THAI CLIMATE JUSTICE for All

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยุทธศาสตร์ของไทยและบทบาทของรัฐสภา

ในวันอังคารที่ 21 มิถุนายน 2565

คณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และ Thai Climate Justice for All (TCJA) สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม

ได้จัดโครงการสัมมนา เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ยุทธศาสตร์ของไทยและบทบาทของรัฐสภา”
ณ ห้องประชุมรัฐสภา

ที่มา : สสส


โดยมีผู้เข้าร่วมงานสัมมนาจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม รวมถึงผู้เข้าร่วมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าชมงานสัมมนาแบบออนไลน์

นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ประกาศให้ประเทศไทยตั้งเป้ามุ่งเข้าสู่แผนงาน Net Zero 2065 เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ณ การประชุมระดับผู้นำ หรือ COP26 ที่กรุงกลาสโกลว์ ประเทศสก็อตแลนด์ ประเทศไทยได้มีการพัฒนายุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อยกระดับการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำภายใต้กรอบความตกลงปารีส (Paris Agreement)

โดยล่าสุด ประเทศไทยได้ปรับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกต่อประชาคมโลก (Nationally Determined Contribution) จาก ร้อยละ 20-25 เป็นร้อยละ 30-40 ซึ่งเทียบเท่ากับจำนวนของประเทศพัฒนาแล้วเพื่อผลักดันเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้มีความเข้มงวดมากขึ้น และจะประกาศเป้าหมายนี้ใน COP27 ของเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อภิปรายว่า การยกระดับยุทธศาสตร์ระยะยาวดังกล่าวให้เข้มงวดมากขึ้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อทั้งสภาพแวดล้อมและบทบาทเชิงเศรษฐกิจของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันจากนานาชาติหรือการกีดกันทางการค้า เช่น ในอนาคต สหภาพยุโรปอาจพิจารณาคิดราคาคาร์บอนที่ประเทศเจ้าของสินค้าปล่อย ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับตัวและเดินหน้าพัฒนาอย่างจริงจังโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงงบประมาณจาก ส.ส. ส.ว. ให้มีส่วนในการพิจารณางบประมาณให้พึ่งพาพลังงานสะอาดมากขึ้น

ที่มา : สสส

ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยได้มีการพัฒนา (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นหนึ่งในบัญชีกฎหมายสิบห้าฉบับที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาเพื่อการปฏิรูปในด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมตามกำหนดกรอบเวลา ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อภิปรายว่า ความร่วมมือในการลดก๊าซเรือนกระจกในปีที่ผ่านมา (2000-2016) ยังไม่ส่งผลต่อการลดก๊าซในจำนวนที่เพียงพอต่อการลดอุณหภูมิโลก หากใช้รูปแบบเดิม ๆ จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงควรพิจารณาเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้ให้เป็นสถานะ พ.ร.บ. มากกว่าการบังคับใช้เป็นระเบียบ เพื่อกระบวนการตราที่รอบคอบ ยกร่างโดยผู้ชำนาญการและมีการบังคับใช้ มีผลลงโทษทุกคนต้องปฏิบัติเคารพ และได้รับการคุ้มครอง เพิ่มประเด็นการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

ที่มา : สสส

ขณะเดียวกัน ดร. พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้เสนอข้อคิดเห็นต่อหมวดต่าง ๆ ไว้อย่างละเอียดในร่างกฎหมายดังกล่าว ดังนี้
หมวดแรก ร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ความสำคัญแค่การทำรายงานบัญชีก๊าซแต่ยังไม่มีการดำเนินการตามที่ข้อตกลงปารีสบอก ขาดเจตนารมณ์เป้าหมาย หากเทียบกับ Climate Change Act (2008) ของ อังกฤษ ในหมวดแรกได้ระบุการแบ่ง quarter แต่ละปีอย่างชัดเจนว่าจะอังกฤษมีเป้าหมายจะลดก๊าซลงอย่างไร กี่ปี และจะเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่จะต้องรับผิดชอบ และหากเมื่อเทียบกับปี 1990 จำนวนก๊าซจะต้องลดน้อยลง 100% เมืองไทยควรจึงปักธงเป้าหมายดังกล่าวนี้ในร่างพรบ. เพื่อให้แผนงานต่าง ๆ มีจุดเป้าหมายเดียวกัน

