THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Tom Goldtooth, Indigenous Environmental Network
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

“เราขอปฏิเสธเจตนารมณ์ของสหรัฐอเมริกาและจีนที่จะใช้เทคโนโลยีดูดซับและกับเก็บคาร์บอนจากอากาศโดยตรงหรือ Carbon Capture and Storage and Direct Air Capture (DAC) เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน เนื่องจากเทคโนโลยีนี้ยังเป็นเพียงทฤษฎีที่น่าจะก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นไปอีกแทนที่จะลดลง นอกจากนี้ยังเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดยอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล จึงทำให้เกิดคำถามถึงเจตนาที่แท้จริงของโครงการ”

ในวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาและจีนประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะเพิ่มความพยายามในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน และตั้งใจที่จะ “ร่วมมือกันในการใช้เทคโนโลยี DAC ในการแก้ปัญหาเป็นหลัก” ทว่ามาตรการทาง Geoengineering อย่าง like CCS หรือ DAC ยังเป็นเพียงทฤษฎีที่ไม่สมบูรณ์ภายใต้กรอบดำเนินการด้าน Net Zero และเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของมวลชนไปจากการวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ซึ่งได้แก่การลดก๊าซเรือนกระจก

“แทนที่เราจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง รัฐบาลของสองประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดกลับตัดสินใจที่จะร่วมมือกันทาง Geoengineering ที่มีความเสี่ยงสูงอย่าง DAC เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน และไม่เคยได้รับการพิสูจน์ว่าได้ผลจริง มันเป็นเพียงการเบี่ยงเบนความสนใจเพื่อให้ตนเองสามารถลงทุนในพลังงานฟอสซิลต่อไปได้เท่านั้นเอง”

นาง Silvia Ribeiro จาก ETC Group กล่าว

เป้าหมาย Net Zero ของบริษัททั้งหลายนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าผลกำไรจากการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนหรือ Carbon Dioxide Removal (CDR) จะได้จากซื้อขายคาร์บอน

การที่สหรัฐอเมริกาและจีนมุ่งมั่นที่จะใช้เทคโนโลยี Geoengineering และเป้าหมาย ‘Net Zero’ ทำให้การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ควรต้องทำอย่างจริงจังในภาคขนส่ง อุตสาหกรรมหนัก และพลังงานนั้นถูกเลื่อนออกไป ในขณะที่เทคโนโลยีหลอกๆ อย่าง DAC ให้ความหวังผู้คนว่าจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศโลกได้

ยิ่งไปกว่านั้น เป้าหมาย ‘Net Zero’ ยังเป็นเป้าหมายที่ยังไม่มีความแน่นอนเพราะปริมาณก๊าซที่จะต้องดูดซับนั้นเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ปัญหาเหล่านี้ทำให้เราต้องหันมาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังทันทีก่อนที่อุณหภูมิผิวโลกจะสูงขึ้นเกิน 1.5°C และผ่านจุดที่จะทำให้เกิดหายนะทางสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งเป็นระบบที่มีความซับซ้อนเกินกว่าที่มนุษย์จะควบคุมได้โดยไม่มีผลกระทบที่เลวร้ายตามมา

นาย Tom Goldtooth ผู้อำนวยการอาวุโสของ Indigenous Environmental Network กล่าวเตือนเราว่า “ประกาศจากสหรัฐอเมริกาและจีนเปรียบเสมือนข้อตกลงทางการค้าที่จะสนับสนุนเทคโนโลยีดูดซับคาร์บอนแต่จะไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตราบใดก็ตามที่สหรัฐอเมริกาและจีนยังคงละเมิดสิทธิของชนพื้นเมืองและเพิ่มการใช้พลังงานฟอสซิล โดยนำข้ออ้างเรื่องเทคโนโลยี DAC และตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตมาใช้บังหน้า การแก้ไขปัญหาโลกร้อนก็จะไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด”

นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือที่นำมาใช้ในการดูดซับคาร์บอนก็มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการยึดและใช้ที่ดินในซีกโลกใต้อย่างไม่เป็นธรรม โครงการ CDR ขนาดใหญ่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบมหาศาลแก่ชุมชนท้องถิ่นและระบบนิเวศ เช่นการยึดที่ดินทำกินของชาวบ้าน การละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น

เกี่ยวกับเทคโนโลยี Geoengineering ที่ควรจับตาเฝ้าระวัง :

  • เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนหรือ Carbon Dioxide Removal (CDR) ที่เป็นปัญหาเนื่องจากต้องใช้ทรัพยากรอย่างพลังงาน ที่ดิน น้ำ แร่ธาตุ และชีวมวลในปริมาณมหาศาล
  • คำว่า “removals” ถูกนำมาใช้โดยผู้ที่สนับสนุนโครงการ Geoengineering เพื่อสร้างความสับสนระหว่างเทคโนโลยีเก็บกักคาร์บอนที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์และการเก็บกักคาร์บอนในระบบนิเวศตามธรรมชาติ
  • นักออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหาโลกร้อนกำลังสร้างนิสัยที่เคยชินกับสมมติฐานที่ใช้เทคโนโลยี CDR ในสเกลที่ใหญ่เพื่อลดภาวะโลกร้อน แต่ตอนนี้ต้องหันมายอมรับว่าปริมาณของ CDR และ DAC ที่เสนอไว้ในรายงาน IPCC นั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ และรายงาน IPCC ฉบับล่าสุดก็ได้ตั้งเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้ CDR และ DAC ไว้หลายข้อ

อ้างอิง : https://www.etcgroup.org/content/etc-group-and-indigenous-environmental-network-denounce-plans-geoengineering-technologies-us?fbclid=IwAR3hAMVmVic6zvggvgx-NK8PSuZsT5CHzZvcP2reLv-S3RI3HjAoPv8-HFk


Social Share