THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Simon Mair
วันที่ 11 กรกฎาคม 2019
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

จากมุมมองของประวัติศาสตร์ภูมิศาสตร์ สภาพภูมิอากาศโลกและสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันนั้นถือว่าไม่ปกติ จากประวัติศาสตร์สิ่งมีชีวิต 60 ล้านปีที่ผ่านมา และช่วงเวลา 10,000 ปีที่ผ่านมาที่สภาพภูมิอากาศโลกเข้าสู่เสถียรภาพ เป็นยุคที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงความสันพันธ์ระหว่างสังคมของตนและสิ่งแวดล้อมด้ายการเกษตร และสุดท้ายจึงเข้าสู่ช่วงเวลาเพียง 300 ปีสุดท้ายที่สภาพภูมิอากาศโลกเกิดความแปรปรวนอย่างรุนแรงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและทุนนิยม

เมื่อเทียบกับยุคสมัยอื่นๆที่ผ่านมาของสังคมมนุษย์แล้ว สังคมทุนนิยมยังนับว่าเยาว์วัยอยู่มาก ทุนนิยมอยู่กับมนุษย์มาเป็นระยะเวลาเพียง 300 ปีเมื่อเทียบกับอายุขัยของดาวเคราะห์ 4.5 พันล้านปี ทุนนิยมเกิดขึ้นเพียงชั่วพริบตาเดียว แต่ถึงกับสร้างความสั่นคลอนให้แก่สภาพภูมิอากาศโลกและการเกษตรได้ถึงเพียงนี้ พัฒนาการของทุนนิยมทำให้อุณหภูมิผิวโลกสูงขึ้น 0.8 องศาเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม หากเราไม่หยุดยั้งระบบทุนนิยม อุณหภูมิผิวโลกอาจจะขึ้นสูงถึงจุดที่ไม่สามารถอยู่อาศัยได้

ความเป็นไปได้นี้ทำให้นักสังคมนิยมกังวล เพราะระบบเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน โดยระบบเศรษฐกิจต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อม เมื่อสภาพภูมิอากาศโลกเข้าสู่เสถียรภาพเมื่อ 10,000 ปีที่แล้ว เรามีความรู้น้อยมากที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เหมาะสม ในเวลานั้นไม่มีเหตุผลที่เราจะต้องออกแบบระบบที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมอื่นนอกจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในขณะนั้น และไม่มีเหตุผลที่จะทำให้เราเชื่อว่าสภาพแวดล้อมนั้นจะเป็นพื้นฐานที่สมบูรณ์สำหรับระบบที่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่านี้

หากเราต้องการเป็นสังคมนิยมในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะต้องเป็นนักสังคมนิยมสิ่งแวดล้อมและหยุดภาวะโลกร้อนโดยทันที พลวัตที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอยู่ที่หัวใจของระบบทุนนิยม ดังนั้น การหยุดยังภาวะโลกร้อนจะกระทำมิได้หากเราไม่หยุดยั้งระบบทุนนิยม

ระบบเศรษฐกิจ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม คือระบบที่วิวัฒน์ไปด้วยกัน

เศรษฐกิจ พลังงาน และสิ่งแวดล้อมนั้นวิวัฒน์ไปด้วยกันและส่งผลกระทบต่อกันโดยทางตรง มีการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบและของเสียในระหว่างกัน กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกกิจกรรมอยู่บนพื้นฐานของการแปรรูปวัตถุดิบที่มาจากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ โดยแรงงาน คาร์ล มาร์กซ์ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า :

“มูลค่าจากการใช้ประโยชน์ อย่างเช่นสินค้า เกิดขึ้นจากการผสมผสานกันระหว่างวัตถุและแรงงาน ถ้าเรานำค่าของแรงงานออกจากสินค้าได้ เราก็จะเหลือเพียงวัสดุพื้นฐานที่สร้างขึ้นโดยธรรมชาติ”

