THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย World Resource Institute
วันที่ 8 สิงหาคม 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย UN Photo/Jess Hoffman

ตั้งแต่มีการรับมติสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในปี 2008 เป็นต้นมา สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็ได้มีผลงานความก้าวหน้าไปมากในด้านการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก โดยมติล่าสุดที่รับมาใช้ในเดือนกรกฎาคม ปี 2022 ทำให้สาธารณชนรับรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่สำคัญระหว่างการดำเนินการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและหลักการด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจและความสุญเสียด้านอื่นจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกเป็นครั้งแรก หรืออีกนัยหนึ่งได้แก่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่มีมากกว่าข้อจำกัดของการปรับตัว มากกว่าผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเกษตร ประมง ป่าไม้ และการท่องเที่ยว และมากกว่าความเสียหายต่อทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวคือผลกระทบเหล่านี้อาจทำให้ห่วงโซ่อุปทานเสียหาย ผลักดันให้ผู้คนต้องอพยพย้ายถิ่น วัฒนธรรมและวิถีชีวิตสูญหาย

มติดังกล่าวเน้นถึงความสำคัญของการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกอย่างต่อเนื่องเพราะว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิกสหประชาชาติทุกประเทศ โดยเป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน กับประเทศที่ได้รับผลกระทบ ในบริบทเช่นนี้ มติดังกล่าวจะรับรองผลกระทบที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อผลผลิตทางการเกษตร ความมั่นคงอาหารและโภชนาการของกลุ่มเปราะบางในประเทศกำลังพัฒนา และสนับสนุนให้ประเทศที่ให้สัตยาบันแก่ข้อตกลงปารีสเข้าร่วม Glasgow Dialogue ซึ่งเป็นเวทีอภิปรายที่มีระยะเวลาสองปีที่จัดตั้งขึ้นในการประชุม COP26 เพื่อการระดมทุนสำหรับการเยียวยาแก้ไขความสูญเสีย

ความคิดเห็นของพันธมิตรจากโครงการ ACT2025 ที่มีต่อมติสหประชาชาติ:

นาง Maria Laura Rojas ผู้อำนวยการอาวุโสของ Transfoma และพันธมิตรจากโครงการ ACT2025 กล่าวว่า “วิทยาศาสตร์ระบุไว้ชัดเจนว่าโลกของเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ไปไกลเกินกว่า ‘ข้อจำกัดการปรับตัว’ ซึ่งหมายความว่าความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในประเทศกำลังพัฒนาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในด้านต่างๆในช่วงชีวิตของเราและคนรุ่นถัดไป ดังนั้นการลดผลกระทบจากความสูญเสียและความเสียหายเป็นประเด็นด้านความเป็นธรรมทางภูมิอากาศและด้านสิทธิมนุษยชน และเราขอยกย่องมติที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกอันเป็นประวัติศาสตร์นี้ ว่าเป็นการเรียกร้องให้เกิดความร่วมมือในระดับนานาชาติในประเด็นนี้อย่างชัดเจน”

นาย Tony La Viña รองผู้อำนวยการด้านนโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ Manila Observatory และพันธมิตรจากโครงการ ACT2025 กล่าวว่า “เราขอยกย่องที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติที่ลงมติเรื่องสิทธิมนุษยชนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งถือเป็นการรับรองประเด็นปัญหาที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ อันรวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่มีต่อความมั่นคงทรัพยากร เน้นย้ำข้อเท็จจริงที่ว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆและเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันนั้นก่อให้เกิดความสูญเสียและความเสียหายอันประเมินค่ามิได้ และแสดงความกังวลต่อความขาดแคลนทรัพยากรของประเทศกำลังพัฒนาในการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สูงกว่า เราเห็นด้วยกับทุกข้อความในมติ โดยเฉพาะข้อความในย่อหน้าที่ 6 เป็นต้นไปที่รับรองความสำคัญที่ประเทศกำลังพัฒนาจะลดผลกระทบจากความสูญเสียและความเสียหาย เฝ้ารอ Operationalization of the Santiago Network และเร่งให้ประเทศสมาชิกเข้าร่วม Glasgow Dialogue อย่างสร้างสรรค์”

