและยากจะชี้ชัด คำเหล่านี้ถูกใช้กับบทบาทของภาวะโลกร้อนที่มีต่อการเกิดสงครามและการอพยพย้ายถิ่นในที่สุด อย่างไรก็ตามสงครามกลางเมืองในซีเรียน่าจะเป็นผลมาจากระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและระบอบการเมืองแบบชาตินิยมจัดมากกว่าจะเกิดจากภัยแล้งเป็นสำคัญ
เมื่อสภาพภูมิอากาศเกิดการแปรปรวน
มิใช่เพียงแค่การใช้สภาพภูมิอากาศเป็นตัวแทนรับเรื่องเสียหายของมนุษย์ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยังเป็นเรื่องของความกังวลของมนุษย์ต่อความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากคำบรรยายที่มีต่อภาวะโลกร้อนในปัจจุบันว่าเป็น “สภาพภูมิอากาศที่แปลกประหลาด” หรือ “ความล่มสลายของสภาพภูมิอากาศ” หรือ “วิกฤติสภาพภูมิอากาศ”
ถ้าแนวคิดที่มีต่อสภาพภูมิอากาศสามารถนำมาใช้หยุดยั้งวาระสุดท้ายของโลกได้ มันก็จะสามารถอธิบายได้ว่าทำไมการรับรู้ของมนุษย์ที่มีต่อภาวะโลกร้อนจึงได้ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยเป็นอย่างมาก
เพราะว่าแนวคิดที่มีต่อสภาพภูมิอากาศจะทำลายความเชื่อของมนุษย์ที่มีต่อเสถียรภาพของสภาพภูมิอากาศที่ตอกย้ำความเป็นสัญลักษณ์แห่งจักรวาล การเมือง สังคม หรือระบบนิเวศ
เหมือนจะเป็นการประชดประชันจากธรรมชาติที่แนวคิดที่ว่าวัฒนธรรมมีหน้าที่จัดระเบียบความยุ่งเหยิง แต่แนวคิดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศกลับสร้างความยุ่งเหยิงขึ้นมาเสียเอง
ความเสื่อมทรามลงของความเชื่อมั่นต่อสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์จินตนาการขึ้นนั้นทำให้เกิดผลขึ้นเป็นรูปธรรมเชิงการเมือง กายภาพ และจิตวิทยา ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและฤดูกาลกลายเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะไม่ได้เป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่รุนแรงเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่าโลกกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติเกินกว่าที่สังคมตะวันตกสมัยใหม่และวัฒนธรรมอื่น ๆ ในปัจจุบันจะรับมือได้
เมื่อเราเชื่อว่าสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีทางหวนกลับคืนมา หรือเมื่ออนาคตดูมืดมน สภาพภูมิอากาศจะกลายเป็นปัญหาทางวัฒนธรรมพอ ๆ กับทางกายภาพ
เมื่อสภาพภูมิอากาศเริ่มแปรปรวน เราก็จะเริ่มหาคำอธิบายที่เป็นไปได้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าสภาพภูมิอากาศกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริง?
และจะเกิดอะไรขึ้นกับกรอบวัฒนธรรมและระเบียบทางจิตวิทยาเมื่อคนเริ่มเชื่อว่าสภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงๆ?

เทพเจ้ากำลังลงโทษมนุษย์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมจริงหรือ?
บรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกถูกกิจกรรมของมนุษย์ทำลายจนเกินแก้ไขแล้วหรือไม่?

ความต้องการคำอธิบายเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดตรรกะใหม่ ๆ ขึ้นมาหลายประการ สำหรับจักรวาลวิทยานั้น
สิ่งที่ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างที่มีมาแต่โบราณระหว่างมนุษย์ สิ่งแวดล้อม สัตว์ และวิญญาณศักดิ์สิทธิ์นั้นจะทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศแปรปรวนตามมา ความเชื่อเช่นนี้ได้รับการยอมรับกันในราชสำนักจีนโบราณ เช่นอุทกภัยร้ายแรงในยุคราชวงศ์ชิงช่วงปี 1650 ที่กังซีฮ่องเต้ประกาศว่าเกิดขึ้นเพราะฟ้าลงโทษ “การทำผิดจารีต” ของพระองค์และสัญญากับประชาชนว่าจะแก้ไขตนเองในทางที่ถูกต้อง
หรือความเชื่อในหมู่ผู้นับถือศาสนาของอับราฮัม (ได้แก่ศาสนายูดาย คริสต์ และอิสลาม) ว่าการทำผิดศีลธรรมจะไปรบกวนระเบียบของสภาพภูมิอากาศ โดยเข้าใจว่าพระเจ้ามีอำนาจเหนือทุกสิ่งรวมไปถึงการควบคุมสภาพภูมิอากาศให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตมนุษย์

