THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

ประสาท มีแต้ม
25 มิถุนายน 2022

1. ความเป็นมา

โดยปกติในคอลัมน์นี้ผมจะเขียนถึงเรื่องโลกร้อน เรื่องพลังงานหมุนเวียนที่ช่วยลดปัญหาโลกร้อนและปัญหามลพิษ แต่วันนี้ผมขออนุญาตเป็นพิเศษนะครับ ขอเขียนถึงชาวประมงพื้นบ้านที่กำลังปกป้องท้องทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนไทยและชาวโลก

ขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ เป็นช่วงที่เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านได้ขับเรือฝ่าคลื่นลมแดดจากจังหวัดปัตตานีเพื่อรณรงค์ให้สังคมไทย “หยุดจับ หยุดซื้อ หยุดกิน สัตว์น้ำวัยอ่อน” เพื่อมาให้ถึงแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณอาคารรัฐสภาในวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เรื่องนี้เป็นผลประโยชน์ของสาธารณะที่กำลังวิกฤติ หากคนกินปลาอย่างเราๆ ไม่ช่วยกันสนับสนุนก็คงยากที่สิ่งดีๆ จะสำเร็จได้

ในบทความนี้ นอกจากจะนำเสนอผลงานวิจัยของกรมประมงไทยซึ่งสะท้อนถึงปัญหาการประมงไทยแล้ว ผมจะนำเสนอผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งในประเทศอังกฤษถึงผลกระทบของขนาดตาอวนที่ก้นถุงของอวนลาก ที่พบว่า หากขยายตาอวนจาก 8 เซนติเมตรเป็น 9 เซนติเมตร ผลการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนจะลดลงถึงกว่า 50% ในขณะที่ขนาดตาอวนในบ้านเราที่กรมประมงประกาศให้ใช้มีขนาดเพียง 4 เซนติเมตรเท่านั้น

โปรดติดตามอ่านให้จบนะครับ

2. ความจริงเชิงประจักษ์ 3 ประการ

ในการรณรงค์ครั้งนี้เครือข่ายประมงพื้นด้านได้นำเสนอข้อมูลสำคัญ 2 ประการ คือ (หนึ่ง) ปริมาณการจับปลาทูที่มีขนาดกว่า 16 เซนติเมตรซึ่งถือว่าเหมาะแก่การรับประทานได้ลดลง 7 เท่า ในช่วงเวลา 5 ปี และ (สอง) ปลาทูตัวเล็กมาก (ดังภาพ) ได้วางขายอยู่ตลาดทั่วไป ทั้งที่เป็นตลาดสมัยใหม่และตลาดสด

ข้อมูลในตารางข้างต้น ผมได้ค้นคว้ามาประกอบ เป็นผลงานวิจัยของกรมประมงในปี 2549 ซึ่งได้ทดลองลากอวนด้วยเรืออวนลากที่มีขนาดตาอวนที่ก้นถุงกว้าง 4 เซนติเมตรในบริเวณอ่าวไทยตอนบน (ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขึ้นไป) พบว่า มีผลจับต่อการลงแรงประมงเฉลี่ยเท่ากับ 14.13 กิโลกรัมต่อชั่วโมง หรือเพียงร้อยละ 5.5 ของปี 2506 ซึ่งเคยมีผลจับต่อการลงแรงประมงสูงถึง 256 กิโลกรัมต่อชั่วโมง (เขามีวิธีการเทียบให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อเปรียบความชุกของสัตว์น้ำ)

พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อ 60 ปีที่แล้วเคยลากอวนได้ 256 กิโลกรัมต่อชั่วโมง แต่เมื่อ 16 ปีที่แล้วเหลือเพียง 14 กิโลกรัมเท่านั้น แล้วปัจจุบันนี้ (2565) จะได้สักกี่กิโลกรัม แม้ไม่มีผลงานวิจัยรองรับ แต่ก็ไม่ยากที่จะคาดการณ์

3. คำทำนายของชายแปลกหน้าและนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก

