THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เรื่อง : ประณัยยา ปัณฑรานุวงศ์

ภาพของหาดแสงจันทร์ยามเย็นที่สามารถเห็นท่าเทียบเรือน้ำลึกได้จากบริเวณหน้าโรงแรมฟอร์จูน จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 31  สิงหาคม 2565

“ผลไม้รสล้ำ อุตสาหกรรมก้าวหน้า น้ำปลารสเด็ด เกาะเสม็ดสวยหรู สุนทรภู่กวีเอก” คือคำขวัญใหม่ของจังหวัดระยองนับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจ Thailand 4.0 ที่ผลักดันให้พื้นที่จังหวัดติดทะเลบริเวณภาคตะวันออกกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากมาย จากรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product : GPP) ชี้ให้เห็นว่าระยองเป็นจังหวัดที่ติดอันดับต้น ๆ มาอย่างต่อเนื่องว่า ‘ร่ำรวยที่สุด’ ในประเทศไทยเมื่อเทียบจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร

อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจที่ดูรุ่งเรืองนั้นกลับไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของชุมชนในระยองนั้นดีขึ้นไปด้วย  เม็ดเงินจำนวนมากที่กล่าวกันว่าทำให้เศรษฐกิจของระยองร่ำรวยนั้นล้วนมาจากภาคอุตสาหกรรมที่เป็นส่วนมาก มีเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้นที่กระจายไปยังภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างภาคเกษตรกรรมและภาคการท่องเที่ยวที่เป็นที่มาของรายได้ส่วนหลักของชุมชนและคนพื้นถิ่นในระยอง นอกจากนี้ ยังมีปัญหามลพิษจากนิคมอุตสาหกรรมที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดมาอย่างช้านานร่วมกว่าสิบ ๆ ปี

ในวันที่ 30-31 สิงหาคม 2565 TCJA ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงาน “ก๊าซฟอสซิลกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมในภาวะโลกร้อน” ณ โรงแรมฟอร์จูน แสงจันทร์บีช จังหวัดระยอง และมีโอกาสได้พบกับตัวแทนจากชุมชนในจังหวัด เช่น เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดและเครือข่ายมาบตพุด เมื่อสอบถามถึงผลกระทบที่ชุมชนได้รับจากปัญหานิคมอุตสาหกรรม กลุ่มชาวประมงชายฝั่งล้วนเล่าถึงปัญหามลพิษในทะเลที่ส่งผลต่อจำนวนกุ้ง ปลา ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดต่อการออกเรือครั้งหนึ่ง

เมื่อมองออกไปยังหาดแสงจันทร์ที่ตั้งอยู่หน้าโรงแรมฟอร์จูน ภาพทิวทัศน์ของชายหาดริมทะเลนั้นปรากฎไปด้วยเขื่อนกันคลื่นรูปตัว Y ที่ถูกสร้างยาวตลอดแนวชายฝั่งเพื่อป้องกันการกัดเซาะอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกในนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้า ส่งผลให้รูปลักษณ์ของชายหาดฝั่งตะวันออกของท่าเทียบเรือมาบตาพุดมีสภาพที่ผิดแปลกไปจากธรรมชาติ

ภาพของหาดแสงจันทร์ที่ปรากฎให้เห็นถึงเขื่อนกันคลื่นรูปตัว Y เพื่อป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่งบริเวณหน้าโรงแรมฟอร์จูน จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565

กระแสน้ำที่เปลี่ยนไปและคลื่นที่แรงขึ้นยังทำให้หาดแสงจันทร์เป็นหาดที่ไม่เหมาะสำหรับการลงเล่นน้ำ หรือแม้กระทั่งบริเวณตื้นใกล้ชายฝั่ง เนื่องจากอาจเกิดอันตรายและอุบัติเหตุได้ เช่น คลื่นดูด ซึ่งจะทำให้คนที่อยู่บริเวณชายฝั่งถูกซัดออกจากฝั่งได้อย่างรวดเร็ว บริเวณชายหาดนี้จึงค่อนข้างเงียบและไม่มีนักท่องเที่ยวมากเท่าไหร่นัก

ภาพของหาดแสงจันทร์ยามเย็นที่มีผู้คนได้แต่เชยชมทิวทัศน์บนเขื่อนกันคลื่นบริเวณหน้าโรงแรมฟอร์จูน จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565

ปัจจุบันนี้ นิคมอุตสาหกรรมมาบตพุดยังมีโครงการในอนาคตที่จะขยายให้ใหญ่ขึ้นไปอีกในเฟส 2 และ 3 ถัดไปเรื่อย ๆ ขณะที่กลุ่มชาวบ้านและองค์กรพื้นถิ่นต่างตื่นตัวและให้ความสนใจในการคอยติดตามโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ข้อมูลการดำเนินการและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมนั้นกลับไม่ถูกนำเสนอสู่สังคมอย่างเปิดเผย หรือมีฐานข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้แต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านี้ ชุมชนยังต้องอยู่กับความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุในโรงงาน หนึ่งในตัวแทนชาวพื้นถิ่นระยองที่เข้าร่วมงานบรรยายในครั้งนี้ได้กล่าวในวงเสวนาถึงเหตุการณ์โรงงานระเบิดที่หนองแฟบว่า กลุ่มชาวบ้านไม่ทราบด้วยซ้ำว่าสารเคมีที่รั่วไหลลงคลองนั้นเป็นสารอะไร หรือโรงงานไหนเป็นโรงงานที่เกิดอุบัติเหตุ โดยปัจจุบันนี้ การเข้าถึงข้อมูลหรือรายงานสารเคมีแต่ละโรงงานยังไม่เป็นที่แพร่หลายและทราบกันอย่างทั่วถึงในชุมชนหรือภาคประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด

แม้จะเคยมีกฎหมายให้โรงงานออกเอกสารรายงาน EIA หรือ EHIA เพื่อสำรวจผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการต่อชุมชนโดยรอบ รายงานดังกล่าวยังมีช่องโหว่ด้านความเป็นธรรมอยู่มาก และบ่อยครั้งที่ความเป็นกังวลของชาวบ้านถูกละเลยและไม่ได้รับการกล่าวถึงในรายงานพวกนี้เลย

สุดท้ายนี้ น่าคิดนักว่าการลงทุนกับนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นความภาคภูมิใจของกลุ่มภาคธุรกิจหรือแม้แต่ตัวรัฐบาลเองคุ้มค่าและยั่งยืนแล้วจริง ๆ หรือที่ได้ ‘ช่วย’ พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าโดยการพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติ ขณะที่กลุ่มชุมชนถูกผลักไสออกและต้องเสียทั้งพื้นที่ทำกิน โอกาสทางเศรษฐกิจ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่สวยงามของจังหวัดที่เสื่อมโทรมลงอย่างน่าเสียดาย

ภาพของหาดแสงจันทร์และธงแดงเตือนไม่ให้ลงเล่นน้ำ โดยมีกลุ่มเรือขนสินค้าและเรือใหญ่จำนวนมากเห็นอยู่ลิบตาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565


Social Share