ภาพประกอบโดย Mutter Museum

หากสภาพภูมิอากาศไร้เสียซึ่งประโยชน์เหล่านี้แล้ว ก็จะเป็นหลักฐานว่ามนุษย์จะต้องสำนึกบาปหรือสวดอ้อนวอนพระเจ้า วาระที่ศาสนิกชนจะต้องสารภาพบาปหรือสวดมนต์นี้เชื่อกันว่าเป็นรากฐานของพิธีการทางศาสนาที่มีผลมาจากความต้องการสภาพภูมิอากาศที่มีระเบียบ และยังคงดำเนินอยู่ในทุกวันนี้
คำอธิบายสภาพภูมิอากาศแปรปรวนด้วยความเชื่อเหนือธรรมชาติอื่น ๆ อาจเกี่ยวข้องกับลางอัปมงคลยิ่งกว่านี้ อย่างเช่นการต่อสู้ระหว่างอำนาจความดีและความชั่ว ตัวอย่างเช่นในบางวัฒนธรรมของยุโรปในต้นยุคใหม่ ปีศาจพยายามใช้อำนาจทำลายระเบียบของสภาพภูมิอากาศโดยผ่านทางพิธีกรรมของแม่มด
ส่วนนักประวัติศาสตร์อาณานิคมในช่วงศตวรรษที่ 17 ก็เชื่อว่าสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่พวกเขาประสบในทวีปอเมริกามีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมในศาสนาเพแกนหรือมนตร์ดำของชนพื้นเมือง และเชื่อว่าจะทำให้ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศหมดไปได้ถ้าสามารถกำจัดผู้ที่นับถือศาสนาเพแกนไปได้หมด

สภาพภูมิอากาศแปรปรวนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์
เราอยู่ในตำแหน่งที่เห็นได้ว่าทำไมเมื่อเราต้องการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ เราควรเริ่มต้นโดยการมองย้อนไปในอดีต การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในอดีตส่วนมากมักก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่กำหนดชะตากรรมของมนุษย์ สังคม และประเทศชาติ เช่นเดียวกับแนวความคิดร่วมสมัยเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่กำหนดว่าอนาคตของมนุษย์จะมีความเป็นไปได้เช่นไรบ้าง
บทบาทของนักประวัติศาสตร์ในฐานะนักเล่าเรื่อง นักปราชญ์ และศาสดาพยากรณ์จึงสำคัญ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศสำคัญและทรงพลังในการกำหนดภูมิศาสตร์ขั้นพื้นฐาน สภาพเศรษฐกิจ และความเปราะบางของระบบนิเวศ
การทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้มิใช่เพื่อเข้าใจสภาพภูมิอากาศเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อทำนายสภาพภูมิอากาศโดยใช้ข้อมูลประวัติศาสตร์ผสานกับมุมมองร่วมสมัย
การศึกษาประวัติศาสตร์อุตุนิยมวิทยามีประโยชน์ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาเกี่ยวกับบทบาทของสภาพภูมิอากาศในประวัติศาสตร์อย่างเป็นระบบ นักภูมิศาสตร์วัฒนธรรมและนักประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมสามารถเปิดเผยว่า มนุษย์ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในประวัติศาสตร์เช่นไรบ้าง เช่น การศึกษาประวัติศาสตร์อุตุนิยมวิทยาโดย Mark Carey ทำให้เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงในการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนยุคปัจจุบันละเลยผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ Carey ยังชี้ว่า มีนักประวัติศาสตร์อุตุนิยมวิทยาจำนวนมากที่สนใจศึกษาสภาพภูมิอากาศในยุคก่อนปี 1900 มากกว่าช่วงศตวรรษที่ 20
การประชุมในระดับนานาชาติด้านสภาพภูมิอากาศที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเกิดขึ้นไม่เกิน 40 ปีที่ผ่านมานี้เอง ณ มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย สหราชอาณาจักรในปี 1779 จัดโดยหนึ่งในนักวิชาการผู้ก่อตั้งสาขาวิชาประวัติศาสตร์อุตุนิยมวิทยาอย่างศาสตราจารย์ Hubert Lamb จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ Lamb เป็นนักประวัติศาสตร์ชื่อดังคนแรกที่สนใจความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในประวัติศาสตร์ของมนุษย์โดยแบ่งออกเป็นช่วงทศวรรษ ศตวรรษ และสหัสวรรษ และยังบุกเบิกการค้นหานัยดินฟ้าอากาศจากบันทึกต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ โดยใช้แหล่งข้อมูลประวัติศาสตร์เพื่อจำลองสภาพภูมิอากาศเมื่อร้อยปีที่แล้วขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ Lamb ยังได้อธิบายว่าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของมนุษย์ได้อย่างไรบ้างในหนังสือชื่อ Climate into History
งานเขียนของ Lamb ชี้ว่านักประวัติศาสตร์อุตุนิยมวิทยาควรยึดมั่นในสิ่งที่หลักฐานประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของปฏิสัมพันธ์ระหว่างสังคมและสภาพภูมิอากาศแสดงให้เห็น นักธรณีวิทยาและนักอุตุนิยมวิทยายุคโบราณสามารถค้นหาหลักฐานและตีความสภาพภูมิอากาศในอดีตจากวงปีของต้นไม้ ปะการัง เกสรดอกไม้ ตะไคร่น้ำที่ตกตะกอนอยู่ก้นทะเลสาบ ฟองอากาศในแท่งน้ำแข็ง เถ้าลาวาจากภูเขาไฟ หรือชั้นดินที่สะสมในถ้ำ หลักฐานเหล่านี้ทำให้เราสามารถจำลองเหตุการณ์ดินฟ้าอากาศที่เกิดขึ้นในยุคนั้นได้ ส่วนนักธรณีวิทยาสังคมและประวัติศาสตร์และนักประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมมีภารกิจที่แตกต่างออกไป ได้แก่ การสร้างแนวคิดว่าสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนในอดีตส่งผลต่อพัฒนาการของสังคมมนุษย์ได้อย่างไร