ก่อนที่จะไปถึงเรื่องในอังกฤษ ผมมี 2 เรื่องที่จะเล่าประกอบเรื่องราวในตารางดังกล่าวครับ

เรื่องแรกเป็นความเห็นของนักชีววิทยาทางทะเลที่ผลงานของเขาได้รับอ้างอิงในวงการวิชาการในปี 2020 มากที่สุดในโลก คือ ศาสตราจารย์ Daniel Pauly (เกิดปี 1946 เป็นหัวหน้าโครงการ The Sea Around Us Project) แห่งมหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบีย แคนาดา) บอกว่า “ถ้าเรานิยามการล่มสลายทางการประมงว่าคือ ปรากฏการณ์ที่เราทำการประมงได้ผลการจับสัตว์น้ำเพียง 10% ของที่เคยได้ ปัจจุบันทั่วทั้งโลกจะมีแหล่งประมงที่ได้ล่มสลายไปแล้วถึง 1 ใน 3 จากข้อมูลที่มีอยู่เราสามารถพยากรณ์ได้ว่าภายในปี ค.ศ. 2048 การประมงทั้งหมดในโลกจะล่มสลาย สิ่งเดียวที่เป็นอาหารทะเลที่จะเหลืออยู่ให้เรารับประทานน่าจะเป็นสตูแพลงก์ตอน”

ถ้าเราใช้นิยามดังกล่าวนี้ เราก็พอสรุปได้ว่าการประมงในอ่าวไทยได้ล่มสลายไปนานแล้ว เพราะผลการจับสัตว์น้ำต่อการลงแรงประมงได้ลดลงเหลือไม่ถึง 10% มาตั้งแต่ปี 2549

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องที่ชายชราที่เป็นชาวประมงคนหนึ่งในจังหวัดสงขลาได้เล่าให้ผมฟังเมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้ว ถ้าชายคนนี้ยังมีชีวิตอยู่ก็น่าจะอายุประมาณ 110 ปี (พอๆ กับอายุพ่อผม) ท่านเล่าว่า นานมาแล้วมีชายแปลกหน้าพูดในขณะที่ชาวประมงและชาวบ้านช่วยกันปลดปลาออกจากอวนชายฝั่งว่า

ชายแปลกหน้า: “อีกไม่กี่ปีทะเลจะเหลือแต่น้ำ ไม่มีปลาให้จับ เพราะอวนจากญี่ปุ่นจะจับปลาจนหมดทะเล” (ท่านเล่าว่าเป็นอวนจากญี่ปุ่น ในแต่ความเป็นจริงเป็นเครื่องการประมงจากประเทศเยอรมนี ภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการระหว่างรัฐบาลสหพันธสาธารณรัฐเยอรมันกับรัฐบาลไทย ในปี 2506)

ชายชรา: “เป็นไปไม่ได้ ดูสิ ผืนอวนซึ่งมีความกว้างยาวไม่กี่วา แต่ติดปลามากจนชาวประมงปลดกันไม่ไหว ไม่ทัน ต้องไปตามคนทั้งหมู่บ้านมาช่วยกันปลด แล้วท้องทะเลมีขนาดกว้างใหญ่จนสุดลูกหูลูกตา ใครจะมีปัญญาจับได้หมด จะเอาคนที่ไหนมาปลด”

ชายแปลกหน้า: “คอยดูก็แล้วกัน” แล้วก็จากไปก่อนพลบค่ำ

4. ผลงานทดลองร่วมระหว่างชาวประมงอวนลากกับนักวิทยาศาสตร์ที่เมือง Brixham ประเทศอังกฤษ

เมือง Brixham เป็นเมืองที่มีการทำประมงมานานเกือบพันปี อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน มีชื่อเสียงเป็นแหล่งอาหารทะเลที่มีคุณภาพของประเทศ