หมวดสอง การตั้งคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ควรมีคณะกรรมการที่ขับเคลื่อนนโยบายและแผนการเพื่อมุ่งสู่ Net Zero Emissions เพิ่มอำนาจหน้าที่หน่วยงานที่ดำเนินการและปฏิบัติตามนโยบาย หรือ หน่วยงานวิชาการ กลไกการติดตามผลการดำเนินงานโดยภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ภาคประชาสังคมที่จะคอยติดตามผล

หมวดสาม แผนแม่บท เมืองไทยมีแผนแม่บทอยู่แล้วสำหรับการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายนี้ควรทำแผนให้ชัดเจน มีรูปธรรมมากขึ้น

หมวดสี่ ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก พ.ร.บ. ควรเปิดเผยข้อมูลรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ของแต่ละโรงงานจากภาคองค์กร

หมวดห้า การลดก๊าซเรือนกระจก ขาดการระบุทิศทางกำหนดที่ชัดเจนว่าจะดำเนินอย่างไร ไม่มีมาตรการหรือกลไกสำหรับภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เทียบกับยุโรป มีการใช้มาตรการ European Union Emission Trading Scheme (EU-ETS) ระบุไว้

หมวดหก การปรับตัว ควรกำหนดมาตรการเชิงรุกให้สอดคล้องกับผลการประเมินความสูญเสียและความเสียหาย การพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยในการปรับตัว เพิ่มศักยภาพของประชาชนในการปรับตัวและสร้างสังคมที่ยืดหยุ่น จัดการระบบนิเวศ ความหลากหลายชีวภาพ

หมวดเจ็ด มาตรการส่งเสริมการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน

บทเฉพาะกาล ควรใส่ประโยชน์ของการมี พ.ร.บ. นี้ ยกระดับร่างกฎหมายนี้ เชื่อมโยงเนื้อหากับความตกลงปารีส การเติบโตทางเศรษฐกิจและลดก๊าซให้สอดคล้องกัน

ในช่วงถัดไป เป็นการอภิปรายว่าด้วยความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาความขัดแย้งจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปัจจุบันนี้ วิกฤตจากสภาวะภูมิอากาศ (Climate Crisis) เปลี่ยนแปลงเป็นวาระระดับชาติที่ทั่วทั้งโลกให้ความสำคัญและตื่นตระหนักกับการแก้ไข

อย่างไรก็ดี บทบาทหน้าที่ในการรับผิดชอบการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละชาติหรือประเทศนั้นวางอยู่บนพื้นฐานและปัจจัยที่แตกต่างกัน หรือที่เรียกว่า Common But Differentiated Responsibilities (CBDR)

การวางนโยบาย หรือร่างกฎหมายภายใต้ปัจจัยดังกล่าวนี้จึงเป็นโจทย์ที่น่าพิจารณาว่าสภาไทยจะออกแบบนโยบายเพื่อรับมือกับข้อถกเถียงระดับโลกอย่างความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้วกว่าร้อย ๆ ปี

หรือประเด็นอย่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรุ่นปัจจุบันกับคนรุ่นอนาคต (Climate Strike) ที่สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างของการขับเคลื่อนต่อปัญหาสภาวะโลกร้อนที่ไม่เป็นธรรมได้อย่างไร

ดร. อัศมน ลิ่มสกุล จาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวว่า ประเทศไทยมีการศึกษาเรื่องความขัดแย้งจากผลกระทบสภาพภูมิอากาศน้อยมาก ขณะเดียวกัน

โดยในประเทศไทยเองยังมีกลุ่มคนชายขอบ เกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่น กลุ่มสตรี ชนเผ่าเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ ที่จะได้รับผลกระทบที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาวะภูมิอากาศ เช่น จำเป็นต้องปรับวิถีชีวิต หรือวิถีชุมชนให้เอื้อต่อการลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น กลุ่มคนเหล่านี้จึงควรได้รับความเป็นธรรมและช่วยเหลือจากระดับภาครัฐเช่นกัน

นายธารา บัวคำศรี จาก Green Peace ประเทศไทย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส ต้องมี “การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (systemic change)” เป็นศูนย์อย่างแท้จริง (real zero) เพื่อความยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้น ป้องกันการครอบงำของบริษัทข้ามชาติเหนือสิทธิบัตรพันธุ์พืชและสิ่งมีชีวิตที่จะทำลาย

ศักยภาพการปรับตัวจากวิกฤตภูมิอากาศของเกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่น กลุ่มสตรี ชนเผ่าเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ควรคุ้มครองและสนับสนุนสิทธิชุมชนและประชาชนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทะเล พื้นที่ชุ่มน้ำ และชายฝั่งที่เป็นรากฐานเศรษฐกิจแบบเกื้อกูล (supportive economy)