มาร์กซ์ยกตัวอย่างผ้าลินินที่ผลิตโดยแรงงาน ผู้ซึ่งแปรรูปเส้นใยต้นแฟลกซ์ (จากธรรมชาติ) ความสัมพันธ์เช่นนี้ยังคงอยู่ในยุคสมัยใหม่ เช่น Server ที่ใช้เก็บไฟล์เพลงก็ผลิตจากสินแร่และโลหะที่แปรรูปโดยแรงงานเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์เชิงพลังงานในกระบวนการผลิตอีกประการหนึ่ง ในทุกขั้นตอนของการผลิตต้องใช้พลังงานเพื่อแปรรูปสินค้า เช่นการให้ความร้อนแก่โลหะเพื่อหลอมและขึ้นรูปเป็นกรอบใส่โทรศัพท์มือถือ แรงงานปลูก เก็บเกี่ยว และทอฝ้ายเพื่อผลิตถุงมือสำหรับศัลยแพทย์ พลังงานที่ใช้ในการแปรรูปสินค้านี้ไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ แต่เปลี่ยนรูปได้ พลังงานทุกประเภทที่เราใช้ในระบบเศรษฐกิจเป็นพลังงานที่มาจากการเปลี่ยนรูปพลังงานจากธรรมชาติ และก่อให้เกิดต้นทุน เราขุดถ่านหินขึ้นมาเผา ดักจับพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยแผงโซลาร์เซลล์ ดังนั้นระบบพลังงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกนั้นมาจากธรรมชาติทั้งหมด

เราได้เห็นแล้วว่าธรรมชาติมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ระบบเศรษฐกิจคือกระบวนการแปรรูปวัสดุที่ได้จากธรรมชาติและการเปลี่ยนรูปพลังงานจากธรรมชาติอีกเช่นกัน ผลก็คือ “ความมั่งคั่งทางวัตถุเกิดจากแรงงานซึ่งเป็นบิดาและพระแม่ธรณีเป็นมารดา” ตามความหมายของมาร์กซ์ และในขณะเดียวกัน ธรรมชาติและระบบพลังงานโลกก็ถูกแปรรูปโดยระบบเศรษฐกิจของมนุษย์เช่นเดียวกัน ลำดับความสำคัญของระบบเศรษฐกิจกำหนดมูลค่าของแต่ละวัสดุ ที่ถูกนำออกมาจากธรรมชาติเพื่อการแปรรูป

กระบวนการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติออกมาแปรรูปนั้นมิได้เกิดในลัทธิทุนนิยมแต่เพียงอย่างเดียว สังคมเกษตรกรรมก่อนหน้าทุนนิยมก็ได้เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมของเรามาก่อนแล้ว ยกตัวอย่างเช่นฟาร์มแกะ การที่แกะจำนวนมากเล็มหญ้าในพื้นที่ป่าละเมาะทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป สุดท้ายพืชพันธุ์บางชนิดก็จะหายไปเหลือแต่ทุ่งหญ้าล้วนๆเนื่องจากหญ้าสามารถเติบโตได้ง่ายกว่าพืชพันธุ์อื่นๆ การเปลี่ยนแปลงจากป่าละเมาะสู่ทุ่งหญ้านี้อาจเป็นข้อดีของคนเลี้ยงแกะเพราะทำให้แกะมีอาหารมากขึ้น แต่ทำให้เกิดผลเสียแก่นก เพราะทำให้พื้นที่ขาดผลไม้ แมลง ที่เป็นอาหารของนก และต้นไม้สำหรับทำรัง ดังนั้นระบบเศรษฐกิจปศุสัตว์จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมหนึ่งไปสู่สิ่งแวดล้อมอีกแบบหนึ่ง

ภาวะโลกร้อนเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการวิวัฒน์ไปด้วยกันระหว่างระบบเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม แต่ในครั้งนี้เกิดจากระบบทุนนิยมเท่านั้น ดังที่เราจะได้เห็นต่อไปถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสองตัวแปร คือถ้าปราศจากซึ่งแหล่งพลังงานฟอสซิลเสียแล้ว ทุนนิยมก็ไม่สามารถเติบโตจนครองโลกได้ดังเช่นในปัจจุบัน ในทางเดียวกัน หากปราศจากซึ่งทุนนิยมแล้ว แหล่งพลังงานฟอสซิลก็ไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นปัจจัยหลักของระบบเศรษฐกิจโลกได้