“ในขณะที่ภาษาที่ใช้ร่างมตินั้นน่าจะมีความตรงไปตรงมาและชัดเจนกว่านี้ มตินี้ก็ยังเป็นเอกสารที่ได้รับการยอมรับ เมื่อวันประชุม COP27 ที่อียิปต์ใกล้เข้ามา เราก็หวังว่าจะได้เห็นกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่เข้มแข็งและเร่งด่วน”

ศาสตราจารย์ Chuks Okereke ผู้อำนวยการ Centre on Climate and Development และ AEFUNAI และพันธมิตรจากโครงการ ACT2025 กล่าวว่า “มติสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกเป็นมติประวัติศาสตร์ที่ควรมีเสียนานแล้ว มตินี้แสดงถึงการที่ประชาคมโลกรับรองอย่างหนักแน่นว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน และในที่สุดแล้วสังคมโลกมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องประเทศที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ การประชุม UNFCCC ที่ COP27 ที่จะจัดขึ้นในทวีปอาฟริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไดรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกมากที่สุดนั้นจะต้องประกาศว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกันโดยไม่ชักช้า มติสหประชาชาติมตินี้เป็นการเตรียมการให้ COP27 ดำเนินการรับรองว่าผู้ที่อพยพหนีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกนั้นเป็นผู้อพยพประเภทที่แตกต่างจากประเภทอื่น เป็นประเภทที่มติจะให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และเสนอแนวทางที่สมเหตุสมผลในการดำเนินการเพื่อสิทธิของผู้อพยพเหล่านี้ในการข้ามพรมแดน”

นาย Mark Bynoe รองผู้อำนวยการบริหาร Caribbean Community Climate Change Centre กล่าวว่า “เราได้รับแรงบันดาลใจจากมติสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและยกย่องความพยายามของสหประชาชาติและประเทศสมาชิกในการแก้ปัญหาสองประการนี้ที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อโลกของเราอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสองประการ ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่าอำนาจในการแก้ไขปัญหาอยู่ในมือของเรา หากแต่เราขาดความมุ่งมั่น ดังนั้นเราจึงขอร้องให้นานาชาติอุทิศตนให้กับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม แทนที่จะรับรู้ปัญหาและแสดงความกังวลแต่เพียงอย่างเดียว เราต้องลงมือทำเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ มิฉะนั้นลูกหลานของเราในอนาคตจะเป็นผู้รับกรรม ทั้งสิทธิมนุษยชนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกเป็นสิทธิของมนุษย์ที่ไม่สามารถถ่ายโอนได้

ขั้นตอนต่อไป

ในเดือนพฤศจิกายนปี 2022 ผู้นำโลกจะรวมตัวกัน ณ การประชุม COP27 เพื่อแสดงจุดยืนต่องานลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกอย่างหนักแน่นมากขึ้น มติสหประชาชาติมติใหม่นี้เป็นพัฒนาการใหม่ที่จะกระตุ้นให้เกิดแนวทางการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่เคารพต่อชุมชนที่เปราะบางต่อผลกระทบมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม เรายังมีงานที่ต้องทำอีกมากในการดำเนินนโยบายตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับการระดมทุนที่ได้มาและเป้าหมายระยะยาวของข้อตกลงปารีส และช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการแก้ไขผลกระทบที่เกินขีดความสามารถในการปรับตัว โลกจะเฝ้ามองการประชุม COP27 เพื่อดูว่าประเทศพัฒนาแล้วจะให้ความเอื้อเฟือแก่ประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ จะให้การสนับสนุนด้านทุนสำหรับสร้างภูมิคุ้มกัน และจะช่วยชดเชยความสูญเสียจากผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตหรือไม่


อ้างอิง : https://files.wri.org/d8/s3fs-public/2022-08/united-nations-general-assembly-human-rights-and-climate-change.pdf?VersionId=rua_Vbe4LjLuvIt1wURpMT_Cak7ajxVa


Social Share