THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

โดย : ประสาท มีแต้ม
ที่มา : Thai Publica

หนึ่ง ความสำคัญของปัญหา

เพื่อให้ท่านได้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะอ่านบทความนี้ต่อไปหรือไม่ ผมได้นำสาระสำคัญและเอกสารอ้างอิงมาเสนอไว้ในแผ่นภาพข้างต้นนี้ (เรียกว่าภาพที่ 1) โดยรายละเอียดจะค่อยๆ ทยอยตามมา

เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกได้ออกรายงาน “United in Science 2022” ฉบับล่าสุด สรุปได้ว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) กำลังทำลายโลกอย่างที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน … มีความเป็นไปได้ 48% ที่ในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ จะมีอย่างน้อย 1 ปีที่อุณหภูมิของโลกจะสูงถึง 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม” คือมาเร็วกว่าที่ได้กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีสถึงกว่า 75 ปี”

นอกจากนี้ จากการศึกษาเบื้องต้น รายงานฉบับนี้ยังพบว่า “ในช่วงมกราคม-พฤษภาคม 2022 ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 ซึ่งยังไม่เกิดโควิด-19” นี่แสดงว่าคำประกาศของผู้นำทั่วโลกกว่า 180 ประเทศเมื่อปี 2015 นั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นแค่ “NATO” คือ “No Action, Talk Only”

ในเมื่อเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากของโลก และในโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมกลุ่มเอเปก (APEC) ในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน นี้ เราจึงควรมาทำความรู้จักกับบทบาทกลุ่มนี้กันสักหน่อยนะครับ

สอง ข้อมูลเบื้องต้นของกลุ่ม APEC

คำว่า “APEC” ย่อมาจาก “Asia-Pacific Economic Cooperation” ซึ่งเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ 21 เขตเศรษฐกิจ โดยก่อตั้งและเปิดประชุมครั้งแรกในปี 1989 ที่ประเทศออสเตรเลีย มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ สำหรับประเทศและเขตเศรษฐกิจที่เหลือจะอยู่ในภาพที่ 2

โปรดสังเกตกราฟทางขวามือของภาพ ซึ่งแสดงถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงเกือบ 30 ปี (1990-2018 ย้ำ ก๊าซเรือนกระจก) พบว่า ค่าเฉลี่ยต่อหัวประชากรของประเทศที่ไม่ใช่กลุ่ม APEC ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย คือประมาณ 4 ตันต่อปี แต่ค่าเฉลี่ยของกลุ่ม APEC นั้นเพิ่มขึ้นเกือบทุกปี โดยที่ในปี 2018 มาอยู่ที่เกือบ 10 ตันต่อคนต่อปี

กราฟที่สองในภาพนี้ แสดงปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และจีดีพีต่อหัวประชากรในกลุ่ม APEC ประจำปี 2020 ประเทศที่มีการปล่อยมากและน้อยที่สุดคือบรูไน (23.2 ตันต่อคน) และปาปัวนิวกินี ซึ่งเท่ากับ 0.74 ตันต่อคน

สำหรับรายได้หรือจีดีพีต่อหัวประชากร (US$) จากกราฟ เราสามารถสังเกตได้ว่าประเทศที่มีรายได้ต่ำจะมีการปล่อยก๊าซฯ น้อยมาก จากข้อมูลจาก Our World in Data พบว่า ในระดับโลกประชากรกลุ่มที่มีรายได้ต่ำที่สุดซึ่งมีประชากรรวมกัน 9% ของโลก แต่ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เพียง 0.5% ของโลก (0.26 ตันต่อคน) เท่านั้น และคนจนเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด

ประเด็นที่น่าสนใจและท้าทายสำหรับประชากรแต่ละคนและต่อรัฐบาลด้วยก็คือ เราในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คนละ 3,690 กิโลกรัมต่อปี จะต้องทำอย่างไรบ้างจึงจะสามารถลดการปล่อยก๊าซฯลงจนสู่สภาพเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ carbon neutrality (คือปริมาณที่ปล่อยเท่ากับปริมาณที่ธรรมชาติสามารถดูดซับได้หมด) คำตอบส่วนหนึ่งจะอยู่ใน 2 ภาพถัดไปครับ

สาม การตอบสนองของกลุ่ม APEC

จากรายงานของกลุ่ม APEC ที่ปรากฏในภาพที่ 1 พบว่า ผู้นำกลุ่มได้ยกประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาพิจารณาครั้งแรกตั้งแต่ปี 1997 และมีคำประกาศไว้ 2 วิธีการคือ (หนึ่ง) จะเพิ่มพื้นที่ป่า 20 ล้านเฮกตาร์ (125 ล้านไร่ หรือ 40% ของพื้นที่ประเทศไทย) ภายในปี 2020 และ (สอง) จะเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 2 เท่าของปี 2010 ภายในปี 2030 โดยอ้างว่าเป้าหมายเรื่องพื้นที่ป่าได้สำเร็จไปแล้วตั้งแต่ปี 2018 นอกจากนี้กลุ่ม APEC จำนวน 19 เขตเศรษฐกิจได้ประกาศจะทำให้เป็น net-zero carbon emission ภายในปี 2050 หรือ 2060