ภาพประกอบ : https://www.wsj.com/

ถ่านหิน การเปลี่ยนผ่าน และจุดเริ่มต้นของทุนนิยม

ช่วงกลางทศวรรษ1500-1900 การใช้ถ่านหินในอังกฤษเพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาล โดยเฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในทุกๆห้าสิบปี เมื่อถึงทศวรรษที่ 1900 พลังงานที่ได้จากถ่านหินในอังกฤษคิดเป็นสัดส่วนถึง 92% ของพลังงานที่ใช้ในประเทศทั้งหมด และเพิ่มสูงขึ้นถึง 25 เท่าเมื่อเทียบกับกลางทศวรรษที่ 1500 ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองที่เศรษฐกิจของอังกฤษเติบโตอย่างรวดเร็ว สำหรับนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแล้ว ช่วงปี 1700 เป็นต้นมาคือช่วงเวลาแห่ง ‘การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่’ อังกฤษเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจก็เริ่มพุ่งทะยานแซงหน้าประเทศอื่นๆ

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ปริมาณการใช้ถ่านหินและเศรษฐกิจนั้นเติบโตไปด้วยกัน ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานชั้นดี ถ่านหินให้พลังงานสูงกว่าถ่านไม้มากในปริมาณที่เท่ากัน ทำให้ผลิตงานได้มากขึ้น มีวัตถุดิบที่ต้องแปรรูปมากขึ้น จากเดิมที่ใช้เพียงแค่แรงงาน ถ่านไม้ และน้ำ อย่างไรก็ตาม การกระจายตัวของแหล่งถ่านหินทางภูมิศาสตร์นั้นไม่เพียงพอที่ใช้อธิบายการเติบโตทางเศรษฐกิจของอังกฤษหรือการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ในทศวรรษที่ 1700 ประเทศจีนก็มีการใช้ถ่านหินภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน แต่ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของจีนจะเริ่มต้นที่ขนาดเท่ากับของอังกฤษเมื่อก่อนหน้าทศวรรษที่ 1700 การใช้ถ่านหินและเศรษฐกิจของจีนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในอังกฤษ ความแตกต่างระหว่างจีนและอังกฤษได้แก่ความเข้มแข็งของสังคมทุนนิยมในอังกฤษ เราพบว่าแรงผลักดันที่ทำให้เกิดลัทธิทุนนิยมและการใช้ประโยชน์จากถ่านหินนั้นเกิดขึ้นในยุคเศรษฐกิจเกษตรกรรมในช่วงปี 1500 ในอังกฤษ เมื่อแรงผลักดันดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น การใช้ถ่านหินและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอังกฤษก็สูงขึ้นเช่นกัน ส่วนจีนนั้น ถึงแม้ว่าในยุคก่อนทุนนิยมนั้นจีนจะมีพัฒนาการที่สูงมากและมีการใช้แรงงานในตลาดเป็นจำนวนมหาศาลก็ตาม ทว่าจีนไม่เคยถูกครอบงำโดยทุนนิยมต้นแบบ และไม่ได้เผชิญกับแรงผลักดันอย่างเป็นระบบอย่างอังกฤษ ดังนั้นการใช้ถ่านหินและเศรษฐกิจของจีนจึงไม่เติบโตเท่ากับของอังกฤษ

ลัทธิมาร์กซิสม์และระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยถ่านหิน

ต้นแบบของลัทธิมาร์กซิสม์เข้าสู่สังคมผ่านช่องทางการผลิต นาง Ellen Meiksens Wood ให้เหตุผลว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมคือระบบที่คนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาตลาดในด้านความต้องการขั้นพื้นฐาน ซึ่งต่างจากระบบฟิวดัลที่ชนชั้นไพร่ส่วนใหญ่สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยการดำรงชีพอย่างพอเพียง ส่วนชนชั้นเจ้าขุนมูลนายนั้นก็ไม่ได้พึ่งพาตลาด แต่เป็นกำลังทางทหารและอำนาจทางเศรษฐกิจที่ล้นเหลือ นอกจากนี้นาง Wood ยังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างตลาดทุนนิยมและตลาดก่อนยุคทุนนิยมอีกด้วย กล่าวคือตลาดแบบดั้งเดิมนั้นดำเนินการและทำกำไรด้วยการนำสินค้าจากซีกโลกหนึ่งไปขายยังอีกซีกโลกหนึ่งที่ไม่สามารถผลิตสินค้าประเภทเดียวกันนี้ได้ ส่วนตลาดทุนนิยมนั้นทำกำไรด้วยการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