ภาพ : https://www.theguardian.com/culture/2020/feb/22/alas-poor-hamnet-shakespeare-tragic-son-finally-steps-into-the-spotlight?fbclid=IwAR372bQIDG18jzEnmrJvbQQMol1z0OohkY1gyy6EhfRqdw-LDS8yr7y4J50


ยกตัวอย่างเช่นนักประวัติศาสตร์ชื่อ Dagmar Degroot ได้อธิบายว่าความทนทานของสังคมต่อความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีการวางแผนมาก่อน ในประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสาธารณรัฐเนเธอร์แลนด์ในศตวรรษที่ 17 นั้น ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศใน “ยุคน้ำแข็งน้อย” ส่งผลต่อสังคมมนุษย์น้อยมาก เพราะสังคมชาวดัตช์ช่วงเวลาดังกล่าวรุ่มรวยและอุดมสมบูรณ์มากในขณะที่ชาติอื่น ๆ ประสบปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ทว่าความร่ำรวยของชาวดัตช์มีสาเหตุมาจากสภาวะทางการเมืองและวัฒนธรรมของดัตช์ในขณะนั้น ดังนั้นผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสังคมมนุษย์ในศตวรรษที่ 17 จึงไม่สามารถกำหนดได้โดยใช้ดัชนีวัดสภาพภูมิอากาศเชิงปริมาณใด ๆ ซึ่งบ่งบอกถึงความยากลำบากของนักประวัติศาสตร์อุตุนิยมวิทยาที่เพิ่มมากขึ้น ว่า เราต้องตระหนักถึงอิทธิพลของจินตนาการของมนุษย์ที่ใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสภาพภูมิอากาศและสังคมมนุษย์
มีแนวความคิดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและวัฒนธรรมอะไรบ้างที่แพร่หลายในประวัติศาสตร์?
แนวคิดเกี่ยวกับเวลาและการเปลี่ยนแปลงมีอิทธิพลต่อการตีความเรื่องความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในวัฒนธรรมต่าง ๆ บ้างหรือไม่?
การศึกษาวัฒนธรรมและจินตนาการของมนุษย์นั้นไม่ค่อยมีหลักฐานกายภาพให้นักวิทยาศาสตร์หรือนักโบราณคดีได้ค้นพบมากนักนอกจากการวิเคราะห์วัฒนธรรมโดยการคาดการณ์ของนักวิชาการต้นยุคสมัยใหม่
ตามที่เราเคยได้เห็นมาแล้วว่าสังคมมนุษย์ในอดีตสร้างตัวแทนที่ใช้อธิบายสภาพภูมิอากาศที่หลากหลายและทำความเข้าใจสาเหตุความแปรปรวนสภาพภูมิอากาศด้วยวิธีการต่าง ๆ กัน เช่นจินตนาการเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่ปรากฏในงานละครของวิลเลี่ยม เชคสเปียร์ โดยใช้ท้องฟ้าเป็นสื่อความคิด สำหรับเชคสเปียร์และกวีร่วมสมัยในศตวรรษที่ 16 ในประเทศอังกฤษนั้น สภาพภูมิอากาศมิใช่สิ่งที่จะนำมาสรุปเป็นตัวเลขได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นพาหนะที่เผยชะตากรรมและนำเอาคำตัดสินของพระเจ้ามาสู่มนุษย์ ดังนั้นสภาพภูมิอากาศคือกรอบแนวคิดของเชคสเปียร์ที่ทำให้ผู้ชมได้สนุกเพลิดเพลินไปกับบทละครและได้เรียนรู้ภูมิหลังธรรมชาติและจักรวาลไปพร้อมกัน
เนื่องจากงานของเชคสเปียร์ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมกรีกโบราณและอุตุนิยมวิทยา ทำให้ตัวละครของเขาต้องเผชิญปรากฏการณ์ธรรมชาติที่อ่อนไหว และต้องฟันฝ่าต่อสู้อุปสรรคธรรมชาติเพื่อที่จะก้าวสู่ดินแดนที่เต็มไปด้วยสันติสุข