ขอย้อนกลับไปที่คำประกาศของผู้นำกลุ่ม APEC เมื่อปี 1997 ผมว่ามีปัญหาทั้ง 2 วิธีการ

เอาวิธีแรกก่อน คือ การเพิ่มพื้นที่ป่า ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่จะลดโลกร้อนไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้จริงหรือ ผมมีข้อมูลและบทสรุปอยู่ในแผ่นภาพแล้วครับ

สรุปก็คือ แม้ว่ามนุษย์ทั้งโลกสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้เป็น 2 เท่าของที่มีอยู่ ก๊าซฯ ก็ยังเหลืออยู่ในชั้นบรรยากาศโลก ผ้าห่มโลกจึงหนาขึ้นกว่าเดิม โลกก็ร้อนขึ้นกว่าเดิม

สำหรับเป้าหมายที่สอง คือ การเพิ่มพลังงานหมุนเวียนขึ้นเป็น 2 เท่า ก็เป็นสิ่งที่ดีเช่นกัน แต่ถ้าสามารถกระทำได้จริง ก็ไม่ได้ประกันว่าการปล่อยก๊าซฯ จะไม่เพิ่มขึ้น เพราะ “การเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเป็น 2 เท่า” ไม่ได้หมายความว่าการใช้พลังงานฟอสซิลโดยรวมจะลดลง (โปรดหยุดคิดสักครู่!) นั่นคือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อาจจะเพิ่มขึ้นก็ได้ สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปจากนโยบายดังกล่าวคือ “การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ”

โดยสรุปก็คือ ทั้งสองนโยบายและวิธีการที่ผู้นำ APEC ประกาศและนำมาคุยโวนั้น เป็นการลวงโลกครับ

รวมทั้งนโยบายการปลูกป่าและไล่คนออกจากป่าของประเทศไทยเราเองด้วย จนกลายเป็น “คดีโลกร้อน” ของ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) และรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาในปัจจุบันด้วย

สี่ เส้นทางสู่ Net Zero Carbon ที่ควรจะเป็น

ในภาพที่ 2 ได้เสนอปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวประชากร และภาพที่ 3 เสนอข้อมูลการเพิ่มการปลูกป่า ต่อให้ทำอย่างเต็มที่แค่ไหนก็ไม่สามารถลดโลกร้อนได้เพราะเรามีพื้นที่จำกัด

ภาพที่ 4 แสดงการเปรียบเทียบการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ของกลุ่ม APEC ในปี 2015 (ปีที่มีข้อตกลงปารีส) กับปี 2021 (ซึ่งเป็นปีที่สหประชาชาติจัดประชุม COP26 และประกาศนโยบาย Net Zero Carbon Emission)

ผมขออนุญาตนำข้อความในภาพมาย้ำกันอีกครั้ง คือ ปี 2015 ไทยผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้มากเป็นอันดับ 8 ของกลุ่ม APEC (มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก) แต่ในปี 2021 ได้ลดฐานะลงมาที่อันดับ 11 (น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลก) โดยถูกเวียดนาม จีน และเม็กซิโก แซงหน้าไปแล้ว

มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยของเราในช่วง 8 ปีของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากข้อมูลในภาพที่ 3 มนุษย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 39,000 ล้านตัน ถ้าจะเป็น net zero ก็ต้องปล่อยไม่เกินที่ธรรมชาติสามารถดูดซับได้คือ 21,000 ล้านตัน ถ้าเริ่มต้นทันทีในปี 2023 จนถึงปี 2030 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า คิดอย่างง่ายๆ ก็ต้องลดลงปีละ 6.6% ติดต่อกันทุกปี แต่ในความเป็นจริง ชาวโลกปล่อยก๊าซฯ เพิ่มขึ้นปีละ 1.6%

สำหรับทางออกที่เป็นรายบุคคล ผมมีข้อมูลอยู่ในหมายเหตุของภาพที่ 4 แล้ว โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 44% ของค่าเฉลี่ยของคนไทยเรา และประหยัดค่าไฟฟ้าที่ราคากำลังขาขึ้นด้วยครับ

ห้า สรุป

ในตอนต้นของบทความนี้ ผมได้อ้างถึงรายงานที่ว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทำลายโลกอย่างที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน” แต่วันนี้ (19 กันยายน) สำนักข่าวแห่งหนึ่งได้ลงข่าวคำเตือนของรัฐบาลญี่ปุ่นว่า “คน 8 ล้านคนถูกสั่งให้อพยพเนื่องจากซุปเปอร์ไต้ฝุ่น Nanmadol : ฝนตกอย่างที่ไม่เคยมาก่อน”

นั่นตอกย้ำว่าเรื่องนี้รุนแรงจริงๆ โปรดช่วยกันอย่างจริงๆ จังๆ เถอะ ทุกคนลงมือทำได้และทำได้ทันที ไม่ต้องรอผู้นำรัฐบาลหรือผู้นำกลุ่ม APEC ครับ



Social Share