หลังจากการอภิปรายกันอย่างเข้มข้น นาง Wood และนาย Richard Brenner จึงได้พัฒนาแนวทางที่เป็นการโต้ตอบสิ่งที่เธอเห็นว่าเป็นคำอธิบายบทบาทของตลาดในพัฒนาการของระบบทุนนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำกล่าวของ Adam Smith ที่ว่าทุนนิยมคือ “…..ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆแต่จำเป็นของแนวโน้มประเภทหนึ่งในธรรมชาติของมนุษย์ คือแนวโน้มที่จะเกิดการค้าขายแลกเปลี่ยนของกัน” แต่นาง Wood โต้แย้งว่าทุนนิยมกำเนิดในประเทศอังกฤษจากสภาพโครงสร้างทางสังคมที่มีความพิเศษมาก

ในงานเขียน The Origin of Capitalism ที่มีชื่อเสียงของเธอนั้น นาง Wood ให้เหตุผลว่าทุนนิยมนั้นสามารถกำเนิดขึ้นได้ในสังคมเกษตรกรรมของอังกฤษเท่านั้น เพราะอังกฤษมีส่วนผสมที่พิเศษมากระหว่างตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ จำนวนชาวนาที่เช่าที่นาทำกินที่มีมาก (ซึ่งต่างจากไพร่ในสมัยก่อนที่ผูกติดกับที่ดินด้วยขนบประเพณีดั้งเดิม) และอำนาจปกครองที่รวมศูนย์อยู่ที่รัฐ ซึ่งต่างจากประเทศอื่นๆที่มีเศรษฐกิจขนาดเท่าๆกัน องค์ประกอบทั้งสามนี้รวมกันทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยตลาด และทำให้รัฐที่รวมอำนาจปกครองไว้ที่ศูนย์กลางยึดอำนาจทางทหารและการเมืองมาจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งต่างจากประเทศอื่น อย่างเช่นเนเธอร์แลนด์ วิธีที่เจ้าของที่ดินใช้ประโยชน์ส่วนเพิ่มจากแรงงานโดยใช้ตลาดเป็นเครื่องมือนั้นค่อนข้างเป็นการใช้กำลังบังคับ ซึ่งสามารถทำได้เพราะมีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ ซึ่งหมายถึงการขายสินค้าเพื่อทำกำไร และมีชาวนาที่เช่าที่นาทำกิน ซึ่งหมายความว่าเจ้าของที่ดินสามารถไล่แรงงานที่ขาดประสิทธิภาพออกได้

พัฒนาการของตลาดทุนนิยมสร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากพลังงานฟอสซิลขึ้น ตลาดทุนนิยมก็เป็นเช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจอื่นๆที่ทำให้การใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเพื่อเก็บเกี่ยวมูลค่าส่วนเพิ่มเป็นสิ่งที่จำเป็น พลวัติเช่นนี้ขับเคลื่อนให้ทุนนิยมลงทุนในประสิทธิภาพการผลิตและจัดระเบียบแรงงานเพื่อเพิ่มผลผลิต เนื่องจากเจ้าของที่ดินต้องหันมาพึ่งพาตลาดเพื่อการอยู่รอด พวกเขาจึงต้องพยายามลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในธรรมชาติของการผลิตได้สร้างระบบที่ต้องการพลังงานที่สามารถเพิ่มผลผลิตได้ ถึงแม้ว่านาง Wood ไม่ได้พูดถึงพลังงานโดยตรง งานของเธอก็มีอิทธิพลต่องานเขียนของ Andreas Malm ที่ชื่อ Fossil Capital ซึ่งตั้งคำถามต่อพลังงาน

นาง Malm ให้เหตุผลว่า ภายใต้เงื่อนไขทางทุนนิยมนั้น ถ่านหินกลายมาเป็นเครื่องมือควบคุมทางสังคม ถ่านหินรวมการผลิตและแรงงานเข้าสู่ศูนย์กลาง ซึ่งทำให้แรงงานยักยอกนายจ้างได้ยากขึ้น ทำให้นายจ้างเพิ่มกำลังการผลิตได้ และทำให้นายจ้างคุมเวลาการทำงานของแรงงานและผลผลิตได้ นอกจากนี้ ถ่านหิน (และเครื่องจักร) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการให้แหล่งพลังงานที่ดีกว่าอาหารและกล้ามเนื้อ กล่าวคือถ่านหินให้ผลผลิตที่สูงกว่าแรงงาน

นักทุนนิยมในอังกฤษเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์เหล่านี้จากถ่านหิน ส่วนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศอื่นเกิดขึ้นจากตรรกะพื้นฐานที่แตกต่างออกไป เป็นโครงสร้างที่ไม่ได้ให้ประโยชน์จากการเพิ่มผลผลิตมากนัก แม้ว่าจะมีตลาดนอกเหนือจากเขตแดนของอังกฤษก็ตาม แต่ศูนย์อำนาจและมูลค่าส่วนเพิ่มก็ยังมาจากอำนาจทางทหารและการเมืองเป็นส่วนใหญ่ และมาจากอำนาจเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อย ในที่สุดแล้ว ถึงแม้ว่าผลผลิตอาจเพิ่มขึ้นโดยบังเอิญ สังคมก็มิได้ถูกขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบด้วยความต้องการเพิ่มผลผลิตหรือประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง ดังที่เดอบัวร์อธิบายเกี่ยวกับการใช้ถ่านหินของจีนไว้ว่า :

…มิได้ทำให้เกิดความต้องการทางสังคมใหม่ๆ มิได้ผลักดันขอบเขตของตลาดออกไปอย่างต่อเนื่อง …ต้นแบบของการเติบโตทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจนั้นประสบความสำเร็จอย่างงดงามแต่ล้มเหลวด้านการแบ่งงานกันทำในหมู่แรงงาน
เพื่อให้เราสามารถเข้าใจเรื่องนี้ได้มากขึ้น เราจะทดสอบธรรมชาติของตลาดทุนนิยมกันในครั้งหน้า

ตลาดทุนนิยมและแรงผลักดันที่ก่อให้เกิดการเติบโต

นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม Tim Jackson กับ Peter Victor เรียกพลวัติที่กล่าวไว้เมื่อครั้งที่แล้วว่าเป็น “กับดักการผลิต” ที่แน่นอนว่าเกิดขึ้นเพราะแรงงานภายใต้ระบบทุนนิยมจะต้องขายแรงงานของตนให้ได้เพื่อให้ตนเองมีความเป็นอยู่ที่ดี นักทุนนิยมต้องพึ่งพาอำนาจตลาดเพื่อทำกำไรดังนั้นจึงลงทุนกำไรที่ได้มากลับเข้าไปในตลาดซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของประสิทธิการผลิต ซึ่งหมายถึงแรงงานที่น้อยลงสำหรับการผลิตสินค้าจำนวนเท่าเดิม ดังนั้นถ้าผลผลิตหยุดเพิ่ม ระบบการจ้างงานจะล่ม ทำให้แรงงานต้องการผลิตสินค้ามากขึ้น และกดดันให้รัฐบาลทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น

ภาพประกอบโดย https://thaiza.com/variety/dhamma/408474/

นอกจากนี้ กับดักการผลิตดังกล่าวยังเข้มแข็งขึ้นได้ด้วยตัวของมันเองอีกด้วย การเติบโตของตลาดทำให้เกิดการแบ่งงานกันทำ อดัม สมิธอธิบายว่าเมื่อแรงงานมีความชำนาญเฉพาะด้านในงานที่ตนเองทำ แรงงานก็จะมีความสามารถในการปรับปรุงกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับตนได้ และเมื่อความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมีสูงขึ้น แรงงานทุกคนก็จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ในกระบวนการนี้ การเติบโตของตลาดนำไปสู่การทำกำไรจากส่วนต่างของประสิทธิการผลิต แต่เมื่อแรงงานเริ่มมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น แรงงานก็จะต้องพึ่งพาตลาดมากขึ้นเพื่อซื้อหาสินค้าที่ตนเองต้องการ เพราะว่าคนที่นั่งอยู่ในสำนักงานอ่านนิตยสารสาร The Economists เป็นอาชีพไม่ได้ใช้เวลามากนักในการผลิตอาหารและเสื้อผ้า ดังนั้นการเติบโตของตลาดจึงทำให้เกิดสภาวะที่ทำให้ตลาดโตขึ้นไปอีกและความต้องการตลาดที่โตขึ้น