ในปี พ.ศ. 2552 ชาวประมงอวนลากจำนวน 11 ลำได้อาสาที่จะร่วมการทดลองเพื่อลดปริมาณการจับสัตว์น้ำวัยวัยอ่อน และสัตว์น้ำที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด โดยร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ ภายใต้โครงการ “50% Project” ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐบาล โดยตั้งเป้าว่าจะลดให้ได้อย่างน้อย 50% เอกสารของกลุ่มนี้ได้ให้ข้อมูลที่น่าตกใจว่า “ในแต่ละปี ทั่วโลกมีสัตว์น้ำที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดถึง 7.3 ล้านตัน”

วิธีการทดลองโดยให้เรือแต่ละลำใช้ตาอวน 2 ชนิด อวนด้านขวาเป็นอวนแบบมาตรฐานที่กำลังใช้กันอยู่ มีขนาดตาอวนที่ก้นถุงเท่ากับ 8 ซม. และอวนด้านซ้ายมือเป็นอวนที่ปรับปรุงใหม่ให้มีขนาดตาอวนที่ก้นถุงเป็น 9 ซม. (และขนาดอื่นๆ ด้วย) ดังรูปประกอบ

ผลการทดลองคร่าวๆ ก็เป็นดังรูป คือ สัตว์น้ำที่ไม่ต้องการลดลงจาก 6 ตะกร้าเหลือเพียง 3 ตะกร้า เอกสารไม่ได้บอกว่าเรือแต่ละลำใช้เวลาลากนานเท่าใด แต่ขอย้ำนะครับว่า ตาอวนขยายจาก 8 ซม. เป็น 9 ซม. ในขณะที่กรมประมงไทยยังคงใช้ขนาด 4 ซม. น่าจะตั้งแต่ปี 2506

คราวนี้มาดูผลการทดลองในรายละเอียด โดยจำแนกขนาดของสัตว์น้ำตามความยาว ดังรูปถัดไปครับ

ข้อมูลดังกล่าวเป็นของเรือลำเดียว ได้พบความจริงที่สำคัญ 2 ประการ คือ

หนึ่ง จำนวนสัตว์น้ำที่ไม่ต้องการลดลงถึง 60% เมื่อตาอวนขยายขึ้นจาก 8 เป็น 9 ซม. เรื่องนี้เป็นไปตามความจริงทางคณิตศาสตร์ เพราะว่าพื้นที่ของตาอวนเพิ่มขึ้นจาก 64 เป็น 81 ตารางเซนติเมตร

สอง ทั้งๆ ที่ตาอวนมีขนาด 8 และ 9 ซม. แต่ก็มีปลาขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตรติดมาถึง 500 และประมาณ 100 ตัว ตามลำดับ ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เพราะหากลูกปลาทูเหล่านี้โตขึ้นถึงขนาด 10 ตัวต่อกิโลกรัม ก็จะมีทั้งคุณค่าและมูลค่าต่อมนุษย์ไม่น้อยเลย

ความจริงอีกประการหนึ่ง แต่ผมไม่แน่ใจว่าเป็นผลงานของกลุ่มไหน คือพบว่าเรือที่ใช้อวนตาห่างจะประหยัดน้ำมันและแรงงานกว่าเรือที่ใช้อวนตาถี่

5. สรุป

ถ้ากล่าวอย่างลึกที่สุด ปัญหาโลกร้อน ปัญหามลพิษ และปัญหาการประมง ก็มาจากเรื่องเดียวกัน คือ มาจากเราความโลภของเราที่ต้องการตอบสนองการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ และความไม่สามารถของเราที่จะจินตนาการถึงโลกที่แตกต่างไปจากโลกที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวเองในปัจจุบันนี้ ดังนั้น เมื่อมีคนกลุ่มเล็กๆ ชายขอบลุกขึ้นมารณรงค์ในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของสาธารณะ และทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนานแล้ว ถ้าไม่ช่วยกันรับลูกขยายผลกันเป็นทอดๆ แล้วเราจะตอบตัวเองว่าอย่างไร เอ้า ช่วยกันครับ



Social Share