ภาพประกอบโดย https://climate.nasa.gov/effects/

การถกเถียงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในอดีต และบทบาทสภาพภูมิอากาศต่อชีวิตมนุษย์นั้นเป็นมากกว่ากายภาพของดินฟ้าอากาศในภูมิภาคหนึ่ง ๆ แต่รวมถึงมิติอำนาจ ศาสนา ความรู้ เศรษฐกิจ ค่านิยม และอัตลักษณ์ด้วย
การเข้าใจว่าสภาพภูมิอากาศและวัฒนธรรมสัมพันธ์กันเช่นไรในจินตนาการมนุษย์ เช่น กลุ่มผู้ตั้งรกรากในโลกใหม่ ชุมชนพื้นเมือง ผู้อพยพ หรือผู้นำการเมืองและศาสนา จึงเป็นสิ่งท้าทายนักประวัติศาสตร์ แต่ก็สำคัญที่ต้องทำ
นักประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อม Lawrence Culver กล่าวว่า “การศึกษาอุตุนิยมวิทยาทางวัฒนธรรมนั้น นักประวัติศาสตร์จะต้องพัฒนาความรู้ประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์ขึ้น เพิ่มเนื้อหาประวัติศาสตร์ชาติและโลก และใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อทำนายอนาคตของสังคมมนุษย์”
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากนักประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมและนักธรณีวิทยา ได้แก่ การค้นพบว่าสังคมในอดีตตอบสนองต่อความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศด้วยวิธีการแตกต่างกัน ในขณะที่ความรู้ทางการที่คนยุคปัจจุบันเรียกว่า ความรู้วิทยาศาสตร์นั้นไม่เพียงพอ
วัฒนธรรมต่าง ๆ ได้พัฒนาภูมิปัญญาของตนเพื่อตอบสนองสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
แนวคิดสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันในอดีตสามารถใช้เป็นความรู้เรื่องวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดีเนื่องจากประกอบด้วยคำบรรยายถึงเหตุการณ์จริง
บทสรุป
ผู้เขียนบทความนี้เพื่อเข้าใจแนวคิดความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และอิทธิพลที่มีต่อโลกยุคปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องเริ่มจากธรณีวิทยาและประวัติศาสตร์แทนที่จะเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แนวคิดสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเพื่อจัดระเบียบประสบการณ์ของมนุษย์ต่อสภาพอากาศแปรปรวนและรุนแรง ดังนั้น การใช้ประวัติศาสตร์ธรณีวิทยาเพื่อศึกษาความแปรปรวนดังกล่าว จึงชี้ถึงความสำคัญของจินตนาการของมนุษย์แต่ละวัฒนธรรมในการเข้าใจสภาพภูมิอากาศ สาเหตุ และผลลัพธ์
การตีความสภาพภูมิอากาศและความแปรปรวนในเชิงวัฒนธรรมนั้นมีมาหลายศตวรรษแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์กายภาพของจักรวาลเท่านั้น แต่จะมีประโยชน์ถ้ามนุษย์ตีความให้ครอบคลุมทุกแง่มุม แตกต่างกันตามประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ วิถีชีวิต พฤติกรรม และจินตนาการของแต่ละชนชาติ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การเผยประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของสภาพภูมิอากาศได้ล้มล้างความเชื่อเดิม ๆ เกี่ยวกับ the matter off factness หรือความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์สภาพภูมิอากาศ
เราไม่สามารถเข้าใจความหมายของความแปรปรวนสภาพภูมิอากาศด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์เพียงด้านเดียว และก็ไม่สามารถเข้าใจด้วยประสบการณ์เพียงอย่างเดียวเช่นกัน
ความแตกต่างทางความเชื่อ ค่านิยม จุดยืนการเมือง และวิสัยทัศน์โดยรวมเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ตีความหลักฐานวิทยาศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถทำได้โดยลำพัง


ที่มา : Hulme, Mike. 2022. Climate and Culture through history: …Climate change historicised …. Climate Change. Rouugtledge: 3-24.


Social Share