เราจะต้องพิจารณาทุนนิยมผู้บริโภคด้วย นวัตกรรมที่นำไปสู่การทำกำไรจากส่วนต่างของประสิทธิการผลิตไม่ได้ทำให้เกิดตลาดแมส ซึ่งหมายความว่าทุนนิยมจะต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคเช่นเดียวกับที่เปลี่ยนแปลงการผลิต ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภคหรือดีมานด์เทียมในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน ระบบทุนนิยมต้องการให้เราบริโภคมากๆอย่างต่อเนื่องเพื่อทำกำไร William Morris อธิบายไว้ว่าเพื่อที่จะทำกำไรสูงสุดนั้น ทุนนิยมจะต้องขาย “สินค้าขยะที่ทุกคนรู้ว่าไร้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก” ในการสร้างดีมานด์สำหรับสินค้าขยะพวกนี้ ทุนนิยมจะต้อง :

“กระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้าเล็กๆน้อยๆ เพื่อความอวดโอ่และตื่นเต้น ที่รู้จักกันในนามของแฟชั่น ซึ่งเป็นสัตว์ประหลาดที่เกิดขึ้นจากความว่างงานไม่มีอะไรจะทำของสังคมคนรวย”

มีงานเขียนในยุคสมัยใหม่อีกมากที่เสนอว่าสังคมยุคปัจจุบันกระตุ้นให้เกิดการบริโภคเพื่อพัฒนาตัวตน นักจิตวิทยา Philip Cushman อธิบายว่าเค้าโครงของ “ตัวตน” คือนาวาที่ว่างเปล่าที่ต้องถมเติมให้เต็มด้วยวัตถุ ความว่างเปล่านี้มาจาก ความขาดแคลนซึ่งสังคม ประเพณี และค่านิยมร่วมในสังคม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถเติมเต็มด้วยการบริโภคได้ อย่างไรก็ตาม ภายใต้ทุนนิยมผู้บริโภคนี้ ผู้คนจะรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นหรือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ถ้าปราศจากการบริโภค ผลที่ตามมาก็คือ แม้แต่กลุ่มซ้ายจัดทางการเมืองยังต้องพ่ายแพ้ให้แก่การบริโภคและวัตถุนิยม แทนที่จะสร้างแนวทางใหม่ที่จะจัดลำดับความสำคัญและเป้าหมายของดีมานด์ขึ้นใหม่เพื่อการบริโภคแต่พอดี

สังคมทุนนิยมไม่สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้

จากแรงขับเคลื่อนทางโครงสร้างไปสู่การเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของทุนนิยม จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ทุนนิยมจะหลีกเลี่ยงหายนะจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนได้ แรงขับเคลื่อนทางโครงสร้างนี้ทำให้ความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องพ่ายแพ้ให้แก่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ขัดแย้งกับความเชื่อของนักสังคมวิทยาและนักสิ่งแวดล้อมกระแสหลัก แต่ประวัติศาสตร์ของทุนนิยมก็ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว

ในปัจจุบัน ทรัพยากรมีแต่จะถูกใช้หมดไปโดยปราศจากการอนุรักษ์ภายใต้ระบบทุนนิยม สมมติว่าเราสามารถหาแหล่งทรัพยากรรูปแบบใหม่ได้ ทรัพยากรใหม่นี้ก็จะถูกใช้จนหมดโดยเครื่องจักรตัวอื่นของทุนนิยมอยู่ดี นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพลังงานทดแทนและนิวเคลียร์จึงมีสัดส่วนที่น้อยมากในระบบพลังงานโลก ภายใต้ระบบทุนนิยม แหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำจะถูกนำออกมาใช้มากขึ้นแต่ไม่มีทางแทนที่พลังงานฟอสซิลในระดับที่มีความหมายใดๆได้เลย แต่เป็นเพียงอีกทางเลือกหนึ่งของพลังงานที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อทำกำไรกันตามปกติ

หลักการเดียวกันนี้ยังใช้อธิบายประโยชน์ที่ได้จากส่วนต่างประสิทธิภาพพลังงานได้อีกด้วย ประสิทธิภาพพลังงานสามารถใช้เป็นกุญแจที่สำคัญเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ก็ต่อเมื่อประกอบด้วยแผนลดขนาดเศรษฐกิจ ภายใต้ระบบทุนนิยมนั้น ประสิทธิภาพพลังงานขับเคลื่อนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่การใช้พลังงานทดแทนไม่มีทางทำให้เกิดการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ประสิทธิภาพพลังงานทำให้ประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้นและต้นทุนต่ำลง ซึ่งนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของทุนนิยม ที่ขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องการพลังงานมากยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้ หลักการนี้ยังอธิบายได้อีกว่าทำไมการรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนจึงเป็นภัยต่อทุนนิยมอย่างยิ่ง เราจะสามารถหลีกเลี่ยงหายนะที่เกิดจากภาวะโลกร้อนได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถทำลายการครอบงำโดยตลาดและล้มเลิกความต้องการที่จะสร้างตัวตนในสังคมด้วยการบริโภคอย่างเกินพอดีได้

ถ้าเช่นนั้นเราควรจะทำอย่างไรดี?