และหากพิจารณาในบทบาทของรัฐสภา ทางรัฐสภาควรมีการประกาศ Climate Emergency Declaration เพื่อจัดลำดับความสำคัญกลยุทธ์ในการลดการปล่อยก๊าซ ผลักดันประเด็นวิกฤตสภาวะภูมิอากาศเป็นวาระหลักและผนวกข้อเสนอของภาคประชาชน เศรษฐกิจยั่งยืน และตระหนักถึงภูมิปัญญา องค์ความรู้ท้องถิ่นในการต่อกรกับความเปลี่ยนแปลง เอื้อหนุนชุมชนนโยบายว่าด้วยวิกฤตสภาวะภูมิอากาศ หน่วยงานรัฐ ข้าราชการ ภาคประชาชน ทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ยั่งยืนและเป็นธรรม

ในช่วงสุดท้ายของงานสัมมนา เป็นการอภิปรายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยุทธศาสตร์การพัฒนา ในปัจจุบันนี้ ภาครัฐไทยมีแผนงานยุทธศาสตร์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับการลดคาร์บอน เช่น โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรชีวภาพ การใช้ประโยชน์จากชีวมวล เพื่อรักษาคุณค่าของทรัพยากรวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ให้นานที่สุดด้วยการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ควบคู่กับการลดการเกิดของเสียให้น้อยที่สุดเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นการปรับตัวเข้ากับแผนงานเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการเปลี่ยนแปลงในมาตรการโลกต่าง ๆ เช่น CBAM ที่มีแผนบังคับใช้ในปีหน้า เป็นต้น

อย่างไรก็ดี มาตรการด้านเศรษฐศาสตร์เพื่อรองรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ในไทยยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ชวนน่ากังวลต่อแผนงานลดคาร์บอนของประเทศไทย โดยนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ได้เสริมถึงข้อวิพากษ์ต่อร่างกฎหมาย พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมที่ขาดการระบุเป้าหมายที่แน่นอนและชัดเจน ไม่ได้กล่าวถึง carbon tax หรือ carbon pricing นอกจากนี้สถานะทางการเงินของกองทุนสิ่งแวดล้อมยังมีรายได้ไม่แน่นอนและยังไม่ได้รับงบประมานแผ่นดินตั้งแต่ปี 2561 โดยกองทุนสิ่งแวดล้อมเองก็มีเป้าหมายการหารายได้เพิ่มเติมเพียงแค่ 350 ล้านบาท ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการดำเนินนโยบายทางสิ่งแวดล้อมใด ๆ ตามที่ร่างพ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมได้กำหนดภารกิจเอาไว้

ปัญหาดังกล่าวนี้จึงอาจยังเป็นข้อจำกัดในการดำเนินแผนยกระดับสู่การลดคาร์บอนที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย ไม่สร้างความดึงดูดให้ภาคเอกชนหรือบริษัทใด ๆ มาร่วมลงทุนลดก๊าซเรือนกระจกได้ และจะทำให้ไม่มีงบประมาณจริงจังที่มุ่งสู่สังคุมคาร์บอนต่ำ

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล เสนอว่า ควรพิจารณาการเก็บภาษี เช่น ภาษีบรรจุภัณฑ์จาก Circular Economy เพื่อสมทบทุนรายได้กองทุนให้มีรายได้ที่สม่ำเสมอและพร้อมต่อยุทธศาสตร์การลดคาร์บอนระยะยาวมากขึ้น นอกจากนี้ ในเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี แผนงานยุทธศาสตร์จัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำนวนทั้งสิ้นรวม 1,500 ล้านบาทโดยประมาณ ซึ่งใน 1,200 ล้านบาทนั้นเป็นงบของกรมอุตุนิยมวิทยาซื้อเครื่องวัดลมเฉือน เครื่องตรวจอากาศ ติดตามสนามบินต่าง ๆ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดกับสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และจำนวนที่เหลือถึงจะเป็นงบประมาณของการจัดทำรายงาน ดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจริง ๆ จำนวน 400 ล้านบาท

ในปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ โดยมีทางสำนักงานนโยบายและแผนการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคอยรับฟังความเห็นสาธารณะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนานโยบายไปสู่ยุทธศาสตร์สู่สังคมคาร์บอนต่ำและแผนงาน Net Zero 2050 ตามที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้

Scroll to Top