THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Damien Gayle
วันที่ 1 กันยายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Todd Korol/Reuters

การดูดซับและกักเก็บคาร์บอนที่เป็นกิจกรรมหลักในแผนการบรรลุ Net Zero ของรัฐบาลหลายๆประเทศไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาโลกร้อน นักวิจัยของสถาบัน Institute for Energy Economics and Financial Analysis (IEEFA) พบว่าโครงการการดูดซับคาร์บอนที่ด้อยประสิทธิภาพมีเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ กล่าวคือจากจำนวน 13 โครงการที่สุ่มขึ้นมาสำรวจ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 55% ของโครงการการดูดซับคาร์บอนทั่วโลก มี 7 โครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จ 2 โครงการล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และ 1 โครงการถูกทอดทิ้ง

“องค์การระหว่างประเทศและรัฐบาลประเทศต่างๆตั้งความหวังไว้กับโครงการการดูดซับคาร์บอนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero แต่มันไม่ได้ผลหรอก”

นาย Bruce Robertson เจ้าของรายงาน IEEFA กล่าว

ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีดูดซับคาร์บอนยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาเท่านั้น แต่อังกฤษก็รวมเอาการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนเข้าไว้ในแผนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 แล้ว ข้อเสนอนี้ได้รับการเสนอขึ้นโดย Department for Business, Energy and Industrial Strategy (Beis) ของอังกฤษ โดยให้เหตุผลว่าอังกฤษต้องดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณ 30 ล้านตันต่อปีภายในปี 2030 เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero สำหรับนานาชาตินั้น ถ้าจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 จะต้องดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ในปริมาณ 1.6 พันล้านตันต่อปีไปจนถึงปี 2030

รายงาน IEEFA ระบุว่า ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีดูดซับและกักเก็บคาร์บอนที่ใช้จะมีอายุ 50 ปีแล้วก็ตาม ผลลัพธ์ก็ยังไม่แน่นอน โครงการการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนส่วนมากนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดูดซับได้มาใช้ใหม่ในกระบวนการโดยการอัดกลับเข้าไปในบ่อน้ำมันเพื่อนำเชื้อเพลิงกลับมาใช้ได้มากขึ้นอีก การนำก๊าซกลับมาใช้ใหม่หรือ Enhanced Oil Recovery (EOR) นี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 73% ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดูดซับได้ต่อปีหรือเท่ากับ 28 ล้านตันจากปริมาณทั้งสิ้น 39 ล้านตันทั่วโลก

“EOR เป็นตัวการที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เสียเองทั้งทางตรงและทางอ้อม” รายงานระบุ “การปล่อยก๊าซทางตรงได้แก่ก๊าซที่เกิดขึ้นจากการใช้เชื้อเพลิงเพื่ออัดคาร์บอนไดออกไซด์กลับเข้าไปในดิน ส่วนทางอ้อมนั้นได้แก่ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ไฮโดรคาร์บอนที่จะเกิดขึ้นถ้าไม่มี EOR”

อุปสรรคอีกประการหนึ่งคือการหาแหล่งเก็บกักคาร์บอนที่เหมาะสม ที่ซึ่งก๊าซไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อการอัดน้ำมันในกระบวนการขุดเจาะ จากรายงานดังกล่าวข้างต้น เราต้องใช้เวลาเฝ้าดูแหล่งเก็บกักคาร์บอนเป็นร้อยๆปีเพื่อไม่ให้คาร์บอนไดออกไซด์รั่วขึ้นสู่บรรยากาศและก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชุมชน ในขณะที่ภาคเอกชนนั่งทำกำไรอยู่กับกระบวนการ เป็นความเสี่ยงซึ่งเกิดจากการที่เทคโนโลยีดูดซับและกักเก็บคาร์บอน ถูกใช้เพื่อขยายเวลาการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจนปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศสูงจนเกินแก้ไข

“ถึงแม้ว่าจะมีตัวบ่งชี้บางอย่างเกี่ยวกับปัจจัยที่มีบทบาทในภาคธุรกิจที่ลดการใช้ได้ยากอย่างเช่นปูนซีเมนต์ เหล็ก และปุ๋ย แต่ผลลัพธ์โดยรวมก็ชี้ให้เห็นว่ากรอบดำเนินการด้านการลดก๊าซ ด้านทุน และด้านเทคโนโลยีก็ยังได้รับการพูดถึงอย่างเกินความเป็นจริงไปมาก ในขณะที่ผลการดำเนินงานจริงไม่ได้มีประสิทธิภาพขนาดนั้น”

นาย Robertson ว่า “อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีดูดซับและกักเก็บคาร์บอน จะรวมอยู่ในกรอบดำเนินการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก แต่ตัวของมันเองก็ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา”

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของอังกฤษที่จะต้องเก็บกักคาร์บอนเป็นปริมาณถึง 7 หมื่น 8 พันล้านตันเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ตามรายงานของเจ้าหน้าที่ก็ยังจะพึ่งพาเทคโนโลยีดูดซับและกักเก็บคาร์บอนต่อไป “เรามุ่งมั่นที่จะยกระดับอังกฤษให้เป็นผู้นำในด้านนี้ โดยศึกษาศักยภาพของ CCS ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดปริมาณก๊าซ” เจ้าหน้าที่กล่าว “เราได้ลงทุนมูลค่า 1 พันล้านปอนด์ในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดักจับคาร์บอนและตั้งเป้าหมายที่จะติดตั้งเครื่องดูดซับและกักเก็บคาร์บอนในกลุ่มอุตสาหกรรมจำนวนสองนิคมภายในปี 2025 และอีกสองนิคมภายในปี 2030”


อ้างอิง : https://www.theguardian.com/environment/2022/sep/01/carbon-capture-is-not-a-solution-to-net-zero-emissions-plans-report-says?fbclid=IwAR38GODYOUHn0Ca3jotVQpQcIIINQY-uIsIz4CDu4WsIWUQv9nZn0Su-Mr0


Social Share