ระบบเศรษฐกิจ ระบบพลังงาน และสิ่งแวดล้อม มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ผมจึงนำเอาหลักการเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมและลิทธิการเมืองแบบมาร์กซิสม์มาผสมกันเพื่อสร้างกรอบดำเนินการที่นำเอาสิ่งแวดล้อมมาเป็นพื้นฐานของทุนนิยม ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผลลัพธ์ และเนื่องจากการใช้พลังงานฟอสซิลอย่างแพร่หลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพลวัติทางทุนนิยมด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ผมจึงวางให้ภาวะโลกร้อนเป็นคุณสมบัติหนึ่งของทุนนิยม ไม่ใช่เป็นข้อบกพร่อง

เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะที่เกิดจากภาวะโลกร้อน เราจะต้องทำลายวงจรการเติบโตทางเศรษฐกิจเสียก่อน มิฉะนั้นแล้ว พัฒนาการทางเทคโนโลยี พลังงานทางเลือก และประโยชน์ที่ได้จากส่วนต่างประสิทธิภาพพลังงานจะสนับสนุนให้ทุนนิยมและการแสวงหากำไรเติบโตยิ่งขึ้นไปอีก เช่นเดียวกับที่ภาษีคาร์บอนและกลไกตลาดอื่นๆก็เป็นเพียงปัจจัยที่ทำให้ตลาดเข้มแข็งขึ้น และผลกระทบเชิงบวกใดๆที่อาจเกิดมีขึ้นจากมาตรการควบคุมต่างๆก็จะถูกด้อยความสำคัญลงไปด้วยอัตราการเติบโต อัตราการเติบโตนี้ต้องการใช้พลังงานฟอสซิลเพิ่มขึ้น และจะผลักเราลงไปสู่โลกที่เราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เป็นไปได้ว่าโลกอันร้อนระอุนี้ก็จะทำลายทุนนิยมลงในที่สุด แต่มันก็คงจะสายเกินไปเพราะสิ่งที่จะถูกทำลายก่อนได้แก่ชีวิตคนนับล้านที่ต้องทนทุกข์จากสภาพอากาศรุนแรง เชื้อโรค และระบบนิเวศที่พังทลาย

การทำลายวงจรการเติบโตทางเศรษฐกิจคือการลดขนาดตลาดลง และแทนที่ด้วยสินค้าจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ผลิตโดยภาครัฐ ด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่เราจะหยุดความต้องการของสังคมต่อการเติบโตทางการผลิตและเศรษฐกิจได้ ไม่มีกลไกตลาดใดที่จะยั่งยืนไปกว่าระบบการผลิตที่ปราศจากตลาด แม้ว่าเศรษฐกิจทุกระบบต้องการใช้พลังงานก็ตามที แต่ระบบนี้ไม่ต้องการให้ตลาดโตขึ้นอย่างไม่หยุด ท้ายที่สุดแล้ว ประโยชน์ที่ได้จากส่วนต่างประสิทธิภาพพลังงานและเทคโนโลยีใหม่ๆก็จะสามารถเข้ามาทดแทนพลังงานฟอสซิลได้ แทนที่จะช่วยให้พลังงานฟอสซิลเติบโตขึ้นไปอีกดังเช่นที่ระบบทุนนิยมกระทำ

การเปลี่ยนแปลงแนวทางนี้เป็นความหวังของสังคมโลก เป็นโอกาสที่จะสร้างระบบที่มีมนุษยธรรมมากกว่า ระบบนี้จะยากยากจนกว่าระบบปัจจุบันในแง่ของวัตถุ เพราะพลังงานส่วนใหญ่ที่ใช้ไปในปัจจุบันก็เพื่อการผลิตสินค้าที่เราไม่ต้องการ และไม่สามารถเติมเต็มความต้องการในหัวใจของเราได้อย่างแท้จริงและยั่งยืนเลย นาย Richard Seymour ได้อธิบายเหตุผลเหล่านี้ไว้ในบริบทของค่านิยมในทฤษฎีแรงงานไว้ดังนี้ :

“การผลิต ‘ของ’ ออกมามากเกินไปนั้นเป็นการสกัดแรงงานออกมาจากร่ายกายของคนงานที่มีต้นทุนที่สูง ทำให้แรงงานตกอยู่ในภาวะที่ยากจน และ ‘ของ’ ปริมาณมหาศาลเช่นนั้นไม่ได้ผลิตขึ้นมาเพื่อการบริโภคโดยแรงงาน แต่เพื่อพวกผู้ถือหุ้นที่แสวงหากำไร เพื่อนำกำไรที่ได้มาสกัดแรงงานจากร่างกายของคนงานเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้นเราอาจมองได้ว่าการอนุรักษ์พลังงานเป็นการป้องกันตัวทางชนชั้นอย่างหนึ่ง”

หรือเราสามารถอธิบายได้อีกอย่างหนึ่งว่า การบริโภคไม่ใช่วิธีที่นำไปสู่ชีวิตที่มีคุณภาพได้เลย ถ้าสังคมสามารถจำกัดการบริโภคลงได้ เราก็จะมีระบบเศรษฐกิจที่ดีกว่า มันมีความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้และแนวทางการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของพวกซ้ายจัด ความหลุดพ้นจากระบบตลาดและจัดระเบียบการผลิตเสียใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของสังคม ไม่ใช่สร้างดีมานด์เทียมขึ้นมาเพื่อทำกำไร แต่จุดอ่อนของแนวทางนี้ได้แก่ขาดการพิจารณาเรื่องลัทธิบริโภคนิยมและการวิเคราะห์ทุนนิยมยังขาดมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม การรอคอยที่จะได้เห็นการท่องอวกาศสำหรับตลาดแมสยังคงหลอกล่อว่าการบริโภค (ซึ่งก่อให้เกิดการขยายตัวของการผลิตและการใช้พลังงานในแบบเดิมๆ) ยังสามารถตอบสนองความต้องการของเราได้อีก เราไม่แน่ใจว่าทำไมกลุ่มคนที่สนับสนุน ‘ระบอบคอมมิวนิสต์อย่างเต็มรูปแบบ’ ถึงเชื่อว่าการเมืองระบบที่กระตุ้นให้ผู้คนอยากได้อยากมีถึงสามารถทำลายวงจรการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นต้นเหตุของหายนะทางภูมิอากาศได้ด้วยตัวของมันเอง ถ้าเป้าหมายคือการบริโภคแบบแมส การลดบริโภคพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงและได้จากแหล่งที่มั่นคงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคงเป็นเรื่องที่เชื่อได้ยาก เราไม่สามารถลดการใช้พลังงานฟอสซิลได้ภายใต้ระบอบทุนนิยม แต่ก็มิได้หมายความว่าการลุกขึ้นมาต่อต้านทุนนิยมโดยฉับพลันจะเป็นแนวทางที่เหมาะสม แต่แนวทางที่เหมาะสมคือยอมรับมันพร้อมกับลดความต้องการบริโภคสินค้าไม่จำเป็นเสีย และค่อยๆใช้เวลาตระหนักว่าการบริโภคแบบทุนนิยมเป็นเส้นทางแห่งความหายนะได้อย่างไร

นอกจากนี้ การกระทำเช่นนี้ยังช่วยลดแรงต้านทางการเมืองอีกด้วย นักสังคมนิยมจะต้องร่วมมือกับนักสิ่งแวดล้อมในการต่อต้านทุนนิยมและอุตสาหกรรมพลังงาน นักสิ่งแวดล้อมหลายคนได้วิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่แต่ไม่ได้วิเคราะห์กลไกของมันอย่างทั่วถึง อารยะขัดขืนเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ เพราะเป็นแนวทางที่สำคัญและไม่ได้เป็นเรื่องการเมือง แต่ก็ให้ความหวังที่ดีที่สุดในการสร้างสังคม ตัวตน และเป้าหมายให้แก่เราโดยไม่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและพลังงานฟอสซิล


อ้างอิง : https://climateandcapitalism.com/2017/03/27/john-bellamy-foster-answers-saral-sarkar/


Social Share